การทำงาน ขั้นตอน คนตาย ตำรวจ ผู้ตาย ศพ เจ้าหน้าที่

ขั้นตอน-การทำงาน ของพนักงานสอบสวน การตรวจสถานที่พบศพ หรือที่เกิดเหตุ

Home / สาระความรู้ / ขั้นตอน-การทำงาน ของพนักงานสอบสวน การตรวจสถานที่พบศพ หรือที่เกิดเหตุ

หลายครั้งที่เราดูหนังสืบสวนสอบสวนต่างๆ เราจะได้เห็นการทำงานของเจ้าพนักงาน ส่วนใหญ่แล้วเราจะเห็นแต่ในหนังหรือซีรีส์เมืองนอก ส่วนในเมืองไทยนั้นมีกระบวนการ การตรวจสถานที่พบศพอย่างพอสังเขป ซึ่งรวมถึงสิ่งที่ควรปฏิบัติของพนักงานสอบสวนและแพทย์ที่น่าสนใจดังนี้

กระบวนการทำงาน พนักงานสอบสวน

การตรวจสถานที่พบศพหรือที่เกิดเหตุ

(Crime scene investigation) การตรวจสถานที่พบศพ เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน ในประเทศไทยกำหนดให้เป็นหน้าที่ของตำรวจ ซึ่งประกอบด้วย ตำรวจที่ทำหน้าที่พนักงานสอบสวน กับ ตำรวจจากกองพิสูจน์หลักฐาน ที่จะดำเนินการตรวจหาวัตถุพยานหรือพยานทางกายภาพอื่นๆ เมื่อเกิดอาชญากรรมขึ้นในทุกกรณีรวมทั้งการตายด้วย ในอนาคตถ้าหาก ระบบนิติเวชศาสตร์ในประเทศไทยเปลี่ยนไป แพทย์อาจจะต้องรับผิดชอบในการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุในกรณีที่มีการตายก็ได้

หลักการตรวจสถานที่เกิดเหตุ

1. การเตรียมการ : ต้องมีการวางแผนการดำเนินการ , เตรียมเครื่องมือการตรวจให้พร้อม , เตรียมการสำหรับอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น
2. การเข้าค้นหาพยานหลักฐานควรต้องทำให้เป็นระบบที่เตรียมการอย่างเคร่งครัด
3. ตรวจหาอาวุธ และวัตถุพยาน ฯลฯ
4. ตรวจหาร่องรอยการต่อสู้ งัดแงะ ฯลฯ
5. การดูแลรักษาสถานที่เกิดเหตุ
6. การดำเนินการเกี่ยวกับผู้บาดเจ็บหรือศพ

หน้าที่ของเจ้าพนักงานคนแรก ที่ไปถึงที่เกิดเหตุ

หน้าที่ของพนักงานสืบสวนหรือสอบสวนที่เข้าถึงที่เกิดเหตุเป็นคนแรก ไม่ว่าพนักงานสอบสวนหรือสืบสวนระดับชั้นยศใดก็ตาม ถ้าบังเอิญประสบเหตุหรือถูกตามให้เข้าไปในสถานที่พบศพหรือสถานที่เกิดเหตุ เป็นคนแรก ควรปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

1. บันทึก วัน-เวลา ที่เข้าไปในที่พบศพหรือที่เกิดเหตุ

2. เข้าที่เกิดเหตุโดยหลีกเลี่ยงการอาจจะทำลายหลักฐานหรือวัตถุพยาน

3. รักษาสถานที่เกิดเหตุ มิให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปเป็นอันขาด

4. ถ้ามีผู้บาดเจ็บที่มีอาการหนัก จะต้องพยายามตามหน่วยรักษาพยาบาลที่เกี่ยวข้องหรือที่อยู่ใกล้ที่สุดเพื่อนำ ผู้บาดเจ็บไปรับการรักษาพยาบาลโดยเร็ว..  ถึงแม้กว่าการเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บอาจจะทำลายพยานวัตถุบางอย่าง แต่เพื่อการรักษาชีวิต และถ้าเป็นไปได้ ควรมีผู้ร่วมทางไปกับผู้บาดเจ็บด้วย เนื่องจากอาจจะได้ปากคำของผู้บาดเจ็บในระหว่างทาง หรือในขณะกำลังจะเสียชีวิต ซึ่งปากคำนั้นมีคุณค่าต่อการสอบสวนสืบสวนมาก

