สำหรับในการสมัครงาน เรียนต่อต่างประเทศ หรือการสอบชิงทุนนั้น ถึงแม้ว่าจะมีหลายปัจจัยที่มีความสำคัญในการตัดสินใจรับเข้าทำงาน หรือศึกษาต่อก็ตาม อาทิเช่น ผลการเรียน กิจกรรมที่ร่วมทำกับทางมหา’ลัย รางวัลที่เคยได้รับ หรือผลงานที่น่าสนใจ ซึ่งในแต่ละที่นั้น ก็ไม่ได้ยึดเอาเกณฑ์เหล่านี้มาเป็นตัวตัดสินในความเหมาะสมของผู้เข้าสมัครเพียงแต่อย่างเดียวเท่านั้น
แต่ว่าอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การที่ผู้สมัครรู้จักตัวตนของตัวเอง สามารถเขียนอธิบายเล่าเรื่องราว ประวัติส่วนตัวของตัวเองได้เป็นอย่างดี ซึ่งข้อมูลเหล่านี้คณะกรรมการจะเอามาเป็นเหตุผลที่ใช้ในการคัดเลือก ตัดสินใจรับหรือไม่รับ? ข้อมูลเหล่านี้เราสามารถเขียนได้ทั้งแบบที่เป็น Resume หรือว่าจะเป็นแบบ CV ก็ได้ แล้วเราจะเขียนอย่างไรให้ได้ถูกรับเลือกล่ะ?
ทำได้ไม่ยากเลย! เทคนิคการเขียน Resume
ก่อนที่เราจะมาฝึกเขียนกัน มารู้จักความเหมือนและความแตกต่างของ Resume กับ CV กันก่อนเลย
“CV” และ “Resume” มีความหมายเหมือนกันคือ เป็นการเขียนเรื่องราวของชีวิต หรือประวัติส่วนตัวโดยสังเขป หากมองเพียงผิวเผิน บางคนอาจคิดว่าสองสิ่งนี้เหมือนกันและสามารถนำไปใช้แทนกันได้ เมื่อต้องส่งเอกสารสมัครงานหรือศึกษาต่อ แต่ทว่ามีน้อยคนนักที่รู้ว่า CV และ Resumeมีหลายอย่างที่ไม่เหมือนกัน
ความแตกต่างอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ความละเอียดของข้อมูล กล่าวคือ ในการเขียน CV นั้น เราจะต้องใส่ข้อมูลในเชิงลึกเกี่ยวกับประวัติการศึกษา และการทำงานต่างๆ ของตัวเรา ซึ่งนั่นอาจรวมถึงงานเขียน งานวิจัย งานจิตอาสา กิจกรรม เกียรติคุณหรือรางวัลต่างๆ (ถ้ามี) ด้วยเหตุนี้ CV จึงมักมีความยาวตั้งแต่ 2 หน้ากระดาษขึ้นไป และเป็นเอกสารที่มักใช้กันเวลาสมัครขอทุนต่างๆ จากหน่วยงานรัฐ หรือสมัครงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสอนหรือวิชาการ
ส่วน Resume นั้นเปรียบเหมือนเค้าโครงย่อของ CV เราใส่ข้อมูลแบบเดียวกับที่เราใส่ใน CV แต่ไม่จำเป็นต้องระบุรายละเอียดในเชิงลึก และอาจไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงงานพิเศษ หรือกิจกรรมอื่นๆ ดังนั้น Resume จึงไม่ควรมีความยาวเกิน 1-2 หน้ากระดาษ
** ข้อสังเกต ที่น่าสนใจก็คือ CV เป็นเอกสารการสมัครงานที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยเฉพาะหลายประเทศในภูมิภาคยุโรป เอเชียและตะวันออกกลาง ในทางกลับกัน Resume นั้นจะค่อนข้างแพร่หลายในประเทศสหรัฐอเมริกา หากเราต้องการสมัครงานในองค์กร หรือบริษัททั่วไปในสหรัฐฯ Resume มักเป็นเอกสารที่ใช้กันในวงกว้าง ส่วน CV คือเอกสารที่ใช้ในการสมัครงานในวงวิชาการหรือสอบชิงทุน
ข้อคำนึงที่เราต้องนึกถึงก่อนการเขียน CV และ Resume
1. จงซื่อสัตย์
สิ่งหนึ่งที่คุณจำเป็นต้องจำไว้ในใจตลอดก็คือ สถาบันหรือองค์กร หน่วยงานต่างๆ ต้องทำการตรวจสอบสิ่งที่คุณเขียนลงไป ทั้งประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา รางวัลที่คุณได้รับ ประสบการณ์การทำงาน ดังนั้นจึงจำเป็นมากที่คุณจะไม่เขียนเรื่องโกหกลงไป โดยเฉพาะประสบการณ์การทำงานและผลงานของคุณ
2. กระชับ และชัดเจน
จงจำไว้ว่าในแต่ละที่นั้นมีใบสมัครมากมายที่พวกเขาจำเป็นต้องอ่าน เพื่อพิจารณาหาผู้ที่เหมาะสม พวกเขาจึงไม่มีเวลามากนักในการให้ความสนใจ และใช้เวลากับใบสมัครของทุกคน ดังนั้น คุณจึงควรเขียนให้กระชับ และอ่านง่าย เพื่อให้สังเกตเห็นในจุดที่สำคัญได้ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับทักษะที่จำเป็น ตัวเลขต่างๆ เปอร์เซ็นต์ วันที่และเหตุการณ์สำคัญ ด้วยการเขียนในรูปประโยคที่สั้นและชัดเจน
3. ใส่ความคิดเห็นส่วนตัวลงไป
คณะกรรมการไม่ได้พิจารณาจากสิ่งที่คุณเคยทำมาเท่านั้น แต่พวกเขายังพิจารณาจากสิ่งที่คุณสนใจ ความทะเยอทะยาน และเป้าหมายของคุณด้วย ดังนั้น จึงเป็นความคิดที่ดี ที่จะเขียนถึงสิ่งที่คุณได้รับจากการทำงานในอดีต และสิ่งที่คุณคาดหวังว่าจะได้รับจากงานที่คุณต้องการจะสมัคร
4. ใช้เครื่องหมายวรรคตอนอย่างฉลาด
อย่างที่เราได้บอกไปแล้วว่า คณะกรรมการไม่ได้มีเวลามากในการอ่าน ดังนั้นคุณต้องทำให้เข้าใจง่าย เข้าถึงประเด็นที่ต้องการ และในสถานการณ์เช่นนี้ เครื่องหมายวรรคก็สามารถช่วยคุณได้ โดยคุณควรใช้ในการแสดงหัวข้อให้อ่านง่าย รวมทั้งพยายามทำข้อความที่สำคัญให้เป็นตัวหนา หรือขีดเส้นใต้ เพราะการใช้เครื่องหมายวรรคตอนเหล่านี้ ไม่ได้เพียงแค่ทำให้นายจ้างอ่านง่ายเท่านั้น แต่ยังทำให้ดูเป็นระเบียบ เข้าใจง่ายและเป็นมืออาชีพ
5. ระวังเรื่องหลักภาษา
ถ้าคุณเขียนด้วยหลักภาษาที่ผิด หรือสะกดคำผิดพลาด ถือว่าผิดมหันต์เลยทีเดียว เพราะทั้งหมดนี้แสดงถึงทักษะ ประสบการณ์และความรู้ ดังนั้น คุณจำเป็นต้องทำให้มันสมบูรณ์แบบ ควรตรวจทานเรื่องเครื่องหมายลูกน้ำ การสะกด ตัวอักษรตัวใหญ่ และเครื่องหมายวรรคตอนอื่นๆ เพื่อมั่นใจว่าคุณใช้มันได้อย่างถูกต้อง
6. ทำให้น่าอ่าน
การเขียนแบบธรรมดาที่เต็มไปด้วยประวัติส่วนตัว ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่การเขียนที่เหมือนกันสำหรับทุกงานที่คุณสมัครนั้น เรียกว่าไม่ได้เป็นความคิดที่ดีเท่าไหร่นัก! คุณควรที่จะเขียนให้เหมาะกับแต่ละงานที่คุณยื่นใบสมัครไป โดยพิจารณาจากลักษณะของงานนั้นๆ และดูว่าอะไรคือ สิ่งสำคัญที่เกี่ยวข้องกับงาน รวมถึงการเรียงลำดับความสำคัญของประวัติและประสบการณ์ต่างๆ ด้วย เพื่อที่จะทำให้ ข้อมูลของคุณดูน่าสนใจ และมีความเฉพาะทางมากขึ้น
7. รู้จักตัวเองให้ดี
เคล็ดลับนี้ ไม่ได้ใช้เฉพาะในการเขียนเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปใช้ในตอยสอบสัมภาษณ์ และการประเมินตนเองได้อีกด้วย โดยคุณจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับจุดเด่น จุดด้อย ความสนใจ และสิ่งที่ต้องการของตัวคุณเอง คุณต้องมีความชัดเจนว่า คุณเคยทำอะไรมาบ้าง และคุณได้รับอะไรจากมัน และเป้าหมายที่คุณต้องการคืออะไรในอนาคต เพราะมันจะช่วยสร้างความประทับใจ กับผู้สมัครที่มีความชัดเจน และมีความมั่นใจในตัวเอง รวมถึงเข้าใจถึงบทบาทของบริษัท และลักษณะงานที่ต้องการจะสมัครด้วย นี่คือเหตุผลว่าทำไมคุณไม่ควรที่จะลังเลในการตอบเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้
8. ทำให้ข้อมูลทันสมัยเสมอ
ควรมั่นใจก่อนว่าข้อมูลที่คุณเขียนลงไปนั้น มีการปรับปรุงหรืออัพเดทข้อมูลแล้วหรือไม่ เพราะมันจะเป็นการที่ดีกว่า ถ้าคุณจะเขียนเกี่ยวกับรางวัล หรือประสบการณ์การทำงานล่าสุด เมื่อเทียบกับรางวัล หรือผลงานเก่าๆ
9. หาที่ปรึกษา
เมื่อคุณเขียนเสร็จแล้ว แล้วก็พร้อมที่จะสมัครในตำแหน่งที่คุณสนใจแล้วละก็ ขอให้คุณคิดใหม่อีกครั้ง เพราะว่าเหมือนกับคำพูดที่ว่า “สองหัวดีกว่าหัวเดียว” หมายถึง มันเป็นการดีกว่า ถ้าคุณจะมีที่ปรึกษาในการอ่านและตรวจสอบ เพราะพวกเขาสามารถที่จะช่วยในการเตรียมตัวสำหรับการสัมภาษณ์และการประเมินได้ด้วย
สิ่งที่ต้องเขียนลงไปนั้น ประกอบด้วยอะไรบ้าง?
1. ข้อมูลส่วนตัว (Personal information)
ประกอบไปด้วย ชื่อ นามสกุล อายุ เพศ สัญชาติ วันเดือนปีเกิด และวิธีติดต่อ ที่อยู่ เบอร์โทร และอีเมล (แนะนำว่าให้ใช้อีเมล์ที่เป็นชื่อ และนามสกุลของตัวเองดีกว่า เพราะดูเป็นทางการ และทางเจ้าหน้าที่จะได้จัดเก็บข้อมูลได้ง่ายขึ้น)
2. ประวัติการศึกษา (Education)
ให้บอกสาขาที่เรียน ชื่อสถาบัน ปีการศึกษาที่เข้าและจบ โดยเรียงจากระดับสูงสุด (มหาวิทยาลัย) ไปจนถึงโรงเรียนมัธยม แนะนำสถาบันที่เราเคยเรียน หลักสูตร ระยะเวลา และผลการเรียนของเรา โดยระบุวุฒิการศึกษาว่าเป็นประกาศนียบัตร, วุฒิบัตร, หรือปริญญาตรี เป็นต้น
3. ประสบการณ์ทำงาน (Work experience)
แนะนำว่าเราเคยทำงานอะไรมาบ้าง มีตำแหน่ง และหน้าที่ความรับผิดชอบอะไรที่เราดูแลระหว่างทำงาน เคยทำงานพิเศษ ฝึกงาน หรือทำงานตอนไป Work&Travel ขณะกำลังศึกษาอยู่ก็สามารถใส่ข้อมูลได้เลย โดยเรียงลำดับจากงานล่าสุดเป็นต้นไป
4. ประสบการณ์การทำวิจัย (Research experience)
เราเคยทำวิจัยเรื่องไหนบ้าง และได้ผลลัพธ์อะไร ซึ่งเนื้อหาส่วนนี้ จำเป็นเมื่อเราสนใจจะสมัครขอรับทุนการศึกษาต่อ
5. กิจกรรมนอกหลักสูตร (Extracurricular activities)
แนะนำว่าเราเคยทำกิจกรรมนอกหลักสูตรอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมชมรม หรือการช่วยเหลือชุมชนต่างๆ
6. รางวัล (Awards)
เคยประกวดหรือแข่งขันแล้วได้รางวัล ใบประกาศนียบัตรจากหลักสูตร และกิจกรรมต่างๆ ใส่ตรงส่วนนี้ได้เลย โดยเรียงจากเหตุการณ์ล่าสุดลงไปนะ
7. ทักษะ (Skills)
โดยทั่วไปจะเป็นทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และภาษาต่างประเทศ ลองนึกดูว่าเรามีความสามารถด้านไหนบ้าง ในส่วนนี้อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสมัครมากนัก ยกเว้นทุนหรือมหาวิทยาลัยที่ต้องการคนที่มีทักษะเฉพาะ หรือเคยทำงานวิจัยในห้องแลป เป็นต้น
8. งานอดิเรกและสิ่งที่สนใจ (Hobbies & Interests)
กิจกรรมที่ชอบทำ ความถนัด หรือความสามารถพิเศษ (ส่วนนี้ไม่ต้องยาวมากก็ได้ เอาพอเข้าใจ กระชับ)
9. จดหมายรับรอง (References)
ส่วนใหญ่คนที่จะเขียนจดหมายรับรองให้เราได้มักจะเป็นอาจารย์ เจ้านาย หรือบุคคลที่มีชื่อเสียง แต่ต้องไม่ใช่ญาติ หรือเพื่อนสนิท และที่เรียกว่าบุคคลอ้างอิง อีกนัยหนึ่งก็คือ บุคคลที่จะสามารถ ตรวจสอบประวัติและความประพฤติของเราได้ และควรอ้างมา 2-3 ท่าน พร้อมทั้งที่อยู่ที่จะติดต่อได้ และอาชีพของเขาเหล่านั้น
ตัวอย่างการเขียน CV และ Resume
ทีนี้เราก็ทราบกันแล้วนะว่า CV และ Resume คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร มีความแตกต่างกันยังไง ใช้งานอย่างไร รวมถึงวิธีการเขียนที่ดีอีกด้วย ต่อไปนี้หวังว่า CV และ Resume ของเพื่อนๆ จะถูกต้องตามแบบแผน ครบถ้วน และเตะตาตรึงใจกรรมการทุกๆ ท่านเลยนะจ๊ะ อิอิ
กระทู้ที่เกี่ยวข้อง >> 21 ไอเดียโดนๆ กับ การเขียน Resume และ CV ที่จะทำให้โดดเด่น และน่าอ่าน
ลองเขียน resume online >> คลิก!
————————————————-
ข้อมูลและภาพจาก :
www.pinterest.com , www.nationejobs.com , www.hotcourses.in.th , www.independent.co.uk , www.scholarship.in.th , http://ebus101.com/write-resume/