พระโกศทองใหญ่ หรือ พระลองทองใหญ่ เป็นพระโกศ สำหรับทรงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ และพระศพของพระบรมวงศ์ชั้นสูง สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช .. นับเป็นพระโกศที่มีลำดับยศสูงที่สุด โดยใช้สำหรับบรรจุพระศพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพเป็นพระองค์แรก และใช้ทรงพระศพของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นพระองค์ล่าสุด
ตำนาน พระโกศทองใหญ่ 3 รัชกาล
นอกจากนี้ พระโกศทองใหญ่ยังใช้เป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศพระศพ สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ที่บรรจุพระบรมศพและพระศพลงในหีบพระศพแทนการลงพระโกศ เช่น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ..
(1) พระโกศทองใหญ่รัชกาลที่ 1
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2351 ข้อมูลจากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 1 กล่าวว่า ใช้ทองคำที่เคยหุ้มพระโกศกุดั่นใหญ่และพระโกศกุดั่นน้อยทรงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอทั้ง 2 พระองค์ รวมกับทองคำที่ใช้หุ้มพระโกศไม้สิบสองทรงพระบรมศพสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท และพระศพ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ ผสมกับทองคำใหม่ สร้างเป็นพระโกศแปดเหลี่ยมยอดทรงมงกุฎ ประดับพลอย
ตำนานกล่าวว่า เมื่อสร้างเสร็จได้ตั้งถวายในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ให้ทอดพระเนตรอยู่หลายวัน เมื่อสวรรคตก็ใช้ทรงพระบรมศพของพระองค์เองเป็นครั้งแรก .. ต่างจากข้อมูล ที่รับทราบกันทั่วไปว่า ใช้ทรงพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ เป็นครั้งแรก เเละได้ใช้ทรงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ พระบรมศพหรือพระศพเจ้านายในพระบรมราชวงศ์สืบต่อมาทุกรัชกาล ครั้งล่าสุดใช้ในการออกพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2551
(2) พระโกศทองใหญ่รัชกาลที่ 5
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) โปรดเกล้าฯ ให้ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ ทรงสร้างถวายเมื่อ พ.ศ. 2443 เป็น พระโกศแปดเหลี่ยมยอด ทรงมงกุฎ ทำจากไม้หุ้มทองคำประดับพลอยขาว โดยทั่วไปเชื่อกันว่าสร้างขึ้นเพื่อใช้ประกอบพระลองเป็นการชั่วคราว แทนพระโกศทองใหญ่รัชกาลที่ 1 ซึ่งต้องเชิญออกไปขัดแต่งก่อนออกพระเมรุ ทำให้เรียกกันว่าพระโกศทองรองทรง
อย่างไรก็ดี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงพระวิจารณ์ว่า ควรเรียกพระโกศทองใหญ่ เพราะมีวัตถุประสงค์หลักในการสร้าง เพื่อใช้ทรงพระบรมศพหรือพระศพเจ้านาย ที่มีศักดิ์สูงพร้อมกัน จึงมีศักดิ์เสมอด้วยพระโกศทองใหญ่รัชกาลที่ 1 เช่นกัน
ใช้ทรงพระบรมศพหรือพระศพเจ้านายในพระบรมราชวงศ์สืบมา เช่น พระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 พระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และ ใช้ในการพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยประดิษฐานเหนือพระแท่นสุวรรณเบญจดลภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตรภายในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
(3) พระโกศทองใหญ่รัชกาลที่ 9
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ร.9) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เมื่อราว พ.ศ. 2543 นับเป็นพระโกศทองใหญ่องค์ที่ 3 ของกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องด้วยพระโกศทองใหญ่รัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 5 ค่อนข้างชำรุดเพราะผ่านการใช้งานมาหลายคราว เป็นพระโกศแปดเหลี่ยม ยอดทรงมงกุฎ ทำจากไม้หุ้มทองคำ ประดับพลอยขาวทรวดทรงและลวดลายผสมผสานกัน ระหว่างพระโกศทองใหญ่รัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 5 ใช้ในการพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นครั้งแรก
พระบรมศพ
พระโกศทองใหญ่ ประกอบพระราชอิสริยยศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร ตั้งประดับเป็นพระเกียรติยศเหนือพระแท่นสุวรรณเบญจดล ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร แวดล้อมด้วยเครื่องสูงสำหรับพระบรมศพ
เบื้องหน้าตั้งเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ รวมทั้งเครื่องราชูปโภคพระมหากษัตริย์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ส่วนพระองค์
พระบรมศพนั้น ไม่ได้ประทับในพระโกศทองใหญ่นี้ โดยได้ประทับในพระอิริยาบถบรรทม ในหีบพระบรมศพ ที่ตั้งเหนือพระแท่นแว่นฟ้า กั้นด้วยพระฉาก อยู่ด้านหลังพระแท่นสุวรรณเบญจดลนี้
พระโกศทองใหญ่จำหลักด้วยทองคำจริง ๆ หนักประมาณ 50 ชั่ง หรือประมาณ 5 ล้านกว่าบาท ตามอัตราทองปัจจุบัน
พระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 มิได้บรรจุลงประทับในพระบรมโกศ
ในอดีตเหล่าบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ เมื่อสิ้นพระชนม์ลง พระบรมศพล้วนถูกบรรจุลงประทับในพระบรมโกศแทบทั้งสิ้น แต่ธรรมเนียมนี้ มามีการเปลี่ยนแปลงครั้งแรกก็เมื่อในคราว งานพระราชพิธีพระบรมศพ ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า ที่ท่านได้ทรงมีพระกระแสรับสั่ง ว่าทรงมีพระประสงค์มิลงประทับในพระบรมโกศ
เพราะในคราเมื่อท่านทำพิธีสรงน้ำพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี สมเด็จพระราชินีในรัชกาลที่ 7 ท่านได้ทรงอยู่ทอดพระเนตร และได้ทรงเห็นพิธีสุกำหรือการมัดพระบรมศพอันเชิญลงในพระโกศ ซึ่งเป็นไปด้วยความทุลักทุเลอย่างมาก
ท่านทรงตรัสสั่งออกมาว่า “อย่าทำกับฉันอย่างนี้ อึดอัดแย่” เมื่อคราที่ท่านเสด็จสวรรคต จึงอัญเชิญหีบพระบรมศพเข้าประดิษฐานหลังพระแท่นสุวรรณเบญจดล มิได้ลงประทับยังพระบรมโกศ .. ซึ่งการนี้มิใช่การยกเลิกธรรมเนียมแต่ประการใด แต่มาจากพระราชประสงค์ส่วนพระองค์
ซึ่งในคราวของงานพระราชพิธีบำเพ็ญพระกุศลพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ในครานี้
ก็เป็นพระราชประสงค์ส่วนพระองค์ ที่จะทรงประทับยังพระหีบ มิได้ลงประทับลงพระบรมโกศ … เฉกเช่นเดียวกับพระราชมารดาของพระองค์
พระโกศทองใหญ่องค์ที่ใช้ประกอบพระราชอิสริยยศครั้งนี้ เป็นองค์ที่สร้างขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 9
ข้อมูลและภาพจาก th.wikipedia.org/wiki/พระโกศทองใหญ่ , เรารักลพบุรี Awiruth Chanchai , pantip.com
ข้อมูลจาก เพจห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ www.facebook.com/ArtHistoryClassroom
บทความแนะนำ
- ประวัติความเป็นมาของ “พระโกศไทย” ที่ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด
- ไม้จันทน์หอม ไม้มงคลที่ใช้ในพระราชพิธีสำคัญ คนรุ่นใหม่อาจไม่รู้จัก
- ตำนานพระโกศทองใหญ่ 3 รัชกาล | พระโกศสำหรับทรงพระบรมศพ พระมหากษัตริย์
- 4 สิ่งที่หายไป จากงานพระบรมศพยุคใหม่ ที่คุณจะไม่มีโอกาสได้เห็น
- เกร็ดความรู้ : รัตนชาติที่ใช้ประดับพระโกศพระบรมอัฐิ ในหลวง ร.9
- ประวัติความเป็นมาของ พระโกศไทย ที่ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด