คำที่เขียนได้หลายแบบ คำไทยที่เขียนได้หลายแบบ ภาษาไทย

เขียนแบบนี้ก็ไม่ผิดนะ! กับ 20 คำไทย ที่เขียนได้มากกว่า 1 แบบ

Home / สาระความรู้ / เขียนแบบนี้ก็ไม่ผิดนะ! กับ 20 คำไทย ที่เขียนได้มากกว่า 1 แบบ

ภาษาไทยใครว่าง่าย นอกจากคนต่างชาติจะพูดแบบนี้แล้ว คนไทยเราเองก็ยังพูดเลยค่ะ จริงมั้ย? เพราะหลายคำที่เราเขียนมาตั้งนานแต่ถูกเปลี่ยนให้เขียนแบบใหม่ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กำหนดมา ทำให้คนไทยเขียนคำไทยผิดอยู่บ่อยครั้งเพราะความเคยชิน แต่มีบางคำนะคะที่เราไม่ได้เขียนผิดแต่เพราะคำนี้สามารถเขียนได้หลายแบบ เช่น อธิฏฐาน หรือ อธิษฐาน, ปกติ หรือ ปรกติ เป็นต้น เพราะฉะนั้นเราต้องมาทำความรู้จักคำไทยทั้ง 20 คำ ที่สามารถเขียนได้หลายแบบกันค่ะ

เคยเขียนแบบนี้มั้ย! กับ คำไทยที่สามารถเขียนได้หลายแบบ

1. สัทธา หรือ ศรัทธา

คำว่า “สัทธา” มาจากภาษาบาลี
คำว่า “ศรัทธา” มาจากภาษาสันสกฤต

มีความหมายว่า น. ความเชื่อ, ความเลื่อมใส

 

2. อธิฏฐาน หรือ อธิษฐาน

คำว่า “อธิฏฐาน” มาจากภาษาบาลี
คำว่า “อธิษฐาน” มาจากภาษาสันสกฤต

มีความหมายว่า ก. ตั้งใจมุ่งผลอย่างใดอย่างหนึ่ง, ตั้งจิตปรารถนา, ตั้งจิตขอร้องต่อสิ่งที่ตนถือว่าศักดิ์สิทธิ์เพื่อผลอย่างใดอย่างหนึ่ง

 

3. ปกติ หรือ ปรกติ

คำว่า “ปกติ” มาจากภาษาบาลี
คำว่า “ปรกติ” มาจากภาษาสันสกฤต

มีความหมายว่า ว. ธรรมดา เช่น ตามปกติ, เป็นไปตามเคย เช่น เหตุการณ์ปกติ, ไม่แปลกไปจากธรรมดา เช่น อาการปกติ

 

4. ปีติ หรือ ปรีติ

คำว่า “ปีติ” มาจากภาษาบาลี
คำว่า “ปรีติ” มาจากภาษาสันสกฤต

มีความหมายว่า น. ความปลาบปลื้มใจ, ความอิ่มใจ

 

5. ก๊วยเตี๋ยว หรือ ก๋วยเตี๋ยว

มีความหมายว่า น. ชื่อของกินชนิดหนึ่ง ทำด้วยแป้งข้าวเจ้าเป็นเส้น ๆ ถ้าลวกสุกแล้วปรุงด้วยเครื่องมีหมูเป็นต้น เรียกว่า ก๋วยเตี๋ยวแห้ง ถ้าใส่น้ำซุป เรียกว่า ก๋วยเตี๋ยวน้ำ ถ้านำเส้นมาผัด เรียกว่า ก๋วยเตี๋ยวผัด

 

6. นิจ หรือ นิตย์

คำว่า “นิจ” มาจากภาษาบาลี
คำว่า “นิตย์” มาจากภาษาสันสกฤต

มีความหมายว่า ว. เสมอไป, สมํ่าเสมอ, มักใช้ว่า เป็นนิจ, เป็นนิตย์

 

7. ประสมพันธุ์ หรือ ผสมพันธุ์

มีความหมายว่า ก. สืบพันธุ์, คัดเลือกพันธุ์ที่มีคุณภาพมาผสมกัน

 

8. ประสมประสาน หรือ ผสมผสาน

มีความหมายว่า ก. เก็บไว้ทีละเล็กทีละน้อย, เก็บเล็กผสมน้อย

 

9. ประเชิญ หรือ เผชิญ

มีความหมายว่า ก. ชนกัน, ปะทะกัน, เจอหน้ากัน

 

10. ม่าย หรือ หม้าย

มีความหมายว่า ว. ไร้คู่ครองเพราะผัวหรือเมียตายจากไปและยังไม่ได้แต่งงานใหม่ และหมายรวมถึงเพราะหย่าขาดจากกันด้วย, ถ้าเป็นชายเรียกว่า พ่อม่าย, ถ้าเป็นหญิงเรียกว่า แม่ม่าย, โดยปริยายเรียกหญิงที่เลิกกับผัว ว่า แม่ม่ายผัวร้าง หรือ แม่ร้าง เขียนเป็น หม้าย ก็มี. (ถิ่น-พายัพ, อีสาน หม้ายว่า คู่ครองตายจากกัน)

 

11. โสภิณี หรือ โสเภณี

มีความหมายว่า น. หญิงที่หาเลี้ยงชีพด้วยการค้าประเวณี, หญิงโสเภณี นครโสเภณี หญิงนครโสเภณี หญิงงามเมือง หรือ นางกลางเมือง ก็ว่า

 

12. สารบัญ หรือ สารบาญ

มีความหมายว่า น. บัญชีเรื่อง, รายชื่อเรื่อง. (ตัดจาก สารบัญชี และ สารบาญชี)

 

13. ทัศนะ หรือ ทรรศนะ

มีความหมายว่า น. ความเห็น, การเห็น, เครื่องรู้เห็น, สิ่งที่เห็น, การแสดง

 

14. ทะนง หรือ ทระนง

มีความหมายว่า ก. ถือตัว, หยิ่งในเกียรติของตัว

 

15. จัญไร หรือ จังไร

มีความหมายว่า ว. เลวทราม, เป็นเสนียด, ไม่เป็นมงคล

 

16. นักหนา หรือ หนักหนา

มีความหมายว่า ว. มากยิ่ง, ยิ่งนัก

 

17 . ร่ำลา หรือ ล่ำลา

มีความหมายว่า ก. อำลา, ลา

 

18. อุมงค์ หรือ อุโมงค์

มีความหมายว่า น. ทางใต้ดิน, ช่องหรือทางที่ขุดลงไปใต้ดินหรือในภูเขา

 

19. กรรไกร, กรรไตร หรือ ตะไกร

มีความหมายว่า น. เครื่องมือสำหรับตัดโดยใช้หนีบ มี ๒ ขา, ลักษณนามว่า เล่ม

 

20. มารยาท, มรรยาท หรือ มริยาท

มีความหมายว่า น. กิริยาวาจาที่ถือว่าสุภาพเรียบร้อยถูกกาลเทศะ

 

ภาพและข้อมูลจาก : เพจคำไทย