ลิปสติกเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทหนึ่ง ที่มีการใช้อย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่ผู้ใช้จะทาริมฝีปาก เพื่อช่วยให้ชุ่มชื้นไม่แห้ง ช่วยปกป้องผิวของริมฝีปากจากสิ่งกระทบภายนอก ช่วยแต่งเติมรูปปากให้สวยงามขึ้น แต่งสีให้เด่นสะดุดตาแลดูงดงาม ดึงดูดความสนใจจากผู้พบเห็น เป็นต้น แต่เนื่องจากลิปสติกเป็นเครื่องสำอางที่มักจะมีการกลืนกินเข้าไปในร่างกายได้ ดังนั้น จึงต้องเลือกซื้อและใช้ลิปสติกด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะถ้าลิปสติกที่เลือกซื้อและใช้ไม่ได้มาตรฐานก็จะเป็นอันตรายต่อร่างกาย โดยส่วนประกอบต่างๆของลิปสติก จะมีสารให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวริมฝีปาก และช่วยให้ลิปสติกนั้นคงรูปอยู่ได้ สีที่ใช้ต้องเป็นสีที่กระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้ใช้ในลิปสติก
ความรู้เกี่ยวกับลิปสติก
ส่วนประกอบเสริมจะมีสารที่ทำให้คุณภาพของผลิตภัณฑ์ดีขึ้น หรือมีความคงตัวดีขึ้น เช่น น้ำหอม สารแต่งกลิ่นแต่งรส วัตถุที่ใช้กันเสียและสารป้องกันแสงแดด เป็นต้น
รูจ คือ ศัพท์ภาษาฝรั่งเศส
เป็นคำทับศัพท์คำภาษาฝรั่งเศสว่า rouge ออกเสียงว่า รู้จ แปลว่า สีแดง
เป็นคำเรียกเครื่องสำอางที่ใช้แต่งแต้มริมฝีปากและแก้มให้มีสีงดงาม ในภาษาไทยใช้กริยาว่า ทารูจ ปัจจุบันใช้คำเรียกที่ต่างกันไป คือ รูจ ใช้เรียกเฉพาะสีที่ทาที่แก้มเท่านั้น แต่จะทาสีแดง สีชมพู สีส้ม หรือแม้สีเนื้อ สีน้ำตาลอ่อน ก็เรียกว่า ทารูจ ส่วนเครื่องสำอางที่ใช้ทาที่ริมฝีปาก ใช้คำภาษาอังกฤษว่า ลิปสติก lipstick ออกเสียงในภาษาไทยว่า ลิบ – สะ – ติก ปัจจุบันไทยเราสามารถผลิตเครื่องสำอางได้คุณภาพดีไม่แพ้ของต่างประเทศ ผู้หญิงไทยก็นิยมใช้เครื่องสำอางที่ผลิตในประเทศ แต่ยังคงใช้คำภาษาฝรั่งเศสและคำภาษาอังกฤษเรียก รูจ และ ลิปสติก อยู่
ลิปสติกในอดีตถึงปัจจุบัน รวมถึงความแตกต่าง ลิปสติกในยุคปัจจุบัน มีเนื้อเรียบเนียนลื่นขึ้นกว่ายุคก่อน ซึ่งนิยมใช้ส่วนผสมหรือน้ำมันจากสัตว์(แทนที่จะใช้น้ำมันสังเคราะห์) รวมทั้งสูตรที่ทำให้ลิปสติกติดทนนานแต่ไม่คงความชุ่มชื้น ลิปสติกรุ่นเก่าจึงขาดความนุ่มเนียนในการทา และต้องอาศัยแปรงทาปากเป็นตัวช่วย แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีและเนื้อสัมผัสแบบใหม่ทำให้ทาง่าย ให้ความรู้สึกบางเบาบนริมฝีปากและมักให้คุณค่าการบำรุง ใช้ง่ายทาสะดวกขนาดนี้แล้ว เราควรเลิกใช้แปรงทาปากและหันมาทาลิปสติกจากแท่งไปเลยดีไหม คำตอบ คือ “ ได้ เพราะว่าปัจจุบันลิปสติกมีสูตรที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาก รวมทั้งการลงสีก็ง่ายกว่าแต่ก่อน และส่วนผสมที่เป็นแว็กซ์ในลิปสติกก็ถูกออกแบบมาให้ละลายเมื่อสัมผัสริมฝีปาก ลิปสติกจึงเกลี่ยได้ง่ายขึ้นและสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังมีส่วนผสมที่เป็นมอยส์เจอไรเซอร์ ซึ่งทำให้ริมฝีปากดูฉ่ำอย่างเป็นธรรมชาติ ”
