วันสำคัญ วันอนุรักษ์มรดกไทย เดือนเมษายน

2 เมษายน วันอนุรักษ์มรดกไทย ประวัติความเป็นมา ความสำคัญ

Home / สาระความรู้ / 2 เมษายน วันอนุรักษ์มรดกไทย ประวัติความเป็นมา ความสำคัญ

วันอนุรักษ์มรดกไทย ตรงกับวันที่ 2 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวง ในงานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ รัฐบาลจึงกำหนดให้เป็น “วันอนุรักษ์มรดกไทย” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 เป็นต้นมา….

เรื่องน่ารู้ของ วันอนุรักษ์มรดกไทย

คำจำกัดความ ของคำว่า “มรดกไทย”

คณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทย ได้มีมติเห็นชอบคำจำกัดความคำว่ามรดกไทย คือ “มรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงสัญลักษณ์ของความเป็นชาติ ซึ่งได้แก่ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ โบราณสถาน วรรณกรรม ศิลปหัตถกรรม นาฏศิลป์และดนตรี ตลอดจนถึงการดำเนินชีวิตและคุณค่าประเพณีต่างๆ อันเป็นผลผลิตร่วมกันของผู้คนในผืนแผ่นดินในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา”

ประวัติความเป็นมา

เมืองไทยของเรานับว่าเป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นทางด้าน ศิลปวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์เอาไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ โบราณสถาน วรรณกรรม ศิลปหัตถกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ตลอดจนการดำเนินชีวิต และประเพณีต่างๆ ที่สืบทอดต่อๆ กันมายาวนาน จนกลายเป็นมรดกไทยอันทรงคุณค่าและเป็นจุดเด่นของประเทศไทยเรา

แต่เมื่อเทคโนโลยี และมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทำให้มรดกไทย วัฒนธรรมไทยบางอย่างได้เปลี่ยนไป และลูกหลานไทยก็ไม่มีการรักษาไว้ซึ่งมรดกไทยอันล้ำค่าเหล่านี้ไว้ และถึงแม้จะมีหน่วยงานภาครัฐรับผิดชอบในการดูแล แต่เนื่องจากมรดกไทยมีมากมาย และอาจไม่ทันการณ์กับการเปลี่ยนไปของโลก จึงทำให้มรดกอันทรงคุณค่าของไทยบางส่วนได้ถูกทำลายไป

ด้วยเหตุนี้ กรมศิลปากรจึงได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีกำหนดให้มีวันอนุรักษ์มรดกไทย เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้รำลึกถึงความสำคัญ และความจำเป็นของการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของชาติขึ้น ซึ่งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 รัฐบาลซึ่งมี ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้ประกาศให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็น “วันอนุรักษ์มรดกไทย” ด้วยตระหนักในพระปรีชาสามารถทางด้านศิลปวัฒนธรรมของพระองค์ และในฐานะทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวง ในงานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติตลอดมา

และเมื่อวันที่ 23 กรกฏาคม พ.ศ.2532 รัฐบาลยังได้มีการจัดตั้งกองทุนอนุรักษ์มรดกไทยขึ้นทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั้งหลายได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมไทยอีกด้วย

วัตถุประสงค์ ของการจัดงานวันอนุรักษ์มรดกไทย

1. เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญและเห็นคุณค่ามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ
2. เพื่อรณรงค์ให้มีการสงวนรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติอย่างถูกวิธี
3. เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนและภาคเอกชนได้มีความรู้สึกร่วมในความเป็นเจ้าของโบราณสถาน โบราณวัตถุและร่วมรับผิดชอบดูแลทะนุบำรุงรักษาได้เป็นมรดกไทยประจำถิ่น
4. เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในท้องถิ่น
5. เพื่อลดอัตราการสูญเสีย และการถูกทำลายของโบราณสถานโบราณวัตถุให้น้อยลง
6. เพื่อสกัดกั้นอิทธิพลของวัฒนธรรมต่างชาติ ซึ่งมีผลให้วัฒนธรรมไทยเบี่ยงเบนเปลี่ยนทิศทางไป

กิจกรรมวันอนุรักษ์มรดกไทย

กระทรวงวัฒนธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันจัดงานสัปดาห์วันอนุรักษ์มรดกไทยขึ้น ซึ่งแต่ละปีจะมีหัวข้อการจัดงานที่แตกต่างกันไป ดังนี้

