คนไทย ความเชื่อต่างๆ งานศพ พิธีกรรม

ความเชื่อ ขั้นตอนต่างๆ ในงานศพ – เกี่ยวกับประเพณีพิธีกรรม งานศพของคนไทย

Home / สาระความรู้ / ความเชื่อ ขั้นตอนต่างๆ ในงานศพ – เกี่ยวกับประเพณีพิธีกรรม งานศพของคนไทย

ในพิธีกรรมเกี่ยวกับงานศพนั้น จะมีขั้นตอนต่างๆ มากมายดังนี้ แคมปัสสตาร์นำเสนอข้อมูลที่เรียบเรียงจากเว็บไซต์ (Blog) “knowledgeaboutreligion” … จากการศึกษาประเพณีงานศพของชาวพุทธทั่วไป พบว่า มีขั้นตอนและการประกอบพิธีกรรมเป็นรูปแบบทั้งที่มีส่วนใกล้เคียงหรือเป็นแบบแผนเดียวกันกับประเพณีงานศพของภาคอื่น ๆ โดยอาจมีบางขั้นตอนและการประกอบพิธีกรรมบางประการ ที่เป็นลักษณะเฉพาะของท้องถิ่น ซึ่งแตกต่างอยู่บ้าง นอกจากนั้นการประกอบพิธีกรรมที่เคยกระทำกันในอดีตบางประการก็เลิกปฏิบัติ ทั้งนี้ แล้วแต่ความเหมาะสมตามความเชื่อ ความเคร่งครัดในพิธีกรรมของเจ้าภาพ และวัสดุสิ่งของเครื่องใช้ที่จะหามาได้ในการประกอบพิธีกรรม

ความเชื่อ ขั้นตอนต่างๆ ในงานศพ

ในอดีตก่อนตาย เมื่อมีผู้ป่วยอาการหนัก ญาติมิตรมักจะจัดให้มีพิธีกรรมสวดธาตุต่อชะตา สูตรขวัญกล่อง ค้ำโพธิ์ค้ำไฮ หรือทำพิธีตัดกรรมตัดเวรให้ ซึ่งบางครั้งเมื่อทำพิธีตัดกรรมตัดเวรแล้วก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงกับผู้ป่วยได้เร็ว เช่น ผู้ป่วยที่ทรมานอยู่เป็นปีก็จะเร่งตายภายใน2 – 3 วัน บางคนเมื่อพระสวดเสร็จไม่ถึงชั่วโมงก็ถึงแก่ความตาย มีบางคนที่ป่วยมาเป็นแรมปีก็เริ่มหายวันหายคืนและเป็นปกติในที่สุด

เมื่อมีอาการหนักจวนสิ้นใจ ลูก ๆ และญาติมิตรจะคอยเตือนให้ผู้ป่วยตั้งสติ เพื่อระลึกถึงพระรัตนตรัยและบอกหนทางสวรรค์ให้คนป่วยได้ยินดัง ๆ ว่า พุทโธ ๆ หรือ อรหัง ๆ จนกว่าจะสิ้นลมหายใจ เมื่อผู้ป่วยถึงแก่กรรมแล้ว ญาติมิตรก็จะแจ้งข่าวการตายให้ญาติผู้ใกล้ชิดและผู้เคารพ นับถือที่อยู่ใกล้เคียงและห่างไกลทราบข่าวด้วยวิธีการต่าง ๆ

ประเพณีงานศพของชาวไทย ก็มีวิธีการและขั้นตอนประกอบพิธีกรรม จำแนกตามข้อมูลที่ปรากฏได้ 4 ขั้นตอน คือ

1. วันถึงแก่กรรม (วันตาย), 2. วันตั้งศพบำเพ็ญกุศล (วันงันเฮือนดี) , 3. วันฌาปนกิจศพ (วันเผา) 4. วันหลังฌาปนกิจศพ (วันเก็บอัฐิ)

// 1) วันถึงแก่กรรม (วันตาย) //

ตามคติธรรมทางพุทธศาสนาถือว่าสังขารมนุษย์นั้นปรุงแต่งขึ้นมาจากธาตุทั้ง 4 คือ ดินได้แก่ เนื้อ หนัง กระดูก น้ำ ได้แก่ น้ำเลือด น้ำเหงื่อ น้ำลาย เป็นต้น ลม ได้แก่ ลมหายใจเข้าออกและไฟ ได้แก่ ความร้อนในร่างกาย สิ่งเหล่านี้เป็นอนัตตา คือไม่อยู่ในการควบคุมของใคร หรืออาจกล่าวได้ว่า ความตายนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ ไม่มีใครกำหนดวันตายของตนเองหรือหยั่งรู้วันตายได้เมื่อมีการตายเกิดขึ้นจะต้องมีการจัดการเกี่ยวกับผู้ตาย หรือศพ หรือผี เพราะถือว่าการตายเป็นเรื่องอัปมงคล เป็นเสนียดจัญไร จะต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อป้องกันมิให้ผีดุร้ายกลับมาทำอันตราย หลอกหลอนผู้คนได้ หรืออาจจะเป็นการแสดงความนับถือ ความรักความห่วงหาอาลัยต่อผู้ตายด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้

การอาบน้ำศพ

การอาบน้ำศพ เป็นพิธีที่จะต้องทำในขั้นตอนแรก โดยญาติของผู้ตายจะทำการอาบน้ำศพให้ร่างกายสะอาด ซึ่งเชื่อกันว่าจะทำให้จากไปสู่โลกอื่นอย่างบริสุทธิ์ หมดจดในสมัยก่อนจะต้มน้ำให้เดือด แล้วผสมด้วยน้ำเย็นตักอาบ ใช้ขมิ้น มะกรูดตำปนกันขัดถูศพให้ทั่ว บางแห่งใช้น้ำต้มใบส้มป่อยกับมะกรูดขัดถู ซึ่งวัสดุเหล่านี้เป็นการกระทำเพื่อแสดงออกถึงความเคารพรักในหมู่ญาติพี่น้อง จึงปฏิบัติต่อศพอย่างดี และปรารถนาจะให้ผู้ตายหมดสิ้นบาปกรรมที่เคยทำไว้
เมื่อทำความสะอาดศพดีแล้ว ก่อนจะมัดศพก็แต่งตัวศพให้เสร็จก่อนดังนี้