5. ดำเนินการเกี่ยวกับผู้ตาย เมื่อมีศพ ควรพยายามที่จะไม่ทำการใดใดเกี่ยวกับศพ แต่จะต้องรายงานพนักงานสอบสวนผู้มีหน้าที่ให้ทราบ เพื่อจะได้ดำเนินการเกี่ยวกับการชันสูตรตามกฎหมาย

6. รายงานผู้บังคับบัญชาที่รับผิดชอบ หรือผู้ร่วมงาน หรือแพทย์ผู้ชันสูตร เพื่อทำการชันสูตรและขอกำลังสนับสนุน

7. บันทึกเกี่ยวกับอาวุธที่พบในที่เกิดเหตุหรือที่พบศพ ตำแหน่งที่พบ และความสัมพันธ์ของท่าทางศพกับตำแหน่งของอาวุธ

8. ในบางครั้งอาจพบผู้ต้องสงสัยในที่เกิดเหตุ ให้ดำเนินการจับกุมหรือควบคุมตัวไว้ก่อน เพื่อป้องกันการหลบหนี หรือการทำลายหลักฐาน โดยแจ้งให้ทราบถึงข้อกำหนดตามกฎหมาย (ต่างประเทศ) จนกว่ากำลังสนับสนุนจะมาถึง

9. สอบสวนผู้อยู่ในเหตุการไปพลางก่อน มีใครบ้างในที่เกิดเหตุตอนที่พนักงานไปพบ การถามให้ถามสั้นๆ เท่านั้น เพราะหน้าที่หลักคือรักษาสถานที่เกิดเหตุ

ถ้ามีทั้งผู้ต้องสงสัยและพยานอยู่ในที่เกิดเหตุให้แยกที่กักตัวเท่าที่จะทำได้ อย่าแสดงความคิดเห็นต่อพยานหรือคนมุง แต่ให้พยายามฟังว่า เขาพูดอะไรกันบ้าง ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับพนักงานสอบสวนมาก

ป้องกันสิ่งที่เป็นพยานไม่ให้หายไป ระหว่างรอกำลังสนับสนุนหรือผู้บังคับบัญชา การติดต่อกรณีนี้ควรใช้โทรศัพท์ เนื่องจากมีนักข่าวสื่อมวลชนจำนวนมาก ที่มีวิทยุของตำรวจหรือใช้คลื่นตำรวจ เพื่อป้องกันการมีคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชันสูตร มาอยู่ในที่เกิดเหตุมาก เกินไป

10. มอบการรักษาที่เกิดเหตุให้พนักงานสอบสวน เพื่อจะรักษาต่อไปจนกว่าการชันสูตรหรือตรวจสถานที่ ได้ทำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งหมายความว่าจนกว่าการทำรายงานเกี่ยวกับสถานที่เสร็จสิ้นลงแล้ว ซึ่งอาจจะใช้เวลาหลายวัน

การตรวจสถานที่

ก่อนเข้าสถานที่เกิดเหตุต้องคำนึงถึงอันตรายอันอาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น อันตรายจากก๊าซพิษและไฟฟ้าลัดวงจรกรณีที่มีเพลิงไหม้ อันตรายจากยานยนต์ในรายอุบัติเหตุจราจร อันตรายจากการระเบิดกรณีที่มีเหตุวางระเบิดซึ่งอาจจะมีระเบิดตกค้างอยู่ อันตรายจากตึกถล่ม ฯลฯ

สำหรับพนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ผู้ชันสูตรพลิกศพ ควรระลึกไว้เสมอว่า การตรวจที่เกิดเหตุไม่ใช่สามารถตรวจครั้งเดียวจะเสร็จสิ้นได้เสมอไป บางครั้งอาจจะต้องกลับมาตรวจเพื่อหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง

1.ถ่ายรูป วาดรูป วาดแผนผังของตำแหน่งศพและสถานที่

2.ใช้จินตนาการความเป็นไปได้ในเหตุการณ์ทุกแง่มุมว่า อาจจะพบพยานหลักฐานในที่ใดได้บ้าง เพื่อหาวัตถุพยาน ทั้งที่จุด และรอบจุดที่เกิดเหตุ โดยละเอียดและเป็นระบบ

3.พยายามไม่สัมผัสด้วยมือเปล่ากับสิ่งที่สันนิษฐานว่าอาจมีวัตถุพยานปรากฏ อยู่ เช่นลูกบิดประตู หน้าต่าง ถ้วยชากาแฟ อาวุธ ฯลฯ

4.บันทึกสิ่งที่ตรวจพบโดยละเอียดเพื่อที่ว่าเมื่อจำเป็นต้องกลับมาอ่านใหม่ ในอีกหลายปีต่อมา ยังสามารถประมวลข้อมูลได้เหมือนเดิม

การสืบสวนในกรณีที่มีการตาย

(Death investigation) พนักงานสืบสวนสอบสวนที่แน่ใจว่า ศพนั้นเสียชีวิตแล้ว ต้องแจ้งแพทย์ผู้มีหน้าที่ตามกฎหมาย ให้ร่วมทำการชันสูตรโดยไม่แตะต้องศพ และไม่ให้ผู้หนึ่งผู้ใดแตะต้องศพด้วย

ผู้ทำการชันสูตรต้องถามตัวเองว่า เหตุตายคืออะไรตามสภาพที่เห็น (ซึ่งอาจจะไม่ใช่เหตุตายที่แท้จริงก็ได้ แต่จะเห็นได้ชัดว่า นักสืบที่รู้จักบาดแผลภายนอกว่าเป็นชนิดใดได้ถูกต้อง จะสามารถเข้าใจเหตุการณ์ได้ดีกว่า ในขณะนั้น) เป็นการทำตัวเองได้หรือไม่(จากตำแหน่งบาดแผล ท่าทางของศพ) มีร่องรอยการต่อสู้หรือไม่(คราบเลือด เส้นผม เศษกระดุมเสื้อ เครื่องใช้ที่ไม่ได้อยู่ในที่ปกติฯลฯ) มีอาวุธในที่เกิดเหตุหรือไม่ (อาวุธอยู่ที่ใดวางในสภาพอย่างไร ถ่ายรูปไว้)

การตรวจศพในที่เกิดเหตุ

การตรวจศพในสถานที่เกิดเหตุนั้น พนักงานสืบสวนสอบสวนควรให้ความสนใจในเรื่อง

1.ท่าทางของศพ เปรียบเทียบกับสภาพแวดล้อมรอบข้าง และถ่ายรูปไว้ก่อนที่ขยับศพ

2.เสื้อผ้าที่ติดอยู่กับศพ ว่าอยู่ในตำแหน่งใด ถูกดึงรั้งส่วนไหน กางเกงในดึงลงมาเท่าไร มีรูทะลุเข้าบาดแผลหรือไม่ (ห้ามใช้วัตถุใดใดแยงเข้าไปในบาดแผล เพราะอาจไปทำลายหรือเพิ่มเศษสิ่งบางอย่างในแผลได้) รวมถึงการตรวจค้นตามกระเป๋าเสื้อ-กางเกง

3.จากนั้นจึงค่อยตรวจร่างกายทั่วไป หัวหันอย่างไร ตาลืม? ปากอ้า? มีน้ำ หรือของเหลวใด ที่อวัยวะหรือเสื้อผ้าส่วนใด มีบาดแผลใดบ้าง โดยเริ่มตั้งแต่ หัว ตัว แขน และขา ซึ่งการตรวจนี้ เป็นเพียงเพื่อเป็นแนวทางเท่านั้น ผลการตรวจละเอียดต้องรอจากการผ่าศพของนิติเวชแพทย์

4.เก็บรักษาบางส่วนของศพแล้วแต่กรณี เสื้อผ้าที่ใส่อยู่บนตัวศพ ห้ามถอดออก ต้องนำไปตรวจพร้อมกับศพเสมอ อาจจะต้องใช้ถุงกระดาษห่อหุ้มบางส่วนของศพเพื่อป้องกันการปนเปื้อนหรือการ สูญหายของวัตถุพยาน บางกรณีอาจจะต้องห้ามการพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือไว้ก่อน เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเช่นกัน เช่น กรณีใช้อาวุธปืน ศพที่ถูกข่มขืนและฆ่า ฯลฯ จนกว่าการตรวจศพอย่างละเอียดเสร็จสิ้นแล้ว

5.หลังเคลื่อนย้ายศพแล้ว ให้ประมาณปริมาณเลือดในที่เกิดเหตุอีกครั้งหนึ่ง

6. กรณีที่พบศพที่เชื่อว่าถูกนำมาทิ้งจากที่อื่น ตรวจสถานที่ให้ละเอียดเช่นกัน ตรวจคราบเลือด หรือร่องรอยการเดินหรือเคลื่อนที่ตามเส้นทางที่จะเข้าออกสถานที่นั้น(ซึ่ง อาจจะมีอยู่จำกัด) รอยลู่ของหญ้า รอยเท้าหรือรอยลากบนพื้น กิ่งไม้ที่หักเป็นทาง ฯลฯ

7.ถ้าศพพบที่กลางแจ้ง การตรวจที่เกิดเหตุต้องรีบทำเพราะพยานหลักฐานต่างๆ อาจจะถูก ลบเลือนได้ง่ายจากการเปลี่ยนแปลงของอากาศเช่น ลม ฝน หิมะ ฯลฯ

การตรวจศพในสถานที่พบศพ

ให้แพทย์ทำการตรวจโดยคร่าวๆ เท่านั้นว่า

1.เป็นบาดแผลชนิดใด ถูกของไม่มีคม, มีคม, กระสุนปืน
2.จำนวนบาดแผลมีเท่าใด อาจจะมีบาดแผลแห่งความไม่แน่ใจ  หรือบาดแผลแห่งการป้องกันตัว
3.ตำแหน่งบาดแผลอยู่ที่ใดบ้าง ทะลุเสื้อผ้าหรือไม่
4.บาดแผลกระสุนปืน ระยะใกล้เท่าใด
5.ตรวจระยะเวลาการตาย ซึ่งต้องร่วมกับการสอบถามผู้ใกล้ชิดหรือพบเห็นด้วย

ลักษณะของบาดแผล

ข้อสังเกต ลักษณะของบาดแผลเปรียบเทียบกับพฤติการณ์ที่ตาย

ฆาตกรรม

– บาดแผลเกิดบริเวณใดของร่างกายก็ได้
– มักมีหลายแห่ง – มักทะลุเสื้อผ้า
– อาจจะมีบาดแผลหลายประเภท
– มักจะมีบาดแผลการป้องกันตัว

ฆ่าตัวตาย

– บาดแผลจะเป็นตำแหน่งที่เลือกสรรแล้ว เช่น ยิงตัวตายมักยิงขมับ หรือเข้าปาก ใช้มีดจะเชือดคอ หรือ ข้อมือด้านใน ถ้าแทงอาจจะแทงท้อง เป็นต้น
– อาจจะมีหลายแห่ง แต่มักมีแห่งเดียว
– มักไม่ทำทะลุเสื้อผ้า ถ้าแทงท้องก็มักเอาเสื้อออก จะปาดคอก็จะเอาเน็คไทออก เป็นต้น
– มักมีบาดแผลประเภทเดียวแต่อาจมี 2 ประเภท เช่น เชือดข้อมือไม่ตายจึงผูกคอตายตาม
– มักจะมีแผลแห่งความไม่แน่ใจ โดยเฉพาะเมื่อใช้ของแข็งมีคม
– ไม่มีบาดแผลแห่งการป้องกันตัว

อุบัติเหตุ

– บาดแผลเกิดบริเวณใดก็ได้แล้วแต่ลักษณะของอุบัติเหตุ
– มีหลายแห่งหรือแห่งเดียวก็ได้แล้วแต่ลักษณะของอุบัติเหตุ
– บาดแผลมักทะลุเสื้อผ้า
– มักมีบาดแผลประเภทเดียว
– ไม่มีบาดแผลแห่งการป้องกันตัวหรือแผลแห่งความไม่แน่ใจ

ภาพจาก The Wailing ที่มา www.ifm.go.th

บทความแนะนำ