1. จัดการแสดงและนิทรรศการ

แต่ละปีวันอนุรักษ์มรดกไทย จะจัดงานขึ้น ซึ่งการจัดนิทรรศการ หรือการแสดงส่วนใหญ่จะเน้น เกี่ยวกับ งานพื้นบ้านกับการสืบสานมรดกศิลปวัฒนธรรมไทย ภายในมีการสาธิตงานช่างพื้นบ้าน การแสดงพื้นบ้าน การเสวนาการตอบปัญหา-รับรางวัล ฯลฯ

2. เปิดพิพิธภัณฑ์โบราณสถาน

ซึ่งในวันอนุรักษ์มรดกไทย ยังมีการเปิดพิพิธภัณฑ์โบราณสถาน-อุทยานประวัติศาสตร์ให้เข้าชมฟรี ในส่วนภูมิภาค อาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลรักษาศิลปวัฒนธรรม (อส.มศ)

3. ให้ความรู้แก่ประชาชน

การจัดกิจกรรมอื่นๆ จากหน่วยงานราชการ ที่ร่วมกันจัดกิจกรรมที่เสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม เช่น การจัดนิทรรศการการจัดการแสดง การฉายภาพยนตร์ และทัศนะศึกษาโบราณสถาน รวมถึงรณรงค์ให้มีการพัฒนา บูรณะและทำความสะอาดโบราณสถาน และศาสนสถาน และกิจกรรมส่งเสริมอื่นๆ ที่มีการส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกไทย

ด้วยเหตุนี้จึงได้จัดให้มีวันอนุรักษ์มรดกไทย เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้รำลึกถึงความสำคัญ และความจำเป็นของการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของชาติยิ่งขึ้น

สิ่งที่ควรทำ เพื่อเป็นการอนุรักษ์วันอนุรักษ์มรดกไทย

เพราะมรดกเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงสัญลักษณ์ของความเป็นชาติ และความเป็นไทยไม่ว่าจะเป็น โบราณวัตถุ โบราณสถาน วรรณกรรม ศิลปหัตถกรรม ฯลฯ รวมถึงการดำเนินชีวิตและคุณค่าประเพณีต่างๆ อันเป็นผลผลิตร่วมกันของผู้คนในผืนแผ่นดิน เพื่อเป็นการอนุรักษ์มรดกของไทยอีกด้วย

1. ศึกษาวัฒนธรรมไทยอย่างถ่องแท้

หากทำการศึกษา ค้นคว้า และวิจัย วัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ได้มีการรวบรวมไว้แล้วและที่ยังไม่ได้ศึกษา แต่มีกระจัดกระจายอยู่ทั่วทุกแห่ง จะทำให้ผู้ศึกษาค้นคว้าจะได้ทราบความหมายและความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมอย่างถ่องแท้ ความรู้ดังกล่าวจะเป็นรากฐานของการดำเนินชีวิตเมื่อได้เห็นคุณค่าจะยอมรับและนำไปใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมและแพร่หลาย

2. ส่งเสริมให้ชนทุกหมู่เหล่าเห็นคุณค่า

เพื่อสร้างความเข้าใจและมั่นใจแก่ประชาชนในการปรับเปลี่ยน และตอบสนองกระแสวัฒนธรรมอื่นๆ และวัฒนธรรมภายนอกอย่างเหมาะสม ควรทำการส่งเสริมให้ชนทุกหมู่เหล่าเห็นคุณค่า และร่วมกันรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติและท้องถิ่น

3. ให้ประชาชนมีส่วนร่วม

เป็นเรื่องของทุกคนที่จะต้องรับผิดชอบร่วมมือกันส่งเสริม สนับสนุน ประสานงาน การบริการด้านความรู้ วิชาการ และทุนทรัพย์จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมซึ่งการขยายขอบเขตการมีส่วนร่วมในวัฒนธรรม รณรงค์ให้ประชาชนและเอกชนตลอดจนหน่วยงานของรัฐเห็นความสำคัญและตระหนักว่าวัฒนธรรม

4. สร้างทัศนคติที่ดี

สร้างทัศนคติ ความรู้ และความเข้าใจ ว่าสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรมเป็นสมบัติของทุกคน ดังนั้น ทุกคนจึงมีหน้าที่ในการเสริมสร้าง ฟื้นฟู และดูแลรักษา ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรม ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศโดยใช้ศิลปวัฒนธรรมเป็นสื่อกลางสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันและกัน

การได้ส่งเสริมให้ประชาชนคนไทยรู้จักอนุรักษ์และฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และของชาติ ถือเป็นการอนุรักษ์มรดกไทยให้สืบนานไปชั่วลูกหลานนั่นเอง

ข้อมูลจาก  วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , www.myhora.com , www.tlcthai.com

บทความแนะนำ