ในค่ำวันเสาร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2453 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เป็นที่ทราบกันอย่างภายในราชสำนักแล้วว่าพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระอาการมิสู้ดีนัก ดังนั้นตามระเบียงบนพระที่นั่ง บันไดทางเดิน จึงเต็มไปด้วยเหล่าพระราชโอรส-ธิดา พระมเหสีนางใน ที่พากันมาคอยฟังพระอาการประชวร ซึ่งในขณะนั้นพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่บนพระแท่นบรรทม ในบางเวลานั้นก็ทรงหายพระทัยเข้าออกครั้งละยาวๆ โดยหายพระทัยทางพระโอษฐ์แรงๆ
เหตุการณ์ในวันสวรรคต 23 ตุลาฯ
พระเนตรของพระองค์เหม่อลอยไม่จับใครเสียแล้ว ทรงลืมพระเนตรคว้างอยู่อย่างนั้นเอง สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาฯ ทรงกราบบังคมทูลถามพระเจ้าอยู่หัวว่า “เสวยพระสุธารส (น้ำดื่ม)ไหมเพคะ” พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงตอบกลับโดยการพยักหน้า สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาฯ จึงกราบทูลต่อไปว่า “หม่อมฉันจะถวายพระโอสถแก้พระศอแห้งเพคะ” ครั้งนี้พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งกลับว่า “ฮือ”
แต่ทันใดนั้น พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงมีน้ำพระเนตรไหลออกมา คล้ายทรงพระกรรแสง พระองค์จึงพยายามยกพระหัตถ์ทั้งสองข้างขึ้นมาเช็ดน้ำพระเนตรด้วยพระองค์เอง พระนางเจ้าสุขุมาลฯ เห็นจึงรีบนำผ้าขึ้นมาซับน้ำพระเนตรถวาย โดยมีสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ ประทับอยู่ปลายพระแท่นบรรทม คอยถวายงานนวดอยู่ และรับสั่งให้หมอฝรั่งขึ้นมาถวายตรวจพระอาการ
เวลาข้ามผ่านเที่ยงคืนมาเป็นวันที่ 23 ตุลาคม
…. หมอแต่ละคนหมั่นผลัดเปลี่ยนกันขึ้นถวายตรวจชีพจร พระเจ้าอยู่หัวทรงหายพระทัยแผ่วเบาลงทุกทีๆ ไม่มีพระอาการกระวนกระวายแต่อย่างใด ยังคงบรรทมอยู่อย่างเดิม แต่พระเนตรของพระองค์จากที่มองคว้างอยู่ ก็กลับค่อยๆ หรี่แล้วหลับพระเนตรลงในที่สุด เจ้าพนักงานลงมาตามหมอฝรั่ง ขึ้นไปถวายตรวจพระอาการอีกครั้ง สักพักหมอจึงทูลกับเหล่าพระมเหสี ที่ประทับเฝ้าพระอาการอยู่ ณ ที่นั้นว่า…. พระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเสียแล้ว
ทันใดนั้นเหล่าพระราชโอรส พระราชธิดา มเหสีสนมเจ้าจอมก็แย่งกันกรูเข้าไปดูพระบรมศพ เมื่อเห็นแล้วก็พากันล้มลงกับพื้นนอนร้องไห้คร่ำครวญเสียงระงมไปทั่วทั้งพระที่นั่ง โดยเฉพาะพระราชธิดาที่พากันนอนทอดกายกรรแสงเป็นลมกันยกใหญ่
ด้านสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาฯ ก็ทรงประชวรพระวาโย(เป็นลม) มีอาการชักกระตุกและหมดสติ หมอฝรั่งต้องรีบถวายยาฉีด ข้าหลวงจึงทูลเชิญขึ้นประทับบนพระเก้าอี้ แล้วหามกลับตำหนักสวนสี่ฤดู
สำหรับสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ ก็ทรงประชวรพระวาโยเช่นกัน ทรงพระกรรแสงยกใหญ่มิได้สติ ข้าหลวงทูลเชิญขึ้นพระเก้าอี้แล้วหามกลับตำหนักสวนหงส์ เห็นจะมีแต่พระนางเจ้าสุขุมาลฯ พระองค์เดียวที่สามารถควบคุมพระสติได้ แต่ก็ยังพระกรรแสงแข็งพระทัยนั่งเป็นประธานอยู่ปลายพระแท่นที่พระบรมศพบรรทมอยู่
พระมเหสี ทั้ง 3 พระองค์
ที่คอยถวายงานรับใช้อยู่ข้างพระแท่นบรรทม จนวินาทีสุดท้ายของพระชนม์ชีพ
เรียงจากซ้ายของภาพ , สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ในที่ของพระอัครมเหสีเอก , สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ในที่ของพระอัครมเหสี , พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ในที่ของพระมเหสี
