บุคคลประวัติศาสตร์ ประธานาธิบดี ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา สหรัฐอเมริกา

เปิดประวัติศาสตร์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา (รายชื่อ+ประวัติ+ผลงาน) 1

Home / สาระความรู้ / เปิดประวัติศาสตร์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา (รายชื่อ+ประวัติ+ผลงาน) 1

ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เป็นตำแหน่งประมุขในการปกครองของสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีเป็นหัวหน้าของทุกสาขาของรัฐบาลแห่งสหพันธรัฐ โดยมีหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ที่เขียนโดยสภาคองเกรสมาตราที่ 2 ของรัฐธรรมนูญนั้นบัญญัติว่า “ประธานาธิบดีต้องเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองกำลังทหาร และกระจายอำนาจที่เป็นของประธานาธิบดีออกไป รวมไปถึงอำนาจเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างกฎหมาย ที่ผ่านมาจากสภาคองเกรส”

รายนามประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (1)

เปิดประวัติศาสตร์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา (รายชื่อ+ประวัติ+ผลงาน) 1

นอกจากนั้น ประธานาธิบดียังมีอำนาจในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นที่ปรึกษาและอำนาจในการลดโทษหรือให้รอลงอาญาได้ ท้ายที่สุดหากประธานาธิบดีได้รับคำแนะนำและการยอมรับจากวุฒิสภา แล้วจะมีอำนาจในการทำสนธิสัญญา แต่งตั้งเอกอัครราชทูตและศาลตัดสินของประเทศ รวมไปถึงศาลสูงสุดด้วย การแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาครั้งที่ 22 กำหนดให้สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ไม่เกินสองสมัย รายนามนี้รวมเฉพาะบุคคลที่ได้สาบานตนเป็นประธานาธิบดีตามการลงนามในรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2332 และล่าสุดการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกาก็ได้ผลออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยชัยชนะเป็นของ “โดนัลด์ ทรัมป์” (ทำความรู้จัก โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกา) แต่ว่าตอนนี้เราจะพาทุกคนย้อนกลับไปดูถึงอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีชื่อเสียงและสร้างผลงานให้ประเทศจะมีใครกันบ้างนั้น มาดูกันเลย…..

1 George Washington

คนที่ 1 จอร์จ วอชิงตัน (George Washington)

จอร์จ วอชิงตัน เกิดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1732 เขาเป็นผู้นำทางทหารและการเมืองที่โดดเด่นของสหรัฐอเมริกาที่เพิ่งก่อตั้งขึ้น ระหว่าง ค.ศ. 1775 ถึง 1799 นอกจากนี้เขายังสามารถทำให้สหรัฐฯ ได้รับชัยชนะในสงครามปฏิวัติอเมริกัน ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพภาคพื้นทวีปใน ค.ศ.1775-1783 และรับผิดชอบการร่างรัฐธรรมนูญใน ค.ศ. 1787 เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1789 – 4 มีนาคม ค.ศ. 1797 วอชิงตันเป็นผู้นำการสร้างรัฐบาลแห่งชาติที่เข้มแข็งและมีการคลังที่ดี และยังได้รับการยกย่องทั่วไปว่าเป็น “บิดาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา” อีกด้วย

ด้วยผลงานอันอุทิศให้แก่ชาติบ้านเมือง วอชิงตันจึงได้รับ “เครื่องรัฐอิสริยาภรณ์เหรียญทองแห่งรัฐสภาคองเกรส” (Congressional Gold Medal) เป็นบุคคลแรก เขาถึงแก่กรรมใน ค.ศ. 1799 โดย เฮนรี ลี สดุดีวอชิงตันในพิธีศพว่า “ในยามรบ ยามสงบ และในหัวใจของเพื่อนร่วมชาติ เขาคือที่หนึ่งสำหรับอเมริกันชนทั้งปวง”

John Adams

คนที่ 2 จอห์น แอดัมส์ (John Adams)

จอห์น แอดัมส์ เกิดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ. 1735 เป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 ของสหรัฐอเมริกา และเป็นบิดาของประธานาธิบดีคนที่ 6 ของสหรัฐอเมริกา ‘จอห์น ควินซี แอดัมส์’ จอห์นเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1797 ลงจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1801 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1826 เขาถือว่าเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งในกลุ่มบิดาผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา

จอห์นเริ่มเป็นที่รู้จักตั้งแต่ช่วงต้นของการปฏิวัติอเมริกา โดยเป็นผู้แทนจากรัฐแมสซาชูเซตส์และมีส่วนสำคัญในการผลักดันชักจูงสภาคองเกรสให้ประกาศอิสรภาพ เขาเป็นผู้มอบหมายงานร่างคำประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกาแก่ทอมัส เจฟเฟอร์สัน ในปีค.ศ. 1776 และเนื่องจากแอดัมส์เป็นตัวแทนของสภาคองเกรสในยุโรป เขาจึงเป็นผู้เจรจาในสนธิสัญญาสงบศึกกับสหราชอาณาจักร และเป็นส่วนสำคัญยิ่งในการกู้เงินจากนายธนาคารในอัมสเตอร์ดัม หนึ่งในบทบาทที่สำคัญของจอห์น แอดัมส์คือเป็นผู้ตัดสินใจด้านบุคลากร โดยในปี ค.ศ. 1775 เขาเป็นผู้เสนอชื่อจอร์จ วอชิงตันให้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด และในอีก 25 ปีต่อมา เขาเป็นผู้เสนอชื่อจอห์น มาร์แชลล์เป็นประธานศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา

Thomas Jefferson

คนที่ 3 ทอมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson)

ทอมัส เจฟเฟอร์สัน เกิดวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1743 เป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาคนที่ 3 ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1801 – วันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1809 และยังเป็นผู้ประพันธ์ “คำประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกา” (Declaration of Independence) ของสหรัฐฯ เขาคือหนึ่งในบุคคลที่น่ายกย่องที่สุดในประวัติศาสตร์โลก เพราะความสนใจของเขาไม่มีขอบเขตและการประสบความสำเร็จของเขายิ่งใหญ่และหลากหลาย เขาคือนักปราชญ์ นักการศึกษา นักธรรมชาตินิยม นักการเมือง นักวิทยาศาสตร์ สถาปนิก ช่างประดิษฐ์ ผู้บุกเบิกในกสิกรรม วิทยาศาสตร์ นักดนตรี นักเขียน และเขาคือโฆษกชั้นแนวหน้าในการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในยุคของเขา

ในฐานะประธานาธิบดี เจฟเฟอร์สันทำให้อำนาจของรัฐบาลเข้มแข็ง เขาเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองและใช้อำนาจผ่านพรรคการเมืองในการควบคุมรัฐสภาของสหรัฐอเมริกา และยังเป็น 1 ใน 4 ประธานาธิบดีสหรัฐที่รูปใบหน้าได้รับการสลักไว้ที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ‘เมานต์รัชมอร์’ (Mount Rushmore) ใบหน้าของเขาปรากฏบนธนบัตรราคา 2 ดอลลาร์สหรัฐ และเหรียญนิกเกิล (5 เซนต์)

James Madison

คนที่ 4 เจมส์ แมดิสัน (James Madison)

เจมส์ แมดิสัน เป็นประธานาธิบดีคนที่ 4 แห่งสหรัฐอเมริกา เกิดเมื่อวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 1751 และเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1809 โดยเข้ารับตำแหน่งต่อจากทอมัส เจฟเฟอร์สัน และออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1817 ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1836 และยังเป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา

James Monroe

คนที่ 5 เจมส์ มอนโร (James Monroe)

เจมส์ มอนโร เป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาคนที่ 5 (พ.ศ. 2360 – พ.ศ. 2368) การบริหารงานของเขาโดดเด่นจากการได้รัฐฟลอริดา (พ.ศ. 2362) ข้อตกลงมิสซูรี (พ.ศ. 2363) ซึ่งรัฐมิสซูรีประกาศตนเป็นรัฐทาส, การเข้าร่วมสหพันธ์ของรัฐเมน ในปี พ.ศ. 2363 ฐานะรัฐอิสระและการประกาศวาทะมอนโรในปี พ.ศ. 2366 ประกาศให้สหรัฐฯ ไม่เข้ายุ่งเกี่ยวกับกิจการของยุโรป รวมทั้งการทำลายข้อผูกพันกับฝรั่งเศสซึ่งคงอยู่มาตั้งแต่สงครามปี พ.ศ. 2355

John Quincy Adams

คนที่ 6 จอห์น ควินซี แอดัมส์ (John Quincy Adams)

จอห์น ควินซี แอดัมส์ เกิดเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 1767 ที่รัฐแมสซาชูเซตส์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1825 และออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1829 จอห์น ควินซี แอดัมส์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1848

7 Andrew Jackson

คนที่ 7 แอนดรูว์ แจ็กสัน (Andrew Jackson)

แอนดรูว์ แจ็กสัน มีชื่อเล่นว่า ‘โอลด์ฮิกกอรี่’ (Old Hickory) รัฐบุรุษอเมริกันและประธานาธิบดีคนที่ 7 แห่งสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2372 – พ.ศ. 2380) เกิดที่เมืองแวกซ์ฮอว์ รัฐเซาท์แคโรไลนา จบการศึกษาด้านกฎหมายและได้รับเลือกเป็นสมาชิกรัฐสภาจากรัฐเทนเนสซี เมื่อ พ.ศ. 2339 และเป็นสมาชิกวุฒิสภาเมื่อ พ.ศ. 2340 ต่อมาระหว่างปี พ.ศ. 2341 – พ.ศ. 2347 ได้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูง นอกจากนี้กอ่นหน้านี้ แอนดรูว์ แจ็กสันยังเคยเป็นนักค้าที่ดินและนักค้าทาสอยู่ระยะหนึ่งอีกด้วย

เหตุผลสำคัญที่ทำให้แอนดรูว์ แจ็กสันได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีเนื่องมาจากการได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นเกี่ยวกับนโยบายการพัฒนาแบบใหม่ที่เรียกกันภายหลังว่า ‘ประชาธิปไตยแจ็กสัน’ (Jacksonian democracy) แอนดรูว์ แจ็กสันมีอิทธิพลและเป็นศูนย์กลางของวงการเมืองอเมริกันระหว่าง พ.ศ. 2363 – พ.ศ. 2372

8 Martin Van Buren

คนที่ 8 มาร์ติน แวน บิวเรน (Martin Van Buren)

มาร์ติน แวน บิวเรน เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 1782 ที่เมืองคินเดอร์ฮุก รัฐนิวยอร์ก เป็นประธานาธิบดีคนที่ 8 ของสหรัฐอเมริกา ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1837 จนกระทั่งถึงวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1841 สืบต่อจากประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ็กสัน โดยมีริชาร์ด เมนทอร์ จอห์นสันเป็นรองประธานาธิบดี และมาร์ติน แวน บิวเรน ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1862 ที่เมืองคินเดอร์ฮุก

9 William

คนที่ 9 วิลเลียม เอช. แฮร์ริสัน (William H. Harrison)

วิลเลียม เฮนรี แฮร์ริสัน เป็นทหารอเมริกัน นักการเมือง และประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 9 และยังเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ถึงแก่อสัญกรรมในขณะที่ยังคงอยู่ในตำแหน่ง เป็นประธานาธิบดีที่อายุมากที่สุดที่ได้รับเลือกตั้ง และเป็นประธานาธิบดีคนสุดท้ายที่เกิดก่อนสงครามประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกา แฮริสันถึงแก่อสัญกรรมในหลังจากที่เป็นประธานาธิบดีเพียง 32 วัน และเป็นประธานาธิบดีที่อยู่ในตำแหน่งระยะเวลาสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา เสียชีวิตด้วยโรคปอดบวมอย่างกะทันหัน และคำพูดสุดท้ายของเขาคือ ‘ข้าพเจ้าไม่ขออะไรมากไปกว่าให้คุณเข้าใจหน้าที่หลักอันแท้จริงของรัฐบาล’

10 John Tyler

คนที่ 10 จอห์น ไทเลอร์ (John Tyler)

จอห์น ไทเลอร์ จูเนียร์ เกิดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 1790 ที่เมืองชาร์ลส์ ซิตี้ เคาน์ตี้ รัฐเวอร์จิเนีย และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1841 ถึงวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1845 ในช่วงที่เขาดำรงประธานาธิบดีได้เกิดความแตกแยกในระหว่างนักการเมืองทำให้นโยบายการบริหารงานภายในประเทศของเทย์เลอร์ประสบความสำเร็จน้อยมาก และมีความยุ่งยากมาก เทย์เลอร์มักจะใช้สิทธิยับยั้งร่างกฎหมายบางฉบับที่เสนอเข้าสู่สภาโดยวุฒิสมาชิกเคลย์ ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1841 วิกส์ได้ขับไล่เทย์เลอร์ออกจากสมาชิกของพรรค เทย์เลอร์จึงเป็นประธานาธิบดีคนเดียวของสหรัฐฯ ที่ถูกขับออกจากพรรค เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1845 เทย์เลอร์สามารถรวมเท็กซัสเข้าเป็นรัฐหนึ่งของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่สุดของเขาก็ว่าได้

11 James K Polk

คนที่ 11 เจมส์ เค. โพล์ก (James K. Polk)

เจมส์ น็อกซ์ โพล์ก เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 11 (ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1845 – 4 มีนาคม ค.ศ. 1849) เขาได้ทำหน้าที่บริหารของเขาอย่างดีที่สุดและขอร้องให้คณะรัฐมนตรีทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ โดยไม่คำนึงถึงตำแหน่งใดๆ และ 4 ปีต่อมาโพล์กตัดสินใจขอซื้อมลรัฐแคลิฟอร์เนียจากประเทศเม็กซิโกในวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 1845 เม็กซิโกตัดสัมพันธภาพกับสหรัฐฯ รวมทั้งการกำหนดพรมแดนทำให้การเจรจาซื้อแคลิฟอร์เนียล้มเหลว ปี ค.ศ. 1847 นายพลวิมพิกส์ ยึดกรุงเม็กซิโกซิตี้ได้ทำให้สงครามสิ้นสุดอย่างสิ้นเชิง สหรัฐฯ ได้รับดินแดนเพิ่มเติมคืนมาคือ เนวาดา แอร์โชน่ายูทา และโคโรลาโด โพล์กประสบความสำเร็จด้วยความช่วยเหลือจากนายพลซาซซารี่ เทเลอร์ วีรบุรุษจากสงครามเม็กซิกัน การบริหารงานของโพล์กอาจเป็นเสมือนหนึ่งจะทำให้เห็นว่าสหรัฐฯ มีความเท่าเทียมกับประเทศทางยุโรป

Zachary Taylor

คนที่ 12 แซคารี เทย์เลอร์ (Zachary Taylor)

แซคารี เทย์เลอร์ เป็นประธานาธิบดีที่ 12 ของสหรัฐอเมริกา ระหว่าง พ.ศ. 2392 – 2393 และเป็นผู้นำกองทัพอเมริกัน ในช่วงแรกไม่ได้สนใจการเมือง เขาเป็นผู้นำกองทัพสหรัฐเข้ารบจนได้ชัยชนะในยุทธการปาโลอัลโตและยุทธการมอนเทอร์เรย์ระหว่างสงครามสหรัฐอเมริกา-เม็กซิโก เขาเสียชีวิตใน พ.ศ. 2393 หลังจากดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้เพียง 16 เดือน

 Millard Fillmore

คนที่ 13 มิลลาร์ด ฟิลล์มอร์ (Millard Fillmore)

มิลลาร์ด ฟิลล์มอร์ ประธานาธิบดีคนที่ 13 แห่งสหรัฐฯ เกิดเมื่อวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1800 เป็นสมาชิกพรรควิกคนสุดท้ายที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1874 (ขณะอายุได้ 74 ปี) ฟิลมอร์ได้เปิดการค้ากับประเทศญี่ปุ่น และยังได้พาประเทศให้รอดพ้นจากสงครามกลางเมืองมาได้ถึง 10 ปีด้วยกัน และการค้าทาสก็สิ้นสุดลงในรัฐโคลัมเบีย ฟิลมอร์ได้พยายามผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับทาส ซึ่งเขาได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มวิกทางใต้ แต่เป็นปฏิปักษ์กับทางเหนือ ทำให้เขาต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้งในครั้งต่อมา

14 Franklin Pierce

คนที่ 14 แฟรงกลิน เพียร์ซ (Franklin Pierce)

แฟรงกลิน เพียร์ซ เป็นประธานาธิบดีคนที่ 14 ของสหรัฐอเมริกา มาจากพรรคเดโมแครต เกิดเมื่อ วันที่ 23 พฤศจิกายน ค.ศ. 1804 ที่ฮิลส์โบโร่ นิวแฮมป์เชียร์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1853 ถึง 4 มีนาคม ค.ศ. 1857 ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ค.ศ. 1869ขณะอายุได้ 65 ปี

การต่อต้านการค้าทาส เพียร์ซหวังว่าเมื่อร่างพระราชบัญญัติประกาศใช้แล้วการต่อต้านก็จะหมดไป

พระราชบัญญัติเสนอให้สร้างขอบเขตขึ้นมา 2 เขตคือ แคนซัส และ เนบราสกา แล้วให้ผู้อาศัยพิจารณาเอาเองว่า จะยอมให้เขตใดยอมให้มีการค้าทาสต่อไป ผู้มีความเห็นไม่ตรงกันในพรรคเดโมแครตจึงแยกเป็น 2 พวกคือ พวกทางเหนือและพวกทางใต้และจากการแตกแยกนี้เองทำให้เกิดพรรครีพับลิกันขึ้น พระราชบัญญัติเรื่องทาสได้ประกาศให้เป็นกฎหมายเมื่อปี 1854

James Buchanan

คนที่ 15 เจมส์ บูแคนัน (James Buchanan)

เจมส์ บูแคนัน เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 15 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาคนที่ 17 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจากรัฐเพนซิลเวเนีย การบริหารงานของบูแคนันในฐานะประธานาธิบดีประสบความสำเร็จในด้านสังคมเป็นอย่างมาก แต่สถานการณ์ทางด้านการเมืองก็แย่ลงทุกที หลังจากดำรงตำแหน่งได้เพียง 2 วัน ศาลสูงสุดก็เสนอเรื่องนิโกร เดรด สก๊อต ให้เขาพิจารณา บูแคนันมีความคิดว่าการค้าทาสนั้นไม่ใช่เรื่องถูกต้องและเขาก็หวังว่า นิโกร เดรด สก๊อต จะทำให้สถานการณ์สงบลงได้ แต่อเมริกาเหนือก็ปฏิเสธผลการพิจารณาของศาลสูงสุด ดังนั้นชาวอเมริกาฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้จึงเหมือนกับถูกแยกให้ห่างกันออกไปทุกที

Abraham Lincoln

คนที่ 16 อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln)

อับราฮัม ลินคอล์น เกิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1809 ลินคอล์นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ.1861 จนกระทั่งเขาถูกลอบสังหารเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1865 เขาประสบความสำเร็จในการนำพาประเทศผ่านพ้นสงครามกลางเมืองอเมริกา ซึ่งเป็นวิกฤตการณ์รัฐธรรมนูญ ทางทหารและศีลธรรมครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยรักษาไว้ซึ่งสหภาพ ขณะที่เลิกทาส และส่งเสริมการทำให้เศรษฐกิจและการเงินทันสมัย

Andrew Johnson

คนที่ 17 แอนดรูว์ จอห์นสัน (Andrew Johnson)

แอนดรูว์ จอห์สัน เกิดเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ค.ศ. 1808 เมื่อประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ถูกลอบสังหาร สงครามกลางเมืองกำลังจะสิ้นสุดลง เขาถูกเรียกตัวอย่างกะทันหัน โดยมีท่านอับราฮัม ลินคอล์นมาเรียกตัวในความฝัน และไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนเพื่อมารับตำแหน่งประธานาธิบดี เพื่อมาจัดการปัญหาที่สลับซับซ้อนมากที่สุด ปัญหานี้คือจะจัดการกับฝ่ายใต้ซึ่งเป็นฝ่ายปราชัยอย่างไร และจะรวมประเทศซึ่งแบ่งแยกกันด้วยสงครามเป็นเวลาถึง 4 ปีอย่างไร จอห์นสันพยายามอย่างหนักที่จะปฏิบัติภารกิจนี้ให้ลุล่วง แต่เขาไม่สามารถจะลดความขมขื่นระหว่างฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ และนำกิจการของประเทศกลับสู่ภาวะปกติ เขาเป็นชายผู้กล้าหาญและมีความตั้งใจดี แต่เขาไม่ทราบวิธีและการทำงานร่วมกับผู้อื่น เขาจึงไม่ประสบความสำเร็จในการเป็นประธานาธิบดีสักเท่าไหร่

18 Ulysses Simpson Grant

คนที่ 18 ยูลิสซีส เอส. แกรนต์ (Ulysses S. Grant)

ยูลิสซีส ซิมป์สัน แกรนต์ เป็นประธานาธิบดีคนที่ 18 ของสหรัฐอเมริกา เกิดเมื่อวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1822 เดิมแกรนต์มีชื่อว่า ‘ไฮรัม ยูลิสซีส แกรนต์’ เขาได้เป็นประธานาธิบดีในนามของพรรครีพับลิกัน ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งแรกเมื่อ 4 มีนาคม ค.ศ. 1869 เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจนครบ 2 วาระในปี ค.ศ. 1877 ก่อนที่แกรนต์จะเสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 1885 (ด้วยวัย 63 ปี) นอกจากนี้แกรนต์ยังเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาคนแรกที่เดินทางไปเยือนสยาม (ประเทศไทยในปัจจุบัน) เมื่อ ค.ศ. 1879 ในสมัยของรัชกาลที่ 5 อีกด้วย

19 Rutherford Birchard Hayes

คนที่ 19 รัทเทอร์ฟอร์ด บี. เฮส์ (Rutherford B. Hayes)

รัทเทอร์ฟอร์ด เบอร์ชาร์ด เฮส์ เป็นประธานาธิบดีคนที่ 19 ของสหรัฐอเมริกา ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1877 ถึง ปี ค.ศ. 1881 (สังกัดพรรครีพับลิกัน) ในฐานะประธานาธิบดี มรสุมทางการเมืองได้สร้างความยุ่งยากให้กับเขาเป็นอย่างมาก เฮส์ได้ประกาศนโยบาย ‘ทรู แรดดิคัล คอมพลีท’ ความดีและความพยายามของเฮส์นำความไม่พอใจมาสู่สมาชิกของพรรครีพับลิกันบางคน เขาแตกแยกกับวุฒิสมาชิก รอสโซ คอนลิงก์ จากนิวยอร์ก ทำให้เขาถูขับออกจากพรรคในช่วงท้ายของการบริหาร ส่วนสำคัญที่สุดของการบริหารงานของเฮส์คือ การยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ ปรับปรุงรัฐทางใต้ เขายังมีส่วนทำให้ตำแหน่งประธานาธิบดีมีความเป็นเอกเทศไม่เหมือนกับยุคของแอนดรู จอห์นสัน และแกรนท์

James Garfield

คนที่ 20 เจมส์ อับรัม การ์ฟีลด์ (James Abram Garfield)

เจมส์ อับรัม การ์ฟีลด์ เป็นประธานาธิบดีคนที่ 20 ของสหรัฐอเมริกา ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1881 ถึง วันที่ 19 กันยายน ค.ศ. 1881 ในสังกัดพรรครีพับลิกัน เสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1881 ซึ่งในระหว่างดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่รุนแรง คือ เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์จำนวนหนึ่งถูกกล่าวหาว่าฉ้อฉลรัฐบาล เกี่ยวกับเส้นทางไปรษณีย์ทางตะวันตก การฉ้อโกงนี้เป็นการฉ้อโกงที่เรียกกันว่า ‘Star Route’ บุคคลดังกล่าวถูกนำตัวขึ้นศาลเพื่อสอบสวน

