พิพิธภัณฑ์ ราชวงศ์ วัง สิ่งก่อสร้าง

ข้อมูลและภาพ วังในประเทศไทย – วังสร้างสำหรับเจ้านายหรือผู้มีตระกูล

Home / สาระความรู้ / ข้อมูลและภาพ วังในประเทศไทย – วังสร้างสำหรับเจ้านายหรือผู้มีตระกูล

วัง หรือ พระราชวัง เป็นคำที่ใช้สำหรับสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่ แต่ไม่จำเป็นต้องใหญ่มากในตัวเมือง ที่สร้างสำหรับเจ้านาย หรือผู้มีตระกูล ในปัจจุบันวังหรือพระราชวังหลายแห่งเปลี่ยนไปใช้เป็นพิพิธภัณฑ์หรือสำนักงานรัฐบาล หรือโรงแรม

ข้อมูลและภาพ วังในประเทศไทย

วังสระปทุม

วังสระปทุม

ปัจจุบัน วังสระปทุมเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานที่ดินให้เป็นที่สร้างวังของ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ พระราชโอรสในพระองค์ที่ประสูติ แต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า แต่ยังมิได้มีการสร้างวังขึ้น ณ ขณะนั้น เนื่องจากสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ได้เสด็จไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ หลังจากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้เสด็จออกมาประทับนอกพระบรมมหาราชวัง ทรงเริ่มสร้างพระตำหนักขึ้น ณ วังสระปทุม และเสด็จประทับเป็นการถาวรตลอดพระชนม์ชีพพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ และครอบครัว / ข้อมูลเพิ่มเติม วังสระปทุม

วังเทเวศร์

วังเทเวศร์

ปัจจุบัน บางส่วนยังเป็นที่พำนักของทายาท ราชสกุล กิติยากร

วังเทเวศร์ หรือ วังพลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ เป็นวังที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ หม่อมเจ้าอัปสรสมาน กิติยากร และทายาทในราชสกุลกิติยากร ตั้งอยู่บริเวณถนนกรุงเกษม ปากคลองผดุงกรุงเกษม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ทางทิศใต้ติดกับวังเทวะเวสม์ ทางทิศตะวันออกติดกับวัดนรนาถสุนทริการาม

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานที่ดินบริเวณป้อมหักกำลังดัสกรซึ่งไม่ได้ใช้งานแล้ว สร้างพระตำหนักพระราชทาน รวมกับที่สวนอีก 2 แปลงที่ทรงซื้อไว้ และที่ดินฝ่ายเจ้าจอมมารดาเหม พระมารดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ ซึ่งพระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ น้อมเกล้าฯ ถวายรวมเป็นอาณาบริเวณตั้งแต่ริมแม่น้ำเจ้าพระยามาจนถึงบริเวณถนนกรุงเกษม / ข้อมูลและภาพ วิกิพีเดีย

วังไกลกังวล

ปัจจุบัน วังไกลกังวลเป็นที่ประทับแปรพระราชฐานในช่วงฤดูร้อนของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ 

“วังไกลกังวล” สร้างโดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จากพระคลังข้างที่ ให้สร้างขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2469 เพื่อพระราชทานแด่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี โดย หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร ผู้อำนวยการศิลปากรสถานในขณะนั้นเป็นสถาปนิกผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง เพื่อใช้งานในการแปรพระราชฐานมาพักในจังหวัดริมทะเล

โดยรัชกาลที่ 7 ทรงออกพระนามเรียกวังแห่งนี้ว่า สวนไกลกังวล และประทับตราสัญลักษณ์ของวังเมื่อ พ.ศ. 2472 .. ทรงออกนามว่า พระราชวังไกลกังวล อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีพระบรมราชโองการประกาศยกเป็นพระราชวัง ดังนั้น จึงยังคงเรียกว่า วังไกลกังวล / ข้อมูลเพิ่มเติม วังไกลกังวล , พาชม วังไกลกังวล

วังคันธวาส

วังคันธวาส

ปัจจุบันพื้นที่ของวังคันธวาส เป็นที่ตั้งของโรงแรมพลาซ่า แอทธินี รอยัล เมอริเดียน ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี

วังคันธวาส ตั้งอยู่บนถนนวิทยุ เป็นตำหนักที่ประทับส่วนพระองค์ของสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร … ซึ่งหลังจากสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้พระราชทานวังคันธวาสให้กับโรงเรียนราชินีบน เพื่อเก็บผลประโยชน์เป็นรายได้บำรุงโรงเรียน / วังคันธวาส

วังจักรพงษ์

วังจักรพงษ์

ปัจจุบัน อยู่ในความดูแลของทายาท ได้แก่ หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์

วังจักรพงษ์ หรือ วังท่าเตียน ตั้งอยู่ที่ถนนมหาราช เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ติดกับโรงเรียนราชินี เคยเป็นตำหนักส่วนพระองค์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2452 ต่อมาตกเป็นของทายาทคือ หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ ปัจจุบันวังจักรพงษ์เป็นที่ตั้งของสำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊ค จักรพงษ์วิลล่า และมูลนิธิโลกสีเขียว / วังจักรพงษ์

วังจันทรเกษม

ปัจจุบัน วังจันทรเกษมเป็นที่ทำการของหน่วยงานกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนตัวพระตำหนักเป็นที่ตั้งของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ 

วังจันทรเกษม ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนิน ใกล้สะพานมัฆวานรังสรรค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานแก่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร (รัชกาลที่ 6) โดยเริ่มก่อสร้างฐานรากเมื่อ พ.ศ. 2453 แต่รัชกาลที่ 5 สวรรคตเสียก่อน ตัวตำหนักจึงไม่แล้วเสร็จ การก่อสร้างวังจันทรเกษมได้ดำเนินการก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 ขึ้นครองราชย์แล้ว แต่มิได้มีลวดลายวิจิตรพิสดารดังเช่นวังเจ้าฟ้า ทั่ว ๆ ไป คงเนื่องจากไม่ได้ใช้เป็นที่ประทับของรัชกาลที่ 6

วังจันทรเกษม เปลี่ยนเป็น โรงเรียนกินนอนของเหล่านักเรียนในกรมมหรสพแทน จวบจนกระทั่งล่วงมาถึง รัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระองค์จึงพระราชทานวังนี้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ หรือที่สมัยนั้น เรียกกันว่า กระทรวงธรรมการ แล้วจึงเปลี่ยนนามใหม่ว่า โรงเรียนการเรือนวังจันทรเกษม แต่แล้วเมื่อปี พ.ศ. 2483 โรงเรียนการเรือนฯ แห่งนี้ก็ได้ย้ายไปยังสวนสุนันทาแทน (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต) / ภาพจาก มติชน ซ่อมใหญ่วังจันทรเกษม!! มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ฯ มอบ 170 ล.บูรณะวัง ร.6 ครั้งใหญ่รอบ 106 ปี

วังวรวรรณ

วังวรวรรณ

ปัจจุบัน วังถูกเวนคืนเพื่อนำพื้นที่มาสร้างถนน โดยชาวบ้านเรียกพื้นที่แถบนี้ว่า แพร่งนรา

วังวรวรรณ เป็นวังที่ประทับของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ต้นราชสกุลวรวรรณ อยู่ทางทิศเหนือของวังสะพานช้างโรงสี ต่อมาวังนี้ถูกเวนคืนเพื่อนำพื้นที่มาสร้างเป็นถนน ตามโครงการขยายความเจริญของพระนครในสมัยนั้น คงเหลือเพียงพระตำหนักไม้เก่าหลังเล็ก ที่เดิมเป็นที่ตั้งของโรงละครปรีดาลัย

ภายหลังเมื่อกรมพระนราธิปฯ ได้สิ้นพระชนม์แล้วก็ตก เป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และได้ให้เช่าต่อเป็นโรงเรียนตะละภัฏศึกษา(ปัจจุบันเลิกกิจการไปแล้ว) ปัจจุบันเป็นที่ตั้งสำนักงานทนายความตะละภัฏ และมีการแบ่งพื้นที่ริมถนนสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ขายให้แก่เอกชน ชาวบ้านแถบนั้นจึงเรียกย่านนั้นว่า แพร่งนรา ตามพระนามของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และเรียกถนนที่ตัดใหม่นั้นว่า ถนนแพร่งนรา / ภาพและข้อมูลเพิ่มเติม > วังวรวรรณ วังกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ผู้ให้กำเนิดอีนากพระโขนง , วังวรวรรณ

