ที่พาดหัวไปนี้ไม่ใช่คำเตือนหรือคำแนะนำจาก เดฟ มอริน อดีตผู้ร่วมงานเฟซบุ๊ก แต่เป็นผลจากงานวิจัยที่พิสูจน์แล้วว่า คุณเป็นเพื่อนกับใครจริง ๆ บนเฟซบุ๊กในเวลาเดียวกันเกิน 50 คนแล้วไม่ดี
คุณเป็นเพื่อนกับทุกคนใน Facebook ไม่ได้
ศาสตราจารย์โรบิน ดันบาร์ แห่งออกซฟอร์ด ได้กล่าวว่า สมองของมนุษย์เราจะจัดการกับเครือข่ายเพื่อนสังคมได้ไม่เกิน 150 คน ปัจจุบันนี้ความสัมพันธ์ของคนที่ผ่านระบบออนไลน์มีนับพัน ๆ คน ซึ่งผ่านเว็บไซต์หลากหลาย เช่น ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และลิงค์อิน ใครเป็นใครบ้าง เวลาเราแชตด้วยก็เหมือนกับการบันทึกไว้บนข้างฝา จะรู้ถึงรายละเอียดเรื่องส่วนตัวทั้งหมดทีเดียวหลายพันคนก็คงยาก
ในปัจจุบันเฟซบุ๊กผู้ใช้คนหนึ่งจะมีเพื่อนโดยเฉลี่ย 130 คน
มาริน อดีตผู้ร่วมงานเฟซบุ๊กได้กล่าวว่า เพื่อนทางออนไลน์เหล่านี้ของเฟซบุ๊กมากไป ..
มอรินจึงได้ประดิษฐ์บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ใหม่ที่ชื่อ พาธ (Path) หรือเส้นทางขึ้นมาเพื่อให้ใช้กับเพื่อนสนิทได้ไม่เกิน 50 คนหรือน้อยกว่า จุดประสงค์ของพาธก็คือ เพื่อส่งเสริมการแบ่งปันความทรงจำกับเพื่อนสนิทเท่านั้น พาธจะมุ่งตรงไปยังเพื่อนสนิทและสมาชิกในครอบครัว โดยส่งเสริมพัฒนาความสัมพันธ์ของเพื่อนสนิทมิตรสหาย ให้แน่นแฟ้นกลมเกลียวมากขึ้น ซึ่งในชีวิตคนเราก็คงจะมีไม่เกิน 50 คน เท่านั้นที่เราจะสนิทและคุ้นเคยมากที่สุด
ซึ่งลักษณะการใช้งานของพาธก็คือ..
การแบ่งปันการดูรูปถ่ายข่าวสารที่ต้องการคุยกันทางโทรศัพท์ หรือ รูปถ่ายจากสถานที่ต่าง ๆ ที่ครอบครัวและเพื่อนไปมา หรือ ข้อความสั้น ๆ ที่อยากให้รู้ว่าทำอะไรบ้าง แอปนี้จะมีการเปิดตัวเร็ว ๆ นี้ โดยมีพีเจอร์ใหม่ที่เรียกว่า “สแต๊ก” หรือการเอาข้อมูลข่าวสารทั้งหมดมา กองไว้ ขึ้นอยู่กับว่าใครที่เราติดต่ออยู่ และใครบ้างที่เห็นรูปภาพหรือข้อความเหล่านี้
พาธนี้ทำให้ผู้ใช้สามารถคุยเรื่องส่วนตัวได้มากกว่า ไม่ว่าจะบ่นจะด่าเรื่องงานหรือเรื่องปวดหัวอะไร ระบายออกมาได้ทั้งหมด ซึ่งจะเป็นเฉพาะเพื่อนสนิทมาก ๆ เท่านั้น และอันนั้นแหละคือตัวคุณเอง เพราะบางเรื่องไม่สามารถแสดงออกให้สังคมได้รับรู้ได้ เพราะเป็นเรื่องไม่เหมาะสม และไม่ต้องการให้สังคมมาวิพากษ์วิจารณ์
มอรินกล่าวว่า “คุณเต็มใจที่จะแบ่งปันอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวกับเพื่อนที่สนิทที่สุดของคุณได้ทุกเรื่อง” ซึ่งก็เป็นลักษณะเด่นของพาธ ที่ลงลึกกว่าเฟซบุ๊ก อันนี้แสดงว่ามีชั้นความลับมากกว่าเฟซ บุ๊กเพื่อไม่ให้เรื่องแพร่กระจายสู่สาธารณชนได้รับรู้
ผมว่าคุณมอรินความคิดดีนะ ที่สามารถต่อยอด “แอป” ได้จากเฟซบุ๊ก ในอนาคตจะเป็นคู่แข่งที่สำคัญที่สุดของเฟซบุ๊กหรือไม่ก็น่าคิดตาม แปะเอาไว้ข้างฝาก่อนครับ.
รศ.ดร.บุญมาก ศิริเนาวกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด / ข่าวเมื่อ 22 ธันวาคม 2015