ทหารมหาดเล็ก จึงรีบเข้าปิดล้อมพระที่นั่งอัมพรสถาน
เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้แล้ว เหล่าทหารมหาดเล็กจึงรีบเข้าปิดล้อมพระที่นั่งอัมพรสถาน เพื่อถวายความปลอดภัยแก่องค์รัชทายาทซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในวันผลัดแผ่นดิน สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุฯ จึงทูลเชิญให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธผู้เป็นองค์รัชทายาท เสด็จกลับลงไปยังชั้นล่างของพระที่นั่งอัมพรสถาน
ในที่นั้นเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้า เสนาบดี และองคมนตรียืนเข้าเฝ้าอย่างพร้อมเพียงกัน จากนั้นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุฯ จึงคุกพระชงฆ์(คุกเข่า)ลงกับพื้น แล้วกราบถวายบังคมแทบพระบาทของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และอัญเชิญเสด็จขึ้นเถลิงวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าอยู่หัวองค์ต่อไป
พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงประชวรด้วยโรคพระวักกะ (โรคไต) รวมพระชนมพรรษา 58 พรรษา
จากภาพคือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และภาพภายนอก-ภายในของพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 กับ เจ้าฟ้าชายมหิดลอดุลยเดช ผู้เป็นพระราชโอรส
พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 กับ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลในหลวงรัชกาลที่ 9 มีความเกี่ยวข้องกันทางสายพระโลหิต คือ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เป็นพระโอรสของเจ้าฟ้าชายมหิดลอดุลยเดช
เจ้าฟ้าชายมหิดลฯ เป็นพระราชโอรสของรัชกาลที่ 5 ประสูติจาก สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี
หรือเข้าใจง่ายๆ ก็คือ รัชกาลที่ 5 ทรงเป็นทูลกระหม่อมปู่ ของรัชกาลที่ 9 นั่นเอง
สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี หรือ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเสด็จฯ รับพระราชนัดดา เมื่อคราวเสด็จนิวัติพระนคร ในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481
เมื่อพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระราชนัดดา เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงเฉลิมพระนามสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี ขึ้นเป็น สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ตามพระราชสัมพันธ์ที่สมเด็จฯ ทรงมีกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 คือเป็นพระอัยยิกา (ย่า) และทรงดำรงพระอิสริยยศนี้จนตลอดพระชนมายุ
อ้างอิง : หนังสือประวัติต้นรัชกาลที่6,บทสัมภาษณ์หม่อมเจ้าหญิงจงจิตรถนอม ดิศกุล,คำบอกเล่าในเหตุการณ์ของหม่อมศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยา
ที่มา คลังประวัติศาสตร์ไทย , คลังโบราณสถานไทย
ข้อมูลแนะนำ พระที่นั่งอัมพรสถาน , พระราชวังดุสิต , พระราชวังในสมัยรัชกาลที่ 5 , รวมพระราชวังในสมัยรัชกาลที่ 5
บทความแนะนำ
- 23 ตุลาคม วันปิยมหาราช วันสวรรคตของรัชกาลที่ 5
- 1 เมษายน 2488 รัชกาลที่ 5 ประกาศเลิกทาส และไพร่ในประเทศไทย
- คำราชาศัพท์ หมวดเครือญาติ | พระบรมวงศานุวงศ์ พระยศเจ้านายไทย
- ลำดับชั้นพระภรรยา พระเจ้าแผ่นดิน | พระอัครมเหสี พระมเหสี พระราชเทวี พระอรรคชายา
- 158 คำราชาศัพท์ หมวดร่างกาย
- ไหว้ศาลพระนางเรือล่ม เที่ยวชมความงามริมแม่น้ำของ วัดกู้ / ปากเกร็ด นนทบุรี