วังสะพานขาว

ปัจจุบันเป็นกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

วังสะพานขาวเคยเป็นวังที่ประทับของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร‎ พระราชโอรสองค์ที่ 42 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โดยทรงสร้างพระราชทานให้แก่พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหารเรือจากประเทศอังกฤษแล้ว ซึ่งสร้างเสร็จทำพิธีขึ้นตำหนักเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2450 ทรงใช้เป็นที่ประทับและที่ทรงงานราชการ

ภายหลังที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกรสิ้นพระชนม์ ในปี พ.ศ. 2490 แล้ว ต่อมาในปี พ.ศ. 2493 กระทรวงมหาดไทยได้ขอซื้อที่ดินพร้อมอาคารจากทายาท เพื่อเป็นที่ตั้งของกรมประชาสงเคราะห์ ซึ่งเดิมอาศัยพื้นที่พระราชวังสราญรมย์อยู่

วังสะพานขาว ตั้งอยู่ริมถนนหลานหลวงตัดกับถนนกรุงเกษม เคยเป็นที่ทำการกรมประชาสงเคราะห์ ปัจจุบัน ตำหนักกรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร วังสะพานขาว ได้รับการอนุรักษ์เป็นโบราณสถาน : ข้อมูลเพิ่มเติม วังสะพานขาว , วังสะพานขาว 2 , ภาพจาก www.bloggang.com

วังสวนผักกาด

วังสวนผักกาด เดิมเป็นสวนผักกาด เป็นวังที่ประทับของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต และ หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร (เทวกุล) ตั้งอยู่บนพื้นที่ 6 ไร่ บนถนนศรีอยุธยา เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร โดยสร้างเพื่อประทับในช่วงสุดสัปดาห์ และเปิดให้บุคคลภายนอกเข้าชมศิลปะและโบราณวัตถุ โดยที่เจ้าของบ้านยังใช้เป็นที่พำนักอยู่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2495 ภายหลังจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2502 พระชายา คือ หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ได้มอบให้วังสวนผักกาดอยู่ในความดูแลของ มูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ และเปิดเป็น พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาดตั้งแต่นั้นมา / ข้อมูลเพิ่มเติม วังสวนผักกาด ภาพโดย Heinrich Damm

วังสวนบ้านแก้ว

ปัจจุบัน เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี

วังสวนบ้านแก้ว ตั้งอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี เป็นพระราชฐานของ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 วังสวนบ้านแก้วมีทัศนียภาพที่สวยงาม มีลำคลองบ้านแก้วไหลพาดผ่าน มีทิวทัศน์ พรรณไม้ สนามกอล์ฟที่สวยงาม

เมื่อสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้อัญเชิญพระบรมอัฐิของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จากประเทศอังกฤษกลับสู่ประเทศไทย ในพุทธศักราช 2492 นั้น รัฐบาลได้ใช้พระตำหนักวังศุโขทัย เป็นสถานที่ทำงานของกระทรวงสาธารณสุข สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จึงได้เชิญเสด็จสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ไปประทับ ณ พระตำหนักของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในวังสระปทุม

แต่เนื่องจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงมีพระราชหฤทัยที่อ่อนโยน ไม่ต้องพระราชประสงค์ที่จะทรงรบกวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในการประทับ ณ พระตำหนักวังสระปทุมนานเกินควร อีกทั้งทรงมีพระราชประสงค์ ที่จะมีที่ประทับสำหรับพักผ่อนพระราชอิริยาบถ จึงถวายบังคมทูลลาออกจากวังศุโขทัย เพื่อมาสร้างวังบ้านสวนแก้ว ขึ้นในจังหวัดจันทบุรี ในวันที่ 20 มิถุนายน พุทธศักราช 2493

โปรดให้สร้างด้วยความประหยัด..

ในการก่อสร้างพระตำหนักและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในสวนบ้านแก้ว สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ โปรดให้เป็นไปด้วยความประหยัดมากที่สุด โปรดให้จ้างชาวจีนมาสอนข้าราชบริพาร สร้างโรงทำอิฐเผาอิฐ เผากระเบื้องมุงหลังคา เนื่องจากในการก่อสร้างพระตำหนักใหญ่ต้องใช้อิฐเป็นจำนวนมาก การขนส่งมาจากกรุงเทพฯ เป็นเรื่องยุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายสูง อิฐของสวนบ้านแก้วจึงเป็นอิฐคุณภาพดี ขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับอิฐบางบัวทองมีสัญลักษณ์เป็นตัวอักษรว่า ส.บ.ก. ใช้ก่อสร้างเฉพาะในสวนบ้านแก้วเท่านั้น

ต่อมาในปี พุทธศักราช ๒๕๑๕ พระองค์ทรงมีพระชมมายุสูงขึ้น และพระพลานามัยไม่สมบูรณ์นัก ดังนั้น เมื่อรัฐบาลได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอรับพระราชทานที่ดินสวนบ้านแก้ว เพื่อจัดตั้งวิทยาลัยครูจันทบุรี โดยทูลถวายเงินเพียง ๑๘ ล้านบาท ด้วยพระราชปณิธานและพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ในการพระราชทานโอกาสทางการศึกษาแก่ประชาชนในจังหวัดจันทบุรี จึงทรงเสียสละพระราชทานสวนบ้านแก้วแก่กระทรวงศึกษาธิการกระทรวงศึกษาธิการ และได้ย้ายไปประทับ ณ วังศุโขทัย จวบจนวาระสุดท้ายของพระองค์ : ข้อมูลเพิ่มเติม วังสวนบ้านแก้ว และ wangsuanbankaew.weebly.com ภาพจาก : www.bangkokpost.com

วังสวนกุหลาบ

ปัจจุบัน เป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังดุสิต

วังสวนกุหลาบ เป็นวังที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ตั้งอยู่ที่มุมถนนราชสีมา กับ ถนนศรีอยุธยา โดยทางด้านทิศเหนือติดกับถนนอู่ทองนอก และทิศตะวันออกติดกับสวนอัมพร ซึ่งอาณาเขตดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังดุสิต

ตามเดิมพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริที่จะสร้างวังสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา ที่วังริมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนใต้ปากคลอง(ตลาด) คูเมืองเดิม ครั้งเสด็จฯกลับมาจากทรงศึกษาในประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะให้ทรงศึกษาราชการอยู่ใกล้พระองค์ จึงได้โปรดเกล้าฯให้สร้างตำหนักชั่วคราวที่สวนดุสิต ตรงริมถนนใบพร พระราชทานนามว่า “สวนกุหลาบ” สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา จึงเสด็จประทับอยู่ตลอดรัชกาลที่ 5

ในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้ขยายเขตที่วังสวนกุหลาบออกไปให้กว้างขวางกว่าเก่า สร้างพระตำหนักและท้องพระโรงพระราชทานเป็นอาคารถาวร สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมหลวงนครราชสีมาได้ประทับอยู่จนเสด็จทิวงคตในปีพุทธศักราช 2467

วังสวนกุหลาบสร้างตามแบบสถาปัตยากรรมของยุโรป ตัวอาคารมี 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูน ทาสีเหลืองอ่อน หลังคามุงกระเบื้องสีแดง ภายในตกแต่งอย่างงดงาม

นอกจากนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ยังใช้เป็นที่ทรงงาน และโปรดให้คณะบุคคลมาเข้าเฝ้าที่วังสวนกุหลาบอยู่เสมอ / ข้อมูลเพิ่มเติม : วังสวนกุหลาบ ภาพจาก งานเพื่อนพึ่ง(ภา) Bloggang , เลาะรั้ววังเก่า

วังสรรพสาตรศุภกิจ

ปัจจุบัน เกิดเพลิงไหม้เสียหายจนหมดคงเหลือแต่ซุ้มประตูวัง ปัจจุบัน ชาวบ้านเรียกพื้นที่แถบนี้ว่า แพร่งสรรพศาสตร์

วังสรรพสาตรศุภกิจ เป็นวังที่ประทับของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ต้นราชสกุลทองแถม ซึ่งก่อสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2444 ทางทิศเหนือของวังวรวรรณ ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เนื่องจากกรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ทรงเป็นผู้บังคับบัญชากรมช่างในพระบรมมหาราชวัง จึงก่อสร้างวังสรรพสาตรศุภกิจอย่างวิจิตรบรรจง มีซุ้มประตูสวยงาม

ต่อมาใน พ.ศ. 2510 วังนี้เกิดเพลิงไหม้เสียหายจนหมด คงเหลือแต่ซุ้มประตูวัง และมีการสร้างตึกแถวสมัยใหม่ขึ้นมาแทน เรียกย่านนี้ว่า แพร่งสรรพสาตร ตามพระนามของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ต่อมาจึงเพี้ยนเป็น แพร่งสรรพศาสตร์ ข้อมูลเพิ่มเติม วังสรรพสาตรศุภกิจ ภาพจาก eatandtravelling.blogspot.com

วังศุโขทัย

วังศุโขทัย ตั้งอยู่มุมถนนขาวและถนนสามเสน เป็นวังที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ในครั้งนั้น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง ในรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังศุโขทัยพระราชทานเป็นของขวัญ ในการอภิเษกสมรสของกรมขุนสุโขทัยธรรมราชากับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ เมื่อปี พ.ศ. 2461 โดยได้รับพระราชทานนามวังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “วังศุโขไทย”

วังศุโขทัยได้รับการยกย่องว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์แบบที่สุด ในด้านการก่อสร้าง โดยประยุกต์ผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมตะวันตก ด้านรูปแบบตัวอาคารและตกแต่งด้วยศิลปะแบบไทย ประกอบด้วย ตำหนัก 3 หลัง คือ ตำหนักใหญ่ ตำหนักไม้ ตำหนักน้ำ ภายในพระตำหนักมีระเบียงทางเชื่อมระหว่างตำหนัก ซึ่งเป็นการออกแบบก่อสร้างตามอย่างตะวันตก หากแต่ใช้ไม้เป็นวัสดุแกะสลักลวดลายตามชายคาแบบไทยอย่างสวยงาม ในช่วงที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถประชวร มักจะเสด็จมาพักผ่อนพระอิริยาบถที่ตำหนักน้ำซึ่งตั้งอยู่ริมคลองสามเสนอยู่เป็นประจำ

ก่อนหน้าที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรจะรับการอัญเชิญขึ้นทรงราชย์ พระองค์ได้ประทับ ณ ที่นี่ แต่ต่อมาได้ย้ายที่ประทับไปที่พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต โดยปัจจุบันเป็นที่ประทับของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ / ข้อมูลเพิ่มเติม วังศุโขทัย ภาพจาก www.t-pageant.com

วังวินด์เซอร์

ปัจจุบัน เป็นที่ตั้งของกรีฑาสถานแห่งชาติ / วังวินด์เซอร์ ณ ทุ่งประทุมวัน – ซากสิ่งก่อสร้างภายหลังการรื้อถอนวัง

วังวินด์เซอร์ หรือที่รู้จักในชื่อ วังประทุมวัน, วังกลางทุ่ง หรือ วังใหม่ เป็นวังที่สร้างขึ้นโดยพระประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานเป็นสถานที่ประทับของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามบรมราชกุมารองค์แรกแห่งสยามประเทศ ตั้งอยู่บริเวณทุ่งประทุมวัน กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการขยายขอบเขตวังออกนอกเขตพระนคร จึงเป็นเหตุให้เรียกชื่อ วังกลางทุ่ง และสืบเนื่องจากตัววังที่เหมือนกับพระราชวังวินด์เซอร์ ที่ประเทศอังกฤษ จึงเป็นเหตุให้เรียกว่า วังวินด์เซอร์

วังถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2424 ได้การออกแบบโดยสถาปนิกชาวอังกฤษ โดยนำแบบของพระราชวังวินด์เซอร์แห่งสหราชอาณาจักรมาย่อส่วน หากทว่าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร หาได้เสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักแห่งนี้แต่อย่างใด ด้วยเสด็จทิวงคตในปี พ.ศ. 2437 เมื่อมีการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นในปี พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานพระราชวังนี้รวมทั้งพื้นที่โดยรอบเป็นสมบัติของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเคยใช้เป็นศูนย์กลางการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวิทยาเขตประทุมวันก่อนการก่อสร้างอาคารบัญชาการ

ในช่วงปี พ.ศ. 2478 นาวาโท หลวงศุภชลาศัย อธิบดีกรมพลศึกษาในขณะนั้นดำริที่จะจัดสร้างกรีฑาสถานแห่งชาติขึ้น จึงได้พิจารณาเช่าที่ดินบริเวณพระตำหนักหอวัง และได้ทำการรื้อถอนพระตำหนักหลังนี้ รวมถึงอาคารหอพักนิสิตโดยรอบ การก่อสร้างกรีฑาสถานแห่งชาติแล้วเสร็จในราวปี พ.ศ. 2481 ซึ่งได้ใช้เป็นที่ทำการสอนของโรงเรียนพลศึกษากลางและกรมพลศึกษา /ข้อมูลเพิ่มเติม : วังวินด์เซอร์

