น้องๆ ชาว Campus-star หลายๆ คนอาจจะยังมีการใช้ภาษาไทย ที่เป็นแบบทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ที่ไม่ถูกต้องตามหลักที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้กำหนดไว้ ลองอ่านเกร็ดความรู้ หลักเกณฑ์ การทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ต่อไปนี้ได้ค่ะ จะได้นำไปใช้ได้ถูกต้อง
หลักเกณฑ์ การทับศัพท์ภาษาอังกฤษ โดยสำนักงานราชบัณฑิตยสภา
การทับศัพท์ หรือ การปริวรรต คือ การถอดอักษร หรือแปลงข้อความจากระบบการเขียนหรือภาษาหนึ่งไปสู่อีกระบบหนึ่งอย่างมีหลักการ เพื่อให้สามารถเขียนคำในภาษาต่างประเทศด้วยภาษาและอักษรในภาษานั้น ๆ ได้สะดวก โดยสำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ดังนี้
1. สระ ให้ถอดตามการออกเสียงในพจนานุกรมภาษาอังกฤษ
โดยเทียบเสียงสระภาษาไทยตามตารางเทียบเสียงสระภาษาอังกฤษ อ่านเพิ่มเติมคลิก
2. พยัญชนะ ให้ถอดเป็นพยัญชนะภาษาไทยตามหลักเกณฑ์
ในตารางเทียบพยัญชนะ ภาษาอังกฤษ อ่านเพิ่มเติมคลิก
3. การใช้เครื่องหมายทัณฑฆาต
- พยัญชนะตัวที่ไม่ออกเสียงในภาษาไทย ให้ใส่เครื่องหมายทัณฑฆาตกำกับไว้ เช่น horn = ฮอร์น
- คำหรือพยางค์ที่ตัวสะกดมีพยัญชนะตามมาหลายตัว ให้ใส่เครื่องหมายทัณฑฆาต ไว้บนพยัญชนะที่ไม่ออกเสียงตัวสุดท้าย แต่เพียงแห่งเดียว เช่น Barents = แบเร็นตส์
- คำหรือพยางค์ที่มีพยัญชนะไม่ออกเสียงอยู่หน้าตัวสะกด ที่ยังมีพยัญชนะตามหลังมาอีก ให้ตัดพยัญชนะที่อยู่หน้าตัวสะกดออก และใส่เครื่องหมายทัณฑฆาตไว้บนพยัญชนะตัวสุดท้าย เช่น world = เวิลด์ (ไม่ใช่ เวิร์ล)
4. การใช้ไม้ไต่คู้ ควรใช้ในกรณีต่อไปนี้
- เพื่อให้เห็นแตกต่างจากคำไทย เช่น log = ล็อก (ให้ต่างจากคำว่า ลอก ในภาษาไทย)
- เพื่อช่วยให้ผู้อ่านแยกพยางค์ได้ถูกต้อง เช่น Okhotsk = โอค็อตสก์
5. การใช้เครื่องหมายวรรณยุกต์
การเขียนคำทับศัพท์ ไม่ต้องใส่เครื่องหมายวรรณยุกต์ ยกเว้นในกรณีที่คำนั้นมีเสียงซ้ำกับคำไทย จนทำให้เกิดความสับสน อาจใส่เครื่องหมายวรรณยุกต์ได้ เช่น coma = โคม่า (ไม่ใช่ โคมา ที่ออกเสียงว่า (วัวมา))
6. พยัญชนะซ้อน (double letter)
