ธนาคารออมสิน พิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์ธนาคารออมสิน

พิพิธภัณฑ์ธนาคารออมสิน กำเนิดธนาคารออมสิน | พระบรมราชานุสาวรีย์ ร.6

Home / สาระความรู้ / พิพิธภัณฑ์ธนาคารออมสิน กำเนิดธนาคารออมสิน | พระบรมราชานุสาวรีย์ ร.6

พระบรมราชานุสาวรีย์ ณ สำนักงานใหญ่ธนาคารออมสิน .. ประดิษฐานบริเวณ หน้าอาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารออมสิน ถนนพหลโยธิน จัดสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2509 โดย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ เพื่อเป็นการรำลึกถึงผู้ทรงพระราชทานกำเนิดธนาคารออมสิ

พระบรมราชานุสรณ์แห่งนี้ เป็นหนึ่งในห้าสถานที่ที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี จะเสด็จมาทรงวางพวงมาลาถวายราชสักการะในวันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี

พิพิธภัณฑ์ธนาคารออมสิน

แหล่งศึกษาของอนุชนรุ่นหลัง

เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณขององค์ผู้พระราชทาน กำเนิดธนาคารออมสินและพระคุณของผู้ดำเนินตาม พระราโชบายให้กิจการธนาคารออมสินเจริญก้าวหน้า สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน และเพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งคุณค่าของวิวัฒนาการความเจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ

ธนาคารออมสินจึงเก็บรวบรวมสิ่งที่ทรงคุณค่าซึ่งสะท้อนประวัติ ความเป็นมาของธนาคารนับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งในเรื่องของการประกอบธุรกิจ วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ ในการประกอบการ ตลอดทั้งเอกสารสำคัญโดยจัดแสดงไว้ ณ พิพิธภัณฑ์ ธนาคารออมสิน ให้อนุชนรุ่นหลังและผู้ที่สนใจ ได้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้ทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ ออมสินไทย อันจะเป็นวิธีทางหนึ่งในการสร้างจิตสำนึกให้ เกิด ความรักและหวงแหนธนาคารออมสินต่อไป

พิพิธภัณฑ์ธนาคารออมสิน เริ่มต้นจากการศึกษารวบรวมข้อมูล เพื่อเตรียมการจัดตั้งเมื่อ 2533 สมัย ม.ร.ว. จันทรแรมศิริโชค จันทรทัต เป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสิน จนแล้วเสร็จ เปิดบริการเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2535 โดยนายวิบูลย์ อังสนันท์ ผู้อำนวยการธนาคาร ออมสินในสมัยนั้น เป็นประธานในพิธีเปิด พิพิธภัณฑ์ธนาคารออมสิน ตั้งอยู่ชั้น 7 อาคาร 72 ปี ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าเยี่ยมชมในเวลาทำการปกติ และในโอกาสพิเศษต่างๆ

การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ธนาคารออมสิน สำเร็จได้ก็ด้วยความร่วมมือ จากผู้บริหารพนักงาน อดีตพนักงานและประชาชนผู้ใช้บริการได้นำสิ่งของและเอกสารที่มีคุณค่ามีความสัมพันธ์ เกี่ยวข้องกับธนาคารมามอบให้พิพิธภัณฑ์

ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ

470 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400
โทร : 0-2299-8000 ต่อ 040330, 040332, 040335

วันและเวลาทำการ

วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา : 09.00 – 12.00 น. และ 13.00 – 16.00 น. (ยกเว้นวันหยุดราชการ)

ค่าเข้าชม : ไม่เสียค่าใช้จ่าย

การเดินทาง ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่

รถโดยสารประจำทางสาย 4, 26, 27, 28, 34, 38, 39, 54, 59, 63, 74, 77, 97, 108 หรือ รถไฟฟ้า BTS สถานีสะพานควาย

เว็บไซต์ http://www.gsb.or.th/

กำเนิดธนาคารออมสิน

ธนาคารออมสิน กำเนิดขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงริเริ่มนำกิจการด้านการออมสินมาใช้เป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2450 โดยได้ทดลองตั้งธนาคารรับฝากเงินขึ้นเรียกว่า “แบงก์ลีฟอเทีย” ณ พระตำหนักสวนจิตรลดา (ในบริเวณวังปารุสกวัน) สำหรับให้มหาดเล็กและข้าราชบริพารของพระองค์ได้เรียนรู้วิธีการดำเนินงานของธนาคาร และส่งเสริมนิสัยรักการออม

ในปี พ.ศ. 2456 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติคลังออมสินขึ้น และประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน โดยให้เรียกว่า “คลังออมสิน” ขึ้นตรงต่อกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริจะขยายกิจการคลังออมสินให้กว้างขวางขึ้น จึงโอนกิจการคลังออมสิน จากกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ไปสังกัดกรมไปรษณีย์โทรเลข (ปัจจุบันเป็น สำนักงาน กสทช. แต่ก่อนจะแปรสภาพ ส่วนหนึ่งแยกไปจัดตั้งเป็น บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด) กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม (ปัจจุบันคือกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงคมนาคม) มีสถานะเป็นแผนกคลังออมสินในกองบัญชี เมื่อปี พ.ศ. 2472 เป็นผลให้ราษฎรสามารถฝากและถอนเงิน ณ ที่ทำการไปรษณีย์ได้ เช่นเดียวกับบริการออมสิน ของกรมไปรษณีย์ประเทศญี่ปุ่น และกรมไปรษณีย์ประเทศเยอรมนี

กระทั่งปี พ.ศ. 2489 รัฐบาลในสมัยที่ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี ยกระดับให้คลังออมสิน เปลี่ยนสถานะเป็น “ธนาคารออมสิน” มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2490เพื่อทำหน้าที่การธนาคาร และเป็นสถาบันการออมทรัพย์ที่สมบูรณ์แบบ เช่นเดียวกับธนาคารนานาประเทศ

ผู้เข้าประกวดโครงการ GSB Gen Campus Star 2017

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 ผู้เข้าประกวดโครงการ GSB Gen Campus Star 2017 เข้าร่วมกิจกรรมถวายพวงมาลัยราชสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งเข้าพบผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน และเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ธนาคารออมสินด้วย

เว็บไซต์ www.gsb.or.th , ธนาคารออมสิน

บทความแนะนำ