หวีผม

การหวีผมศพมีความเห็นที่แตกต่างกัน บางท่านก็ว่าต้องหวีเพียง 3 ครั้ง บางท่านก็ว่าต้องหวีเป็น 2 ซีก คือหวีไปทางด้านหน้าและด้านหลัง หมายถึง ให้คำนึงถึงเรื่องอดีตคือ การกระทำของผู้ตายตั้งแต่เกิดจนตาย อันจะเป็นเหตุกำหนดอนาคตว่าผู้ตายจะไปเกิดยังที่ใดซึ่งยังให้ข้อคิดกับคนเป็นอีกว่า หากต้องการอนาคตที่ดีก็ต้องสร้างเหตุในปัจจุบันให้ดีก่อน เมื่อหวีแล้วต้องหักหวีออกเป็น 2 ท่อนขว้างทิ้ง บางแห่งหักหวีออกเป็น 3 ท่อน แล้วกล่าวว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ทางภาคอีสานหวีลงอย่างเดียวห้ามหวีขึ้น เมื่อหวีแล้วหักออกเป็น 2 ท่อนทิ้งเลย (แปลก สินธิรักษ์. 2504 : 162)

ต่อจากนั้นจึงแต่งตัวศพด้วยการเอาแป้งน้ำหอมมาทา และประพรมบริเวณใบหน้าตลอดจนทั่วร่างกายนุ่งผ้าให้ศพ ใช้ผ้าขาวนุ่ง 2 ชั้น ชั้นในเอาชายพกไว้ข้างหลังแล้วนุ่งทับข้างนอกอีกทีหนึ่ง เอาชายพกไว้ข้างหน้า การที่นุ่งผ้าเอาชายพกไว้ข้างหลังนับเป็นการนุ่งสำหรับคนตายและการนุ่งเอาชายพกไว้ข้างหน้านั้นนุ่งสำหรับคนเป็น หมายถึง การเกิดต่อไป แสดงว่าตนเราเมื่อเกิดมาแล้วต้องตาย ตายแล้วก็เกิดอีก ทนทุกขเวทนา เวียนว่ายตายเกิด อยู่ไม่รู้จักสิ้นสุด การที่นุ่งขาวนั้นเป็นการแสดงทางที่จะหนีทุกข์ คือ ให้รักษาศีลปฏิบัติธรรม รักษากาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ (อุรคินทร์ วิริยะบูรณะ. 2531 : 57)

การนุ่งผ้าและสวมเสื้อให้ศพ

ในประเพณีความเชื่อของชาวพุทธนั้น การใช้เครื่องนุ่งห่มแต่งตัวศพต้องใช้ของใหม่ ๆ ทุกอย่าง ไม่ใช่นุ่งขาวห่มขาว เครื่องนุ่งห่มต้องทำตำหนิเสียทุกชิ้น คือฉีกให้เสียหายบ้างเล็กน้อย เวลานุ่งให้กลับทาง เช่น นุ่งผ้าซิ่นก็ต้องกลับทางตีนขึ้นข้างบน เอาหัวซิ่นไว้ข้างล่าง การนุ่งให้เอาชายพกไว้ข้างหลัง ผ้าที่ห่มให้เฉลียงบ่า เสื้อที่สวมให้กลับข้างหน้าไว้ข้างหลังอย่างนี้เป็นต้น (เสถียรโกเศศ. 2507 : 54)

ใส่เงินในปากศพ

เงินใส่ปากศพนั้นชาวอีสานนิยมใช้เงินเหรียญ อาจเป็นเหรียญห้าเหรียญสิบ ทางคดีโลกถือว่ามอบให้ผู้ตายเป็นค่าเดินทาง จ้างรถจ้างเรือ สำหรับเดินทางไปสู่เมืองผีหรือเมืองสวรรค์ ทางคดีธรรม สอนให้รู้จักใช้เงินให้เป็นประโยชน์ คือ ให้แบ่งกิน แบ่งใช้ เก็บไว้เป็นทุน ทำบุญให้ทาน อย่าตระหนี่ถี่เหนียวเกินไป (ปรีชา พิณทอง. 2530 : 40)

ขี้ผึ้งปิดตาปิดปาก

มีการใช้ขี้ผึ้งสีปิดตาปิดปากศพ ทางคดีโลกถือว่า ป้องกัน ความอุจาดลามก ทางคดีธรรมถือว่า เป็นการสอนคนเป็นให้รู้จักระวังรักษาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจอย่าให้ทุกข์เกิดขึ้น เพราะทุกข์ที่เกิดขึ้น เกิดจากการไม่สำรวม ระหว่างสิ่งเหล่านี้

การมัดศพ

เมื่อแต่งตัวศพเรียบร้อยแล้วก็ถึงตอนมัดศพเรียกว่า มัดตราสัง คือ มัดสามเปลาะให้มือถือกรวยดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องตราสังใช้ด้ายดิบมาจับให้เป็นเส้นขนาด 3 ทบ เพื่อให้เหนียวดึงไม่ขาด ทำให้เป็นห่วงคล้องคอ มือ เท้า ทางคดีโลกถือว่าเพื่อมิให้ศพพอง ขึ้นอืด

โลงแตก

ทางคดีธรรมถือว่า เครื่องผูกมัดคนมี 3 อย่าง คนที่มัดตราสังจะพูดว่า “ปุตโต คีเว”หมายความว่า ห่วงลูกผูกคอตรึงหัวใจอยู่เสมอจากนั้นจะทำการรัดประคตที่อกแล้วเอาเชือกโยงมากลางตัว ทำห่วงตะกรุดเบ็ดผูกหัวแม่มือแล้วรวบรัดผูกมัดมือทั้งสองให้พนมไว้ที่อกพูดคาถาว่า “ภริยา หัตเถ” หลังจากนั้นโยงด้ายดิบมาที่เท้า ทำบ่วงผูกข้อเท้าทั้งสองข้างให้ติดกันแล้วพูดคาถาว่า “ธนัง ปาเท” เชือกคือสมบัติมัดที่เท้า ตรงกับภาษิตโบราณว่าไว้ว่า ตัณหารักลูกคือเชือกผูกคอ ตัณหา รักเมียเหมือนดังเชือกผูกศอก ตัณหารักข้าวของคือดั่งปอกรัดตีน ตัณหาสามอันนี้มาฝั้นให้เป็นเชือกให้กลิ้งเกลือกอยู่ในวัฏฏะสงสาร (ปรีชา พิณทอง. 2530 : 41 )