คำที่มีพยัญชนะซ้อนเป็นตัวสะกด ถ้าเป็นศัพท์ทั่วไป ให้ตัดออกตัวหนึ่ง เช่น football = ฟุตบอล แต่ถ้าเป็นศัพท์ทางวิชาการหรือวิสามานยนามให้เก็บไว้ทั้ง 2 ตัว โดยใส่เครื่องหมายทัณฑฆาตไว้ที่ตัวท้าย เช่น cell = เซลล์ (ไม่ใช่ เซล) ถ้าพยัญชนะซ้อนอยู่กลางศัพท์ให้ถือว่า พยัญชนะซ้อนตัวแรกเป็นตัวสะกดของพยางค์หน้า และพยัญชนะซ้อนตัวหลัง เป็นพยัญชนะต้นของพยางค์ต่อไป เช่น broccoli = บรอกโคลี
7 .คำที่ตัวสะกดของพยางค์หน้าออกเสียงเป็นพยัญชนะต้นของพยางค์ตัวต่อไป
- ถ้าสระของพยางค์หน้าเป็นเสียงสระอะ ซึ่งเมื่อทับศัพท์ต้องใช้รูปไม้หันอากาศ ให้ซ้อนพยัญชนะตัวสะกดของพยางค์หน้า เข้าอีกตัวหนึ่งเพื่อเป็นพยัญชนะต้นของพยางค์ต่อไป เช่น double = ดับเบิล
- ถ้าสระของพยางค์หน้าเป็นสระอื่นที่ไม่ใช่สระอะ ให้ทับศัพท์ตามรูปพยัญชนะภาษาอังกฤษโดยไม่ต้องซ้อนพยัญชนะ เช่น California = แคลิฟอร์เนีย
- ถ้าเป็นคำที่เกิดจากการเติมปัจจัย เช่น -er, -ing, -ic, -y และการทับศัพท์ตามรูปพยัญชนะภาษาอังกฤษดังข้อ 7.2 อาจทำให้ออกเสียงผิดไปจากภาษาเดิมมาก ให้ซ้อนพยัญชนะตัวสะกดของพยางค์ต้นอีกหนึ่งเพื่อให้เห็นเค้าคำเดิม เช่น booking = บุกกิง
8. คำประสมที่มีเครื่องหมายยัติภังค์ (hyphen)
ให้ทับศัพท์โดยเขียนติดต่อกันไป เช่น Cross-stitch = ครอสสติตช์ (ไม่ใช่ ครอส-สติตช์) ยกเว้นในกรณีที่เป็นศัพท์ทางวิชาการหรือวิสามานยนามให้คงไว้ เช่น Cobalt-60 = โคบอลต์-60
9. คำประสมซึ่งในภาษาอังกฤษเขียนแยกกัน
เมื่อทับศัพท์ให้เขียนติดกันไป ไม่ต้องแยกคำตามภาษาเดิม เช่น night club = ไนต์คลับ
10. คำคุณศัพท์ที่มาจากคำนาม
ซึ่งมีปัญหาว่าจะทับศัพท์ในรูปคำนามหรือคำคุณศัพท์นั้น ให้ถือหลักเกณฑ์ดังนี้
- ถ้าคำคุณศัพท์นั้นมีความหมายเหมือนคำนาม หรือหมายความว่า “เป็นของ” หรือ “เป็นเรื่องของ” คำนามนั้น ให้ทับศัพท์ในรูปคำนาม เช่น hyperbolic curve = ส่วนโค้งไฮเพอร์โบลา (ไม่ใช่ ส่วนโค้งไฮเพอร์โบลิก)
- ถ้าคำคุณศัพท์นั้นมีความหมายว่า “เกี่ยวข้องกับ” หรือ “เกี่ยวเนื่องจาก” คำนามนั้น ให้ทับศัพท์ในรูปคำนามโดยใช้ คำประกอบ เชิง แบบ อย่าง ทาง ชนิด ระบบ ฯลฯ แล้วแต่ความหมาย เช่น electronic power conversion = การแปลงผันกำลังเชิงอิเล็กทรอนิกส์
