การแต่งกาย ราชวงศ์ ราชวงศ์จักรี สายสะพาย เครื่องราชอิสริยาภรณ์

สายสะพายแต่ละสี มีความหมายอย่างไร ? ความรู้ เครื่องราชอิสริยาภรณ์

Home / สาระความรู้ / สายสะพายแต่ละสี มีความหมายอย่างไร ? ความรู้ เครื่องราชอิสริยาภรณ์

อีกความน่าสนใจในวันที่ 26 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมานั้น นอกจากเราจะได้เห็นความงดงามในริ้วขบวนต่างๆ ความร่วมมือร่วมใจของทุกๆ คนที่อยากให้งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้มีความสมบูรณ์สมพระเกียรติที่สุด ในบทความนี้ให้ความสนใจที่ สีสะพายต่างๆ ในเครื่องแต่งกายหลายๆ ท่านในริ้วขบวนค่ะ

สายสะพายแต่ละสี มีความหมายอย่างไร ?

**เครื่องอิสริยาภรณ์จากประเทศที่มีกษัตริย์เรียกว่า เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ส่วนประเทศที่ไม่มีกษัตริย์ เรียกว่า เครื่องอิสริยาภรณ์

สายสะพายสีเหลือง

สายสะพายสีเหลือง (สายสะพายจักรี)
เป็นเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (ม.จ.ก.) // สะพายบ่าซ้ายเฉียงลงทางขวา

สายสะพายสีชมพู

สายสะพายสีชมพู (สายสะพายจุลจอมเกล้า) เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ฝ่ายหน้า – ฝ่ายใน .. สำหรับบุรุษ สะพายบ่าซ้ายเฉียงลงทางขวา // สำหรับสตรี สะพายจากบ่าซ้ายเฉียงลงทางขวา

สายสะพายแต่ละสี

สายสะพายสีเขียว

สายสะพายสีเขียว ริมสีแดงชาด มีริ้วขาวและเหลือง ที่ริมทั้งสองข้าง .. เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 1 ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ (ป.ภ.) // สายสะพาย สะพายบ่าขวาเฉียงลงทางซ้าย

สายสะพายสีเหลืองขอบเขียว

สายสะพายสีเหลืองขอบเขียว มีริ้วสีแดง และน้ำเงินคั่นระหว่างสีเหลืองและขอบเขียว .. เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ (น.ร.) // สายสะพายนพรัตน สะพายบ่าขวาเฉียงลงมาทางซ้าย

สายสะพายสีน้ำเงิน ริมเขียว

สายสะพายสีน้ำเงิน ริมเขียว มีริ้วเหลือง ริ้วแดง คั่นทั้งสองช้าง .. เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.) // สายสะพายชั้นนี้ สะพายบ่าขวาเฉียงทางลงซ้าย

สายสะพายสีคราม

สายสะพายสีคราม มีริ้วสีแดง สีขาว อยู่ที่ริมทั้งสองข้าง .. เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.) // สายสะพายชั้นนี้ สะพายบ่าซ้ายเฉียงลงทางขวา

สายสะพายสีแดง

สายสะพายสีแดง ริมเขียวมีริ้วเหลือง ริ้วน้ำเงินขนาดเล็กคั่น
เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.) // สายสะพายชั้นนี้ สะพายบ่าซ้ายเฉียงลงทางขวา

สายสะพายสีแดง ริมเขียวใหญ่ ริ้วเหลือง ริ้วน้ำเงิน ขนาดเล็กคั่น
เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.) // สายสะพายชั้นนี้ สะพายบ่าขวาเฉียงลงทางซ้าย

สายสะพายสีดำ

สายสะพายสีดำ ริมมีริ้วแดง
เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ 1 เสนางคบดี (ส.ร.) // สายสะพายรามาธิบดี สะพายบ่าขวาเฉียงลงมาทางซ้าย

อ่านทั้งหมด > ทำความรู้จัก เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย 4 ประเภท

สายสะพายแต่ละสี มีความหมายอย่างไร

สายสะพายสีเหลือง สีชมพู

– สายสะพายมหาจักรี สีเหลืองทอง คือ สีของพระบรมราชวงศ์จักรี

– สายสะพายจุลจอมเกล้า สีชมพู คือ สีประจำวันพระบรมราชสมภพ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) พระผู้สถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้

– สายสะพายรามาธิบดี พื้นดำขอบแดง , สีดำ คือ สีประจำวันพระบรมราชสมภพ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้สถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ ส่วนสีแดงเปรียบได้กับโลหิตของทหาร ที่พร้อมจะสละเป็นชาติพลี ดังคำปรารภของพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ ที่ว่า ราชการทหารเป็นการอันสำคัญที่ผู้ปฏิบัติจะต้องใช้สติปัญญาอย่างอุกฤษฐ์

หมายกำหนดการงาน พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ 9

ในแต่ละวันนั้น ได้มีการกำหนดเครื่องแต่งกายไว้ดังนี้

วันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม 2560

– อัญเชิญพระบรมโกศไปพระเมรุมาศ / แต่งกายเต็มยศ ไว้ทุกข์ สายสะพายมหาจักรี หรือ มงกุฎไทย
– ถวายพระเพลิงพระบรมศพ / แต่งกายเต็มยศ ไว้ทุกข์ สายสะพายมหาจักรี หรือ ช้างเผือก
– ถวายพระเพลิงพระบรมศพจริง/ แต่งกายปกติขาว ไว้ทุกข์

วันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม 2560 : เก็บพระบรมอัฐิ และอัญเชิญพระบรมอัฐิ พร้อมพระบรมราชสรีรางคาร / แต่งกายเต็มยศ ไว้ทุกข์ สายสะพายจุลจอมเกล้า

วันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม 2560 : พระราชกุศลพระบรมอัฐิ  / แต่งกายเต็มยศ ไว้ทุกข์ สายสะพายมหาจักรี หรือช้างเผือก

วันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม 2560 : เลี้ยงพระ อัญเชิญพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมาน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และบรรจุพระบรมราชสรีรางคาร ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดบวรนิเวศวิหาร / แต่งกายเต็มยศ ไว้ทุกข์ สายสะพายจุลจอมเกล้า

การแต่งกาย ตามหมายกำหนดการ หรือกำหนดนัดหมายของทางราชการ

1. กรณีให้แต่งกายเต็มยศ (เสื้อขาว กางเกงหรือกระโปรงดำ)

1.1 ไม่ระบุชื่อสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ให้สวมสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด ที่ได้รับพระราชทานเพียงสายเดียว โดยให้ประดับดารา ของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด ที่ได้รับพระราชทานแต่ละตระกูล ตามลำดับเกียรติ

1.2 ระบุชื่อสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ให้สวมสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตามที่ระบุ ซึ่งแม้ว่าจะได้รับพระราชทานสายสะพาย ที่มีลำดับเกียรติสูงกว่าก็ตาม เช่น ระบุให้สวมสายสะพายมงกุฎไทย หากได้รับพระราชทานประถมาภรณ์มงกุฎไทย และประถมาภรณ์ช้างเผือกแล้ว ก็ให้ สวมสายสะพายประถมาภรณ์มงกุฎไทย แต่ให้ประดับดาราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด ของแต่ละตระกูลที่ได้รับพระราชทาน ตามลำดับเกียรติ .. / คัดย่อมาจาก ความรู้เกี่ยวกับ การแต่งกาย ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์

เรียบเรียงโดย www.Campus-Star.com

ภาพจาก Facebook : ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร งานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช , เรารัก สมเด็จพระเทพ ฯ : Our Beloved Princess Maha Chakri Sirindhorn ที่มา ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ , ข่าวสารเครื่องราชอิสริยาภรณ์ , สีของสายสะพาย , เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า , เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย

บทความแนะนำ