// 2) การตั้งศพ //

ชาวพุทธโดยศพที่แต่งแล้วจะใส่ในโลงหรือไม่ก็ตาม จะตั้งไว้ในที่ใดก็ตาม ต้องหันหัวศพไปทางทิศตะวันตกเสมอ ทางคดีโลกถือว่าการนอนหันหัว ไปทางทิศตะวันตกนอนอย่างผี หันไปทางทิศตะวันออกนั้นนอนอย่างคน ทางคดีธรรมถือว่าสอนให้พิจารณาว่า การตาย คือ การเสื่อมไป สั้นไป เหมือนกับพระอาทิตย์ตกไป

การทำโลงศพ

ไม้ที่นำมาทำโลงศพเป็นไม้ประเภทเนื้ออ่อน แห้งเร็ว ซับน้ำได้ง่าย และติดไฟได้เร็ว สะดวกในการตอกตะปู ปัจจุบันไม้ที่นำมาทำโลงศพนั้นหาได้ยาก จึงเลือกเอาไม้อะไรก็ได้ที่จัดอยู่ในลักษณะที่กล่าวมาแล้ว หากเป็นโลงศพที่จำหน่ายตามท้องตลาดมักใช้ไม้กระดานอัด และไม้ประเภทเนื้ออ่อนทั่ว ๆ ไป การทำโลงศพ ทำให้ปากโลงยาวกว่าตอนล่างของโลงศพเล็กน้อยหรือตาม ความเหมาะสมกับส่วนสูงของผู้ตาย

เมื่อประกอบเป็นตัวโลงและฝาโลงแล้วจะเอาปูนซีเมนต์ดิบฉาบบาง ๆ ภายในทั้ง 4 ด้าน เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเน่า น้ำหนองไหลซึมออกมา เอายาฉุน ถ่านไฟ ใบฝรั่ง กากใบชา เท่าที่จะหาได้โรยใส่ไว้ภายในเพื่อดับกลิ่น และดูดซึมซับน้ำเน่า กลิ่นเน่าเหม็น เมื่อทำโลง เสร็จแล้ว ช่างที่ทำโลงศพจะนำเครื่องบูชาที่เตรียมไว้แล้วมาปัดรังควานภายในโลงศพ และใช้มีดฟัน ไปที่ขอบโลงทั้ง 4 ด้าน เพื่อแสดงว่าเป็นโลงศพที่เก่า และไม่ดีต้องเผาทิ้ง

ในอดีตเมื่อทำโลงศพเสร็จ ชาวบ้านก็มีภูมิปัญญาที่จะสร้างสุนทรียศาสตร์โดยใช้ ครามทาข้างโลงให้สวยงาม ต่อมาจึงใช้แบบแทงหยวกโดยใช้กาบกล้วยแทงด้วยมีดเป็นลายไทยติดข้างโลง ภายหลังจึงตัดโฟมลายไทย และตัดลายกระดาษด้วยสีสันที่งดงามขึ้น ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยโดยใช้โลงศพติดแอร์ลวดลายไทยติดมากับโลงศพ จึงไม่จำเป็นต้องออกแบบ และใช้ฝีมือช่างแต่อย่างใด

การเบิกโลง

สัปเหร่อ เป็นคนจัดการโดยเอาไม้ไผ่ มาจักเป็นซี่เล็กๆ ทำเป็นบันได 4 ขั้น ความกว้างเท่ากับความกว้างของโลงศพ สำหรับวางไว้บนปากโลงเอาเฝือกผืนหนึ่งทำด้วยไม้ไผ่ 8 ซี่ ตัดติดกันเหมือน แล่งวางก้นโลงเอาผิวไม้ขึ้นวางระยะห่างพอสมควร สำหรับรองรับเสื่อ นำไม้ไผ่มาผ่า เพื่อที่ใช้สำหรับคีบสายสิญจน์ ไม้นี้เรียกว่าไม้ปากกาจับโลง 

เอาเทียน 8 เล่ม ติดคาบที่ปากโลงระหว่างไม้ปากกาที่วาง 8 ช่องมีกระทงใบตองขนาดเล็กใส่อาหารวางไว้บนปากโลง 8 ช่อง ใกล้ๆ กับเทียนเป็นเครื่องสังเวยเทพทั้ง 8 ทิศ ส่วนฝาโลงนั้นให้ทิ้งไว้ข้างโลง เตรียมขันไว้สำหรับทำน้ำมนต์ แล้วทำน้ำมนต์

แล้วว่าคาถาว่า “สิโรเม พุทฺธเทวญฺจ นลาเฏพฺรหฺมเทวตา หทยํ นรายกญฺเจว เทวหตฺเถ ปรเม สุราฯ ปาเท วิสฺสณุกญฺเจว สพฺพกมฺมา ปสิทฺธิ เม สิทฺธิกิจฺจิสิทฺธิกมฺมํ สิทฺธิเตโช ชโย นิจจํ

แล้วนำน้ำมนต์พรมที่โลง-ศพ 3 หน ใช้มีดหมอสับปากโลง 3 ที สับกลางโลงสลับซ้ายขวารอยสับนี้ เป็นเครื่องบอกว่า ศีรษะอยู่ทางนี้ แล้วผลักเครื่องเซ่นทั้งหมด พร้อมด้วยไม้ปากกาที่ทำไว้ลงไปในโลงทั้งหมด เป็นอันเสร็จพิธีเบิกโลง นำศพบรรจุลงโลง