ประเภทของลิปสติก
1. ลิปสติกแต่งสีริมฝีปาก แบ่งเป็น ลิปสติกชนิดสีติดทน ลิปสติกโปร่งใส ลิปสติกเหลว และลิปสติกครีม
2. ลิปกลอส (lip gloss) เป็นลิปสติกไม่มีสี หรือสีอ่อนมาก ใช้ป้องกันริมฝีปากแห้งแตก เพื่อให้เกิดความมัน นุ่มเนียน
ลักษณะลิปสติกที่ดี
1. ควรมีเนื้อเรียบ นุ่มนวล มีความชุ่มชื้น และความมันพอเหมาะ ไม่มีเหงื่อแตกร่วน หรือแข็งเป็นก้อน คงสภาพทั้งเมื่อเก็บไว้และขณะใช้ ทนต่อสภาวะต่างๆ ได้ดี
2. หลอมละลายได้ทันทีเมื่อสัมผัสกับริมฝีปาก
3. ไม่มีอันตรายต่อผิวหนังให้สีติดทน แต่สามารถล้างออกได้ง่ายเมื่อต้องการ กลิ่นดี
ลิปสติกให้ความแวววาวบนริมฝีปาก (Shine-on Lipstick)
พบว่ามีการใช้สาร PPG-3 benzyl ether mysistate กับส่วนผสมสารอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติให้ความชุ่มชื้น (emollients) เป็น silicone ซึ่งเป็นโครงสร้างเหมือน ester และมีคุณสมบัติให้ความมันเป็นประกายแวววาวมีการใช้ร่วมกับ Castor oil, Di-PPG-3 myristyl ether adipate และ wax หลายๆ ชนิด สีที่นิยมใช้ได้แก่ D&C Red 7 Ca Lake, D&C Red 6 Ba Lake, Cosmetic Russet Iron Oxide, Titanium Dioxide, FD&C Yellow 5 Lake, Mica, Iron Oxides และ antioxidant ที่ใช้คือ Ascorbyl Palmitate
การระคายเคืองและการแพ้ลิปสติก
การแพ้เครื่องสำอางนั้นส่วนใหญ่เป็นไปเฉพาะแต่ละบุคคล ฉะนั้นบางคนอาจแพ้ แต่บางคนไม่แพ้ สำหรับลิปสติกพบว่ามี 1 ใน 5 ล้านคน ที่มีอาการแพ้ลิปสติกโดยธรรมชาติ อย่างไรก็ตามการใช้ลิปสติกทาบนริมฝีปากซึ่งเป็นเนื้อเยื่ออ่อน วันละหลายครั้ง และสัมผัสริมฝีปากเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการแพ้ได้ง่ายกว่าผิวหนังบริเวณอื่น
สาเหตุของการแพ้ลิปสติกอาจมาจากสิ่งต่อไปนี้
1. น้ำหอมในลิปสติก อาจมีสารบางชนิดกระตุ้นให้เกิดการแพ้
2. สีในลิปสติกอาจมีสารปนเปื้อน ทำให้แพ้ได้ และสีบางชนิดทำให้ริมฝีปากไวต่อแสงแดด
3. ลิปสติกที่มีไขมันและน้ำมันน้อย อาจทำให้ริมฝีปากแห้งแตกทำให้แพ้ง่าย
4. สารตัวเติมอื่นๆ บางตัวมีฤทธิ์เป็นตัวเร่งการแพ้
พอสรุปได้ว่าการแพ้ลิปสติกนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากสารปนเปื้อนในน้ำหอมและสี แต่แนวโน้มการแพ้ลิปสติกได้ลดลงมาเป็นลำดับ ทั้งนี้เนื่องจากผู้ผลิตใช้วัตถุดิบที่บริสุทธิ์ขึ้น มีสารปนเปื้อนน้อยในการผลิตลิปสติก นอกจากนี้การทาลิปสติกโดยใช้นิ้วมือ อาจทำให้เกิดติดเชื้อที่ริมฝีปากได้
อาการแพ้เนื่องจากลิปสติก
ผู้ใช้ลิปสติก ที่มีอาการแพ้ลิปสติก จะมีอาการแตกต่างกันแล้วแต่ว่าผู้นั้นแพ้มากหรือแพ้น้อย หากแพ้น้อยอาจจะมีอาการเพียงริมฝีปากแห้งคัน แต่หากแพ้มากอาจเกิดอาการริมฝีปากอักเสบ บวมหรือหายใจไม่ออก เมื่อมีอาการแพ้ต้องหยุดใช้ลิปสติกแท่งนั้นทันที แล้วเปลี่ยนไปใช้ลิปสติกชนิดอื่นแทน เช่น ใช้ลิปสติกชนิดที่ไม่มีน้ำหอม
ขั้นตอนการทาลิปสติก
การเขียนขอบปากก่อน ถือเป็นกุญแจสำคัญในการที่จะวาดรูปปากใหม่ให้สวยงาม
