ดอกไม้ พระนาม ราชวงศ์ไทย สมเด็จพระเทพฯ

รายชื่อพรรณไม้ ที่ตั้งชื่อตามพระนาม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

Home / สาระความรู้ / รายชื่อพรรณไม้ ที่ตั้งชื่อตามพระนาม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

ชมความสวยงามของพรรณไม้ต่างๆ เหล่านี้ จำปีสิรินธร , สิรินธรวัลลี หรือ สามสิบสองประดง , เอื้องศรีประจิม , เอื้องศรีอาคเนย์ , เอื้องศรีเชียงดาว ,กุหลาบ พระนามสิรินธร , เครือเทพรัตน์ ,ม่วงเทพรัตน์ , ชมพูสิริน ที่ตั้งชื่ออันเนื่องด้วยพระนามาภิไธย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

รายชื่อพรรณไม้ ที่ตั้งชื่อตามพระนาม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

ม่วงเทพรัตน์

ม่วงเทพรัตน์

“ม่วงเทพรัตน์” หรือ Persian gentian หรือ Persian, Arabian, German violet ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Exacum affine Balf.f. ex Regel วงศ์ Gentianaceae เป็นพืชที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานชื่อไทยว่า “ม่วงเทพรัตน์” เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2552 นับว่าเป็นมงคลนาม เพราะสีม่วงเป็นสีประจำพระองค์ด้วยเช่นกัน

และสืบเนื่องจากที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้รับพระราชทานนามอาคารและศูนย์การแพทย์ด้วยพระนาม “สมเด็จพระเทพรัตน์” ทางคณะกรรมการประจำคณะฯ จึงพิจารณาให้ขอใช้ดอกม่วงเทพรัตน์เป็นสัญลักษณ์ประจำอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ ซึ่งทางโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ อนุญาตให้ใช้ได้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553 / ภาพจาก www.scimath.org

กุหลาบพระนามสิรินธร

“พระนามสิรินธร” Rosa Hybrid : ในปี พ.ศ. 2524 กุหลาบประเภทดอกใหญ่ (Hybrid Tea) พันธุ์หนึ่งชื่อ Madras ของบริษัทผู้ผลิตกุหลาบรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา คือ บริษัท แจ็คสันแอนด์เพอร์กินส์ จำกัด มีดอกสีชมพูแกมม่วง ได้รับคัดเลือกเป็นกุหลาบแห่งปี นายจีระ ดวงพัตรา แห่งไร่จีระโรสเนิสเซอรี่ ตำบลหนองเหียง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ได้สั่งกุหลาบชนิดนี้เข้ามาปลูกได้ประมาณ 2-3 เดือน

พบว่าเกิดกลายพันธุ์ในต้นเดียวกัน ให้ต้นใหม่ที่มีดอกสีชมพูเหลืองเหลือบ เมื่อทำการทดลองติดตาจนแน่ใจว่าเป็นกุหลาบพันธุ์ใหม่ จึงได้ขอพระราชทานชื่อกุหลาบพันธุ์นี้ว่า “พระนามสิรินธร” นับได้ว่าเป็นกุหลาบพันธุ์ที่โดดเด่นที่สุด เพราะเป็นกุหลาบพุ่มชนิดดอกโต (Bush – Rose) สีชมพูเหลืองเหลือบ กลีบซ้อนแน่น สวยงามมาก เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระราชานุญาตจึงได้จดทะเบียนไว้มีชื่อภาษาอังกฤษว่า ” Princess Maha Chakri Sirindhorn”

ที่มาของข้อมูล : สยามไภสัชยพฤกษ์ ภูมิปัญญาของชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล rspg.or.th ภาพจาก บ้านและสวน , Facebook ร้านบ้านอินทนิล

เอื้องศรีเชียงดาว

เอื้องศรีเชียงดาว

เอื้องศรีเชียงดาว (Sirindhornia pulchella H.A. Pedersen & Indhamusika) เป็นกล้วยไม้ดิน ใบเดี่ยว มีจุดประสีแดงแกมม่วงทั้งใบ ดอกออกเป็นช่อยาว ออกดอกในเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน เป็นไม้ถิ่นเดียวในประเทศไทย พบครั้งแรกโดย ดร. สันติ วัฒฐานะ และ ดร. ปิยะเนตร สุขสถาน เมื่อ พ.ศ. 2544 ที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ชื่อสกุลตั้งตามพระนามาภิไธยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี // ภาพจาก www.dnp.go.th

สิรินธรวัลลี หรือ สามสิบสองประดง

(Bauhinia sirindhorniae K. & S. S. Larsen)

สิรินธรวัลลี หรือ สามสิบสองประดง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bauhinia sirindhorniae) เป็นไม้เลื้อยเนื้อแข็งในสกุลชงโค วงศ์ Leguminosae กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดง เมื่อแก่ เปลือกเถาเรียบ บิดตามยาวเล็กน้อย เนื้อไม้เมื่อตัดตามขวาง สีน้ำตาลเข้มออกแดง มีลวดลายสีน้ำตาลอ่อนเป็นกลุ่มเหมือนกลีบดอกไม้ ดอกออกเป็นช่อสีน้ำตาล ออกดอกตลอดปี

แต่ดอกจะบานมากในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม เป็นไม้ถิ่นเดียวในประเทศไทย พบครั้งแรกโดย ดร.ชวลิต นิยมธรรม เมื่อ 20 กันยายน พ.ศ. 2538 ที่ภูทอกน้อย จังหวัดหนองคาย (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดบึงกาฬ) ชื่อสปีชีส์ของพืชชนิดนี้ตั้งตามพระนามาภิไธยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี // ภาพจาก www.dnp.go.th

เครือเทพรัตน์

เครือเทพรัตน์ (Thepparatia thailandica Phuph.) เป็นไม้เลื้อยในวงศ์ Malvaceae ลักษณะของดอกคล้ายดอกชบาแต่กลีบดอกไม่บานออกเท่า เป็นพืชถิ่นเดียวในประเทศไทย พบที่จังหวัดตากเท่านั้น พบครั้งแรกในประเทศไทยโดย ดร. ราชันย์ ภู่มา และคณะนักวิจัยจากหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2548 ชื่อสกุลของพืชชนิดนี้ตั้งตามพระนามาภิไธย ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ส่วนชื่อสปีชีส์ตั้งตามชื่อประเทศไทย / รายงานในวารสาร Thai Forest Bulletin (Botany) เมื่อปี ค.ศ. 2006. / ภาพจาก www.dnp.go.th

เอื้องศรีประจิม

เอื้องศรีประจิม

ชื่อสกุล “Sirindhornia” ตั้งเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Nordic Journal of Botany เล่มที่ 22 หน้า 393-402 ปีค.ศ. 2002 และเอื้องศรีประจิมได้รับการตั้งชื่อเป็นพืชชนิดใหม่พร้อมกัน จากตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบ Suksathan 3000 ที่เก็บจากดอยหัวหมด อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก (holotype: QBG) มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ กล้วยไม้ขึ้นตามซอกหิน มีใบเดียว รูปรีแกมรูปไข่ ยาว 8-12 ซม. ปลายแหลม แผ่นใบหนาสีเขียว มีแต้มสีเข้มกระจายทั่วไป ช่อดอกแบบช่อกระจะ ยาวได้ถึง 30 ซม. ก้านและแกนช่อมีขนประปราย ใบประดับรูปไข่ ปลายแหลม ยาวได้ถึง 1 ซม. ดอกจำนวนมาก บานจากโคนสู่ปลายช่อ ดอกบานเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 ซม. กลีบเลี้ยงสีม่วงอมแดง (Sirindhornia mirabilis H.A. Pedersen& P.Suksathan) ภาพจาก www.dnp.go.th

เอื้องศรีอาคเนย์

เอื้องศรีอาคเนย์

(Sirindhornia monophylla (Collett & Hemsl.) H.A.Pedersen & P.Suksathan)

เดิมมีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Habenaria monophylla Collett & Hemsl. ได้ถูกย้ายมาสกุลใหม่ด้วย เอื้องศรีอาคเนย์พบที่จีนตอนใต้ พม่า และภาคเหนือของไทย ขึ้นตามที่โล่งเขาหินปูน ความสูง 800-2,200 เมตร ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ กล้วยไม้ขึ้นตามซอกหิน มี 1-2 ใบ รูปรีหรือรูปไข่ ยาว 3-12 ซม. ปลายใบแหลมหรือแหลมยาว แผ่นใบหนาสีเขียว มีแต้มเข้มกระจาย ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจะ ยาวได้ประมาณ 35 ซม. ก้านและแกนช่อมีขนประปราย ใบประดับรูปใบหอก ปลายแหลมหรือแหลมยาว ยาว 0.5-1.5 ซม. ดอกจำนวนมาก บานจากโคนสู่ปลายช่อ // ภาพจาก www.dnp.go.th

ชมพูสิริน หรือ เทียนสิรินธร

ชมพูสิรินหรือเทียนสิรินธร เป็นพืชที่จัดอยู่ในวงศ์เทียน สำรวจพบบริเวณหน้าผาหินปูนในเขตอำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ และอำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดเป็นพืชหายากและเป็นพืชถิ่นเดียวของประเทศไทย ขึ้นตามหน้าผาที่เป็นหินปูน ระดับความสูง 20-150 เมตร

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้ล้มลุกอายุหลาย ฤดู ลำต้นฉ่ำน้ำ แตกกอที่ส่วนโคน มียอดมากได้ถึง 15 ยอด ดอกเกิดตามปลายกิ่ง มี 1–2 ดอก ก้านดอกโค้ง ยาว 3–6.5 เซนติ เมตร กลีบดอกสีชมพูอมม่วงอ่อน ๆ แผ่บานออก. (Impatiens sirindhorniae Triboun & Suksathan) รายงานในวารสาร Gardens’ Bulletin Singapore เมื่อปี ค.ศ. 2009 / ที่มา สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์

จำปีสิรินธร

จำปีสิรินธร

จำปีสิรินธร (Magnolia sirindhorniae Noot & Chalermglin) เป็นพรรณไม้จำปี ที่มีอยู่แห่งเดียวในโลก ที่ป่าพลุชุมชน ต.ซับจำปา อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี ค้นพบโดย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น นักวิชาการ 10 สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ลักษณะลำต้นสูงประมาณ 20 – 30 ม. ใบใหญ่กว่าจำปีทั่วไป มีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว ดอกสีขาวนวล มีกลีบดอก 12-15 กลีบ เมื่อดอกโรยแล้วจะมีเมล็ดเป็นช่ออยู่รวมเป็นกลุ่ม

จำปีสิรินธรออกดอกบาน ระหว่างเดือนมิถุนายน ถึง กรกฎาคม ผลแก่ระหว่างเดือนตุลาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานนามว่า “จำปีสิรินธร” และเป็นต้นไม้ประจำโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า / ภาพจาก www.hong-pak.com

ที่มา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ_สยามบรมราชกุมารี , ดอกไม้นามสิรินธร , ค้นหาข้อมูลพรรณไม้อื่นๆ www.dnp.go.th , สิ่งมีชีวิตที่ตั้งชื่อตามพระนามของพระบรมวงศานุวงศ์ไทย , โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี , สิรินธร ราชบรรณาภิรักษ์

บทความแนะนำ