ราชวงศ์ วัง วังบ้านดอกไม้ สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ข้อมูล-ภาพเกี่ยวกับ วัง ในประเทศไทย (2) ที่พักผู้มีตระกูล

Home / สาระความรู้ / ข้อมูล-ภาพเกี่ยวกับ วัง ในประเทศไทย (2) ที่พักผู้มีตระกูล

จากบทความที่แล้ว “รวมข้อมูล-ภาพ วัง ในประเทศไทย | วังสร้างสำหรับเจ้านายหรือผู้มีตระกูล (1)” ในบทความนี้เป็นการ รวมภาพข้อมูลวังและข้อมูลต่างๆ ในประเทศไทย 2 ค่ะ เนื่องจากวังต่างๆ ในประเทศไทยมีมากมายเหลือเกิน อยากให้ทุกคนได้เรียนรู้ประวัติศาสต์ผ่านวังสวยๆ ในอดีตเหล่านี้ไปด้วยกัน

ข้อมูล-ภาพเกี่ยวกับ วัง ในประเทศไทย (2)

วังบางขุนพรหม

ปัจจุบัน วังบางขุนพรหม เป็นที่ทำการของธนาคารแห่งประเทศไทย

วังบางขุนพรหม เป็นวังที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ต้นราชสกุลบริพัตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี พระมารดา วังบางขุนพรหมอยู่ในเนื้อที่ 33 ไร่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทางทิศใต้ของวังเทวะเวสม์ วังบางขุนพรหม มีตำหนักรวม 2 ตำหนัก ได้แก่ ตำหนักใหญ่ และตำหนักสมเด็จ โดยตำหนักใหญ่ ก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2444 โดยการออกแบบของคาร์ล ซันเดรสกี สถาปนิกชาวเยอรมัน แต่ไม่แล้วเสร็จ จึงได้มารีโอ ตามัญโญ สถาปนิกที่มีชื่อเสียงชาวอิตาลี มาดำเนินการออกแบบจนแล้วเสร็จ ส่วนตำหนักสมเด็จ เป็นตำหนักที่เพิ่มเติมติดกับตำหนักใหญ่ ได้รับการออกแบบโดยคาร์ล เดอห์ริง สถาปนิกชาวเยอรมัน ในปี พ.ศ. 2454

ภายหลังสร้างแล้วเสร็จได้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี จนถึงปี พ.ศ. 2470 จนการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 วังแห่งนี้ได้ตกเป็นของรัฐบาล กลายเป็นสถานที่ราชการต่างๆ ทั้ง กรมยุวชนทหารบก สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ และตั้งแต่ พ.ศ. 2488 จนถึงปัจจุบัน / ข้อมูลเพิ่มเติม วังบางขุนพรหม / ธนาคารแห่งประเทศไทย

วังปารุสกวัน

วังปารุสกวัน หรือย่อว่า วังปารุสก์ ตั้งอยู่หัวมุมถนนพิษณุโลก ตัดกับถนนราชดำเนินนอก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นวังที่ประทับของจอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระราชโอรสในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสที่ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหาร จากประเทศรัสเซีย เมื่อ พ.ศ. 2449 ปัจจุบันใช้เป็นที่ทำการของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์กรมตำรวจ และกองบัญชาการตำรวจนครบาล / ข้อมูลเพิ่มเติม วังปารุสกวัน / พิพิธภัณฑ์ตำรวจ วังปารุสกวัน / ภาพจาก saranitet.police.go.th/museum

ภาพหาชมยาก!! เปิดประวัติครอบครัว ฮิวโก้ จุลจักร สืบเชื้อสายมาจาก ร. 5 ที่หลายคนยังไม่รู้ : Women.MThai.com

วังวาริชเวสม์

วังวาริชเวสม์

ปัจจุบัน วังวาริชเวสม์ เป็นอาคารอนุรักษ์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และครอบครองการใช้ประโยชน์โดยบริษัทแม็ทชิ่ง สตูดิโอ จำกัด (มหาชน)

วังวาริชเวสม์ ตั้งอยู่ที่ซอยสุโขทัย 6 ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2476 (1 ปี ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง) เพื่อเป็นที่ประทับของพระองค์เจ้าวาปีบุษบากร พระธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยมีพระสาโรชรัตนนิมมานก์ สถาปนิกไทยรุ่นบุกเบิกที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศเป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง / ภาพจาก ลัดเลาะชมวังในเมืองกรุง ข้อมูล วังวาริชเวสม์

วังวรดิศ

ปัจจุบันใช้จัดแสดงเป็น พิพิธภัณฑ์และหอสมุด สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อยู่ในความดูแลของหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

วังวรดิศ เป็นวังที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตั้งอยู่บนถนนหลานหลวง และถนนดำรงค์รักษ์ ใกล้ตลาดสะพานขาว สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2454 บนที่ดินของเจ้าจอมมารดาชุ่ม พระมารดาของ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยสร้างจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นค่าก่อสร้างทั้งหมดรวม 50,000 บาท ออกแบบโดย Karl Doehring นายช่างชาวเยอรมัน สร้างขึ้นสมัยปลายรัชกาลที่ 5 และมาแล้วเสร็จในสมัยของรัชกาลที่ 6

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สิ้นพระชนม์ที่วังนี้ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2486 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง วังนี้ได้รับการอนุรักษ์โดย พลตรี หม่อมราชวงศ์สังขดิศ ดิศกุล ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยาม เมื่อ พ.ศ. 2527 และได้รับการเสนอโดยองค์การยูเนสโก ประจำภาคพื้นเอเซียแปซิฟิก ให้ร่วมอนุรักษ์เป็น อาคารประวัติศาสตร์โลก / ข้อมูล วังวรดิศ

พิพิธภัณฑ์วังวรดิศ 204 ถนนหลานหลวง แขวงคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100 www.prince-damrong.moi.go.th

วังเลอดิศ

พระตำหนักเลอดิส (Le Dix Palace)

พระตำหนักเลอดิส (Le Dix Palace) เป็นพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตั้งอยู่เลขที่ 10 ซอยแสงมุกดา ถนนสุขุมวิท 43 เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร (Le Dix แปลว่า บ้านเลขที่ 10 ในภาษาฝรั่งเศส) สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ ทรงย้ายมาประทับที่นี่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2523

พระตำหนักเลอดิส อยู่ในอาณาบริเวณเดียวกับ พระตำหนักวิลล่าวัฒนา อาคาร 6 ชั้น ตั้งอยู่ในซอยบ้านดอน ถนนสุขุมวิท 47 สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2540 เพื่อใช้เป็นที่ทรงงานหรือเป็นที่รับแขก ตั้งชื่อตาม พระตำหนักวิลล่าวัฒนา (Villa Vadhana) เมืองปุยยี ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นพระตำหนักที่ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเช่าใช้เป็นที่ประทับ ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2478 เป็นเวลากว่าสิบปี / ข้อมูลเพิ่มเติม วังเลอดิศ / ภาพจาก Twitter : axxaa0iwkend0z0

วังบ้านดอกไม้

ปัจจุบัน เป็นสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล

วังบ้านดอกไม้ ตั้งอยู่เลขที่ 129 ถนนหลวงฟากเหนือต่อกับถนนบริพัตร แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร เดิมเป็นวังที่ประทับของนายพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน (พระราชโอรสองค์ที่ 35 ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) บิดาแห่งการรถไฟไทย และผู้ริเริ่มกิจการวิทยุกระจายเสียงเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

วังบ้านดอกไม้เคยเป็นที่ตั้งกรมป่าไม้ภายหลังจากที่ราชสกุลบุรฉัตรขายวังให้กรมป่าไม้ ในปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นสำนักงานโรงงานกระดาษบางปะอินและสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล กระทรวงอุตสาหกรรม … จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2548 วังบ้านดอกไม้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากร พื้นที่โบราณสถานประมาณ 3 ไร่ 65 ตารางวา / ข้อมูลเพิ่มเติม วังบ้านดอกไม้

วังสะพานช้างโรงสี

ปัจจุบันคือ กระทรวงมหาดไทย

วังสะพานช้างโรงสี หรือ วังริมสะพานช้างโรงสี เป็นกลุ่มวังที่ประทับของเจ้านายในย่านถนนตะนาว และถนนอัษฎางค์ ริมคลองหลอด เชิงสะพานช้างโรงสี ถัดไปทางทิศตะวันออกของพระบรมมหาราชวัง สร้างมาแต่ปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และเป็นที่ประทับของเจ้านายมาอีกหลายพระองค์ต่อเนื่องกันมา จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบด้วย 2 วัง คือ

1. วังสะพานช้างโรงสี วังเหนือ เดิมเป็นวังที่ประทับของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไพฑูรย์ กรมหมื่นสนิทนเรนทร์ ต้นราชสกุลไพฑูรย์ เมื่อกรมหมื่นสนิทนเรนทร์สิ้นพระชนม์ จึงเป็นที่ประทับของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมแสง กรมหลวงสรรพศิลป์ปรีชา พระอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดา ต้นราชสกุลชุมแสง เมื่อกรมหลวงสรรพศิลป์ปรีชาสิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานวังนี้เป็นที่ประทับของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทวีถวัลยลาภ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ ต่อมาเมื่อเมื่อกรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้แบ่งพื้นที่ทำเป็นตึกแถว พระราชทานชื่อถนนย่านนั้นว่า แพร่งภูธร ตามพระนามของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ / พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้แบ่งพื้นที่ทำเป็นตึกแถวและพระราชทานชื่อถนนย่านนั้นว่า แพร่งภูธร

2. วังสะพานช้างโรงสี วังใต้ เดิมเป็นวังที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเนียม ต้นราชสกุลนิยมิศร เมื่อพระองค์เจ้าเนียมสิ้นพระชนม์ จึงเป็นที่ประทับของ พระองค์เจ้าอุทัย พระองค์เจ้าสว่าง พระองค์เจ้าแฉ่ง พระราชโอรสร่วมเจ้าจอมเดียวกันในกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ เมื่อพระองค์เจ้าสว่างสิ้นพระชนม์เป็นพระองค์สุดท้ายในรัชกาลที่ 4 ไม่ปรากฏว่ามีเจ้านายพระองค์ใดมาประทับที่วังนี้อีก และได้รื้อวังนี้สร้างเป็น กระทรวงนครบาล. ในรัชกาลที่ 5  / ข้อมูลเพิ่มเติม วังสะพานช้างโรงสี / สะพานเก่า เล่าเรื่อง / ภาพจาก oknation.nationtv.tv

วังลักษมีวิลาศ

วังได้ถูกรื้อแล้ว ปัจจุบันเป็นอาคารศูนย์รวมนักศึกษาแบ๊บติสต์ 

วังลักษมีวิลาศ สร้างขึ้นในสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นที่ประทับของพระนางเธอลักษมีลาวัณ มีพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ ตั้งอยู่ที่ถนนศรีอยุธยา แยกพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร  ตัววังมีลักษณะเป็นอาคารครึ่งปูนครึ่งไม้ พระนางเธอลักษมีลาวัณได้ประทับอยู่ที่นี่ตั้งแต่เป็นพระมเหสีตราบจนกระทั่งสิ้นพระชนม์

ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระนางเธอลักษมีลาวัณ วังได้ถูกทิ้งร้างอยู่นานเป็นปีด้วยเหตุลอบปลงพระชนม์เจ้านายกลายเป็นข่าวหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ยุคนั้น วังจึงถูกทิ้งไว้จนรกร้างวังเวง ประกอบกับมีเรื่องโจษขานถึงวิญญาณของผู้เป็นเจ้าของสถานที่ ตามความเชื่อแบบไทยๆ จึงไม่มีทายาทคนใดกล้าเข้ามาพำนักที่วังนี้

ต่อมา นายฮาโรลด์ และนางโรส รีฟส์ มิชชั่นนารีจากคริสตจักรแบ๊บติสต์ในสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาในเมืองไทย กำลังมองหาที่ตั้งถาวรเพื่อสร้างอาคารศูนย์รวมนักศึกษาแบ๊บติสต์ จนกระทั่งมาพบที่ดินวังเก่าของพระนางเธอลักษมีลาวัณเข้า จึงมีการเจรจาขอซื้อที่ดินผืนนี้จากทายาทผู้สืบมรดก และสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ครั้งนั้นพระองค์วรรณ จึงได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระบรมราชานุญาตขายที่ดินผืนนี้

ต่อมาที่ดินผืนนี้จึงตกเป็นสมบัติของคริสตจักรแบ๊บติสต์ จนมีการบูรณะอาคารแล้วเสร็จได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 ซึ่งผู้ที่มาเป็นประธานในพิธีเปิดวันนั้นก็คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ พระเชษฐาของพระนางเธอลักษมีลาวัณนั่นเอง อีก 3 ปีต่อมา ศูนย์รวมนักศึกษาแบ๊บติสต์ ได้มีการปรับปรุงใหม่โดยก่อสร้างเป็นอาคารถาวร 4 ชั้นบนที่ดินดังกล่าว และคงอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ / ข้อมูลเพิ่มเติม วังลักษมีวิลาศ / รักหลอนในรั้ววัง ตอนที่ 2 / ภาพจาก Pantip.com / Facebook Baptist Student Center

ที่มา รายชื่อพระราชวังและวังในประเทศไทย , พระราชวังเดิม , หลงรักประเทศไทย , รัตนโกสินทร์ , รายชื่อพระราชวังและวังในประเทศไทย

เว็บไซต์แนะนำ รัตนโกสิเนหา Rattanakosineha , chanaview.wordpress.com , เที่ยวแบบย้อนยุค กับ วังเก่าอันงดงาม ณ กรุงเทพมหานคร , www.museumthailand.com , www.reurnthai.com

บทความแนะนำ