bu คณะศิลปกรรมศาสตร์ นักเขียน บรรณาธิการ ม.กรุงเทพ หนังสือท่องเที่ยว

สาวหัวใจศิลป์ ตุ๊กตา พนิดา บรรณาธิการสำนักพิมพ์ Polkadot

Home / เรื่องทั่วไป / สาวหัวใจศิลป์ ตุ๊กตา พนิดา บรรณาธิการสำนักพิมพ์ Polkadot

น้อยคนนักที่จะมีโอกาสได้ตามฝันอย่างแท้จริง แต่สำหรับสาวสวยร่างเล็ก ความสามารถล้นเหลืออย่าง ตุ๊กตา-พนิดา เอี่ยมศิรินพกุล สาวหัวใจศิลป์ที่ได้ค้นพบความชอบและความถนัดของตัวเองมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย และออกเดินทางค้นหาจุดสูงสุดในการทำงานอย่างมีเป้าหมาย จนกระทั่ง ณ เวลานี้ ทั้งบทบาทความเป็นคุณแม่ลูกหนึ่งที่น่ารัก การเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ Polkadot และนักเขียนหนังสือแนวท่องเที่ยว ถือเป็นโมเม้นท์สำคัญของชีวิตที่ทำให้เธอมีความสุขในทุกๆ วินาทีของการก้าวเดิน

สาวหัวใจศิลป์ ตุ๊กตา พนิดา บรรณาธิการสำนักพิมพ์ Polkadot

INSPIRATION…

สาวรุ่นร่างบาง แววตามีประกายสดใส เริ่มรู้ตัวว่าหลงใหลในงานศิลปะ เธอจึงตัดสินใจเลือกเรียนต่อในคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ ม.กรุงเทพ และที่มหาวิทยาลัยนี้เองที่ต่อยอดให้นิสิตหน้าใหม่ไฟแรงคนนี้ได้มีโอกาสเรียนรู้วิชาการออกแบบในหลายๆ แขนง และหนึ่งในนั้นคือวิชา Editorial Design ที่แม้เป็นแค่หนึ่งวิชาเล็กๆ ในหลายๆ วิชาที่ได้เรียนในคณะ แต่ถือเป็นจุดสตาร์ตจุดใหญ่ของการทำงานในสิ่งที่เธอรัก

เมื่อเธอได้ค้นพบแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือ และเริ่มทำหนังสือเล่มแรกในชื่อ “กรุงเทพอวดดี” ที่บอกเล่าเรื่องราวของเมืองหลวงประเทศไทย ผ่านทางป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ และก็เป็นหนังสือเล่มแรกที่มี “ดี” พอที่อาจารย์จะเลือกให้ตีพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่ม ความโดดเด่นของเล่มเลยไปเข้าตาบรรณาธิการคนดังของนิตยสาร A Day อย่าง “โหน่ง-วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์” และได้มีโอกาสเข้ามาทำงานในตำแหน่ง Art Director ของนิตยสาร Hamburger เป็นที่แรก ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นบรรณาธิการบริหารเต็มตัวกับนิตยสารวัยรุ่นเด็กแนวอย่าง Knock Knock

HOW TO WORK…

“พอมาทำงานจริงๆ นั้น แตกต่างกับตอนที่เรียน เพราะในการเรียน เราทำตามโจทย์ที่เราเป็นคนกำหนดขึ้นมาเองทั้งหมด เราทำงานคนเดียวมาตลอด แต่พอมาทำงาน เราต้องเริ่มทำงานเป็นทีม ต้องมีการผสมผสานกันในหลายๆ อย่าง ซึ่งตอนนั้นหน้าที่ของ Art Director หรือคนทำงานดีไซน์ คือจะทำอย่างไรให้งานเขียนที่มีเทคเยอะ ที่ได้รับมาจากนักเขียนนั้น กลายเป็นคอลัมน์ที่คนอ่านๆ ง่ายขึ้น

ส่วนการเป็นบรรณาธิการบริหาร คือ การบริหารทุกอย่างตามชื่อตำแหน่ง แน่นอนเราต้องบริหารงาน บริหารคน ตั้งแต่การดูแลคอนเซ็ปต์ ดูแลคอนเทนท์ ต้นฉบับ ปรับคิดคอลัมน์ ดูภาพรวม ดูแม้กระทั่งในด้านการขาย  เรียกว่าการทำหนังสือ มันคือการได้ใช้ Skill ของทุกวิชามารวมกันเลย ทั้งวิชา Photo, Illustration, Communication Design ทุกๆ อย่างที่เรียนมาได้ใช้จริงๆ”

IMPORTANT IN A CAREER…

ปัญหาแรกของเด็กจบใหม่ อาจเป็นความไม่คุ้นเคยในงานหนังสือที่ไม่มีรูปแบบเวลาที่ตายตัว เฉกเช่นการทำงานแบบ Routine ของบริษัททั่วๆ ไป แต่นั่นก็คือการเริ่มต้นเพื่อที่จะไต่ในสเต็ปที่สูงมากขึ้น และนับเป็นโชคดีที่ตุ๊กตา-พนิดา ได้มีโอกาสเข้ามาร่วมงานกับทีมงานที่มีความสามารถ ในการทำหนังสือได้โดนใจกลุ่มวัยรุ่น เธอจึงได้เห็นกระบวนการการแก้ปัญหาในการทำงานจากคนทำหนังสือที่มีคุณภาพ

แม้ในช่วงที่เข้ามาเป็นบรรณาธิการใหม่ของนิตยสาร Knock Knock ด้วยวัยเพียง 24 ปี และการต้องเข้ามาปรับจูนคุมทีมงานที่มีความสดใหม่เช่นเดียวกัน แต่ทุกอย่างก็ถือเป็นประสบการณ์ที่เธอต้องเรียนรู้ ความท้าทายที่จะทำอย่างไรให้หนังสือทุกๆ เล่มที่ออกชนปักษ์ชนเดือนนั้นเป็นความแปลกใหม่ ทั้งของคนอ่านและรวมถึงคนทำเองด้วย นั่นคือ แต่ละก้าวที่มั่นคงของเธอ จนถึงปัจจุบัน ที่เธอประสบความสำเร็จกับการเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ Polkadot สำนักพิมพ์เล็กๆ ที่อบอุ่น ที่สานฝันถักทอไลฟ์สไตล์ของผู้หญิงหลายๆ วัยให้เป็นความจริง รวมถึงความฝันของเธอด้วย กับการเขียนหนังสือท่องเที่ยวในซีรีส์กุ๊กกิ๊ก ไกด์ แนะนำนักเดินทางตามความฝันและค้นหาความหมายของชีวิต

PASSIONATE TRAVELISTA …

“จุดเริ่มต้นจากการเขียนแนวท่องเที่ยว มาจากตอนที่ไปเที่ยวเกาหลีครั้งแรก ตอนที่ยังทำ Knock Knock อยู่ ก็เดินทางไปเจอเพื่อนที่โน่น จากจุดนั้น ทำให้เรารู้สึกว่าเราเดินทางคนเดียวได้ ก็เลยเริ่มเดินทางมาเรื่อยๆ ทั้งเอเชีย แล้วก็ยุโรป ซึ่งแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือแต่ละเล่ม มาจากประเทศที่เราอยากจะไป ประเทศที่เราหลงใหลในอะไรสักอย่างของที่นั่น ไปเสร็จแล้วก็กลับมาใช้เวลาเขียนหลายเดือน เพราะเราดูภาพรวมทุกอย่างของเล่ม ต้องมาหาข้อมูลเพิ่มเติมด้วย แต่จะเรียกว่าตัวเองเป็นนักเขียนคงไม่ได้หรอก ไม่กล้าเรียกตัวเองอย่างนั้น ไม่ได้เขียนเก่ง แต่มีวิธีการเขียนหนังสือ คือ เหมือนการเล่าเรื่องให้เพื่อนฟังมากกว่า ว่าเราไปเจอเหตุการณ์อะไรมาบ้าง ส่วนงานใหม่ที่กำลังจะออก ชื่อ “ที่รัก” ค่ะ เป็นคอนเซ็ปต์ที่อยากจะพาคนอ่านไปตกหลุมรักกับเรื่องราวต่างๆ เป็นเหมือนไกด์บุ๊กส์ ที่ปีหนึ่งจะออกมาทั้งหมดสองเล่ม”

THINKING TO CAMPUS…

“คนที่อยากจะเป็นนักเขียน ต้องชอบอ่าน ชอบเขียน ชอบที่จะรับรู้ข่าวสารต่างๆ การที่เรารู้เยอะ ไม่ได้แปลว่าเราต้องรู้ไปทุกเรื่อง แต่แค่ให้รู้ในสิ่งที่เราชอบ เพราะจะทำให้เราสามารถถ่ายทอดออกมาให้คนอ่านๆ ได้ดี เหมือนเวลาเราเล่าเรื่องอะไรสักอย่าง ถ้าเราไม่มี Passion กับสถานที่นั้นๆ เราจะไม่สามารถเล่าเรื่องของที่นั่นออกมาได้ อยากให้ทุกสิ่งทุกอย่างมันออกมาจากข้างใน แล้วข้างในมันจะกลั่นออกมาเป็นตัวอักษรให้เราเอง”

ข้อมูลจาก นิตยสาร Campus star V.10 (สัมภาษณ์เมื่อ มีนาคม 2014)