รายชื่อ วังอื่นๆ ในประเทศไทย

วังดินสอ • วังตรอกสาเก • วังตลาดน้อย • วังถนนพระอาทิตย์ • วังทวีวัฒนา • วังท่าพระ • วังท่าพายัพ • วังท้ายหับเผย • วังเทวะเวสม์ • วังเทเวศร์ • วังนฤมล • วังนางเลิ้ง • วังบางขุนพรหม • วังบางคอแหลม • วังบางพลู • วังบ้านดอกไม้ • วังบ้านปูน • วังบ้านหม้อ • วังบูรพาภิรมย์ • วังประมวญ • วังปากคลองตลาด • วังปารุสกวัน • พระกรุณานิเวศน์ • วังพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ • วังพระอาทิตย์ • วังเพชรบุรี • วังเพ็ชรบูรณ์ • วังโพธิยายรด • วังมหานาค • บ้านมะลิวัลย์ • วังมังคละ • วังไม้ • วังรพีพัฒน์ • วังรังสิต • วังรัตนาภา • วังราชทัต • วังริมคลองภาษีเจริญ • วังริมป้อมพระสุเมรุ • วังรื่นฤดี • วังลดาวัลย์ • วังละโว้ • วังลักษมีวิลาศ • วังวรจักร • วังวรดิศ • วังวรวรรณ • วังวัชรีวงศ์ • วังวาริชเวสม์ • วังวิทยุ • วังวินด์เซอร์ • วังศุโขทัย • วังสงัด • วังสรรพสาตรศุภกิจ  • วังสะพานช้างโรงสี • วังสะพานเสี้ยว • วังสามเสน • วังสามยอด • วังสวนบ้านแก้ว • วังสวนปาริจฉัตก์ • วังสวนผักกาด • วังสวนมังคุด • วังสวนสุนันทา

วังวิทยุ

ปัจจุบัน อยู่ในความดูแลของทายาทราชสกุลรังสิต

วังวิทยุ หรือ วังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร เป็นวังที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร กับหม่อมเอลิซาเบท รังสิต ณ อยุธยา ตั้งอยู่ริมถนนวิทยุ ตรงข้ามกับปากซอยร่วมฤดี 3

หลังจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2494 หม่อมเอลิซาเบทได้ย้ายไปอยู่ที่เจนีวา วังนี้จึงตกทอดสู่หม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต และหม่อมเจ้าหญิงวิภาวดี รังสิต ปัจจุบันวังนี้อยู่ในความดูแลของ หม่อมราชวงศ์ปรียนันทนา รังสิต

ข้อมูลเพิ่มเติม วังวิทยุ , เมื่อ “เจ้านาย” ถูกตัดสินประหารชีวิต ในสมัยประชาธิปไตย ภาพจาก รูปเก่าเล่าเรื่อง-เมืองบางกอก ดูภาพเพิ่มเติม วังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทร (วังวิทยุ)

เพิ่มเติม

เรือนพระกรรณสักขี

เรือนพระกรรณสักขี

โดยเรือนพระกรรณสักขี เดิมเป็นพระตำหนักที่พักของ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เป็นเรือนไม้สัก ซึ่งพระองค์ทรงเคยประทับตอนทรงพระเยาว์ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ทรงยกพระราชวังสนามจันทร์ให้มณฑลนครชัยศรี จึงใช้เรือนเป็นสถานที่ราชการ กระทรวงมหาดไทยได้เสนอที่จะใช้เรือนพระกรรมสักขีเป็นที่พักผู้พิพากษา ในรัชสมัยต่อมาไม่ปรากฏหลักฐานว่า ใช้เรือนพระกรรมสักขีเพื่อการใด / ที่มา News.MThai.com

ที่มา รายชื่อพระราชวังและวังในประเทศไทย , พระราชวังเดิม , หลงรักประเทศไทย , รัตนโกสินทร์ , รายชื่อพระราชวังและวังในประเทศไทย

เว็บไซต์แนะนำ รัตนโกสิเนหา Rattanakosineha , chanaview.wordpress.com

บทความแนะนำ