ประเพณีพื้นบ้าน ประเพณีไทย วันสงกรานต์

เอกลักษณ์โดดเด่นของ ประเพณีสงกรานต์ 4 ภาค มีอะไรบ้าง?

Home / เรื่องทั่วไป / เอกลักษณ์โดดเด่นของ ประเพณีสงกรานต์ 4 ภาค มีอะไรบ้าง?

สงกรานต์เป็นประเพณีไทยแต่ดั่งเดิม วันนี้เราก็เลยจะพาทุกคนไปรู้จักกับประเพณีสงกรานต์ของแต่ละพื้นที่ในเมืองไทยกันว่าจะเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ประเพณีสงกรานต์ 4 ภาค มีอะไรบ้าง?

ช่วงสงกรานต์เราคนไทยมีกิจกรรมที่ทำกันอยู่ทุกปีคือ การสรงน้ำพระ เข้าวัดทำบุญ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และออกไปเล่นน้ำกันใช่ไหมล่ะคะ แต่ในวันสงกรานต์ของแต่ละภาคอาจจะมีกิจกรรมพิเศษที่แตกต่างกันไป ถ้าไม่ใช่คนในพื้นที่ก็อาจจะไม่คุ้นชินว่า วันสงกรานต์มีแบบนี้ด้วยเหรอ? เราเลยเอากิจกรรมสงกรานต์ของคนแต่ละภาคมาฝากกัน

ภาคเหนือ

กิจกรรมสงกรานต์ของชาวล้านนา ซึ่งเป็นชุมชนใหญ่ในแถบภาคเหนือ จะเรียกว่าประเพณีสงกรานต์ว่า ประเพณีปี๋ใหม่เมือง ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 13-17 เมษายน ตามธรรมเนียมเดิม โดยกิจกรรมหลักก็เหมือนกันคือเข้าวัด ทำบุญตักบาตร ขนทรายเข้าวัด รดน้ำดำหัว

แต่จุดเด่นของวัฒนธรรมล้านนา การดำหัวจะไม่ได้ใช้น้ำผสมน้ำอบ ลอยดอกมะลิ แต่จะเป็นน้ำขมิ้นส้มป่อย และปกติการรดน้ำดำหัว เราจะใช้กับผู้ใหญ่เพียงอย่างเดียวแต่การดำหัวตามแบบของล้านนา เราสามารถดำหัวตัวเอง หรือคนที่อายุน้อยกว่าได้ นอกจากนี้ยังมีการผสมวัฒนธรรมจีนนิดหน่อย เพราะสงกรานต์ก็คือวันขึ้นปีใหม่ไทย ชาวล้านนาก็จะเก็บบ้านให้เรียบร้อย และจุดประทัดในช่วงเช้าวันที่ 13 เพื่อเป็นการต้อนรับปีใหม่ คล้ายๆ กับวัฒนธรรมไหว้ตรุษจีนที่มีการจุดประทัด เพื่อให้ปีใหม่ที่มาถึงเป็นปีที่เฮงๆ

ส่วนการแต่งกายของชาวเหนือถ้าเป็นแต่ก่อนก็ใส่ชุดพื้นบ้านไปวัดทำบุญ แต่สมัยนี้อาจจะหลือให้เห็นไม่มากแล้ว เชียงใหม่เลยมีกิจกรรมรณรงค์ให้คนยังอนุรักษ์ และใช้ผ้าพื้นเมือง ถ้าใครไปเที่ยวงาน Water Festival 2019 เทศกาลวิถีน้ำ…วิถีไทย ครั้งที่ 5 ที่ จ.เชียงใหม่ แล้วสวม/คาด/พาด หรือโพกผ้าขาวม้ามางาน จะได้ร่วมลุ้นรับของที่ระลึกฟรีกันไปเลย

ภาคกลาง

สำหรับภาคกลาง และภาคตะวันออกก็จะมีประเพณีที่เหมือนกับทุกภาค ที่จะมีการเข้าวัดทำบุญ รดน้ำดำหัว เล่นน้ำกันเป็นปกติ แต่ก็จะมีบางชุมชนที่มีกิจกรรมสงกรานต์ที่โดดเด่น และเป็นประเพณีที่สืบต่อกันมานานอย่างเช่น

ประเพณีสงกรานต์ ที่พระประแดง

เป็นประเพณีใหญ่ที่มาจากคนไทยเชื้อสายมอญ โดยในงานนี้นอกจากกิจกรรมวันสงกรานต์โดยทั่วไป แล้วยังมีวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่าง ประเพณีส่งข้าวสงกรานต์ หรือการรวมตัวกันเตรียมข้าว เพื่อไปทำบุญที่วัดในช่วงสาย และมีการการแห่หงส์ – ธงตะขาบ อีกทั้งยังมีการละเล่นพื้นบ้านอีกด้วย และในปี 2562 นี้ ประเพณีสงกรานต์ ที่พระประแดงจะจัดขึ้นวันที่ 19–21 เมษายน 2562

ประเพณีก่อพระทรายวันไหล บางแสน

เป็นประเพณีแต่ดั่งเดิมของจังหวัดชลบุรี เดิมทีจะเรียกว่า งานทำบุญวันไหล เป็นวันทำบุญขึ้นปีใหม่ของชาวทะเลในช่วงวันสงกรานต์ ในวันนี้ก็จะมีกิจกรรมก่อพระเจดีย์ทราย เล่นสาดน้ำ การละเล่นไทย และกีฬาพื้นบ้าน ซึ่งวันไหลจะจัดหลังจากวันที่เราฉลองสงกรานต์ 13-15 เมษายน โดยในปี 2562 นี้ ประเพณีก่อพระทรายวันไหล บางแสนจะจัดขึ้นวันที่ 16–17 เมษายน 2562

ประเพณีสงกรานต์อุ้มสาวลงน้ำ

เป็นประเพณีสงกรานต์ของเกาะสีชัง และเกาะขามใหญ่ จังหวัดชลบุรี โดยภายในงานก็จะมีกิจกรรมทั่วๆ ไป อย่างรดน้ำดำหัว การก่อเจดีย์ทราย แต่นอกจากนี้ยังมีการละเล่นพื้นบ้าน แข่งขันเรือกระทะ เรือชักกะเย่อ มวยตับจาก ปาลูกดอก แข่งขันตะกร้อลอดบ่วง การแสดงดนตรี และประเพณีอุ้มสาวลงน้ำอีกด้วย

ภาคอีสาน

ประเพณีสงกรานต์ทางภาคอีสานจะเรียกว่า บุญเดือนห้า หรือตรุษสงกรานต์ โดยประเพณีทำบุญ เล่นน้ำสงกรานต์ของที่นี่ก็จะคล้ายกับที่อื่น แต่มีจุดเด่นตรงที่ คนอีสานจะถือฤกษ์ประกอบด้วย โดยยึดเอาวันวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เวลาบ่าย 3 โมง เป็นจุดเริ่มต้นของประเพณีสงกรานต์ 

พอบ่าย 3 โมง พระสงฆ์จะตีกลองเป็นการให้สัญญาณ จากนั้นญาติโยมจะจัดเตรียมน้ำอบ หาบไปรวมกันที่ศาลาวัดเพื่อสรงน้ำพระพุทธรูป แล้วต่อด้วยการรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่เพื่อขอขมาลาโทษ จากนั้นก็จะเป็นการเล่นสาดน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน

ส่วนถ้าใครอยากลองไปเข้าร่วมประเพณีสงกรานต์ที่แปลกตาไม่เคยเห็นมาก่อน ก็ขอแนะนำให้ไปที่จังหวัดนครพนม เพราะที่อำเภอเมือง และอำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม จะมีงานสงกรานต์ผูกสายสิญจน์เชื่อมโยงพระธาตุสองแผ่นดิน หรือสงกรานต์นครพนม รื่นรมย์ บุญปีใหม่ ไทย-ลาว โดยในงานจะมีการสรงน้ำพระธาตุประจำวันเกิดทั้ง 7 แห่ง ซึ่งกิจกรรมไหว้พระ ทำบุญสงกรานต์แบบนี้มีแค่ที่นี่ แห่งเดียวในประเทศไทย

ภาคใต้

ประเพณีสงกรานต์ของภาคใต้ก็คล้ายๆ กับทุกภาคที่จะมีการเข้าวัดทำบุญ เล่นน้ำ มีการแสดง ปละการละเล่นพื้นบ้าน มโนราห์, หนังตะลุง, มอญซ่อนผ้า ฯลฯ แต่จุดที่แตกต่างกันของประเพณีสงกรานต์ภาคใต้กับภาคอื่นๆ คือความเชื่อ

โดยความเชื่อแต่ดั่งเดิมของภาคใต้คือ สงกรานต์เป็นช่วงเวลาแห่งการผลัดเปลี่ยนเทวดาผู้รักษาดวงชะตาบ้านเมือง วันที่ 13 เมษายน จึงเป็นวันวันส่งเจ้าเมืองเก่า ในวันนี้จะมีการทำพิธีสะเดาะเคราะห์สิ่งไม่ดีออกไป วันที่ 14 เมษายนค่อยออกไปทำกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ตามปกติ และในวันที่ 15 เมษายนก็จะมีการพิธีต้อนรับเทวดาองค์ใหม่ ในวันนี้ผู้คนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ นำอาหาไปถวายพระที่วัด จัดพิธีเบญจา ซึ่งเป็นการจัดพิธีรดน้ำผู้อาวุโสแบบหนึ่ง

ที่มา : sites.google.com , wikipedia.org 

บทความแนะนำ