1. ให้เริ่มเขียนในบริเวณที่หนึ่งก่อน จากนั้นเขียนในจุดที่ 2 แล้วดูว่าเราเขียนรอยหยักของปากเท่ากันหรือเปล่า
2. หลังจากนั้นเริ่มเขียนบริเวณที่ 3
3. แล้วตามด้วยบริเวณที่ 4, 5, 6 และ7 โดยวิธีการเขียนควรเริ่มเขียนจากมุมปากเข้ามาเพื่อง่ายต่อการกำหนดรูปริมฝีปาก
ปัจจุบันนี้มีลิปสติกอยู่มากมายหลายชนิด แต่เราควรเลือกชนิดที่มี Moisture เพื่อปกป้องให้ริมฝีปากมีความชุ่มชื่นอยู่เสมอ และควรเลือกเฉดสีให้เหมาะสมกับ Eye shadow และ Brush on
อันตรายจากลิปสติกและการป้องกัน
1. ให้สังเกตฉลากต้องมีข้อความภาษาไทย บอกรายละเอียดชื่อเครื่องสำอาง ประเภทหรือชนิด เช่น ลิปมัน ลิปกรอส ส่วนประกอบ ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต ผู้นำเข้า วิธีใช้ ปริมาณสุทธิ และที่ขาดไม่ได้คือ วันเดือนปีที่ผลิต
2. ลิปสติกที่อ้างสรรพคุณป้องกันแสงแดด ต้องบอกส่วนประกอบของสารควบคุม ครั้งที่ผลิต และต้องแสดงคำเตือน สังเกตจากภายนอกลิปสติกต้องมีผิวเรียบเนียน ไม่เยิ้ม กลิ่นไม่เหม็นหืน และไม่ควรซื้อแต่ละครั้งในจำนวนมาก เพราะถ้าเก็บไว้นานๆ อาจเก่าหรือเสื่อมคุณภาพได้
3. ไม่ควรใช้ลิปสติกร่วมกับคนอื่น เพราะอาจเกิดการติดเชื้อได้
4. ก่อนทาลิปสติกทุกครั้ง ควรทำความสะอาดริมฝีปากก่อน หากใช้พู่กันควรทำความสะอาดพู่กันหลังใช้ทุกครั้ง
5. หากพบสีลิปสติกเปลี่ยนจากเดิม ไม่ควรใช้ต่อเนื่องอาจเสื่อมคุณภาพ
6. ถ้าใช้ลิปสติกแล้วมีอาการแพ้ควรหยุดใช้ หากหยุดใช้แล้วอาการยังไม่ดีก็ควรรีบพบแพทย์ อันตรายจากการใช้ลิปสติกอาจเกิดจากตัวผลิตภัณฑ์ ถ้าเสื่อมคุณภาพเพราะผลิตมานาน หากเป็นกลุ่มขี้ผึ้งและไขมันมีโอกาสเหม็นหืนได้ อีกทั้งลิปสติกที่ไม่มีฉลากภาษาไทยอาจผสมสีห้ามใช้ จึงเป็นผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย ผู้บริโภคไม่มีโอกาสทราบข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องสำอางชิ้นนั้น โดยเฉพาะชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตและวันเดือนปีที่ผลิต
ตัวผู้บริโภคเองอาจมีการแพ้ เช่น แพ้สี น้ำหอม สารกันเสีย สารกันแดด ต้องสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นแล้วหลีกเลี่ยงสารดังกล่าว อาการแพ้ลิปสติก ได้แก่ ริมฝีปากแห้ง เป็นขุย ลอก คัน บวมแดง ริมฝีปากมีสีดำ บางรายเป็นตุ่มพอง อักเสบ เมื่อมีความผิดปกติใดๆเกิดขึ้นต้องหยุดใช้ลิปสติกทันที หากจำเป็นอาจปรึกษาแพทย์และเภสัชกรต่อไป ข้อควรระวังในการใช้ลิปสติก คือ ควรทำความสะอาดริมฝีปากก่อนทาลิปสติก ไม่ควรใช้ลิปสติกหรือพู่กันร่วมกับผู้อื่น เพราะมีโอกาสติดเชื้อโรคได้ และหากลิปสติกที่ใช้อยู่มีลักษะสี กลิ่น เปลี่ยนแปลงไป ควรหยุดใช้ทันที เพราะแสดงว่าลิปสติกนั้นเสื่อมคุณภาพแล้ว
อายุการใช้งาน : ลิปสติกและลิปกรอสเป็นเครื่องสำอางที่โดนลมมากกว่าเครื่องสำอางชนิดอื่นๆ จึงทำให้จับตัวกับแบคทีเรียได้ง่าย
โดย อ.ชาคริต ศีลเศวตสกุล Creative Make Up Director