แต่ก่อนที่กรณีนี้จะดำเนินต่อไปประเทศก็ต้องตื่นตระหนกกับข่าวการลอบสังหารประธานาธิบดี เช้าวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1881 การ์ฟิลด์พร้อมด้วยรัฐมนตรีต่างประเทศ เบลน เตรียมจะออกจากวอชิงตันเพื่อไปเยือนวิทยาลัยวิลเลียมส์ ขณะที่ บุคคลทั้งสองกำลังรออยู่ที่สถานีรถไฟวอชิงตัน ดี.ซี ชาร์ล เจ. กุยเตอร์ เข้าไปใกล้ตัวการ์ฟิลด์จากด้านหลังและยิงเขาสองครั้ง แล้วร้องว่า ‘ตอนนี้ อาร์เธอร์เป็นประธานาธิบดี’ กุยเตอร์ ถูกจับกุมด้วยข้อหาพยายามฆาตกรรม และถูกแขวนคอ ถึงแม้ว่าประชาชนจำนวนมากคิดว่าเขาสติฟั่นเฟือน และการ์ฟิลด์ถึงแก่อสัญกรรมหลังจากทรมานจากการถูกยิงเป็นเวลากว่า 2 เดือน

Chester Alan Arthur

คนที่ 21 เชสเตอร์ เอ. อาเธอร์ (Chester A. Arthur)

เชสเตอร์ เอ. อาเทอร์ เป็นนักการเมืองชาวอเมริกัน ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 21 อาร์เธอร์ต่อต้านระบบทาส เขาเห็นใจทาสนิโกร และมีส่วนร่วมการป้องกันทาส 2 คดี คดีหนึ่งเกี่ยวกับการแบ่งแยกผิว เหตุเกิดเมื่อ ลิชชี เจนนิ่ง ไม่สามารถซื้อตั๋วรถรางในนิวยอร์กเพราะว่าเธอผิวดำ อาร์เธอร์เรียกค่าเสียหายให้เธอได้ 500 ดอลลาร์ และศาลได้ตัดสินให้คนผิวดำมีสิทธินั่งรถรางในนครนิวยอร์กได้เหมือนคนผิวขาว ต่อมา ค.ศ.1883 อาร์เธอร์ลงนามในพระราชบัญญัติเพนเคิลตัน ที่ช่วยให้งานของรัฐหลายพันตำแหน่งพ้นจากมือนักการเมือง กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ผู้สมัครงานของรัฐต้องผ่านการทดสอบก่อนจะบรรจุ ‘กฎหมายเพนเคิลตัน’ เป็นจุดเริ่มต้นของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนของอเมริกาในปัจจุบัน

22 Stephen Grover Cleveland

คนที่ 22 สตีเฟน โกรเวอร์ คลีฟแลนด์ (Stephen Grover Cleveland)

สตีเฟน โกรเวอร์ คลีฟแลนด์ เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาคนที่ 22 และ 24 เป็นประธานาธิบดีคนเดียวที่ดำรงตำแหน่งใน 2 วาระไม่ติดต่อกัน (ค.ศ. 1885–1889 และ 1893–1897) เขาชนะผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีรวม 2 ครั้ง คือในปี ค.ศ. 1884 และ 1892 แต่พ่ายแพ้การเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1888 (แต่ชนะ Popular Vote) ซึ่งเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตเพียงคนเดียวที่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในยุคที่รีพับลิกันครอบครองการเมืองอย่างยาวนานระหว่างปี 1860 ถึง 1912

——————————————

มาอ่านกันต่อเลย >> เปิดประวัติศาสตร์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา (รายชื่อ+ประวัติ+ผลงาน)  2 

ข้อมูลและภาพประกอบจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี