กวีเอก บุพเพสันนิวาส ประวัติศาสตร์ ศรีปราชญ์

กวีเอกศรีปราชญ์ คนโปรดของพระนารายณ์ ถูกใส่ร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนโดนประหาร

Home / สาระความรู้ / กวีเอกศรีปราชญ์ คนโปรดของพระนารายณ์ ถูกใส่ร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนโดนประหาร

ในบางครั้งการเป็นคนมีความสามารถ และเป็นที่โปรดปราน อาจทำให้ชีวิตอยู่ไม่เป็นปกติสุข ต้องตกอยู่ในอันตราย ยกตัวอย่างเรื่องราวของ ศรีปราชญ์ กวีเอกที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงโปรดมาก จึงทำให้โดนคนอื่นๆ อิจฉา และคิดปองร้ายหาเรื่องอยู่ตลอด จนในท้ายที่สุดเพราะความสามารถของเขานั่นเอง ที่ทำให้ต้องโดยประหารและสิ้นอายุขัยด้วยวัยเพียง 30 ปีเท่านั้น

สาเหตุที่ กวีเอกศรีปราชญ์  โดนสั่งประหาร

ศรีปราชญ์ พี่ชายหมื่นสุนทรเทวา

ศรีปราชญ์ ลูกชายคนโตของ พระโหราธิบดี ซึ่งเป็นอธิบดีแห่งโหร หรือโหรหลวงประจำราชสำนัก และศรีปราญช์ยังเป็นพี่ชายของหมื่นสุนทรเทวาด้วย สันนิษฐานว่า น่าจะเกิดในปี พ.ศ. 2196 หรือ 3 ปี ก่อนที่สมเด็จพระนารายณ์เสด็จขึ้นครองราชย์

แต่งกลอนต่อพระนารายณ์ได้ตั้งแต่ 7 ขวบ

ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระนารายณ์ทรงแต่งโคลงบทหนึ่ง ว่า

อันใดย้ำแก้มแม่ หมองหมาย
ยุงเหลือบฤๅริ้นพราย ลอบกล้ำ

แต่ไม่สามารถแต่งต่อได้จึงพระราชทานให้แก่พระโหราธิบดี (บิดาของศรีปราชญ์) แต่พระโหราฯ เองยังไม่สามารถแต่งกลอนต่อได้ในทันที จึงขอนำกระดานชนวนกลับบ้าน และได้นำไปไว้ที่ห้องพระ จากนั้นจึงได้ไปอาบน้ำ จากนั้นศรีปราชญ์ลูกชายคนโตในวัย 7 ขวบจึงได้แต่งกลอนต่อโดยความว่า

อันใดย้ำแก้มแม่ หมองหมาย
ยุงเหลือบฤๅริ้นพราย ลอบกล้ำ
ผิวชนแต่จักกราย ยังยาก
ใครจักอาจให้ช้ำ ชอกเนื้อเรียมสงวน

เมื่อพระยาโหราธิบดีอาบน้ำเสร็จ ก็เข้ามาที่ห้องพระแล้วสังเกตว่ากระดานวางอยู่ต่างจากเดิม จึงคิดในใจว่า ต้องเป็นฝีมือของเจ้าศรี บุตรชายของตนเป็นแน่ แต่ว่า เมื่อเห็นโคลงที่บุตรชายของตนแต่งต่อก็หายโกรธในทันที แล้ววันรุ่งขึ้น พระยาโหราธิบดีก็นำกระดานชนวนนั้น ไปถวายสมเด็จพระนารายณ์

สมเด็จพระนารายณ์ทรงพอพระราชหฤทัยกลอนต่อของศรีปราญช์

พอวันรุ่งขึ้นหลังจากเข้าเฝ้าถวายแผ่นกระดานชนวน สมเด็จพระนารายณ์ทรงพอพระราชหฤทัย ตรัสชมเชยพระยาโหราธิบดีเป็นการใหญ่  แต่ทว่า หากท่านพระยาโหราธิบดีแกรับพระราชทานบำเหน็จโดยไม่ทูลความจริงกลัวจะได้รับโทษ “หัวขาด” จึงกราบบังคมทูลความจริงให้ทรงทราบว่า ผู้ที่แต่งโคลงต่อจากพระองค์ คือเจ้าศรีบุตรชาย ซึ่งทำไปด้วยความซุกซน ต้องขอพระราชทานอภัยโทษแก่มันด้วย ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณา

เมื่อองค์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ทรงสดับความจริงจากพระยาโหราธิบดี แทนที่จะทรงกริ้ว กลับทรงพอพระราชหฤทัยยิ่งขึ้น ถึงกับทรงพระสรวลลั่นท้องพระโรง และตรัสกับท่านพระยาโหรา ฯว่า

บ๊ะ ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น พ่อเก่งอย่างไร ดูรึ ลูกชายก็เก่งปานกัน หากเราจะขอให้เจ้านำบุตรของท่านเข้าถวายตัวเพื่อรับราชการแต่บัดนี้ เจ้าจะว่ากระไร ?

พระยาโหร ฯ ได้ยินเช่นนั้น ก็ถวายบังคมยกมือขึ้นเหนือเศียร รับใส่เกล้า ฯ ใส่กระหม่อม แล้วจึงกราบบังคมทูลว่า

ขอเดชะ พระอาญาไม่พ้นเกล้า ฯ การที่พระองค์โปรดที่จะให้เจ้าศรีบุตรชายของข้าพระพุทธเจ้า เข้าถวายตัวเพื่อรับราชการนั้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น แต่เนื่องจากบุตรของข้า ฯ ยังเยาว์วัยเพียง 7 ชันษา ยังซุกซนและไม่ประสาในการที่จะรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท เอาไว้ให้เขาเจริญวัยกว่านี้สักหน่อย ค่อยว่ากันอีกที ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณา

ดวงชะตาศรีปราชญ์ เข้ารับราชการเมื่อไร ยิ่งเร่งเวลาให้อายุสั้น

อันที่จริงแล้วหนึ่งสาเหตุที่ท่านพระยาโหราธิบดีไม่อยากให้ศรีปราชญ์เข้ารับราชการ เพราะท่านรู้อยู่แก่ใจของท่านดีว่า หากให้เจ้าศรีเข้ารับราชการเมื่อไร ก็เร่งเวลาให้เจ้าศรีอายุสั้นมากเท่านั้น ด้วยอุปนิสัยใจคอลูกชายของท่านดี ประกอบกับพื้นดวงชะตาที่ได้คำนวณเอาไว้ บ่งบอกชัดเจนว่า เจ้าศรีอายุจะสั้นด้วยต้องอาญา ดังนั้น เมื่อองค์สมเด็จพระนารายณ์ทวงถามเรื่องเจ้าศรีทีไรท่านพระยาโหรก็ต้องหาเรื่องกราบทูลผลัดผ่อนเรื่อยไป

วันที่เข้าทำงานรับราชการก็มาถึง

จนกระทั่งเจ้าศรีอายุได้ 15 ปี ได้ศึกษาสรรพวิทยาการต่าง ๆ จากท่านพระยาโหร ฯ ผู้เป็นพ่อจนหมดสิ้นแล้ว ท่านพระยาโหร ฯ จึงได้ถามความสมัครใจว่า อยากจะเข้าไปรับราชการในวังหรือไม่ ซึ่งเจ้าศรีนั้นก็ดีใจ และเต็มใจที่จะเข้าไปรับราชการสนองพระเดชพระคุณ ดังนั้น เมื่อพระนารายณ์ทรงทวงถามอีกครั้งหนึ่ง ท่านพระยาโหรฯ จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือผลัดผ่อนได้อีก แต่ก่อนที่จะนำเจ้าศรีเข้าถวายตัวนั้นได้ทรงขอพระราชทานคำสัญญาจากสมเด็จพระนารายณ์ 1 ข้อ คือ

เมื่อเจ้าศรีเข้ารับราชการแล้ว หากกาลต่อไปภายหน้า ถ้ามันกระทำความผิดใด ๆ ที่ไม่ใช่ความผิดต่อราชบัลลังก์ และมีโทษถึงตาย ก็ขอได้โปรดงดโทษตายนั้นเสียหากจะลงโทษจริง ๆ ก็ขอเพียงให้เนรเทศให้พ้นไปจากเมือง อย่าให้ต้องถึงกับประหารชีวิต

ซึ่งสมเด็จพระนารายญ์ก็ทรงพระราชทานสัญญานั้นโดยดี ทำให้ท่านพระยาโหร ฯ บรรเทาความวิตกกังวลไปได้มากทีเดียว

สาเหตุที่ ศรีปราชญ์ โดนเนรเทศ

ตอนที่สมเด็จพระนารายณ์เดินทางไปประพาสยังป่าแก้ว พระยารามเดโชโดนลิงอุจจาระลงศีรษะบรรดาทหารต่างๆ ก็หัวเราะ สมเด็จพระนารายณ์ที่บรรทมอยู่จึงตื่นขึ้น แล้วตรัสถามอำมาตย์แต่ไม่มีใครกล้ากราบบังคมทูล เพราะกลัวจะไม่สบพระราชหฤทัย สมเด็จพระนารายณ์จึงเรียกมหาดเล็กศรี (หรือศรีปราชญ์) มาถาม ฝ่ายเจ้าศรีรับใช้มานานจนทราบพระราชอัธยาศัยจึงกราบบังคมทูลด้วยคำคล้องจองว่า

พยัคฆะ ขอเดชะ วานระ ถ่ายอุจจาระ รดศีรษะ พระยารามเดโช สมเด็จพระนารายณ์พอพระทัยเป็นอย่างมากแต่นั่นก็เป็นการสร้างความขุ่นเคืองให้พระยารามเดโชเป็นอย่างมาก สมเด็จพระนารายณ์ถึงกับตรัสว่า ศรีเอ๋ย เจ้าจงเป็นศรีปราชญ์ตั้งแต่บัดนี้เถิด

ในคืนวันลอยกระทงศรีปราชญ์ได้ดื่มสุราแล้วเมาจากนั้นก็เดินไปข้างๆ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เพราะฤทธิ์สุรา ท้าวศรีฯ เห็นศรีปราชญ์มายืนข้างๆ ก็ไม่พอพระทัยจึงว่าศรีปราชญ์เป็นโคลงว่า

หะหายกระต่ายเต้น ชมจันทร์
มันบ่เจียมตัวมัน ต่ำต้อย
นกยูงหากกระสัน ถึงเมฆ
มันบ่เจียมตัวน้อย ต่ำต้อยเดียรฉาน ฯ

ศรีปราชญ์ได้ยินดังนั้นก็รู้ว่าพระสนมเอกได้หาว่าตนเป็นเดียรฉานจึงย้อนไปเป็นโคลงว่า

หะหายกระต่ายเต้น ชมแข
สูงส่งสุดตาแล สู่ฟ้า
ระดูฤดีแด สัตว์สู่ กันนา
อย่าว่าเราเจ้าข้า อยู่พื้นเดียวกัน ฯ

โดนสนมเอกทูลฟ้อง และโดนแกล้งด้วยการขัดขา

หลังจากสนมเอกได้ฟังกลอนที่ศรีปราชญ์โต้กลับมาก็ไม่พอพระทัยจึงไปทูลฟ้องสมเด็จพระนารายณ์ฯ ทำให้ศรีปราชญ์ไปอยู่ในคุกหลวง แต่ไม่ต้องไปทำงานเหมือนนักโทษคนอื่นๆ พระยารามเดโชเห็นดังนั้นจึงให้ศรีปราชญ์มาทำงานเหมือนนักโทษคนอื่นๆ ฝ่ายศรีปราชญ์นั้นเก่งแต่ทางโคลงมิได้เก่งทางด้านการใช้แรงงาน เมื่อทางสนมเอกฯ ผู้ที่เคยทูลฟ้องไปนั้นได้ข่าวก็เสด็จไปที่ ที่ศรีปราชญ์ขุดคลองอยู่ เพื่อตรัสว่าศรีปราชญ์ให้สมพระทัยแล้วจึงเสด็จกลับ แต่ต้องสวนกลับทางที่ศรีปราชญ์ได้ขนโคลนไปแล้ว พวกนางรับใช้ของพระสนมเอกหมั่นไส้จึงขัดขาศรีปราชญ์ ทำให้โคลนหกใส่พระสนมเอกซึ่งมีโทษถึงประหาร แต่พระโหราธิบดีพ่อของศรีปราชญ์ได้เคยทูลขอกับสมเด็จพระนารายณ์ฯ ว่า หากเจ้าศรีทำผิดแล้วมีโทษถึงประหาร ขอพระราชทานให้ลดโทษเหลือเพียงเนรเทศ ดังนั้นสมเด็จพระนารายณ์ฯ จึงเนรเทศศรีปราชญ์ไปเมืองนครศรีธรรมราช

อยู่นครศรีฯ เจ้าเมืองรัก ทำให้คนหมั่นไส้โดยใส่ร้าย

ที่เมืองนครศรีธรรมราชท่านเจ้าเมืองมีใจชอบด้านกวี และเมื่อได้เห็นศรีปราชญ์สามารถแสดงทักษะด้านกวี จึงทำให้ท่านเจ้าเมืองโปรดปรานเขา และนี่ก็เป็นสาเหตุให้มีผู้คนหมั่นไส้ และเคืองแค้นศรีปราชญ์กันอย่างมาก จึงได้หากลอุบายวิธีต่างๆ เพื่อใส่ร้ายศรีปราชญ์ โดยเขาได้โดนใส่ร้ายว่า ลักลอบเป็นชู้กับภริยาของพระยานคร กระนั้นพระยานครก็หลงเชื่อจึงสั่งให้นำตัวศรีปราชญ์ไปประหารชีวิต ศรีปราชญ์ประท้วงโทษประหารชีวิตแต่ท่านเจ้าเมืองไม่ฟัง ซึ่งปัจจุบันเชื่อกันว่าสถานที่ใช้ล้างดาบที่ใช้ประหารชีวิตศรีปราชญ์นั้น ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เรียกว่า “สระล้างดาบศรีปราชญ์” และก่อนที่เพชฌฆาตจะลงดาบประหารศรีปราชญ์ได้ขออนุญาตเขียนโคลงบทสุดท้ายไว้กับพื้นธรณีว่า

ธรณีนี่นี้ เป็นพยาน
เราก็ศิษย์มีอาจารย์ หนึ่งบ้าง
เราผิดท่านประหาร เราชอบ
เราบ่ผิดท่านมล้าง ดาบนี้คืนสนอง ฯ

ภาพ: www.lokwannakadi.com

เมื่อข่าวการประหารไปถึงสมเด็จพระนารายณ์ ทำให้ทรงพระพิโรธเจ้าเมืองนคร ฯ ผู้ซึ่งกระทำการโดยปราศจากความเห็นชอบของพระองค์ และเมื่อพระองค์ได้ทราบถึงโคลงบทสุดท้ายของศรีปราชญ์จึงมีพระบรมราชโองการให้นำเอาดาบที่เจ้าพระยานคร ฯ ใช้ประหารศรีปราชญ์แล้วนั้นนำมาประหารชีวิตเจ้านครศรีธรรมราช ให้ตายตกไปตามกัน สมดังคำที่ศรีปราชญ์เขียนไว้เป็นโคลงบทสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิตว่า “ ดาบนี้คืนสนอง ”

ศรีปราชญ์ ในขณะที่ถูกประหารนั้นมีอายุประมาณ 30 หรือ 35 ปี เป็นเพราะความสามารถของตัวเขาเองที่ทำให้ชีวิตต้องมาจบด้วยตอนอายุยังน้อย และด้วยเหตุนี้จึงทำให้พระยาโหราธิบดีไม่อยากให้ลูกชายคนเล็ก (หมื่นสุนทรเทวา) เข้ารับราชการเหมือนพี่ชาย

ที่มา: www.lokwannakadi.comwww.culture.nstru.ac.thth.wikipedia.org/wiki/ศรีปราชญ์

บทความแนะนำ