ประวัติศาสตร์พม่า พม่า พระนางศุภยาลัต พระเจ้าธีบอ

บั้นปลายชีวิต พระนางศุภยาลัต ราชินีองค์สุดท้ายของพม่า – ฉันไม่ได้ฆ่าพวกเจ้าฟ้าชาย

Home / สาระความรู้ / บั้นปลายชีวิต พระนางศุภยาลัต ราชินีองค์สุดท้ายของพม่า – ฉันไม่ได้ฆ่าพวกเจ้าฟ้าชาย

อย่างที่ได้หยิบยกเรื่องราวของ “พระนางศุภยาลัต ราชินีองค์สุดท้ายของพม่า” มานั้น ต้องบอกว่าในตอนท้ายมีบันทึกเรื่อง “สังหารหมู่ในพระราชวังมัณฑะเลย์” นี้เอาไว้ 2 แบบ คือ แบบของฝรั่ง ที่ว่าพระนางเป็นคนสั่งการเอง และแบบที่ 2 คือ แบบความเชื่อชาวพม่า ที่ว่ากันว่าพระราชมารดา (พระนางอเลนันดอ) ที่เป็นผู้วางแผนชิงอำนาจราชบัลลังก์พม่า ที่ทำให้ต้องมีการปลงพระชนม์เจ้านาย ซึ่งเป็นเจ้าพี่เจ้าน้องร่วมพระบิดาของพระเจ้าธีบอ ทั้งลูกเมียรวมร้อยกว่าศพ แต่คนปวงเห็นว่าเป็นบาปของพระนางศุภยาลัต (แต่สิ่งที่ทั้งฝรั่งและพม่าบันทึกเหมือนกัน คือเรื่องความหึงหวงพระสวามี)

บั้นปลายชีวิต พระนางศุภยาลัต

พระเจ้าธีบอสิ้นพระชนม์ ใน พ.ศ. 2459 (ตรงกับในรัชกาลที่ 6) เมื่อพระชนม์ได้ 58 พรรษา

พระนางศุภยาลัตได้รับอนุญาตให้ออกจากวังในรัตนคีรี กลับคืนสู่แรงกูนในวันที่ 10 เมษายน 2462 แต่มิได้เป็นอิสระแท้จริง เพราะยังคงอยู่ใต้อารักขาของอังกฤษต่อไปจวบจนสิ้นพระชนม์ในปี 2468

พระนางศุภยาลัตผนวชเป็นชี

ในบั้นปลาย พระนางศุภยาลัตผนวชเป็นชี  ดูหน้าตาก็ไม่ค่อยจะอิ่มเอิบเท่าไหร่ แต่ในเมื่อท่านตัดสินใจสละทางโลก ก็ถือว่ายังดี / cr : คุณเทาชมพู / เรือนไทย

ปี 2462 กลับพม่า พร้อมเจ้าหญิงทั้งสอง

เจ้าหญิงองค์ใหญ่หอบหิ้วลูกสาวชื่อตูตู กลับมาด้วย ก็ประสบความรังเกียจเดียดฉันท์จากชาวพม่า ที่มีต่อลูกสาวเชื้อชาติครึ่งพม่าครึ่งอินเดีย จนเธอทนไม่ไหว เจ้าหญิงเขียนจดหมายนับไม่ถ้วนถึงทางการอังกฤษ เพื่อขอกลับไปสู่รัตนคีรี และกลับไปหานายโคปาลผู้สามีซึ่งไม่ได้ติดตามมาพม่าด้วย นั่นหมายถึงว่าเธอต้องสละฐานันดรศักดิ์เจ้าหญิง ไม่มีสิทธิ์ได้รับเบี้ยเลี้ยงหรือเงินทองอะไรเลยจากทางการ

ในที่สุด เจ้าหญิงองค์ใหญ่ก็ได้รับอนุญาตให้กลับไปรัตนคีรีได้ตามต้องการ นายโคปาลซึ่งยังอยู่ที่นั่นให้เธอไปอาศัยอยู่ในกระต๊อบแห่งหนึ่ง มีบันทึกว่าเธอได้ให้กำเนิดบุตรคนที่สองกับนายโคปาล แต่ตายเสียก่อนคลอด เมื่อพ.ศ. 2490 เจ้าหญิงอยู่ที่นั่นอย่างโดดเดี่ยวอ้างว้าง ลำบากยากไร้แสนสาหัส จนกระทั่งเสียสติ กลายเป็นคนคุ้มดีคุ้มร้าย ว่ากันว่าเธอถึงกับขว้างก้อนหินใส่ใครก็ตามที่ไปเยือนหรือแม้แต่เดินผ่านหน้ากระต๊อบ เจ้าหญิงสิ้นชีพไปอย่างสิ้นเนื้อประดาตัว ไม่มีแม้แต่ค่าทำศพ ชาวบ้านต้องช่วยกันเรี่ยไรเงินทำศพให้เธอ จนบัดนี้ก็ไม่รู้ว่าเถ้ากระดูกและอัฐิของเธอเก็บไว้ที่ไหน ในอินเดียหรือว่าพม่า

“ฉันไม่ได้ฆ่าพวกเจ้าฟ้าชาย”

พระนางศุภยาลัตบอกกับผู้สื่อข่าวในย่างกุ้ง ในการสัมภาษณ์พิเศษ

หลังจากที่พระเจ้าธีบอสวรรคต ราชินีศุภยะลัตกลับจากอินเดียคืนสู่พม่า และประทับอยู่ในตำหนักที่รัฐบาลอังกฤษจัดถวายที่ถนนเชอร์ชิล (เดี๋ยวนี้เปลี่ยนชื่อเป็นถนนโกมินโกชิน) ในเมืองย่างกุ้งจนตลอดพระชนม์ชีพ มีฝรั่งและคนพม่าทุกวงการได้ไปเข้าเฝ้าพระองค์ ในเดือนกันยายน 2467 ผู้สื่อข่าวท้องถิ่น ได้มีโอกาสอันหาได้ยากยิ่งที่จะได้รับพระราชทานสัมภาษณ์ นายหม่อง กา เล ผู้สื่อข่าวอาวุโสของ Bandoola Journal เป็นผู้เขียนรายงานบทสัมภาษณ์นี้แบบคำต่อคำ (ในที่นี้หยิบยกมาเพียงบางส่วน)

…พระราชินีได้ตรัสถามคำถามที่นอกเหนือความนึกคิด
พระนางศุภยาลัต : จริงหรือเปล่าที่ประชาชนเชื่อว่าฉันฆ่าพวกเจ้าฟ้าชาย
ผู้สื่อข่าว : พุทธเจ้าค่ะ เขาเชื่อ
พระนางศุภยาลัต : สิ่งที่ประชาชนเชื่อเป็นเรื่องไม่จริง ฉันไม่ได้ฆ่าพวกเจ้าฟ้าชาย ฉันยังเป็นเด็กตอนที่ฉันได้เป็นพระราชินี

ผู้สื่อข่าว : พระตำหนักนี้เป็นของรัฐบาลหรือพุทธเจ้าค่ะ
พระนางศุภยาลัต : ใช่ แต่เขาก็จะให้เสียภาษีตอนที่เราทำสวนในสนามเล็กๆของตำหนัก แต่เราก็ไม่ได้จ่ายเพราะเรามีภาระต้องเสียค่ารักษาความปลอดภัย
ผู้สื่อข่าว : ข้าพุทธเจ้าอยากทราบเรื่องการสวรรคตของพระเจ้าธีบอ ..

**เมื่อพระนางศุภยาลัต ได้เป็นพระราชินีนั้นพระชนมายุประมาณ 18 ปี 10 เดือน ในสมัยนั้นก็ไม่ถือว่าเด็ก แต่ถ้าว่ากันถึงประสบการณ์ทางการเมืองก็นับว่ายังเด็กอยู่มาก

ตอนพระเจ้าธีบอสวรรคต

“ตอนพระเจ้าเหนือหัวสวรรคตเมื่อ 15 ธันวาคมปี 2459 เราไม่มีเงินพอที่จะจัดพิธีพระบรมศพถวาย ไม่มีแม้กระทั่งโอกาสจะได้ทำบุญอุทิศพระราชกุศลตามประเพณี เราตั้งพระบรมศพไว้ในห้องๆ หนึ่งที่วัง จนวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2460 จึงย้ายมาบรรจุที่พระราชสุสานที่สร้างไว้ในบริเวณวังนั่นเอง จนกระทั่งเดือนมีนาคม 2460 พวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลก็มาย้ายพระราชสุสานไปตั้งใหม่ในป่าแห่งหนึ่ง”

พระราชธิดาเจ้าหญิงมธุรสศุภรา (Princess Madarus Suphara – her daughter and Princess) เคยประทานประทานสัมภาษณ์นิตยสารมหาพันธุละว่า “พระราชสุสานตั้งอยู่ใจกลางป่า ไกลจากวังมาก ต้องเดินทางกันครึ่งค่อนวันจึงจะไปถึง”

พระนางศุภยาลัต ทรงอ้างในระหว่างการสัมภาษณ์ครั้งนั้นว่า ทรงอยากจะย้ายพระราชสุสานกลับมาพม่า แต่รัฐบาลอังกฤษปฏิเสธเพราะเกรงว่าจะเกิดกระแสต่อต้านจากมวลชนที่เห็นว่าอังกฤษเอากษัตริย์ของพวกตนไปเป็นๆ แต่คืนกลับมาให้แค่ร่างที่หาชีวิตไม่แล้ว ไม่ยอมแม้แต่จะให้นำส่วนใดส่วนหนึ่งของพระบรมศพกลับมาพม่า จึงเฝ้าระวังการเคลื่อนไหวของบรรดาพระราชวงศ์ ทั้งยังจัดยามคอยเฝ้าดูพระราชสุสานด้วย

เมื่อพระนางศุภยลัตเสด็จกลับพม่าในปี 2462 นั้น พระนางศุภยาจี-พระขนิษฐาซึ่งเป็นพระมเหสีอีกองค์หนึ่งของพระเจ้าธีบอมิได้เสด็จด้วย คงอยู่ในวังที่รัตนคีรีนั่นเอง จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในสองสามปีต่อมา รัฐบาลอังกฤษได้นำพระศพไปบรรจุไว้ในพระราชสุสานเคียงข้างกัน

ทุกวันนี้พระราชสุสานที่ว่ากันว่าอยู่ใจกลางป่าในครั้งกระนั้น กลายมาเป็นป่าคอนกรีต ซึ่งเป็นย่านพักอาศัยของชาวเมืองไปแล้วอย่างน่าพิศวง ขอบคุณรัฐบาลอินเดีย (จากใจชาวพม่า) ที่ได้ทำการบูรณะพระราชสุสานเมื่อปี 2537 และเว้นที่ตรงนั้นไว้ให้โดยการสร้างกำแพงเล็กๆ ป้องกันมิให้คนเข้าไปใช้พระราชสุสานเป็นลานตากเสื้อผ้าดังเช่นที่เคย : > ดูภาพพระราชสุสานพระเจ้าธีบอ

บทสัมภาษณ์อื่นๆ ทั้งที่เป็นภาษาอังกฤษ และแบบแปลไทย :> อ่านต่อในความคิดเห็นที่ 74 Pantip.com

พระศพของพระนางศุภยาลัต…

พระศพของพระนาง ถูกฝังอยู่ไม่ไกลจากพระมหาเจดีย์ชเวดากอง ร่างของพระนางได้รับการบรรจุลงหีบศพในวันที่ 4 ธันวาคม 2468 และมีประกาศให้ฝังศพของพระนางในวันที่ 17 ธันวาคม 2468 อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของอังกฤษในสมัยนั้นปฏิเสธข้อเรียกร้องที่จะนำพระศพของพระนางไปฝังที่กรุงมัณฑะเลย์ เคียงข้างพระศพของพระราชบิดาของพระนาง (พระเจ้ามินดง)

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2468

ก่อนถึงวันคล้ายวันประสูติครบรอบ 66 ชันษาของพระนางศุภยาลัต (พระนางเกิดวันที่ 13 ธันวาคม 2402) พระนางก็ได้สิ้นพระชนม์ด้วยอาการพระหทัยวาย หลังจากที่ล้มป่วยกะทันหัน และเป็นไข้ และอ่อนแอลงเรื่อยๆ โดยเวลาประมาณ 6 โมงเย็นของวันเดียวกัน นักเขียนจากนิตยสารดะโก่ง (Dagon) มาถวายความเคารพเป็นครั้งสุดท้าย และเขาได้บันทึกไว้ว่า

“ไม่มีใครอยู่ที่ชั้นบนของบ้านเลย บ้านเงียบสงบมากและเปิดไฟสว่าง ข้าพเจ้ากวาดสายตามองและเห็นร่างของพระราชินีอยู่บนแท่นบรรทมในห้องเล็กๆ ไม่มีใครอื่นนอกจากหญิงรับใช้อาวุโสนั่งอยู่ข้างแท่นบรรทม คอยพัดโบกให้พระนาง ทุกสิ่งเงียบสงบ และแล้วทันใดนั้น ข้าพเจ้ารู้สึกต้องการเห็นพระนางใกล้ๆ ข้าพเจ้าจึงลุกขึ้น และขยับเข้าไปใกล้แท่นบรรทมมากขึ้น คนรับใช้ไม่แต่ชายตามองข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามองเห็นพระราชินีใกล้ๆ และเห็นว่า พระนางเป็นหญิงชรา พระพักตร์ดูเหมือนยังมีชีวิต ดูสงบและเยือกเย็น ไร้ริ้วรอย โดยครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระเศียรของพระนางเคยมีมงกุฎสวมอยู่ คำสั่งจากพระโอษฐ์นี้สามารถเปลี่ยนชีวิตประชาชน พระเนตรคู่นี้ประจักษ์ความล่มสลายของราชอาณาจักร และครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระนางคือบุคคลผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดของประเทศนี้”

ที่มาภาพ : The British Library Board, MSS EUR D 1156-9, 1136B จากหนังสือ ราชันผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง : > ไทย – พม่า : เพราะแผ่นดินเราติดกัน , พระนางศุภยาลัต หลังนิวัติย่างกุ้ง Pantip.com

กู่มณฑป บรรจุพระอัฐิของพระนางศุภยาลัต

พระนางศุภยาลัต สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2468 / cr : en.wikipedia.org/wiki/Supayalat

ปัจจุบันนี้อยู่ที่ ถนนเจดีย์ชเวดากอง (Shwe Dagon Pagoda Rd.) ห่างจากบันไดด้านทิศใต้ของพระเจดีย์ชเวดากอง มาประมาณ 200 เมตร สร้างเป็นกู่ทรงมณฑปยอดปราสาทแบบพม่า ก่ออิฐฉาบปูนขาว รูปทรงคล้ายที่ฝังพระศพของพระเจ้ามินดง (พระบิดา) ในกรุงมัณฑะเลย์

ทำไมพระนางศุภยาลัต ถึงต้องสังหารหมู่?

“เพราะเจ้าฟ้าสีป่อ ไม่มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์ จึงต้องใช้เล่ห์เหลี่ยมชิงเอา ซึ่งไม่มีทางอื่นนอกจากจะกำจัดผู้มีสิทธิ์กว่าออกไป ทำให้อย่างน้อยก็ต้องฆ่า 9 คนเข้าไปแล้ว และที่เหลือหากมีใครไม่ยอมก็ต้องฆ่ากันอยู่ดี เมื่อถึงตอนนั้นจริงๆ ผัวของตัวต้องเป็นฝ่ายถูกฆ่าแน่ๆ เพราะเป็นคนไม่เอาไหน เขาฆ่าผัวก็ต้องฆ่าเมียด้วย อย่ากระนั้นเลย รีบชิงลงมือเป็นฝ่ายฆ่าคนอื่นก่อนดีกว่า

แต่ว่าก็ว่าเถอะครับ ตามที่ผมอ่านมาเคยเจอว่า พระนางศุภยาลัตสติไม่ค่อยสมประกอบเท่าไร จัดอยู่ในประเภทคุ้มดีคุ้มร้าย บทโหดขึ้นมาก็โหดเหี้ยมผิดมนุษย์ ผัวเป็นพระเจ้าแผ่นดินยังกลัวขนาดไม่กล้าแม้จะแอบมีกิ๊ก” / โดย Navarat.C

รูปพระนางศุภยลัตก่อนจะสิ้นวาสนา

รูปพระนางศุภยลัตก่อนจะสิ้นวาสนา ประทับท่ามกลางนางพระกำนัล ในพระสวนด้านใต้ของพระราชวังมัณฑะเลย์

เพิ่มเติมเกี่ยวกับชื่อของคนพม่า

ชื่อของคนพม่านั้นจะไม่มีระบบนามสกุลหรือแซ่ แต่จะใช้คำนำหน้าชื่อกำหนดฐานะทางสังคม เช่น

สำหรับผู้ชาย
“อู” จะใช้เรียกคนที่อาวุโสกว่า
“โก” เรียกคนที่มีฐานะใกล้กัน และ
“หม่อง” ใช้เรียกคนที่อ่อนว่า เช่น คนหนุ่มหรือวัยรุ่น
ส่วนเด็กผู้ชายจะใช้ว่า “เมา” เช่น หม่อง เอ, โก ขิ่นหยุ่น, อู นุ บางทีก็จะใช้ควบกันเช่น โก หม่อง ติน

สำหรับผู้หญิง
“ดอ” จะใช้เรียกสตรีสูงวัย
“มะ” ใช้กับเด็กผู้หญิง
เช่น ดอ ขิ่นจี, มะ เมี๊ยะ

เช่นเดียวกับสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเรียกชื่อคนพม่าโดยไม่กล่าวถึงสถานะทางสังคมนั้นเป็นการไม่สุภาพมาก เช่น ครู และ แพทย์ ซึ่งเป็นอาชีพที่มีฐานะสูง มักจะมีคำนำหน้าว่าชื่อ “สยา”
นายทหารจะใช้คำน้ำหน้าว่า “โบ” เช่น โบ เมี๊ยะ
พระที่เป็นเจ้าอาวาสใช้ “สยาดอ” เจ้าคณะเรียก “อะเช็ง” พระคุณเจ้าเรียก “โบดอ”ฃ

cr : เจ้าคุณแม่ทัพ

รวมผลงานชุด พม่าเสียเมือง

บทความโดยคุณนวรัตน์ ใน Pantip.com ทั้งหมด 5 ตอน : ตอนที่ 1  , ตอนที่ 2ตอนที่ 3ตอนที่ 4ตอนที่ 5

แหล่งข้อมูลน่าสนใจ

หนังสือน่าอ่าน “ตำนานเมืองพม่า” เล่มละ 270 บาท รวมค่าส่ง สั่งซื้อที่เพจะ ไทย-พม่า เพราะแผ่นดินเราติดกัน

เรียบเรียงโดย Campus-Star.com

บทความแนะนำ