วันนี้ในอดีต 22 พฤศจิกายน ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2506 ได้เกิดเหตุลอบสังหาร ประธานาธิบดี คนที่ 35 ของ สหรัฐอเมริกา จอห์น เอฟ เคนเนดี (John Fitzgerald Kennedy) ระหว่างที่เขานั่งขบวนรถประธานาธิบดีไปเยือนเมืองดัลลัส ในมลรัฐเทกซัส กับภรรยาของเขา แจ็กเกอลีน เคนเนดี โอนาสซิส
ประธานาธิบดี คนที่ 35 ถูกลอบสังหาร
ทำความรู้จัก จอห์น เอฟ เคนเนดี
เคนเนดี เกิดเมื่อ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1917 เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวน 9 คนของ โจเซฟ แพทริก เคนเนดี คหบดีใหญ่อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำสหราชอาณาจักรที่เมืองบรู๊คลาย รัฐแมสซาชูเซตส์ (ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไม เคนเนดี ถึงได้เข้าสู่วงการนักการเมืองมาได้)
ประวัติด้านการศึกษา เคนเนดี ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมในรัฐคอนเนตทิคัต ว่ากันว่าโรงเรียนที่เขาเข้าเรียนนั้นเป็นโรงเรียนสำหรับชนชั้นสูงที่หรูหราที่สุดในสหรัฐฯ เลยทีเดียว จากนั้นมาได้เข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยในด้านสาขาเศรษฐศาสตร์การเมืองที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (London School of Economics and Political Science) ที่อังกฤษ เป็นเวลาหนึ่งปี
ภาพในเดือน มิถุนายน ปี 1940 John F. Kennedy จบการศึกษา Harvard University.
จากนั้นได้ไปลงทะเบียนเรียนที่ มหาวิทยาลัยปรินส์ตัน แต่ก็ต้องลาออกเพราะป่วยเป็นโรคดีซ่าน จึงไปเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ในด้านสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จนจบในปี 1938 เคนเนดีได้ทำงานนิพนธ์ในชื่อ “เหตุใดอังกฤษจึงหลับใหล” (Why England Slept) เป็นการวิเคราะห์ว่าทำไมอังกฤษจึงอ่อนข้อให้กับเยอรมันนาซีในสนธิสัญญามิวนิกโดยยอมให้เยอรมันเข้ายึดแคว้นซุเดเทนแลนด์ของเช็กโกสโลวาเกีย งานนิพนธ์ชิ้นนี้ถูกนำไปตีพิมพ์และขายดีมาก
จากนั้นมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เคนเนดีได้เข้าหน่วยกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา เป็นผู้บังคับการเรือ ตอร์ปิโด Patrol Torpedo boat 59 และได้รับเหรียญกล้าหาญจากวีรกรรมช่วยเพื่อนทหารให้รอดชีวิตจากเหตุเรืออับปางด้วยข้าศึกโจมตี เขาว่ายน้ำพยุงร่างเพื่อนที่ได้รับบาดเจ็บไปโดยไม่ทอดทิ้ง
ลงสนามการเมืองได้เป็นวุฒิสมาชิกรัฐบ้านเกิด จากนั้นเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ค.ศ. 1960 สหรัฐอเมริกาได้ประธานาธิบดีที่หนุ่มที่สุดเพียง 43 ปี และเป็นคริสต์คนแรกที่ดำรงตำแหน่งยิ่งใหญ่นี้ เจเอฟเคบริหารประเทศด้วยพลังหนุ่ม (เป็นคำหนึ่งที่เขาชอบมาก) และมองโลกในแง่ดี เคนเนดี้เป็นผู้จัดตั้ง องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา หรือยูเสด เพื่อให้การสนับสนุนประเทศประชาธิปไตยในการป้องกันลัทธิคอมมิวนิสต์
วันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1961 เขาแถลงต่อสภาคองเกรสว่าอเมริกากำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายที่ไม่ธรรมดา ให้สภาอนุมัติงบประมาณเพื่อจุดมุ่งหมายของชาติคือ การส่งมนุษย์ไปลงบนดวงจันทร์ และเดินทางกลับอย่างปลอดภัย
ด้านการต่างประเทศ เคนเนดียุติวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ทางการเมืองด้วยการยื่นคำขาดให้สหภาพโซเวียตถอนฐานยิงขีปนาวุธในประเทศคิวบา ความสำเร็จอีกประการหนึ่งคือ สนธิสัญญาระหว่างประเทศในการห้ามทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตามนโยบายที่ผิดพลาดก็มีเช่นกัน การให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่เวียดนามใต้ เป็นจุดเริ่มต้นสงครามเวียดนามที่โหดร้ายรุนแรง
เคนเนดี และภรรยาของเขา แจ็กเกอลีน เคนเนดี โอนาสซิส
ลำดับเหตุการณ์ เคนเนดีถูกสังหาร
วันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1963 ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี ได้เดินทางไปยังเมืองดัลลัส รัฐเทกซัส เพื่อหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยหน้าของเขา
ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี ขณะเดินทางผ่านฝูงชน ก่อนเกิดเหตุลอบสังหาร
เวลา 11:40 น. ได้มีขบวนพาเหรดต้อนรับประธานาธิบดีจากสนามบินสู่ตัวเมือง โดยท่านประธานาธิบดีได้นั่งรถลีมูซีนเปิดประทุน รถมี 3 ช่วง ประกอบด้วยประธานาธิบดีอยู่ด้านหลังสุด ช่วงที่ 3 โดยมีภรรยานั่งอยู่เคียงข้าง และช่วงที่ 2 มี นายจอห์น บี คอนนอลลี (John B. Connally) ผู้ว่ารัฐเทกซัสและภรรยา ช่วงหน้ามีนายบิล เกรเออร์ (Bill Greer) คนขับรถ และนายรอย เคลเลอร์แมน (Roy Kellerman) ตัวแทนพิเศษของทำเนียบขาว ซึ่งสองข้างทางมีประชาชนชาวดัลลัสเดินทางมาต้อนรับประธานาธิบดีอย่างล้นหลาม
เวลา 12:30 น. ขบวนรถได้เลี้ยวซ้ายเข้าถนนเอล์ม และในระหว่างนั้นเกิดเสียงปืนดังขึ้น กระสุนถูกประธานาธิบดีที่คอ กระสุนนัดนั้นยังถูกผู้ว่าจอห์นที่บริเวณหลังอีกด้วย ในขณะที่ภรรยาของท่านประธานาธิบดีเข้าใจว่า เป็นเสียงประทัดที่ประชาชนจุดต้อนรับขบวน
ทันใดนั้นเสียงปืนก็ดังขึ้นอีก 1 นัด
กระสุนถูกประธานาธิบดีที่ศีรษะ ภรรยาของท่านจึงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ประชาชนที่อยู่ 2 ข้างทางต่างพากันแตกตื่น บางคนหมอบลงกับพื้น บางคนวิ่งหนี เพื่อหลบลูกกระสุนที่อาจเกิดการยิงขึ้นมาอีก ซึ่งในห้วงเวลาดังกล่าว ภรรยาของท่านประธานาธิบดี (แจ็คเกอลีน โอนาซิส) มองเห็นเศษกะโหลกชิ้นหนึ่งของสามี กระเด็นไปค้างอยู่ท้ายกระโปรงรถ เธอจึงเสี่ยงตายปีนไปท้ายรถเพื่อไปเก็บเศษกะโหลกของประธานาธิบดี
เจ้าหน้าที่หน่วย secret service (หน่วยรักษาความปลอดภัยของประธานาธิบดี) ต้องวิ่งตามรถและปีนขึ้นไปช่วยจับ เพราะเกรงว่าเธอจะตกลงมาจากรถ (ภายหลังเมื่อถึงโรงพยาบาล เธอได้นำชิ้นส่วนของกะโหลกศีรษะไปให้แพทย์แล้วบอกว่า “ช่วยนำเศษกะโหลกนี้ไปต่อให้สามีฟื้นคืนชีพมาที”)
เวลา 13:00 น. ประธานาธิบดีทนพิษบาดแผลไม่ไหวและได้เสียชีวิตลง และได้มีการชันสูตรศพ ผลชันสูตรพบว่าประธานาธิบดีเสียชีวิตจากกระสุนนัดที่ยิงเข้าศีรษะ กระสุนได้เข้าทำลายเนื้อสมอง ทำให้ท่านเสียชีวิต
ในช่วงเย็น ได้มีการลำเลียงศพของเคนเนดีออกจากเมืองดัลลัสด้วยเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวัน และรองประธานาธิบดี ลินดอน บี. จอห์นสัน ได้ทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีบนเครื่องบินลำดังกล่าว
ตึกที่ใช้ในการลอบสังหาร
ลี ฮาร์วี ออสวอลด์ ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นมือปืนสังหาร เคนเนดี
หลังจากที่ เคนเนดี เสียชีวิต ประวัติศาสตร์โลกได้บันทึกถึงประธานาธิบดีผู้มีอายุน้อยที่สุดของสหรัฐอเมริกา ผู้ที่มีผลงานโดดเด่นมากมายท่ามกลางวิกฤตการณ์หลังสงครามโลกครั้งที่สอง รอยต่อของยุคก้าวสู่สงครามเย็นเพื่อเป็นการให้เกียรติของท่าน รัฐบาลจึงนำชื่อของท่านมาตั้งเป็น ท่าอากาศยานนานาชาติจอห์น เอฟ. เคนเนดีในนครนิวยอร์ก ของ สหรัฐอเมริกา
ประธานาธิบดีคนที่ 36
และผู้ที่มาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 36 ต่อจาก เคนเนดี ก็คือ ลินดอน เบนส์ จอห์นสัน (Lyndon Baines Johnson) เจ้าของบ่อน้ำมัน และคอกปศุสัตว์ใหญ่ แอล.บี.เจ. เขาได้กระทำพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีคนที่ 36 ของสหรัฐอเมริกา เมื่อบ่ายวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1963 บนเครื่องบินที่นำศพของประธานาธิบดีเคนเนดีที่เสียชีวิต ในเมืองดัลลัส รัฐเทกซัส และตุลาการที่ทำพิธีให้เขาคือ ตุลาการ ซารา ที.ฮิวจ์ สตรีวัย 67 ปี นอกจากนี้ ลินดอน เบนส์ จอห์นสัน ยังเป็น รองประธานาธิบดีคนที่ 37 ด้วย
ชมภาพเหตุการณ์ทั้งหมดในลิงค์นี้ >> www.assassinationresearch.com
ภาพจาก:: http://theredlist.com ข้อมูลจาก:: วิกิพีเดีย,www.prachatai.com