พิธีเบิกโลง เป็นพิธีกรรมที่ทำกับโลงศพก่อนที่จะยกศพใส่โลง โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อทำให้โลงศพว่างจากสิ่งที่เป็นเสนียดจัญไร ผีสางรุกขเทวดาทั้งหลายที่สิงสถิตอยู่กับไม้ที่เอามาทำโลงถือว่าเป็นโลงที่มีวิญญาณเป็นเจ้าของแล้ว เมื่อนำศพผู้ตายบรรจุวิญญาณของคนตายจะถูกรบกวนถูกรังแก และไม่ยอมเดินทางไปกับซากศพของตนจะเป็นผีสิงสถิตอยู่ในบ้านไม่ไปผุดไปเกิดเสียทีนับว่าเป็นจัญไร จึงให้มีพิธีทำน้ำมนต์ธรณีสารอันเป็นน้ำมนต์กำจัดเสนียดจัญไรให้ออกจากโลงอาราธนาคุณพระรัตนตรัยมาช่วยขจัดขับไล่ด้วยอีกทางหนึ่ง

จากการสังเกตของผู้ศึกษา ที่ได้ไปร่วมงานศพในที่ต่าง ๆ ได้เห็นการเตรียมวัสดุอุปกรณ์ใส่ลงไปในโลงศพก่อน ก่อนที่จะนำศพลงในโลง หลาย ๆ ลักษณะ เช่น นำเสื่อและฟูกใส่ลงโลงแล้วนำปูนขาวโรยทั่วบริเวณฟูก และเสื่อเพื่อเป็นการดูดซึมน้ำเหลืองที่ซึมออกจากร่างศพ และป้องกันสัตวแมลง นอกจากนั้นยังช่วยป้องกันกลิ่นเหม็นอับจากศพได้อีก นอกจากนั้นยังนำยาฉุน และใบฝรั่งวางหรือโรยรอบ ๆ ศพ เพื่อเป็นการป้องกันกลิ่นหรือดับกลิ่นศพที่เก็บไว้หลาย ๆ วันซึ่งอาจจะรบกวนแขกที่มาร่วมทำพิธีทางศาสนาได้ ปัจจุบันนิยมใช้โลงเย็นเป็นส่วนมาก การใช้ยาฉุน ใบฝรั่งหรือสิ่งป้องกันกลิ่นพึงรังเกียจอื่นจึงเลิกใช้ไป

ตามไฟศพ

เมื่อตั้งศพไว้เรียบร้อยแล้วให้จุดตะเกียงหรือไต้ไฟทางศีรษะศพ ตลอดทั้งวันและคืน ซึ่งมีความหมายนัยว่า ทางคดีโลกถือว่าจุดไฟไว้แทนไฟธาตุผู้ตายบ้างจุดไว้กันความกลัวบ้างทางคดีธรรมถือว่าสอนให้คนมีปัญญาเพราะปัญญานั้นเป็นแสงสว่างในโลกที่โลกเจริญรุ่งเรืองได้ก็เพราะปัญญา

สวดมาติกา

ญาติมิตรของผู้ตายจะนิมนต์พระมาสวดศพ ซึ่งชาวอีสานเรียก ซักอนิจจา หมายถึงการสวดพระอภิธรรมหน้าศพหรือสวดหน้าศพ กระทำในวันตายซึ่งได้บรรจุศพและมัดตราสังไว้แล้ว โดยมีจำนวนพระสงฆ์ 4 รูปเป็นผู้สวด เมื่อพระสงฆ์สวดพระอภิธรรมจบ เจ้าภาพก็ถวายเครื่องไทยธรรมเป็นเสร็จพิธี

// 3) วันตั้งศพบำเพ็ญกุศล //

จากการศึกษาประเพณีงานศพของชาวไทยส่วนมากพบว่า การตั้งศพนิยมนำศพไว้ที่บ้าน เนื่องจากเกิดความรักความผูกพันจากที่เคยอยู่ด้วยกันมานานครั้นจะนำไปฌาปนกิจศพโดยเร็วก็เหมือนกับการผลักไสไล่ส่งถ้าผู้ตายมีอายุมากก็ยิ่งให้เวลาอยู่ที่บ้านนาน เช่น 5 คืน 7 คืน เป็นต้น ยกเว้นกรณีที่สิ้นชีวิตแบบตายโหง คือ ตายเร็วกว่าเวลาที่ควรจะเป็นจึงรีบกระทำการฌาปนกิจเพื่อให้เสร็จโดยเร็ว แค่คืนหนึ่งก็เพียงพอแล้ว

การตั้งศพบำเพ็ญกุศล

เป็นพิธีกรรมที่มีจุดประสงค์เพื่อจะได้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตายเป็นสำคัญและอีกส่วนหนึ่งเป็นการให้เจ้าภาพญาติมิตรและคนอื่น ๆ ร่วมแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีความเคารพรักนับถือที่มีต่อผู้วายชนม์อีกด้วย วันตั้งศพบำเพ็ญกุศลอาจกำหนด 3 วัน 5 วัน หรือ 7 วัน แล้วแต่สถานภาพของเจ้าภาพที่มีฐานะแตกต่างกันทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมทั้งอายุขัยของผู้ตายอีกด้วยโดยทั่วไปเจ้าภาพจะนิมนต์พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม จำนวน 4 จบ สวดเป็นระยะ จะสวดครึ่งคืน หรือกว่าแล้วแต่ความต้องการหรือความสะดวกของเจ้าภาพ เมื่อสวดเสร็จก็ถวายเครื่องไทยธรรม

การสวดพระอภิธรรม

เป็นการสอนคนเป็นให้พิจารณามรณานุสสติกัมมัฏฐาน ทางคดีโลกถือว่าเป็นการสวดเพื่อให้บุญแก่ผู้ตาย ทางคดีธรรมถือว่าเป็นการชดใช้บุญคุณของท่าน ผู้มีพระคุณ เช่น พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้แสดงพระอภิธรรม 7 คัมภีร์โปรด เป็นการชดใช้ค่าข้าวป้อน และน้ำนม เป็นต้น

หลังจากพระสวดพระอภิธรรมเสร็จแล้ว ญาติมิตรและคนอื่น ๆ ก็จะมารวมกันที่บ้านเจ้าภาพ คือ จะอยู่เป็นเพื่อนศพมิให้เงียบเหงาวังเวง เป็นการผ่อนคลายความทุกข์โศกอันเนื่องมาจากความสูญเสียคนในครอบครัวของเจ้าภาพ ในอดีตมีการอ่านหนังสือผูกหนังสือใบลาน เล่านิทานชาดกสู่กันฟัง บางกลุ่มมีการละเล่น เช่น เสือกินหมู เสือกินวัว หมากฮอส คล้องช้าง หรือแม้แต่เกี้ยวพาราสีกันในระหว่างคนหนุ่มคนสาว ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นการฉายวิดีโอ ซีดี วีซีดี และหันมาเล่นการพนันทั้งไพ่ ไฮโล ถึงแม้จะเล่นในวงเงินไม่มาก แต่ก็เป็นที่นิยมกันแทบทุกงาน

// 4) วันฌาปนกิจศพ (วันเผา) //

ฌาปนกิจศพ

ชาวไทยเรียกกันทั่วไปว่า วันเผาศพ เป็นวันสำคัญที่สุด เนื่องจากมีขั้นตอนพิธีกรรมมากมาย และเป็นวันสุดท้ายของศพที่จะเข้าสู่เชิงตะกอนวันห้ามเผาศพ โบราณท่านห้ามวันพระ วันอังคาร และวันเก้ากอง วันนอกนั้นก็เผาได้ทั้งสิ้น

สำหรับพิธีเผาศพของชาวไทยส่วนใหญ่แล้วจะปฏิบัติคล้าย ๆ กับพิธีศพทั่วไปของชาวไทยในภาคต่าง ๆ ซึ่งมีรายละเอียดจากการสังเกตของผู้ศึกษาตามขั้นตอนต่าง ๆ ก่อนทำการเผาดังนี้

การยกศพออกจากเรือน

มีประเพณีปฏิบัติจนเป็นเงื่อนไขว่า ก่อนยกศพออกจากเรือนเจ้าภาพจะต้องนิมนต์พระสงฆ์มาสวดศพที่บ้านให้ผู้ตายเรียกว่ามาให้บุญ และนิมนต์พระสงฆ์มาบวชให้ลูกหลานผู้ตายเพื่อจะทำพิธีจูงศพ ชายให้บวชเป็นสามเณรถือศีล 10 ข้อ หญิงให้บวชเป็นชีพราหมณ์ถือศีล 8 ข้อ เมื่อถึงเวลาขณะยกศพออกพ้นเรือนก็จุดประทัดเป็นสัญญาณเพื่อให้ชาวบ้านทั่วไปร่วมส่งสการศพโดยพร้อมเพียงกัน ในอดีตเมื่อยกศพพ้นเรือนแล้วบรรดาลูกหลานของผู้ตายจะต้องเทน้ำในหม้อ ในคุในถังคว่ำทั้งหมด ชักบันไดขึ้นเก็บและพลิกกลับบันไดเสีย โดยมีความเชื่อกันว่าทำเพื่อบังมิให้วิญญาณผู้ตายจำทางกลับบ้านได้

การส่งสการศพ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 (2542 : 1161) อธิบายว่า พิธีกรรมเกี่ยวกับการปลงศพ ส่งสการก็ว่า เช่น รุดเร่งส่งสการ พระอริยานุวัตร เขมจารี(2526 : 15 – 16) ได้ให้ความเห็นว่า การส่งสการศพ คือการส่งสักการะศพนั่นเอง แต่ชาวไทยเรียกสั้นจึงกลายเป็น ส่งสการศพ ได้แก่ การนำเครื่องสักการะคือ ดอกไม้ ธูปเทียน ไปสักการะเคารพศพการทำสักการะศพนี้ถือเป็นประเพณีที่ดีงาม เผื่อว่า เมื่อเราได้ประมาท พลาดพลั้งแก่ผู้ตายถ้าเราเอาเครื่องสักการะไปทำความเคารพในป่าช้าก็ถือว่าหมดโทษหมดภัยต่อกัน ดังนั้น จึงมีผู้นิยมไปส่งสการศพผู้ตายถึงป่าช้าเป็นจำนวนมาก

การหามศพ

ประเพณีหามศพของชาวไทยให้ใช้คานหามไม้ไผ่บ้าน 2 ลำ เอาโลงศพขึ้นตั้งขันด้วยตอกชะเนาะ เลือกลูกหลานชายหนุ่มหามข้างละ 3 – 4 คน ก่อนหามนำธูปเทียน ดอกไม้ทัดหูแล้วยกคานหามศพขึ้นบ่า เอาเท้าศพไปก่อน ห้ามพักกลางทาง ห้ามเปลี่ยนบ่า ห้ามข้ามสวนข้ามนา ด้วยถือว่าเป็นของต้องห้าม ปัจจุบันในชุมชนเมืองพบว่าญาติพี่น้องจะช่วยกันขยับโลงศพจากที่ตั้งแล้วยกลงจากเรือนใส่บนรถกระบะเล็กที่มีการตกแต่งอย่างดีไว้พร้อมไว้ การหามศพแบบเดิมก็นับวันจะสูญหายไป

การจูงศพ

เมื่อเคลื่อนศพไปสู่ป่าช้า จะมีการจูงศพโดยใช้ด้ายโยงไหมโยงจำนวนหลายทบขนาดใหญ่เป็นเชือกจูง ถือว่าเป็นเกียรติแก่ผู้ตายและเจ้าภาพ ถ้าผู้ตายมีลูกชายหลานชายก็บวชเป็นสามเณรจูงศพ ถ้ามีลูกสาวหลานสาวก็บวชชีพราหมณ์จูงศพไปป่าช้าด้วยกัน ในขบวนจูงศพจะมี พระสงฆ์จำนวนหนึ่งนำหน้า ผู้บวชจูง ผู้เคารพนับถือและญาติมิตรตามลำดับ ระหว่างเดินทางมีการหว่านข้าวตอกนำหน้าการจูงศพ ตลอดระยะทาง ทางคดีโลกถือว่า หว่านข้าวตอกให้ผีลงมาเก็บกิน จะไม่ทำให้ผู้หามหนัก ทางคดีธรรมถือว่า สอนให้คนเป็นพิจารณาดูคนตายว่า คนตายรูปกับนามแตกจากกันกันเหมือนข้าวตอกแตกก็เป็นเช่นนี้

ที่ปลงศพ

ที่ปลงศพหรือที่เผาศพปัจจุบันมี 3 ประเภท คือ กองฟอน เมรุชั่วคราวหรือเมรุลอย และเมรุถาวร การเผาศพตามแบบดั้งเดิมของชุมชนนั้นๆ จะใช้กองฟอนทั้งนั้นจากการศึกษาและสังเกตการหาที่ตั้งกองฟอนเพื่อเผาศพหลายต่อหลายครั้งพบว่า มีผู้นำพิธีเสี่ยงทายหา ที่ตั้งกองฟอนโดยการโยนไข่ไก่ดิบไปข้างหน้า เพื่อให้ไข่แตกตรงไหนจะได้เผาตรงนั้น ซึ่งกว่าไข่ จะแตกอาจโยนเสี่ยงถึง 3 – 4 ครั้งก็เคยมี หลังจากนั้นก็ช่วยกันหาฟืนตั้งกองฟอนเพื่อทำพิธีเผาต่อไป ส่วนเมรุถาวร ไม่มีการเสี่ยงทายด้วยการโยนไข่ดิบแต่อย่างใด

การเวียนสามรอบ

เมื่อหามศพไปถึงกองฟอนที่ป่าช้าแล้ว ก็ให้หามเวียนซ้ายรอบกองฟอน 3 รอบ เป็นสิ่งมีความหมายว่า ทุกชีวิตจะตกอยู่ในห้วงวัฏฏะ วน 3 รอบ คือ วนเวียนอยู่กับเหตุ 3 อย่าง ได้แก่ กิเลส กรรม วิบาก ก่อนจะยกศพขึ้นตั้งกองฟอน จะกระแทกกองฟอนแรง ๆ3 ครั้ง เป็นสัญญาณเตือนผู้ตายว่าที่นี่เป็นบ้านที่ตั้งอยู่แห่งใหม่ การกระแทก 3 ครั้งนั้นหมายถึงอนิจจังไม่เที่ยง ไม่คงที่ คือ ไม่เด็กตลอดไม่หนุ่มตลอด เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทุกขัง เจ็บปวดทุกข์ทรมาน และอนัตตา ดับตายหรือเอาไว้ไม่อยู่นั่นเอง (สวิง บุญเจิม. 2539 : 520 – 521)

คาถากระแทกโลง

3 ครั้งว่า ยังกิญจิ สมุทยะ ธัมมัง สัพพันตัง นิโรธธัมมัง อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติทั้งหมดก็ดับไปตามธรรมชาติ

การล้างหน้าศพ

เมื่อตั้งศพแล้วก่อนเผาก็จะมีการล้างหน้าศพ ในพิธีการมักเรียกรดน้ำศพ บราณอีสานนิยมเอาน้ำมะพร้าวล้างหน้าศพ โดยมีความเชื่อว่า เป็นน้ำสะอาดบริสุทธิ์ที่สุดเมื่อล้างแล้วจะทำให้สวยงามบริสุทธิ์ไปจนถึงชาติหน้าภพหน้า พิธีกรรมนี้จะมีพระสงฆ์นำรดน้ำก่อนจึงเป็นฝ่ายฆราวาสญาติมิตร มีการบริกรรมคาถาล้างหน้าศพว่า นัตถิเม เอตะสังสะโย แปลว่า ไม่ต้องสงสัยหรอกว่าเราจะไม่ตาย

การโยนผ้าข้ามโลง

เมื่อทำพิธีรดน้ำศพเสร็จแล้วญาติของผู้ตายจะโยนผ้าที่คลุมศพข้ามโลง กลับไปกลับมา 3 ครั้ง โดยโยนข้ามโลงศพไปมาให้ตกดิน 2 ครั้ง พอโยนครั้งที่สามจึงมี ผู้คอยรับเอาไว้แล้วนำเอาไปถวายพระ การโยนผ้านี้ชาวบ้านเชื่อกันว่า ทำให้ผีหลงทาง คือ โยนไปโยนมาผีก็ตาลาย เลยหลงทางตามมาเอาผ้า ในทางพระท่านสอนคนเป็นว่าสมบัติหรือสิ่งของในโลก มันเป็นของในโลก มิได้เป็นของใคร มันหมุนเวียนเปลี่ยนมืออยู่อย่างนั้น ไม่ว่าเงินหรือสิ่งของจะเก็บจะสะสมไว้ทำไมมากมาย ตายไปมันก็เป็นของคนอื่น ถ้าเขาใช้ในทางที่ถูกก็ดีไป แต่ถ้าเขาใช้ผิดบาป กรรมก็ตกเป็นของผู้สะสมด้วย เพราะเป็นเสมือนสะสมอาวุธให้คนใช้ทำชั่ว

คาถาโยนผ้ารับผ้า

ว่า ปุตตา นัตถิ ทะนะมัตติ ฌาปิตัมปิ
นะเต สะรีรัง กุโต ปุตตา กุโต ธะนัง

แปลว่า จะมัวบ่นเพ้ออยู่ทำไมว่าลูกของเรา ทรัพย์ของเรา แม้ร่างกายของเขาก็ยังถูกเผาอยู่ขณะนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ทรัพย์อยู่ที่ไหน ลูกอยู่ที่ไหน

การทำไม้ข่มเหง

หลังจากโยนผ้าแล้ว ก็จะหาไม้ขนาดใหญ่และหนักพอสมควร 2 ท่อนมาวางทับโลงศพไว้ทั้งซ้ายและขวา ตามประเพณีอีสานเรียกว่าไม้ข่มเหง คนไทยมีความเชื่อเป็น 2 อย่าง คือ กันมิให้โลงศพตกลงไปข้างใดข้างหนึ่ง เมื่อไฟไหม้ฟืนจะยุบลง และเชื่อว่าผีจะออกมาอาละวาดไม่ได้ เพราะกลัวไม้ข่มเหงใหญ่นี้ ส่วนทางพุทธศาสนาสอนคนเป็นว่าโลกนี้มีการต่อสู้กันอยู่ 2 อย่างคือ ธรรม (ความดี) กับ อธรรม (ความชั่ว) ทั้งสองฝ่ายจะสู้กันอย่างหนักถ้าฝ่ายไหนอ่อนแอ ฝ่ายนั้นก็จะถูกข่มให้ตายไปกับศพ

– คาถาวางไม้ข่มเหงให้ว่า

นะหิธัมโม อะธัมโม จะอุโภ สะมะวิปากิโน
อะธัมโม นิระยัง เนติ ธัมโม ปาเปติ สุคะติง
แปลว่า ความดีกับความชั่วให้ผลต่างกัน ความชั่วพาไปตกทุกข์ ความดี พาไปถึงสุข

การทอดผ้าบังสุกุล

ก่อนจะเผาศพจะมีพิธีทางศาสนาเริ่มด้วยไหว้พระสมาทานศีลแสดงพระธรรมเทศนาหน้าศพ สวดมาติกาบังสุกุล และถวายปัจจัยไทยธรรม แล้วจึงทอดผ้าบังสุกุลทองสุข มันตาทร (2543 : 86 – 87) กล่าวถึงหลักปฏิบัติในการทอดผ้าบังสุกุลในพิธีศพไว้ว่า ถ้ามีการทอดผ้าบังสุกุลในพิธีศพ ให้เชิญท่านผู้มีอาวุโสน้อยไปหาท่านผู้มีอาวุโสมากตามลำดับ และเชิญประธานในพิธีทอดผ้ามหาบังสุกุลเป็นอันดับสุดท้าย เพื่อจะได้ประกอบพิธีประชุมเพลิงหรือประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพต่อไป

ผู้เชิญ : ถือภาชนะสำหรับรองรับผ้าบังสุกุล เช่น พานทองด้วยมือทั้งสองประคองเข้าไปเชิญ โดยทำความเคารพแล้วเชิญและเดินตามหลังผู้รับเชิญไปทางซ้าย เมื่อไปถึงเมรุแล้วยืนห่างจากผู้รับเชิญประมาณ 1 ก้าว มอบผ้าบังสุกุลให้ท่าน แล้วลงจากเมรุ เตรียมผ้าบังสุกุลใส่ภาชนะรองรับไปเชิญท่านต่อไป

ผู้รับเชิญ : เดินไปข้างหน้าผู้เชิญ ยังไม่ต้องรับผ้าบังสุกุล เมื่อถึงเมรุแล้วยืน เบื้องหน้าหีบหรือโลงศพหรือโกศศพ ทำความเคารพตามประเพณีนิยม รับผ้าบังสุกุลแล้ววางทอดไว้ วางด้านขวางหรือตั้งฉากกับโลงศพ …แล้วภาวนาว่า รูปัง ชีรติ มัจจานัง นามะโคตตัง นะชีระติ

ขณะที่เชิญแขกขึ้นทอดผ้าบังสุกุล ก็ต้องนิมนต์พระสงฆ์ขึ้นพิจารณาควบคู่กันไปขณะที่พระสงฆ์ขึ้นไปบนเมรุ ผู้ทอดผ้าบังสุกุลพึงน้อมไหว้ และประนมมือ ขณะพระสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุล แล้วน้อมไหว้อีกครั้งหนึ่ง ขณะพระสงฆ์ลงจากเมรุ

ข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์

ให้ถือพัดด้วยมือซ้าย มือขวาจับที่ผ้าบังสุกุล โดยให้นิ้วทั้ง 4 สอดไว้ใต้ผ้า หัวแม่มืออยู่บนผ้า แล้วพิจารณาบังสุกุลว่า

อนิจจา วตสังขารา อุปาทว ยธัมมิโน
อุปชิตตวา นิรุชฌันติ เตสังวูป สโมสุโข

สำหรับพิธีพระราชทานเพลิงศพทั่วไป

พระสงฆ์ใช้พัดรองในการพิจารณาผ้ามหาบังสุกุล ยกเว้นถ้าเป็นผ้าไตรพระราชทาน พระสงฆ์จึงใช้พัดยศ

การทอดผ้าบังสุกุลที่อาสน์สงฆ์

ให้ทอดผ้าวางขวางไว้บนภูษาโยงหรือด้ายโยงเบื้องหน้าพระสงฆ์แต่ละรูป ถ้าที่ว่างมีน้อยจะวางยาวตามความยาวของภูษาโยงหรือด้ายโยงก็ได้ (ไม่ต้องประเคน) แล้วนั่งอยู่เบื้องหน้าพระสงฆ์ ประนมมือขณะพระสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุล

การฌาปนกิจศพ

เป็นขั้นตอนสุดท้ายหลังจากประธานและคนอื่น ๆ ทอดผ้าบังสุกุลเสร็จแล้ว โดยประธานในพิธีจะเป็นผู้ทอดผ้ามหาบังสุกุลและวางดอกไม้จันทน์ ผู้มาร่วมงานหรือมาส่งสการ ทุกคนลุกขึ้นทยอยกันขึ้นวางดอกไม้จันทน์บนเมรุ โบราณอีสานท่านว่า เพื่อเป็นการไม่ให้เป็นบาปที่ไปเผาร่างกายพ่อแม่หรือญาติ หรือเพื่อนกัน  ให้บริกรรมคาถาว่า

อะยัมปิโข เม กาโย เอวังภาวี
เอวังธัมโม เอวังอะนะตีโต

แปลว่า ร่างกายของเรานี้ก็จะเป็นอย่างนี้ จะมีสภาพอย่างนี้และข้ามพ้นความเป็นอย่างนี้ไม่ได้เลย

เมื่อทุกคนวางดอกไม้จันทน์เรียบร้อยแล้วก็จัดการเผาต่อไป เป็นอันเสร็จพิธีฌาปนกิจศพ เมื่อเสร็จจากการเผาศพ

