การใช้วลี คำศัพท์ แสดงความอาลัย ในหลวงรัชกาลที่ 9

การใช้วลี เพื่อถวายความอาลัยที่ถูกต้อง เสด็จสู่สวรรคาลัย

Home / สาระความรู้ / การใช้วลี เพื่อถวายความอาลัยที่ถูกต้อง เสด็จสู่สวรรคาลัย

วันที่ 14 ต.ค. 59 ทาง Facebook “ราชบัณฑิตยสภา” ได้โพสต์รูปภาพและข้อความตอบข้อสงสัยของประชาชน 2 เรื่อง คือ ราชาศัพท์ “สวรรคต” และการใช้วลี “เสด็จสู่สวรรคาลัย” โดย กรณีราชาศัพท์ “สวรรคต” สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ตอบข้อสงสัยว่า การใช้คำราชาศัพท์ของคำว่า “ตาย” คณะกรรมการจัดทำ หลักเกณฑ์การใช้คำราชาศัพท์ ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้จัดทำไว้ ดังนี้

การใช้วลี เพื่อถวายความอาลัยที่ถูกต้อง

“เสด็จสู่สวรรคาลัย”

ตัวอย่าง การใช้ถ้อยคำเพื่อแสดงความอาลัยถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ร.9)

สถิตอยู่ในใจตราบนิรันดร์ น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้
ข้าพระพุทธเจ้า ………………………

เสด็จสู่สวรรคาลัย ผองผสกนิกรชาวไทยน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณตราบนิจนิรันดร์
ข้าพระพุทธเจ้า …………………….

ปวงพสกนิกรชาวไทยน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณตราบนิจนิรันดร์
ข้าพระพุทธเจ้า …………………….

ปวงประชาสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้
ข้าพระพุทธเจ้า …………………….

เสด็จสู่ฟากฟ้าสุราลัย พระมหากรุณาธิคุณจารึกในใจไทยชั่วกาล
ข้าพระพุทธเจ้า ……………………

สถิตในดวงใจตราบนิจนิรันดร์ น้อมศิระกราน กราบแทบพระยุคลบาท ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้
ข้าพระพุทธเจ้า …………………………

พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้
ข้าพระพุทธเจ้า ………………………

ทั้งนี้หลังคำว่า ข้าพระพุทธเจ้า ให้ระบุชื่อบุคคล คณะบุคคล และหน่วยงาน

แนะให้ใช้ “เสด็จสู่สวรรคาลัย” ไม่ต้องมี “ส่งเสด็จ” นำหน้า

หลักเกณฑ์การใช้คำราชาศัพท์

สวรรคต, เสด็จสวรรคต (สะ-หวัน-คต), (สะ-เด็ด-สะ-หวัน-คต) ใช้แก่ พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พระบรมวงศ์ชั้นเจ้าฟ้าที่ทรงพระเศวตฉัตร 7 ชั้น

ทิวงคต , เสด็จทิวงคต ใช้แก่ พระบรมวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า ที่ได้รับการเฉลิมพระยศพิเศษ

สิ้นพระชนม์ ใช้แก่ พระบรมวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า จนถึงพระอนุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้า และสมเด็จพระสังฆราช

ถึงชีพิตักษัย , สิ้นชีพตักษัย ใช้แก่ พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้า

สำหรับการใช้วลี “เสด็จสู่สวรรคาลัย”

สำนักงานราชบัณฑิตยสภาตอบข้อสงสัยว่า ควรต้องมีคำว่า “ส่งเสด็จ” ด้วยหรือไม่ ในเรื่องนี้ สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้เคยให้ข้อมูลความหมายวลีดังกล่าวเมื่อครั้ง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์ว่า

คำว่า “สวรรคาลัย” หมายความว่า ตาย (ใช้แก่เจ้านายชั้นสูง) ซึ่งไม่ได้หมายถึงการส่งเสด็จไปสู่สวรรค์ ทำให้การใช้คำว่า สวรรคาลัย เป็นการสื่อความหมายไม่ถูกต้องนั้นเป็นความเข้าใจที่เกิดจากการแปลตรงตามรูปศัพท์ | ความหมายตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑตยสถาน พ.ศ. 2542 (ปัจจุบันใช้ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554) 

สู่สวรรคาลัย = สู่ที่พักในสวรรค์

โดยแท้จริงแล้วคำว่า “สวรรคาลัย” มาจากคำว่า “สวรรค” (สะ-หวัน-คะ) และ “อาลัย”

  • ซึ่งคำว่า “สวรรค, สวรรค์” เป็นคำนาม หมายถึง โลกของเทวดา, เมืองฟ้า
  • คำว่า “อาลัย” เป็นคำนาม มีความหมายว่าที่อยู่ ที่พัก
  • ดังนั้น วลี “สู่สวรรคาลัย” จึงหมายถึง สู่ที่อยู่ในสวรรค์ สู่ที่พักในสวรรค์

ความหมายรวม ๆ ก็คือ สู่สวรรค์ วลี “เสด็จไปสู่สวรรคาลัย” จึงสื่อความหมายได้ว่า

(พระองค์) เสด็จสู่สวรรค์ หรือ (พระองค์) เสด็จสู่สรวงสวรรค์

ความเข้าโดยทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ในความเข้าใจของประชาชนทั่วไปนั้นเข้าใจว่า “ส่งเสด็จสู่ส ส่งเสด็จวรรคาลัย” หมายถึง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ไปสู่สรวงสวรรค์ แต่คำถามมีอยู่ว่า ใช้ได้หรือไม่?

ในเรื่องนี้ได้มีการสอบถามความคิดเห็นของ พลตรี หม่อมราชวงศ์ ศุภวัฒย์ เกษมศรี ประธานคณะกรรมการจัดทำหลักเกณฑ์การใช้ราชาศัพท์แห่งราชบัณฑิตยสถาน ศาสตราจารย์พิเศษ จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต และที่ปรึกษาคณะกรรมการ และ อาจารย์จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ รองประธานคณะกรรมการ มีความเห็นพ้องกันว่า..

พระองค์ทรงมีบุญญาบารมีที่จะเสด็จไปสู่สรวงสวรรค์ด้วยพระองค์เอง …

ทั้งนี้ หากใช้คำว่า “ส่งเสด็จ” นำหน้าวลี “สู่สวรรคาลัย” อาจทำให้สื่อความหมายได้ว่าประชาชนเป็นผู้ส่งเสด็จพระองค์ไปสู่สรวงสวรรค์

ดังนั้น หากลดหรือละการใช้คำว่า “ส่ง” ออกไปเหลือ “เสด็จสู่สวรรคาลัย” หรือใช้คำว่า “พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย

ก็จะทำให้ถ้อยคำดูสวยงามและสื่อความหมายได้ชัดเจนกว่าคำว่า “ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย”

สรุป ควรใช้วลีที่ว่า “เสด็จสู่สวรรคาลัย หรือ พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย”

สำหรับคำราชาศัพท์อื่นๆ อาทิ การแสดงความไว้อาลัย  ให้ใช้คำว่า

“ไว้อาลัย” หรือ “แสดงความไว้อาลัย”

ไม่ควรใช้คำว่า ถวายอาลัย เพราะคำว่า “ถวาย” แปลว่า “ให้” ความอาลัยไม่ได้มีไว้ให้ผู้ตาย แต่เป็นสิ่งที่จะต้องเก็บไว้ในใจของเรา

ส่วนอีกคำที่มีการออกมาแนะนำจากสำนักพระราชวัง และสำนักนายกรัฐมนตรี คือเวลาไปกราบพระบรมศพ ถ้าไปงานศพอื่นก็ใช้คำว่า “ไหว้ศพ” แต่กรณีพระบรมศพควรใช้คำว่า “ถวายสักการะพระบรมศพ” หรือ “ถวายบังคมพระบรมศพ”

ที่มา สำนักงานราชบัณฑิตยสภา | Office of the Royal Society : www.royin.go.th

thaiword01 thaiword02

กองข่าว สำนักพระราชวัง แจ้งให้ทราบเรื่องการออกพระนาม โดยยกเลิกการใช้พระนาม
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ” ด้วยการเปลี่ยนเป็น

1. ใช้พระนามเต็ม
– พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร
หรือ

2. ใช้แบบย่อ
– พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

วันที่ 16 ตุลาคม 2559

 

บทความแนะนำ