คนสมัยก่อนจะมีความพิถีพิถันในการวางตัว มีมารยาทที่ดี บุคลิกที่สง่า ไม่มีใครมาตำหนิ ติติงลูกหลานได้ เพราะถ้าลูกหลานใครมีความประพฤติไม่ดี เขามักจะถามถึงพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ทำให้บรรพบุรุษต้องมาหนาว ๆ ร้อน ๆ ไปกับพฤติกรรมของลูกหลานถ้าอบรมได้ดี เขาก็ถามหา เหมือนกันจะชมเชยไปถึง และก็จะกลายเป็นการการันตีได้เลยว่า ตระกูลนี้เป็นแบบนี้ ตระกูลนั้น เป็นแบบไหน ฉะนั้นการอบรมลูกหลาน เขาก็จะมีข้อห้าม และข้อควรปฏิบัติมากมาย วันนี้จะมากล่าวถึงเรื่องการนอนกันค่ะ ตามความเชื่อโบราณ มีการกล่าวไว้ว่า ท่านอนแบบไหนที่ไม่ควรนอน เพราะจะทำให้เกิดเรื่องร้ายๆ ได้
ท่านอนต่างๆ ตามความเชื่อโบราณ
- 1. ห้ามนอนหงายฟ้าจะผ่า
- 2. ห้ามนอนคว่ำ – ใจดำ
- 3. ห้ามนอนไขว่ห้างกระดิกขาวาสนาไม่ดี
- 4.ห้ามนอนเสมอหรือสูงกว่าผู้ใหญ่จะเป็นบาป
- 5.ห้ามนอนเอาขาพาดหน้าต่าง ผีเหย้าผีเรือนจะชัง
- 6.ห้ามนอนเอามือประสานกันรองหัวจะตายโหง
- 7.ห้ามนอนขวางกระดานจะเป็นคนขวางโลก
- 8.ห้ามนอนกอดอกเป็นลางร้าย
1. ห้ามนอนหงายฟ้าจะผ่า
ที่ห้ามนอนหงายเพราะเกรงว่าคนนอนไม่ระมัดระวัง เพราะคนนอนหลับจะไม่รู้สึกตัว ไม่รู้ถึงความงาม หรือไม่งามของตนเองขณะหลับสนิท คนนอนหลับสนิท จึงไม่ต่างไปจาก คนนอนตายเลย บางคนนอนอ้าปาก น้ำลายไหล หลับตาไม่สนิท นอนผ้าเปิด คิดดูนะ ถ้าเป็นผู้หญิงสมัยก่อน ใส่ผ้าถุงนอนหงาย แล้วเปิดพัดลม อะไรมันจะเกิดขึ้น คนนอนข้าง ๆ คงไม่เป็นอันหลับอันนอนกันละนะ เพราะการนอนแบบนี้มีลุ้นนะ ถ้าเคยอ่านพุทธประวัติ จะเห็นว่า จากท่านอนนี้ มีผลทำให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ต้องปลง จนถึงออกบวชมาแล้ว และการที่บอกว่า นอนหงายแล้วฟ้าผ่า ก็เพื่อให้เด็ก ๆ กลัว ไม่กล้านอนหงาย เปลี่ยนเป็นนอนตะแคง ซึ่งผิดจากหลักการแพทย์ปัจจุบัน ที่แนะนำให้ นอนหงาย เพราะเป็นท่านอนอิสระ ไม่ทับเส้นสาย ทำให้นอนหลับสบาย และต้องไม่หนุน หมอนสูง ยิ่งถ้าใครนอนราบกับพื้น โดยไม่ต้องใช้หมอน จะทำให้ไม่แก่เร็ว เพระผิวหน้า และลำคอ จะไม่ย่นเหมือนนอนตะแคงข้างใดข้างหนึ่ง แต่ถ้าตามหลักความจริง ท่าจะนอนให้สบายคือนอนตะแคงขวา และกอดหมอนข้าง ท่านี้จะเป็นท่าที่นอนสบาย และหลับสนิท และไม่ดูน่าเกลียดเหมือนนอนหงายเพราะดูแล้วไม่งามตา
2. ห้ามนอนคว่ำ – ใจดำ
