เรื่องเล่าความหลังเกี่ยวกับ แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์ ประตูผี ป่าช้า พิธีกรรมต่างๆ ในสมัยโบราณนานมา พิธีสำหรับผู้ตาย สาระความรู้ความเชื่อน่าสนใจที่แคมปัสสตาร์นำมาฝากให้คนรุ่นหลังได้อ่านได้ศึกษากันค่ะ
แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์ และประตูผี
แร้งวัดสระเกศ ..
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร.2) พ.ศ. 2363 เกิดโรคห่าระบาดอย่างหนัก ในกรุงเทพมหานครขณะนั้นยังไม่มีวิธีรักษา และรู้จักการป้องกัน รัชกาลที่ 2 จึงทรงใช้วิธีให้กำลังใจ โปรดฯ ให้ตั้งพิธีขับไล่โรคนี้ขึ้น เรียกว่า “พิธีอาพาธพินาศ” โดยจัดขึ้นที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีการยิงปืนใหญ่รอบพระนครตลอดคืน อัญเชิญพระแก้วมรกต และพระบรมสารีริกธาตุออกแห่ มีพระราชาคณะโปรยพระพุทธมนต์ตลอดทาง ทรงทำบุญเลี้ยงพระ โปรดให้ปล่อยปลาปล่อยสัตว์ และประกาศไม่ให้ประชาชนฆ่าสัตว์ตัดชีวิต อยู่กันแต่ในบ้าน
แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคนตายเพราะอหิวาตกโรคประมาณ 3 หมื่นคน ศพกองอยู่ตามวัดเป็นภูเขาเลากา เพราะฝังและเผาไม่ทัน บ้างก็แอบเอาศพทิ้งลงในแม่น้ำลำคลองในเวลากลางคืน จึงมีศพลอยเกลื่อนกลาดไปหมด ประชาชนต่างอพยพหนีออกไปจากเมืองด้วยความกลัว พระสงฆ์ทิ้งวัด งานของราชการ และธุรกิจทั้งหลายต้องหยุดชะงัก เพราะผู้คนถ้าไม่หนีไปก็มีภาระในการดูแลคนป่วย และจัดการกับศพของญาติมิตร ในเวลานั้น วัดสระเกศ เป็นศูนย์รวมของแร้งจำนวนนับพัน
อหิวาตกโรคเวียนมาในทุกฤดูแล้ง และหายไปในฤดูฝนเช่นนี้ทุกปี
ห่าลงปีระกา ปี 2392
ในปี พ.ศ. 2392 อหิวาต์ก็ระบาดหนักอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้เกิดขึ้นที่ปีนังก่อน แล้วแพร่ระบาดมาจนถึงกรุงเทพฯ เรียกกันว่า “ห่าลงปีระกา” ในระยะเวลาช่วง 1 เดือน ที่เริ่มระบาดมีผู้เสียชีวิตถึง 15,000 – 20,000 คน และตลอดฤดูตายถึง 40,000 คน
เจ้าฟ้ามงกุฏฯ คือ รัชกาลที่ 4 ซึ่งขณะนั้นดำรงเพศบรรพชิต เป็นพระราชาคณะ ได้ทรงบัญชาให้วัดสามวัด คือ วัดสระเกศ วัดบางลำพู (วัดสังเวชวิศยาราม) และวัดตีนเลน (วัดเชิงเลน หรือวัดบพิตรพิมุข) เป็นสถานที่สำหรับเผาศพ
แต่ก็เผาศพไม่ทัน..
มีศพที่นำมาเผาสูงสุด ถึงวันละ 696 ศพ แต่กระนั้น ศพที่เผาไม่ทัน ก็ถูกกองสุมกันอยู่ตามวัด โดยเฉพาะวัดสระเกศ มีศพส่งไปไว้มากที่สุด ทำให้ฝูงแร้งแห่งไปลงทึ้งกินซากศพ ตามลานวัด บนต้นไม้ บนกำแพง และหลังคากุฏิเต็มไปด้วยแร้ง แม้เจ้าหน้าที่จะถือไม้คอยไล่ก็ไม่อาจกั้นฝูงแร้ง ที่จ้องเข้ามารุมทึ้งซากศพอย่างหิวกระจายได้ และจิกกินซากศพ จนเห็นกระดูกขาวโพลน พฤติกรรมของ “แร้งวัดสระเกศ” ที่น่าสยดสยองจึงเป็นที่กล่าวขวัญกันไปทั่ว
เปรตวัดสุทัศน์ …
เปรตเป็นมนุษย์ที่ทำบาปกรรมแบบขั้นสุด เมื่อตายไปแล้วจะเกิดเป็นเปรตเพื่อชดใช้กรรมที่ทำไว้เมื่อยังเป็นมนุษย์ ปากเท่ารูเข็ม มือใหญ่เท่าใบลาน มักปรากฏตัวตอนกลางคืน
สมัยก่อนบรรยากาศแถววัดสุทัศน์จะน่ากลัวมากๆ มักมีคนเล่าว่าพบเห็นผีเปรตอยู่เสมอ แต่บ้างก็บอกว่า นั่นคือเงาจากเสาชิงช้า ความเชื่อแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์เกี่ยวกับเรื่องราวของเปรตแห่ง วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ที่เล่ากันว่าที่วัดแห่งนี้มักมีเปรตปรากฏกายในเวลากลางคืนเป็นที่น่ากลัวอย่างยิ่ง ประกอบกับอหิวาตกโรคที่ระบาดจนมีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 จนเผาศพแทบไม่ทัน ณ วัดสระเกศ จนมีคำกล่าวคล้องจองกันว่า “แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์”
