dog หมา

ความรู้เกี่ยวกับ หมาขี้เรื้อน

Home / สาระความรู้ / ความรู้เกี่ยวกับ หมาขี้เรื้อน

มารู้เรื่องขี้เรื้อนในสุนัขกัน … ในทางสัตวแพทย์ คำว่า “ขี้เรื้อน” หมายถึงสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่เรียกว่าตัว “ไร” ที่อาศัยอยู่ที่ผิวหนังของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด โดยแบ่งตัวไรขี้เรื้อนออกเป็น 2 ชนิด คือ ไรขี้เรื้อนเปียก และไรขี้เรื้อนแห้ง ทั้งนี้ ไรขี้เรื้อนทั้งสองชนิดไม่สามารถแยกได้จากสภาพผิวหนังภายนอกที่เห็น แต่แยกได้จากการขูดตรวจผิวหนังบริเวณรอยโรคแล้วมองผ่านกล้องจุลทรรศน์เท่านั้น

ความรู้เกี่ยวกับ หมาขี้เรื้อน

1.ไรขี้เรื้อนเปียก

ไรขี้เรื้อนชนิดนี้รูปร่างเรียวยาว มี 8 ขา อาศัยอยู่ในรูขุมขนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด ทั้งสุนัข แมว กระต่าย หนูแฮมสเตอร์ รวมทั้งในคนเราด้วย แต่ไม่สามารถติดต่อ หรือถ่ายทอดจากสัตว์สู่สัตว์ หรือสัตว์สู่คนได้ แต่จะติดต่อจากแม่สู่ลูกในระยะแรกคลอดเท่านั้น มักทำให้รูขุมขนอักเสบ ขนร่วง มีสะเก็ดรังแค มีแบคทีเรีย หรือยีสต์แทรกซ้อน เป็นสิ่งมีชีวิตที่พบได้ตามปกติ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มีจำนวนที่มากขึ้นจนทำให้เกิดการอักเสบที่ผิวหนังก็จำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงการรักษา การรักษาอาจทำได้หลายวิธีโดยจะพิจารณาจากรอยโรคที่พบ และช่วงอายุที่เป็น

บางกรณีในลูกสุนัขอาจหายจากโรคได้เองโดยไม่จำเป็นต้องรักษา ส่วนในสุนัขโตเต็มวัยมักจะเกิดจากปัญหาอื่นร่วมด้วย เช่น ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ การได้รับเคมีบำบัด หรือยากดภูมิคุ้มกันเป็นเวลานาน ซึ่งจำเป็นต้องหาสาเหตุและแก้ไขร่วมด้วย นอกจากนี้ยังต้องรักษาการติดเชื้อแทรกซ้อนจากแบคทีเรียหรือยีสต์ไปด้วย การรักษาจึงจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยเฉลี่ยใช้เวลารักษานาน 1-3 เดือน แต่บางกรณีอาจนานถึง 6 เดือน และอาจกลับมาเป็นได้อีก ยาที่ใช้มีทั้งยาฉีด ยากินและยาใช้ภายนอก ซึ่งสัตว์แต่ละตัวจะตอบสนองกับการรักษาที่ต่างกัน ยาบางชนิดมีราคาแพง จึงควรปรึกษาสัตวแพทย์ถึงแนวทางการรักษา รวมถึงราคาและผลข้างเคียงของยาที่เลือกใช้ด้วย

2.ไรขี้เรื้อนแห้ง

เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก รูปร่างค่อนข้างกลม ขุดโพรงอยู่ในชั้นผิวหนังของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มักทำให้มีอาการคันมาก ขนร่วง มีสะเก็ดหนาโดยเฉพาะบริเวณใบหู หัวไหล่ และศอกทั้งสองข้าง ในสุนัขมักจะขูดตรวจแล้วพบได้ยาก ส่วนในแมวจะขูดตรวจแล้วพบได้ง่ายกว่า นอกจากนี้ยังพบได้ในกระต่าย เม่นแคระ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกหลายชนิด รวมทั้งคน ซึ่งจะก่อให้เกิดโรคหิดที่ติดต่อกันได้ด้วยการสัมผัสใกล้ชิด แต่สัตว์ไม่สามารถนำโรคหิดติดต่อสู่คนได้ หากอาจจะทำคนเกิดอาการคัน หรือผิวหนังอักเสบเป็นบริเวณเล็กๆ ที่หลังมือ แต่ไม่นานร่างกายเราก็จะกำจัดออกไปเอง ส่วนการรักษาจะทำให้หายขาดได้ง่ายกว่าไรขี้เรื้อนเปียก แต่ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของสัตวแพทย์อย่างเคร่งครัด

ในกรณีไม่ไปหาสัตวแพทย์

กรมปศุสัตว์ให้สูตรยารักษาโรคเรื้อนให้สุนัข ดังนี้ 1.น้ำมันเครื่องที่ใช้แล้ว 10 ส่วน 2.มาด หรือกำมะถัน(ก้อนเหลืองๆ) บดละเอียด 1 ส่วน 3.การบูร หรือลูกเหม็น บดละเอียด 1 ส่วน 4.เส้นยาสูบ ยาฉุน หรือขี้โย สับละเอียด 1 ส่วน จากนั้นนำ 1+2+3+4 ผสมให้เข้ากัน ทาในสัตว์ที่เป็น ขี้เรื้อน วันละ 2 ครั้ง เช้าเย็น ประมาณ 3-4 วัน หรือจนกว่าจะหาย หากเป็นมากควรให้ยาปฏิชีวนะแก้อักเสบเกี่ยวกับฝี หนอง ร่วมด้วย เช่น กาน่ามัยซีน เป็นต้น