พระโกศ พระโกศพระบรมอัฐิ พิธีถวายพระเพลิง ร.9 โบราณราชประเพณี ไม้จันทน์

พระโกศจันทน์ – พระหีบจันทน์ เครื่องแสดงแห่งเกียรติและยศศักดิ์ผู้วายชนม์

Home / สาระความรู้ / พระโกศจันทน์ – พระหีบจันทน์ เครื่องแสดงแห่งเกียรติและยศศักดิ์ผู้วายชนม์

การจัดสร้างพระโกศจันทน์ เป็นพระราชประเพณีมาแต่โบราณ เมื่อมีเจ้านายระดับสูงเสด็จสวรรคต พระบรมศพจะถูกอัญเชิญนำลงในพระโกศ ประดิษฐานไว้ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อการบำเพ็ญพระราชกุศลตามพระราชประเพณี แม้ประชาชนสามัญก็อาจได้รับพระราชทานพระโกศได้ เป็นเครื่องแสดงแห่งเกียรติและยศศักดิ์ของผู้วายชนม์ ชนิดของโกศนั้น มีขนาดและรูปทรงต่างกันไปตามลำดับยศและความสำคัญของผู้ตาย เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ได้ประกอบคุณงามความดีและบำเพ็ญตนเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติไว้

พระโกศจันทน์ – พระหีบจันทน์

พระหีบ-พระโกศจันทน์

ไม้จันทน์หอมที่แปรรูปแล้วจำนวน 1,461 แผ่น ที่ได้รับมอบทั้งหมด จะถูกนำไปจัดสร้างพระโกศจันทน์ ฐานรองพระโกศจันทน์ ช่อดอกไม้จันทน์ จำนวน 7 แบบ ฟืนไม้จันทน์ 24 ท่อน และยอดพระจิตกาธานบนพระเมรุมาศ

โดยลวดลายจะใช้ฉลุไม้จันทน์หอมในครั้งนี้ ประกอบด้วย ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง มีลายกลางเป็นครุฑ ลายหน้ากระดาน (ประจำยามก้ามปู) ลายดอกไม้ไหว ลายเฟื่องอุบะลายกลีบขนุนเทพนม ซึ่งแกะสลักเฉพาะเทพ ลายกระจังลายประจำยามลูกฟักก้ามปูลายแข้งสิงห์ ลายบัวถลา ลายบัวหงายและลายปลีกย่อยอื่นๆ

พระโกศจันทน์

พระโกศจันทน์มีโครงสร้างภายในเป็นเหล็กไร้สนิม และกรุด้วยลวดตาข่าย ใช้ไม้จันทน์ฉลุตกแต่งลวดลายขนาดใหญ่น้อยให้ได้สัดส่วนที่งดงาม ขัดแต่งผิวลับคมและเสี้ยนให้เรียบ นำลายแต่ละชั้นมาจัดดอกตามชุดโดยแยกสีเนื้อไม้อ่อนแก่ประกอบกัน เพื่อให้เกิดมิติที่สวยงาม

พระโกศจันทน์มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากพระโกศองค์อื่นๆ ทั้งหมด คือ องค์พระโกศเป็นทรงแปดเหลี่ยมฐานเตี้ย ฝาพระโกศเตี้ยแจ้ คล้ายพระโกศลองใน ซึ่งเป็นทรงกระบอก ฐานพระโกศเป็นบัวคว่ำติดเป็นชิ้นเดียวกับองค์พระโกศ และหีบพระบรมศพ ฝาพระโกศมักเป็นทรงบัวถลา ทรงเกี้ยว หรือทรงมงกุฎ มีลวดลายเส้นลายบัวถลา ลายดอกจอก ลายดอกไม้ทิศ

พระโกศจันทน์ มีที่มาจากดอกไม้จันทน์ เมื่อจะถวายพระเพลิงหรือพระราชทานเพลิง พนักงานเจ้าหน้าที่จะเปลื้องพระโกศทองออก เหลือแต่พระโกศลองในซึ่งเป็นโกศกลม ฝาปริกแลดูไม่งดงาม จึงได้มีการคิดประดิษฐ์ฟืนไม้จันทน์ขึ้นให้เป็นรูปหล่อทรงพระโกศลองใน แต่ประดิษฐ์ลวดลายคล้ายพระโกศทองที่เปลื้องออก ใช้ลวดลายขนาดต่างๆ ผูกเชื่อมต่อกันเข้าเป็นโครง แล้วนำแผงลวดตาข่ายผูกกรุตามรูปทรงของหุ่นพระโกศ จากนั้นจึงนำลวดลายที่เรียกว่า ลายซ้อนไม้ เข้าผูกประดับจนทั่วองค์พระโกศเป็นลายโปร่งทะลุ มองเห็นพระโกศลองในเป็นสีทองรางๆ เกิดความงดงาม

เหตุที่มีการสร้างพระโกศไม้จันทน์ให้มีลักษณะดังกล่าว เนื่องมาจากเหตุผล 2 ประการคือ

1.พระโกศจันทน์มีที่มาจากฟืนไม้จันทน์ ซึ่งมีหน้าที่เป็นฟืนหรือเชื้อเพลิงสำหรับพระบรมศพหรือพระศพ จึงไม่มีการแกะสลักเพียงแต่โกรกฉลุแผ่นไม้บางๆ เป็นชิ้นลายขนาดต่างๆ แล้วนำมาซ้อนให้เป็นชั้นเชิงและรูปทรงตามต้องการแลเห็นสีทองของพระโกศลองในทะลุช่องไฟลายฉลุออกมางดงาม

2.พระโกศจันทน์เป็นพระโกศโครงตาข่าย ประดับลายแบบฉลุโปร่งเป็นชั้นๆ ทำให้มีน้ำหนักเบา สะดวกแก่การประกอบครอบองค์พระโกศลองใน เมื่อถวายพระเพลิงลุกไหม้ได้สะดวก นับเป็นภูมิปัญญาของช่างไทยในอดีต

พระโกศจันทน์

ส่วนประกอบ พระโกศจันทน์

1. พระหีบฐานรองพระโกศจันทน์ โดยมีลวดลายหลักคือ ลายเครือเถาครุฑทั้ง 4 ด้าน ซึ่งนำมาใช้เป็นครั้งแรก และลวดลายอื่น ๆ ทั้งสิ้น 26 แบบ อาทิ ลายกระจัง, ลายฐานสิงห์, ลายสังเวียน จำนวนชิ้นไม้กว่า 30,000 ชิ้น

2. องค์พระโกศจันทน์ โดยมีลวดลายหลักคือ ลายกลีบจงกลประดับเทพพนม รอบองค์พระโกศจันทน์ทั้ง 8 เหลี่ยม และลวดลายอื่น ๆ ทั้งสิ้น 42 แบบ อาทิ ลายหน้ากระดาน, ลายดอกไม้ไหว, ลายกระจังคว่ำ เป็นต้น จำนวนชิ้นไม้กว่า 10,000 ชิ้น

3.ฝาพระโกศจันทน์ ประกอบด้วยลวดลายต่าง ๆ อาทิ ลายบัวถลา (บัวคว่ำ), ลายดอกจอก, ลายดอกไม้ทิศ เป็นต้น

โดยทั้งหมดเป็นงานลายซ้อนไม้ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และความพิเศษอีกสิ่งหนึ่งคือ มีการลงรักปิดทองบนชิ้นไม้บางส่วนเพื่อเพิ่มมิติ ความงดงาม และเพื่อความสมพระเกียรติสูงสุด

ไม่มีการเผาพระโกศจันทน์

แต่ก่อนการสร้างพระโกศจันทน์ในแต่ละครั้ง จะถูกเผาไปพร้อมกับพระบรมศพ จึงไม่มีให้ช่างรุ่นหลังได้ดูแบบอย่าง นอกจากรูปถ่าย

ความเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อครั้งถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ เมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๒๘ สมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริว่า “ควรเก็บพระโกศจันทน์ไว้เป็นตัวอย่างการสร้าง เพราะตัวอย่างในการสร้างไม่มีแล้ว ช่างที่เคยเห็นเคยทำมาชำนาญก็ล้มหายตายจากไป”

ทำให้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ไม่มีการเผาพระโกศจันทน์ ถอดออกเมื่อเสร็จสิ้น การทรงวางดอกไม้จันทน์ของพระบรมวงศ์ ก่อนถวายพระเพลิงพระศพ

ปัจจุบันพระโกศจันทน์องค์นี้ ประดิษฐานอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ยังมีรอยไหม้บริเวณฐานพระโกศจันทร์ด้วย เช่นเดียวกับพระโกศจันทร์ทรงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระพี่นางเธอฯ

พระโกศจันทน์ ศิลปะล้ำค่าของชาติซึ่งควรอนุรักษ์ ได้ถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร ตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า ไม่ถูกเผาทำลายไปอย่างแต่ก่อน

ที่มา news.voicetv.co.th/thailand/471189.html

ขอบคุณภาพจาก News.MThai.com

บทความแนะนำ