เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2417 ประเทศไทยได้มีการตั้งมิวเซียมขึ้น ถือเป็นเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับประชนแห่งแรก วันนี้เนื่องในวันครบรอบ วันพิพิธภัณฑ์ไทย ลองย้อนไปอ่านประวัติความเป็นมา ความสำคัญกันค่ะ ว่า เพราะเหตุใดเขาจึงมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้น
ประวัติวันพิพิธภัณฑ์ไทย – 19 กันยายน วันพิพิธภัณฑ์ไทย
ภาพจาก:: National Museum Bangkok : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ในราวคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๗ ทางด้านซีกโลกตะวันตก ได้มีการตื่นตัวในด้านการเก็บรวบรวม และสะสมทรัพย์สมบัติ และมรดกต่างๆ ทั้งที่เป็นวัตถุ สิ่งของมีค่า สิ่งเก่าแก่ ที่หายากและแปลกๆ เพื่อเป็นหลักฐานทางมรดกวัฒนธรรมของชาติอันเป็นการแสดงถึงความเป็นใหญ่และความมั่งคง ของเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่เด่นชัด ซึ่งเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมนั้น จะปรากฏขึ้นได้ก็ต่อเมื่อชาตินั้นๆ ได้มีการรวบรวมหลักฐานที่เป็นศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ สิ่งประดิษฐ์จากการคิดค้นหรือสิ่งแวดล้อมที่เป็นสมบัติของชาติ มาประมวลเป็นหลักฐาน ให้ชีวิตของชนในชาตินั้นได้
สำหรับในประเทศไทยนั้น ผู้ริเริ่มดำเนินการรวบรวมวัตถุสิ่งต่างๆ เป็นคนแรกได้แก่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดพิพิธภัณฑสถานส่วนพระองค์ ที่พระที่นั่งราชฤดีเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นที่จัดตั้งแสดงสิ่งสะสมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงรวบรวมไว้ตั้งแต่ครั้งก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ ซึ่งต่อมาได้ย้ายมาจัดแสดงที่พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ อันเป็นที่มาของคำว่า “พิพิธภัณฑ์ “ในเวลาต่อมา เมื่อมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพราะจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการจัดตั้ง”มิวเซียม” ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับประชนแห่งแรกขึ้น ณ วันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๔๑๗
ราชพิพิธภัณฑ์ ที่ศาลาสหทัยสมาคม ภาพจาก:: National Museum Bangkok : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ต่อมาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานหมู่พระที่นั่งทั้งหมด ในพระราชวังบวรสถานมงคล จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์สถานสำหรับพระนครดูแลด้านโบราณคดี วรรณคดี เป็นที่รวบรวมสงวนรักษาโบราณวัตถุ ศิลปะวัตถุ ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติพิพิธภัณฑสถานพระนคร ได้มีการเปลี่ยนชื่อและหน่วยงานที่สังกัด อีกหลายครั้ง จนกระทั่ง ได้มีพระรบกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาที่การพุทธศักราช ๒๕๑๘ จัดตั้งกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
ภาพจาก:: National Museum Bangkok : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
เส้นทางพิพิธภัณฑสถานไทย ที่เริ่มต้นจากพิพิธภัณฑสถานส่วนพระองค์
ได้เปลี่ยนแปลงมาสู่พิพิธภัณฑสถานประชาชน และพัฒนาต่อไปจากพิพิธภัณฑสถานที่เก็บรักษาสรรพสิ่งทั่วไป ไม่กำหนดประเภทแน่นอน มาเป็นพิพิธภัณฑสถานมากมายหลายประเภท ตามลักษณะของศิลปวิทยาการที่เกอิดขึ้นในโลก ทั้งทางศิลปะวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ชาติพันธุ์วิทยา สังคมวิทยา และสาขาวิชาอื่นๆ เป็นจำนวนหลายร้อยแห่งทั่วประเทศ
และยังได้ยกระดับกิจการพิพิธภัณฑ์ไทยให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล โดยเข้าเป็นสมาชิกสภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างชาติ หรือ ICOM ซึ่งให้คำจำกัดความว่า “พิพิธภัณฑ์” ว่ามิใช่เป็นแหล่งเก็บรวบรวม สงวนรักษาศึกษาวิจัย และจัดแสดงเฉพาะวัตถุเท่านั้นแต่พิพิธภัณฑ์ไดัรวบรวมทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นหลักฐานสำคัญต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตทั้งที่เกี่ยวเนื่องกับสังคมวัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์ จากหลักฐานในอดีต สิ่งที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน และแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตโดยนัยนี้พิพิธภัณฑสถานในประเทศไทยได้จัดตั้งขึ้นแล้วกว่า ๒๐๐ แห่ง และได้มีการพัฒนารูปแบบกิจการให้มีความเป็นสถาบันการศึกษานอกรูปแบบที่สำคัญอีกด้วยด้วย
เหตุนี้รัฐบาลจึงประกาศให้วันที่ ๑๙ กันยายนของทุกปีเป็นวันพิพิธภัณฑ์ไทย นับตั้งแต่ พ.ศ ๒๕๓๘ เป็นต้นไป เนื่องจากเป็นวันที่คนไทยทั้งชาติ ได้รับพระราชทานพิพิธภัณฑสถานสำหรับประชาชนเป็นครั้งแรก จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ ๒๔๑๗ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระคุณของพระองค์ท่าน และเพื่อปลูกฝังให้คนไทยรัก และหวงแหนในศิลปวัฒนธรรมอันเป็นสิ่งที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยในวันพิพิธภัณฑ์ไทย พิพิธภัณฑสถานต่างๆ ทั่วประเทศได้ร่วมกันเปิด พิพิธภัณฑสถานให้ประชาชนทั่วไป ได้มีโอกาสเข้าไปชมศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติเพื่อสร้างความรักความเข้าใจ ตลอดจนภูมิใจในความเป็นไทยโดยทั่วกัน
ข้อมูลจาก :: www.lib.ru.ac.th