- ในกรณีที่การทับศัพท์ในรูปคำนามตาม 2 ข้อด้านบน ทำให้เกิดความหมายกำกวมหรือคลาดเคลื่อน ให้ทับศัพท์ในรูปคำคุณศัพท์ เช่น metric system = ระบบเมตริก (ไม่ใช่ ระบบเมตร)
11. คำคุณศัพท์ที่มาจากชื่อบุคคล
ให้ทับศัพท์ตามชื่อของบุคคลนั้น ๆ โดยใช้คำประกอบ ของ แบบ ระบบ ฯลฯ แล้วแต่ความหมาย เช่น Euclidean geometry = เรขาคณิตระบบยุคลิด ยกเว้นในกรณีที่คำคุณศัพท์ที่มาจากชื่อบุคคล เป็นชื่อเฉพาะที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในแต่ละวงการ ซึ่งอาจสังเกตได้จากการที่ในภาษาอังกฤษไม่ได้ใช้อักษรตัวใหญ่ขึ้นต้น ให้ทับศัพท์ในรูปคำคุณศัพท์
12. คำคุณศัพท์เกี่ยวกับชนชาติต่าง ๆ
ให้ทับศัพท์ในรูปคำนามที่เป็นชื่อประเทศ เช่น Swedish people = คนสวีเดน (ไม่ใช่ คนสวีดิช), Hungarian dance = ระบำฮังการี (ไม่ใช่ ระบำฮังกาเรียน) ยกเว้นชื่อที่เคยใช้มานานแล้ว ได้แก่ …เยอรมัน …กรีก …ไอริช …ดัตช์ …สวิส …อังกฤษ และ …อเมริกัน เช่น เรือกรีก (ไม่ใช่ เรือกรีซ) รถอเมริกัน (ไม่ใช่ รถอเมริกา)
13. การวางตำแหน่งคำคุณศัพท์ในคำทับศัพท์
- คำคุณศัพท์ที่ประกอบคำนามที่เป็นภาษาไทย หรือเป็นคำทับศัพท์ แต่ได้ใช้ในภาษาไทยมาจนถือเป็นคำไทยแล้ว ให้วางคำคุณศัพท์ไว้หลังคำนาม เช่น cosmic ray = รังสีคอสมิก
- ถ้าทั้งคำคุณศัพท์และคำนามเป็นคำทับศัพท์ที่ยังไม่ถือเป็นคำไทย ให้ทับศัพท์ตรงตามศัพท์เดิม เช่น Arctic Circle = อาร์กติกเซอร์เคิล (ไม่ใช่ วงกลมอาร์กติก)
- ถ้าต้องการเน้นว่าคำนามนั้นเป็นสิ่งที่มีหลายชนิดและคำคุณศัพท์ที่ประกอบเป็นชนิดหนึ่งของคำนามนั้น อาจทับศัพท์โดยใช้คำประกอบ แบบ ชนิด ระบบ ฯลฯ มาแทรกไว้ระหว่างคำนามกับคำคุณศัพท์ เช่น normal matrix = เมทริกซ์แบบนอร์แมล
14. คำย่อ
ให้เขียนชื่อตัวอักษรนั้น ๆ ลงเป็นภาษาไทย คำย่อให้เขียนติดกัน โดยไม่ใส่จุดและไม่เว้นวรรค เช่น DDT = ดีดีที, F.B.I. = เอฟบีไอ
15. คำทับศัพท์ที่ผูกขึ้นจากตัวย่อ
ซึ่งอ่านออกเสียงได้เสมือนคำคำหนึ่ง มิได้ออกเสียงเรียงตัวอักษร ให้เขียนตามเสียงที่ออกและไม่ต้องใส่จุด เช่น UNESCO = ยูเนสโก
16. ตัวย่อชื่อบุคคล
ให้เขียนโดยใส่จุด และเว้นช่องไฟระหว่างชื่อกับนามสกุล เช่น D.N. Smith = ดี.เอ็น. สมิท
อ้างอิงจาก royin
บทความที่เกี่ยวข้อง