ผู้ที่ไปร่วมงานต้องเข้าวัดล้างมือ

ล้างหน้าหรืออาบน้ำประเพณีนี้เป็นการปลดเปลื้องมลทินที่ไปเผาศพ มีความเชื่อว่าได้ล้างสิ่งจัญไรหรืออัปมงคลที่อาจติดตัวมาให้สะอาดหมดจด เหลือแต่สิ่งมงคลนั่นเอง ประเพณีที่ยังทำกันอยู่ในชนบทก็คือ ล้างเท้า ล้างหน้า ล้างศีรษะ เสยผม หรือบางแห่งก็ไปอาบน้ำในสระที่วัดก็มี (เสฐียรโกเศศ. 2531 : 162)

// 5) วันหลังฌาปนกิจศพ (วันเก็บอัฐิ) //

การเก็บกระดูกหรืออัฐิหลังจากเผาศพ ส่วนใหญ่จะทำในวันรุ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าไฟที่เผาศพดับสนิทแล้ว (บางแห่งก็เก็บกระดูกหลังจากเผาศพได้ 3 – 7 วัน) บรรดาลูกหลาน และญาติมิตรของผู้ตายจะไปนิมนต์พระสงฆ์ไปยังที่เผาศพ จัดอาหารคาวหวานไปด้วย เมื่อไปถึงก็นำอาหารคาวหวานเลี้ยงผีคนตายตรงบริเวณที่เผาศพนั้น ลูกหลานจุดธูปเทียนบอกผีผู้ตายให้กินอาหาร ทิ้งไว้สักครู่เมื่อคิดว่าผู้ตายกินอิ่มแล้วจึงยกอาหารไปเก็บ หลังจากนั้นบรรดาลูกหลานและญาติพี่น้องก็ช่วยกันเกลี่ยเศษกระดูกและขี้เถ้าบริเวณที่เผาให้เป็นรูปคนนอนหงายหันหัวไปทางทิศตะวันตก สมมุติว่าตาย เสร็จแล้วนิมนต์พระสงฆ์มาบังสุกุลตาย โดยสวดว่า

อนิจจา วต สังขารา อุปาทว ย ธัมมิโน
อุปชิตตวา นิรุชฌันติ เตสังวูป สโมสุโข

แปลความว่า สังขารทั้งหลายไม่เทยี่ งหนอ มีความเกิดขนึ้ และเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความเข้าไปสงบระงับแห่งสังขารทั้งหลายเท่านั้น ย่อมนำมา ซึ่งความสุข

เมื่อพระสงฆ์บังสุกุลตาย (ชักอนิจจาตาย)

เสร็จแล้ว จึงเกลี่ยรูปนั้นแล้วทำรูปใหม่ขึ้นอีก โดยหันหัวไปทางทิศตะวันออก สมมุติว่า เกิด เสร็จแล้วลูกหลานและญาติพี่น้องช่วยกันโปรยดอกไม้ ประพรมน้ำหอมลงบนร่างกระดูกนั้น แล้วนิมนต์พระสงฆ์มาบังสุกุลเป็น (ชักอนิจจาเป็น) อีกครั้งหนึ่ง โดยสวดว่า

อจีรัง วตยัง กาโย ปฐวิง อธิเสสติ
ฉุฑโฑ เปต วิญญาโณ นิรัตถังวะ กลิงครัง

แปลความว่า ร่างกายนี้คงไม่นานหนอ จักนอนทับซึ่งแผ่นดิน เมื่อวิญญาณปราศจากร่างอันบุคคลทิ้งเสียแล้ว เป็นราวกับท่อนฟืนที่ไม่มีประโยชน์

เก็บกระดูก

เมื่อเสร็จจากบังสุกุลแล้ว จึงช่วยกันเก็บกระดูกใส่ขวดโหล ที่มีฝาปิดนำไปฝากพระให้ช่วยเก็บรักษาไว้ที่โบสถ์หรือศาลาวัด ถ้าหากลูกหลานและญาติพี่น้องของผู้ตายเป็นผู้มีฐานะดีก็จะสร้างธาตุให้ภายในบริเวณวัด และนำกระดูกเหล่านั้นบรรจุไว้ในธาตุต่อไป

เถ้าถ่าน เอาไปลอยอังคาร

ส่วนเถ้าถ่านบริเวณที่เผาศพก็รวบรวมห่อผ้าขาวนำไปลอยที่แม่น้ำลำคลอง ซึ่งบางแห่งก็ฝังดินไปอัฐิที่เก็บในขวดนั้น ลูกหลานและญาติพี่น้องจะนำมาทำบุญแจกข้าวอุทิศส่วนกุศล อีกครั้งหนึ่ง ประเพณีการทำบุญ เช่น นี้ชาวพุทธถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะมีความเชื่อว่าผู้ตายจะรอรับกองบุญที่ยิ่งใหญ่ที่ลูกหลานญาติพี่น้องจัดไปให้

ประเพณีทำบุญแจกข้าว

เป็นการทำบุญอุทิศถึงผู้ตาย มีกำหนด 2 วัน วันแรกเป็นการทำบุญเลี้ยงแขก และถวายภัตตาหารเช้าและเพลแด่พระสงฆ์ มีเทศน์อานิสงส์เจริญพระพุทธมนต์ กลางคืนมีมหรสพสมโภช วันที่สองนำภัตตาหาร และไทยธรรมไปถวายพระที่วัดและทำพิธีบรรจุอัฐิธาตุเป็นอันเสร็จพิธี หากลูกหลานญาติมิตรมีฐานะดีอาจทำบุญอุทิศส่วนกุศล 50 วัน 100 วัน หรือทำบุญกฐินแทนการทำบุญแจกข้าวก็ได้

อ่านบทความเพิ่มเติมทั้งหมดได้ที่ knowledgeaboutreligion.blogspot.com

ภาพในงานศพของคนไทย > Cremation ceremony in Thailandnouvel album 

ภาพหน้าปกจาก welovemyking , สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแวงใหญ่

บทความน่าสนใจ