พระบรมโกศ พระโกศ พระโกศพระบรมอัฐิ พิธีถวายพระเพลิง ร.9 รัตนชาติ ในหลวงรัชกาลที่ 9

รัตนชาติ ที่ใช้ประดับพระโกศพระบรมอัฐิ ในหลวง ร.9 – เกร็ดความรู้น่าสนใจ

Home / สาระความรู้ / รัตนชาติ ที่ใช้ประดับพระโกศพระบรมอัฐิ ในหลวง ร.9 – เกร็ดความรู้น่าสนใจ

พระโกศพระบรมอัฐิรัชกาลที่ 9 ได้ออกแบบเป็นพระโกศ 9 เหลี่ยมตลอดองค์เป็นครั้งแรก เพื่อให้สอดคล้องกับสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ 9 ยอด ซึ่งแตกต่างจากแบบของพระโกศพระบรมอัฐิที่นิยมสร้างกันมาเป็นพระโกศแปดเหลี่ยม นอกจากนี้ แนวคิดยังสื่อถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระบรมราโชวาทของพระองค์ หรือ 9 คำพ่อสอน อาทิ ความเพียร ความซื่อสัตย์ ความดี คุณธรรม ความรู้ตัว ความพอดี โดยเฉพาะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พระราชทานแก่คนไทย ถือเป็นประโยชน์น้อมนำมาปฏิบัติในการดำรงชีวิต

รัตนชาติประดับ พระโกศพระบรมอัฐิ

ประดับเพชร 5,368 เม็ด อย่างสมพระเกียรติ

พระโกศทองคำลงยาสีองค์นี้ ประดับเพชรอย่างอลังการ เพื่อให้สมพระเกียรติ ขนาดฐานกว้าง 20 เซนติเมตร วัดจากฐานถึงยอดพุ่มข้าวบิณฑ์ สูง 80 เซนติเมตร วัดจากฐานถึงยอดฉัตร สูง 99 เซนติเมตร รัตนชาติที่ใช้ประดับพระโกศเป็นเพชรเจียระไนสีขาว มีตั้งแต่ขนาดเล็กและใหญ่ตามความเหมาะสม รวมทั้งสิ้น 5,368 เม็ด

รัตนชาติที่ใช้ประดับพระโกศ และส่วนประกอบต่างๆ เป็น เพชรเจียระไนสีขาวทั้งสิ้น ประกอบด้วย ขนาด 0.5 มิลลิเมตร จำนวน 36 เม็ด , ขนาด 0.8 มิลลิเมตร จำนวน 325 เม็ด , ขนาด 1.0 มิลลิเมตร จำนวน 98 เม็ด , ขนาด 1.3 มิลลิเมตร จำนวน 2,721 เม็ด , ขนาด 1.5 มิลลิเมตร จำนวน 723 เม็ด , ขนาด 1.8 มิลลิเมตร จำนวน 243 เม็ด , ขนาด 2.0 มิลลิเมตร จำนวน 304 เม็ด , ขนาด 2.5 มิลลิเมตร จำนวน 882 เม็ด , และขนาด 3.0 มิลลิเมตร จำนวน 36 เม็ด , รวมทั้งสิ้น 5,368 เม็ด

ส่วนยาสีที่ใช้ตกแต่งพระโกศ มี 3 สี

  • สีเหลือง สีประจำวันพระราชสมภพ
  • สีแดง สีแห่งความเข้มแข็งการหลอมรวมดวงใจของคนในชาติ
  • สีเขียว สีความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ของประเทศด้วยพระเมตตาบารมีแด่ประชาชนทุกภาค

พระโกศพระบรมอัฐิ

ลักษณะโดยรวมของพระโกศองค์นี้ เป็นตามแบบอย่างพระราชประเพณี องค์พระโกศประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้