ในอีกมุมหนึ่ง เรื่องเปรตวัดสุทัศน์
ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว เรื่องเล่าเปรตวัดสุทัศน์ฯ นั้น มาจากภาพวาดบนฝาผนังในอุโบสถ ที่เป็นรูปเปรตตนหนึ่งนอนพาดกายอยู่ และมีพระสงฆ์ยืนพิจารณาอยู่ ซึ่งภาพนี้มีชื่อเสียงมากในสมัยอดีต เป็นที่เลื่องลือกันของผู้ที่ไปที่วัดแห่งนี้ว่าต้องไปดู
และสิ่งที่ผู้คนเห็นว่าเป็นเปรตนั้น ผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณวัดแห่งนี้มายาวนานบอกว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นเงาของเสาชิงช้าที่อยู่หน้าวัด ในสายหมอกยามเช้าต่างหาก ซึ่งนี้ก็แล้วแต่ความเชื่อและวิจารณญาณส่วนบุคคล
ประตูผี กรุงเทพฯ …
“ตำบลประตูผี เดี๋ยวนี้เปลี่ยนชื่อให้เป็นมงคลว่า ตำบลสำราญราษฎร์ แต่ความหมายก็อยู่ดังเดิม คือประตูเมืองเก่าที่ทะลุกำแพงเมืองตรงนี้ชื่อประตูผี เป็นทางที่นำศพคนตายในเมืองออกไปทำศพกันนอกเมือง เพราะสมัยโนัน สร้างเมืองใหม่ๆ ต้องการความเป็นมงคล ไม่มีการนำศพทำเมรุกันในกำแพงเมือง เว้นแต่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินและพระศพเจ้านายใหญ่ๆ โตๆ เท่านั้น
ประตูผีนี้จึงมีชื่อตายตัวเป็นกฎว่า ใครนำศพคนตายออกประตูเมืองด้านอื่นๆ มิได้ ต้องออกแต่ประตูนี้โดยจำกัด
แม้จะเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า สำราญราษฎร์ ก็ยังมีความหมาย เดิมนั่นเอง หมายถึงว่า ราษฎรมีความสุขแล้ว และคนที่สุขที่สุดก็คือคนตายแล้ว เป็นผู้หมดห่วง หมดกังวล สำราญจริงๆ จึงมาออกประตูนี้
และวัดที่ใกล้ที่สุดในสมัยโน้น ก็คือ วัดสระเกศ … พอออกจากประตูผีข้ามสะพานลงมา ก็เข้าวัดสระเกศสู่ลานป่าช้าที่ใหญ่โตมโหฬารจริงๆ นับแต่ลงสะพานสำราญราษฎร์ก็เป็นพื้นที่ป่าช้าแท้ๆ จรดสะพานแม้นศรี อีกด้านหนึ่งไปจรดบ้านบาตร เป็นป่าช้าที่กว้างใหญ่ ไม่เหมือนป่าช้าตามวัดต่างๆ เดี๋ยวนี้ … ที่ป่าช้าอยู่ติดกับบ้านคน หรือป้าช้ามีวัดละนิดเดียว
คำว่า ป่าช้าของสมัยก่อนนั้น เป็นสถานที่สงัดเงียบวังเวงไม่ใกล้ใคร ห่างผู้ห่างคนจริงๆ เป็นแดนของคนตายแล้ว ไม่ใช่แดนคนมีชีวิตจะไปปะปน”
ข้อมูลจาก หนังสือชุดภูตผีปิศาจไทย ของครูเหม เวชกร ลำดับที่ 4 เล่ม”ผู้มาจากเมืองมืด” ตอน ประตูผี (ต้นฉบับค้นพบใหม่ตอนปี 2546 ในวาระครบรอบร้อยปีชาตะกาลครูเหม เวชกรพอดี) forum.munkonggadget.com
ที่มา วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร วิกิพีเดีย , บรมบรรพต หรือ ภูเขาทอง , ภาพจาก ประตูผี ตำนานเรื่องเล่าที่บางคนยังไม่เคยรู้มาก่อน…!!
ไหว้พระเก้าวัด
ฝั่งพระนคร วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร • ศาลเจ้าพ่อเสือ พระนคร • ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร • วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร • วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร • วัดพระศรีรัตนศาสดาราม • วัดราชนัดดารามวรวิหาร (ในบางตำรา) ฝั่งธนบุรี วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร • วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร • วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร
อ่านเพิ่มเติม
- พิธีศพของชาวพุทธธิเบต แร้งกินศพ (Tibetan Buddhist Sky Burial) Pantip.com
- ภาพ สุดหลอนกับแร้งวัดสระเกศ บ้านจอมพระ
- ประเพณีและพิธีกรรมเกี่ยวกับการตายในพุทธศาสนา Blogger
- การจัดการศพในหลักการอิสลาม การตายในอิสลาม islamhouse.muslimthaipost.com