นอกจาก CV และ Resume จะเป็นส่วนสำคัญในการสมัครใช้เข้าเรียนต่อหรือสมัครเข้าทำงานแล้ว อีกสิ่งที่เราจะขาดไม่ได้เลยก็คือ แฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) ซึ่งจะเป็นตัวบ่งบอกว่า เราเคยมีผลงานหรือทำงานอะไรมาบ้างแล้วนั่นเอง Portfolio ที่เรามักจะเห็นกันอยู่บ่อยๆ ก็จะเป็นแฟ้มที่มีซองพลาสติกเอาไว้ใส่ผลงาน แต่วันนี้เรามีเทคนิคการทำ Portfolio มาฝากกัน พร้อมมีตัวอย่างไอเดียการทำเก๋ๆ เริ่ดๆ รับรองโดนใจคนอ่านมาให้ดูกันอีกด้วย
8 องค์ประกอบหลัก แฟ้มสะสมผลงาน
ก่อนที่เราจะไปดูเทคนิคการเขียน portfolio กันนั้น เรามาทำความเข้าใจถึงความแตกต่างกันระหว่าง portfolio กับ resume กันก่อนดีกว่า เพื่อง่ายต่อการเขียน จะได้ไม่งงกันนะ
อย่างที่เรารู้กันอยู่แล้วนะว่า ทั้ง portfolio และ resume ต่างก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่ใช้ในการสมัครเข้าเรียนหรือสมัครงาน โดยที่ทั้งสองอย่างเป็นตัวที่ใช้สำหรับบอกถึง ประวัติส่วนตัวของเราและผลงานที่เราเคยได้ทำมาก่อน
แต่ว่า resume เป็นการเขียนบอกเล่ารายละเอียดส่วนตัว ประสบการณ์ และสิ่งต่างๆ ที่เป็นจุดเด่นของเราอย่างย่อๆ ที่มีความยาวเพียง 1-3 หน้าเท่านั้น เป็นการสรุปผลงานทั้งหมดที่เคยผ่านมานั่นเอง
ส่วน portfolio จะเป็นลักษณะของแฟ้มสะสมผลงาน หรือเป็นหนังสือสะสมผลงานอย่างเป็นระบบ มีความยาวหลายหน้า เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลงานทั้งหมดที่ผ่านมาของเรา ตั้งแต่สมัยยังเป็นนักเรียน นักศึกษา จนถึงช่วงวัยทำงาน ซึ่งจะประกอบด้วย ตัวอย่างของผลงาน ที่แสดงให้เห็นถึงคุณภาพ และการเรียนรู้ที่หลากหลาย ทักษะต่างๆ และประสบการณ์การทำงานต่างๆ
เป็นไงบ้างคะ … พอจะแยกกันออกแล้วเนอะว่าทั้ง portfolio และ resume นั้นมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง คราวนี้เราก็มาดูเทคนิคและส่วนประกอบการเขียนแฟ้มสะสมงานกันได้เลย
องค์ประกอบหลักๆ ของแฟ้มสะสมงาน
1. หน้าปก
ควรออกแบบให้สะดุดุตา แบบเห็นปุ๊บแล้วคนหยิบขึ้นมาอ่านปั๊บเลย ถ้าหน้าตาดีก็ใส่รูปตัวเองลงไป present ตัวเองเต็มที่ เข้าใจง่าย สรุปเนื้อหาและมีรายละเอียดครบถ้วน คือ แฟ้มเป็นของใคร เรียนที่ไหน ผลงานที่เคยทำ รางวัลที่เคยได้รับ ฯลฯ (แต่ต้องเน้นส่วนที่เป็นตัวของเราให้ได้มากที่สุด ทำออกมาให้เป็นตัวของตัวเอง)
2. ประวัติส่วนตัว
นำเสนอข้อมูลตัวเองเต็มที่เลย รวมถึงประวัติทางด้านสถานศึกษาด้วย ถ้าจะให้ดีขอแนะนำว่าให้ทำเป็น 2 ชุด คือ ส่วนที่เป็นภาษาไทยและส่วนที่เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเป็นการแสดงถึงความสามารถของเราและความเป็นสากล เพราะบางทีคนที่อ่านแฟ้มของเราอาจจะเป็นชาวต่างชาติก็ได้นะ แล้วยังช่วยทำให้ดูน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น
3. ประวัติทางด้านการศึกษา
ให้เรียงลำดับจากการศึกษาระดับต่ำสุดจนกระทั่งปัจจุบัน และต้องสรุปผลการเรียนที่ได้มาครั้งล่าสุดด้วย ควรเน้นเป็นส่วนท้ายให้เห็นเด่นชัดที่สุด (อาจมีเอกสารรับรองผลการเรียนแนบมาด้วยก็ได้ จะดีมาก)
4. รางวัลและผลงานที่ได้รับ
เขียนในลักษณะเรียงลำดับการได้รับจากปี พ.ศ. (ในส่วนนี้ไม่แนะนำว่าต้องใส่เกียรติบัตรลงไป เพราะอาจทำให้แฟ้มดูไม่มีจุดเด่นเพราะมันแย่งกันเด่นหมด ซึ่งจะทำให้คนอ่านไม่รู้ว่าควรต้องอ่านตรงไหนดีก่อน)
5. รางวัลและผลงานที่ประทับใจ
เป็นผลงานหรือรางวัลที่ได้รับและเกิดความภาคภูมิแบบสุดๆ รางวัลแบบนี้แหละที่เป็นรางวัลแห่งชีวิตที่เราภูมิใจสุดๆ (ควรใส่หลักฐานลงไปประกอบด้วยเพื่อความน่าเชื่อถือ อาจมีรูปถ่ายประกอบมาด้วยจะดีมาก)
6. กิจกรรมที่ทำในโรงเรียน
อาทิเช่น เป็นประธานนักเรียน กิจกรรมในชมรมหรืออย่างอื่น ใส่เพื่อให้รู้ว่าเรามีประสบการณ์การทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ รู้จักการทำงานเป็นทีม หรือตรงส่วนนี้จะใช้เป็นงานพิเศษที่กำลังทำก็ได้ หากเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยจะทำให้ผลงานมีคุณค่ามากขึ้น คนหยิบขึ้นมาอ่านจะเห็นคุณค่าของเราตรงนี้
7. ผลงานตัวอย่าง
คืองานหรือรายงานที่คิดว่าภาคภูมิใจมากที่สุดจากการเรียนที่ผ่านมา เช่น โครงงานวิทยาศาสตร์ รายงานการวิจัยต่างๆ อาจจะนำเสนอ 5 รายวิชาหลักที่เราเคยทำก็ได้ เป็นต้น
8. ความสามารถพิเศษต่างๆ
ควรโชว์ความสามารถพิเศษที่คนทั่วไปไม่มีหรือมีคนทำน้อย และต้องเป็นความสามารถพิเศษที่สอดคล้องกับคณะ ที่เราต้องการศึกษาต่อหรือถ้าไม่มีก็เป็นความสามารถพิเศษทั่วๆ ไป เช่น ร้องเพลง เล่นดนตรี กีฬา ฯลฯ
ปล. ในแต่ละหัวข้อถ้าหากมีการแสดงรูปถ่ายที่เกี่ยวข้องด้วยจะดีมากๆ ค่ะ ขอให้แฟ้มสะสมผลงานของเพื่อนๆ ออกมาน่ารักกันทุกคนนะคะ
เทคนิค ทำแฟ้มสะสมผลงาน
ตัวอย่าง แฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio)
อัลบั้มภาพ 10 ภาพ
ที่มา : www.slideshare.net , learningkeeper.com
ภาพจาก : https://www.pinterest.com
บทความแนะนำ
- เทคนิคการเขียน Resume และ Curriculum Vitae ที่จะทำให้คุณชนะใจกรรมการ
- เทคนิคการทำแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) ในการสมัครเรียนและทำงาน
- 21 ไอเดียโดนๆ กับ การเขียน Resume และ CV ที่จะทำให้โดดเด่น และน่าอ่าน
- ตรวจสอบให้ดีก่อนส่ง 9 คำศัพท์ภาษาอังกฤษ ที่เรามักจะเขียนผิดกันบ่อยครั้ง ในเรซูเม่
- 5 เรื่องน่ารู้ การรับสมัครนักศึกษาใหม่ ระบบ TCAS รอบที่ 1 | แฟ้มสะสมผลงาน Portfolio