วันรักนกเงือก วันสำคัญ

13 ก.พ. วันรักนกเงือก สัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ

Home / สาระความรู้ / 13 ก.พ. วันรักนกเงือก สัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ

นกเงือก เป็นนกที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นสัตว์ที่มีความรักเดียวใจเดียว และซื่อสัตย์กับคู่ของมันไปจนวันตาย หลายๆ คนอาจจะนึกถึงแต่เรื่องนี้หากพูดถึงเจ้านกชนิดนี้ แต่รู้มั้ยว่า นกเงือก ยังบ่งบอกได้อีกว่าป่าที่มันอาศัยอยู่นั้นมีความสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เล็งเห็นถึงความสำคัญ จึงได้กำหนดให้วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น วันรักนกเงือก โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา แคมปัส-สตาร์ ขอนำเรื่องราวมาเผยแพร่ให้ทุกคนได้อ่านเพื่อเป็นเกร็ดความรู้กันค่ะ

วันรักนกเงือก 13 กุมภาพันธ์

นกเงือก  (Hornbills) เป็นนกที่เชื่อกันว่าถือกำเนิดมานานกว่า 45 ล้านปีมาแล้ว ตัวนกเงือกเป็นนกที่มีขนาดใหญ่ ส่วนมากมักจะมีขนสีดำสลับขาว หางยาว ปีกกว้างใหญ่ จะงอยปากหนาที่ใหญ่ และมีส่วนหัวที่ใหญ่เหมือนโหนก หรือหงอน ทำให้นกเงือกถูกใช้ในเชิงสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมมาแต่โบราณ โดยใช้ทำเป็นเครื่องประดับของชนเผ่าต่างๆ ส่วนใหญ่บินได้แข็งแรง เวลาบินจะโบกปีกช้าๆ กินผลไม้เป็นอาหารหลัก และสัตว์เลื้อยคลานเล็กๆ เป็นอาหารเสริม

นิสัยที่เป็นจุดเด่นของนกเงือกคือ เป็นนกผัวเดียวเมียเดียว ซื่อสัตย์กับคู่ของมันไปจนวันตาย นอกจากนี้มันยังมีลักษณะการทำรังที่แปลกจากนกอื่น คือ เมื่อถึงฤดูกาลทำรัง นกคู่ผัวเมียจะพากันหารัง ซึ่งได้แก่ โพรงไม้ตามต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นยาง ที่อยู่ในที่ลับตา เมื่อตัวเมียเข้าไปอยู่ในโพรง จะทำความสะอาดแล้วเริ่มปิดปากโพรง ด้วยวัสดุต่าง ๆ เช่น ดิน เปลือกไม้ ตัวเมียจะขังตัวอยู่ภายในเพื่อออกไข่เลี้ยงลูก เหลือเพียงช่องพอให้ตัวผู้อื่นส่งอาหารเข้าไปได้ เมื่อลูกนกโตพอแล้ว จึงเจาะโพรงออกมา

นอกจากนี้ นกเงือก ยังเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติได้ด้วย เพราะนกเงือกจะอาศัยอยู่ในป่าหรือพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เท่านั้น เนื่องจากนกเงือกเป็นนกขนาดใหญ่ถึงใหญ่มาก กินทั้งผลไม้และสัตว์เป็นอาหาร อีกทั้งธรรมชาติในการหากินต้องอาศัยพื้นที่ป่าที่กว้าง และยังเป็นตัวแพร่กระจายพันธุ์พืชชนิดต่างๆ ในป่าได้อย่างดี เนื่องจากเป็นนกที่กินผลไม้เยอะหลากหลายได้ถึง 300 ชนิด เวลามันกินมันก็จะถึงเมล็ดไว้ตามที่ต่างๆ นั่นเอง

ทั่วโลกตอนนี้มี นกเงือก ทั้งหมด 55 ชนิด อยู่ในแถบเขตร้อน ของทวีปอัฟริกา และเอเชีย

รายชื่อนกเงือกที่พบในประเทศไทย

นกกก หรือ นกกะวะ หรือ นกกาฮัง Great Hornbill, Buceros bicornis
นกเงือกหัวแรด Rhinoceros Hornbill, Buceros rhinoceros
นกเงือกหัวหงอก White-crowned Hornbill, Berenicornis comatus
นกชนหิน Helmeted Hornbill, Rhinoplax vigil
นกแก๊ก หรือ นกแกง Oriental Pied Hornbill, Anthracoceros albirostris
นกเงือกดำ Black Hornbill, Anthracoceros malayanus
นกเงือกคอแดง Rufous-necked Hornbill, Aceros nipalensis
นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว Austen’s Brown Hornbill, Anorrhinus austeni
นกเงือกสีน้ำตาล Tickell’s Brown Hornbill, Anorrhinus tickelli
นกเงือกปากดำ Bushy-crested Hornbill Anorrhinus galeritus
นกเงือกปากย่น Wrinkled Hornbill, Aceros corrugatus
นกเงือกกรามช้าง หรือนกกู่กี๋ Wreathed Hornbill, Rhyticeros undulatus
นกเงือกกรามช้างปากเรียบ Plain-pouched Hornbill, Rhyticeros subruficollis

นกเงือกทุกชนิดในประเทศไทย จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และมีการศึกษา วิจัย และอนุรักษ์นกเงือกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 มีการจัดตั้งเป็นมูลนิธิ โดยทางมหาวิทยาลัยมหิดล และนักวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับนกเงือกโดยเฉพาะ จนได้รับฉายาว่า “มารดาแห่งนกเงือก” คือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไล พูลสวัสดิ์

ที่มา: www.seub.or.th, th.wikipedia.org

ภาพ: www.stlzoo.orgwww.seub.or.thfineartamerica.com