ส่วนฐานพระโกศ

ส่วนฐาน ประกอบด้วยฐานสิงห์ ถัดขึ้นมาเป็นหน้ากระดานล่างประดับด้วยลายประจำยามก้ามปู เหนือขึ้นมาเป็นลายแข้งสิงห์ ประดับด้วยกาบแข้งสิงห์ ปากสิงห์ พื้นลายลงยาสีแดงทำเป็นลายก้านขดใบเทศ ทั้ง 9 ด้าน เหนือลายแข้งสิงห์เป็นลายบัวหลังสิงห์ เหนือจากฐานสิงห์ประกอบด้วยฐานบัวเชิงบาตรซ้อน 2 ชั้น ถัดขึ้นมาเป็นลายบัวหงายรับหน้ากระดาน ส่วนฐานยังประกอบด้วยลายท้องไม้ลายกลับบัวหงาย ลายเกสรบัว ประดับรัตนชาติ ลวดลายส่วนฐานตามแบบพระราชประเพณี แสดงโครงสร้างใช้สำหรับตั้งสิ่งที่สำคัญ ควรเคารพ และบ่งบอกฐานานุศักดิ์พระมหากษัตริย์

องค์พระโกศ

ส่วนองค์พระโกศ เป็นลายกลีบบัวจงกลซ้อนขึ้นไป หาปากพระโกศ จำนวน 4 ชั้น ตรงกลางทำเป็นพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. เมื่อนำไปประดิษฐานบนพระวิมานพระบรมอัฐิในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทจะหันด้านนี้ออก โดยพระนามาภิไธยย่อวางบนรัตนชาติ

ฝาพระโกศ

ส่วนฝาพระโกศทำเป็นยอดทรงมงกุฎเกี้ยวมาลัยทอง เรียงลำดับขึ้นไปตั้งแต่ชั้นที่ 1,2,3 และ 4 ช่างศิลปะไทยโบราณเรียก “ทรงจอมแห”

ยอดพระโกศ

ส่วนยอดพระโกศสร้างสองแบบ ได้แก่ แบบพุ่มข้าวบิณฑ์ ทำด้วยเงินบริสุทธิ์ประดับเพชร และแบบสุวรรณฉัตร ฉัตร 9 ชั้น ทำด้วยทองคำลงยาประดับเพชร

เครื่องประดับพระโกศ

ในส่วนเครื่องประดับพระโกศ ทำด้วยเงินประดับด้วยเพชร อย่างดอกไม้เอว ดอกไม้ไหวหรือดอกไม้เพชร เฟื่องอุบะ และดอกไม้ทิศ จะมีขนาดลดหลั่นกันตามความเหมาะสม

“ยอดพระโกศที่เป็นสุวรรณฉัตรของพระโกศพระบรมอัฐิที่ผ่านมา ทำฉัตร 5 ชั้น 7 ชั้น แต่พระโกศองค์นี้สร้างเป็นพระนพปฏลมหาเศวตฉัตร ฉัตร 9 ชั้น เป็นฉัตรทองประดับลวดลายกรวยเชิงประดับเพชรที่มีกระจังเข็มขัดล้อม ใช้อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิจากพระเมรุมาศเข้าพระบรมมหาราชวัง กระทั่งเก็บรักษาไว้บนพระวิมานพระบรมอัฐิจะถอดเปลี่ยนเป็นพุ่มข้าวบิณฑ์ นอกจากพระโกศทองลงยาแล้ว ยังมีพระโกศศิลา และฐานไม้กลึงแกะสลักลงรักปิดทอง สำหรับรองรับยอดพระโกศเมื่อถอดผลัดเปลี่ยนในงานราชพิธี”

พระโกศพระบรมอัฐิ

วันที่ 27 ตุลาคม 2560 อัญเชิญ พระโกศพระบรมอัฐิ ในหลวง ร.9 ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทแล้ว

ผู้ออกแบบพระโกศพระบรมอัฐิ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือ คุณอำพล สัมมาวุฒิ นักวิชาการช่างศิลป์เชี่ยวชาญ (ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านช่างศิลปกรรม (วิจัยและพัฒนาศิลปกรรม)) สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร

เรียบเรียงโดย www.campus-star.com

ข้อมูลจาก https://siamrath.co.th/n/11571

บทความแนะนำ