การนอนคว่ำจะทำให้เราไม่เห็นหน้าใคร และใครก็ไม่เห็นหน้าเรา ถึงเห็นก็เห็นไม่ถนัด ทำให้ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เหมือนกับไม่สนใจใคร เป็นการตัดขาดจากโลกภายนอก แต่ จริง ๆ แล้ว การนอนคว่ำไม่ดีตรงที่ว่า ผู้ใหญ่มีน้ำหนักตัวมาก อายุมาก เส้นเอ็นก็ยืด ถ้าไปนอนคว่ำ จะทำให้นอนไม่สบาย หลับไม่สนิท จะตื่นมาด้วยความไม่สดชื่น ปวดเมื่อยตามเนื้ตามตัว คอเคล็ด ปวดแขนเพราะนอนทับ หรือนอนหันหน้าไปทางใดทางหนึ่งโดยตลอด ไม่มีการพลิกตัว แต่ท่านอนคว่ำนี้ จะใช้ได้ดีกับเด็กทารก เพราะเขาจะนอนหลับสนิท หัวก็จะทุยสวยไม่บี้แบนเหมือนเด็กที่นอนหงาย เด็กนอนคว่ำจะไม่ผวา และนอนนาน คนไทยได้ชื่อว่า เป็นคนใจดีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่พอบอกว่าคนนี้ใจดำ จะแทงใจคนที่ถูกว่า รู้สึกว่าเป็นคนไม่น่าคบ พอมาห้ามนอนคว่ำ เลยบอกว่าถ้านอนคว่ำเป็นคนใจดำ ทำให้ไม่กล้านอน
3. ห้ามนอนไขว่ห้างกระดิกขาวาสนาไม่ดี
คนบางคนเวลานอนหรือเอนหลังเวลาบ่าย ๆ หรือเวลาว่างชอบนอนเอกเขนก คือนอนไขว่ห้างแล้วตาก็มองเพดานเท้าก็กระดิกเป็นอาการที่สบายกายสบายใจ ผู้นอนจะปลดปล่อยอารมณ์เต็มที่อาจจะฮัมเพลงแล้วกระดิกเท้าให้เข้าจังหวะ ถ้าเผลอหลับไปก็เป็นท่านอนที่ไม่ค่อยสุภาพ หรือถ้าไม่หลับมีใครมาพบเห็นว่ากระดิกเท้าอยู่ก็ทำให้ดูไม่งามตา ทุกคนเมื่อเกิดมาแล้วก็อยากมีชีวิตที่สุขสบายสมบูรณ์ในชีวิต แต่ถ้ามีคนมาทักว่าเออนอนแล้วกระดิกขาเนี่ยนะเธอจะมีวาสนาไม่ดีไม่รุ่งเรือง ในชีวิตจะต้องลำบากนะ ก็ทำให้กลัวไม่กล้าทำกิริยาแบบนี้ เพราะไม่ว่าใคร ก็คงไม่อยากลำบากและชีวิตไม่รุ่งโรจน์
4. ห้ามนอนเสมอหรือสูงกว่าผู้ใหญ่จะเป็นบาป
การดำเนินชีวิตสมัยก่อนเด็กจะต้องเคารพนบนอบผู้ใหญ่ จะมาทำตีตัวเสมอ ปากกล้าเถียงด่าผู้ใหญ่ไม่ได้เด็ดขาด เขาจะปลูกฝังแม้กระทั่งท่านอนให้เด็กนอน ต่ำกว่าผู้ใหญ่ซึ่งก็เป็นการดีเพราะถ้านอนไปดึก ๆ แล้วดิ้นก็คงไม่เตลิดออกไปนอกมุ้ง เพราะเมื่อก่อนเขายังไม่มีมุ้งลวดเหมือนปัจจุบัน และถ้าเด็กนอนสูงกว่าผู้ใหญ่ก็จะไม่ดี ตรงที่ว่าถ้าเขาดิ้นเอามือเอาเท้าไปฟาดหน้าฟาดหัวผู้ใหญ่ ถ้าฟาดแรงจนเจ็บ ก็จะทำให้เกิดอาการโมโหทำให้การหลับนอนไม่ราบรื่นเท่าที่ควร
5. ห้ามนอนเอาขาพาดหน้าต่าง ผีเหย้าผีเรือนจะชัง
คนบางคนเคยตัวจริง ๆ เวลานอนจะต้องกอดต้องเกยต้องปีนป่ายอะไรสักอย่าง ไม่งั้นนอนไม่หลับ จนคนอื่น ๆ ทนไม่ได้ขอแยกห้องนอนเพราะรำคาญ พอจะหลับ ๆ ก็เจอลูกลงปึ้กเข้าให้อ้าว ตื่นนอนลืมตาโพลง ทีนี้กว่าจะข่มตาหลับได้ก็อีกพักใหญ่ ๆ น่ะแหละ การนอนเอาขาพาดขอบหน้าต่างก็เป็นได้
.. คือเรือนไทยสมัยก่อนขอบประตูหน้าต่างจะอยู่ต่ำ ๆ เพราะบานประตูหน้าต่างจะยาวและแคบเป็น 2 บานประกบ ไม่กว้างและใหญ่เหมือนเดี๋ยวนี้ พอนอนหงายหนุนหมอนได้ที่ก็เอาเท้าพาดปั๊บลงล็อกพอดี ใครเดินผ่านบ้านนี้ก็มองเข้ามา แทนที่จะเห็นหน้าเจ้าของบ้านโผล่หน้าต่างก็กลายเป็นเห็นเท้าแทน แล้วใครละจะอยากมอง มาทางหน้าต่างของบ้านหลังนี้อีก เพราะคนในบ้านนอนทุเรศเหลือเกิน จะเตือนก็คงบ่อย จนเมื่อยปากเลยเอาผีสางมาช่วยชะหน่อย ใคร ๆ ก็ไม่อยากให้ใครเกลียดอยากเป็นที่รัก และสุดที่รักด้วยกันทั้งนั้นแม้แต่ผีก็ยังไม่อยากให้เกลียดก็ทำให้เลิกนอนท่านี้ได้ง่าย ๆ
6. ห้ามนอนเอามือประสานกันรองหัว จะตายโหง
การนอนท่านี้ผู้นอนต้องนอนหงายก็เป็นท่านอนที่ไม่ค่อยสวยงามนักในสายตาของผู้ใหญ่ แล้วถ้านอนเอามือประสานกันรองหัวแทนที่จะใช้หมอนหนุนให้เรียบร้อยก็เป็นการ ส่อแสดงนิสัยของผู้นอนว่าเกียจคร้าน แค่จะหาหมอนมาหนุนก็ขี้เกียจ และก็เอามือประสานรองหัวนอนแบบนี้ก็จะทำให้นอนทับเส้นสายพอตื่นมาจะมีการชา ปวดตามกระดูก ตามข้อทำให้นอนได้ไม่นานต้องเปลี่ยนท่านอน นอนหลับไม่สนิทเป็นท่านอนที่เด็ก ๆ ไม่ควรเห็นและนอนตาม
7. ห้ามนอนขวางกระดาน จะเป็นคนขวางโลก
เรือนไทยสมัยก่อนพื้นบ้านจะเป็นไม้กระดานแผ่นใหญ่ ๆ ไม่ใช่ไม้รางลิ้นหรือปาเก้ เหมือนเดี๋ยวนี้ บางบ้านปัจจุบันไม่มีไม้เลย มีแต่วงกบประตูหน้าต่างเท่านั้น บานประตู ก็เป็นไม้อัดเพราะว่าไม้หายากและมีราคาแพง คนจึงหันมาปลูกตึกอยู่แทนจนมีคำพูดว่า “สมัยนี้คนรวยอยู่บ้านไม้” เพราะไม้หายากและแพงนั่นเอง พื้นบ้านสมัยก่อนเป็นไม้กระดานแผ่นใหญ่ ๆ พอเวลานอนก็จะถูให้สะอาดแล้วก็นอนได้เลย แต่ผู้ใหญ่จะบอกให้นอนตามความยาวของแผ่นกระดานไม่ให้นอนขวางแผ่นกระดาน และถ้าหากใครนอนแบบนี้ก็จะถูกกล่าวหาว่าเป็นคนขวางโลก นอนไม่เหมือนชาวบ้านเขา
การนอนแบบนี้ถ้ากระดานไม่เรียบมีร่องมีรูก็จะทำให้เจ็บเนื้อเจ็บตัว และตามร่องกระดาน จะมีเศษฝุ่นผงไปคาอยู่ทำให้บรรดาสัตว์เล็ก ๆ เช่น ไร เรือด ไปอาศัยอยู่ถ้าใครนอน มันก็จะขึ้นมากัดได้ และที่สำคัญการนอนตามกระดานทำให้ไม่ดูขัดนัยน์ตาของผู้พบเห็น จริงๆ แล้วเป็นการฝึกความเป็นระเบียบเรียบร้อยมากกว่า
8. ห้ามนอนกอดอกเป็นลางร้าย
การห้ามนอนท่านี้คงจะสืบเนื่องมาจากการไปงานศพมาแน่ ๆ เพราะตามชนบท การจัดทำพิธีศพ เป็นเรื่องธรรมดาไม่น่ารังเกียจใคร ๆ ก็จะเข้าไปดูได้ตั้งแต่อาบน้ำศพ มัดตราสังข์ และเปิดให้ดูหน้าครั้งสุดท้ายก่อนเผา และการนอนกอดอกหรือเอามือประสาน ไว้บนอกนี้ก็เหมือนท่านอนของคนตายแล้วเขามัดตราสังข์ไว้ เมื่อเป็นท่านอนที่ไม่ค่อยโสภา จึงห้ามนอนโดยให้หันไปนอนตะแคงหรือนอนกอดหมอนข้างแทนซะให้มันรู้แล้วรู้รอดไป
โดย พจมาน นำสินวิเชษฐชัย
นิตยสารแม่และเด็ก