นามสกุล พระราชทาน

ความรู้เกี่ยวกับ นามสกุลพระราชทาน นามสกุลจากราชทินนาม นามสกุลที่ขึ้นต้นด้วย ณ

Home / สาระความรู้ / ความรู้เกี่ยวกับ นามสกุลพระราชทาน นามสกุลจากราชทินนาม นามสกุลที่ขึ้นต้นด้วย ณ

นามสกุลพระราชทาน เป็นนามสกุลที่ได้รับพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุลขึ้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2455 โดยให้มีผลใช้บังคับในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2456

อย่างไรก็ตาม ได้มีการเลื่อนเวลาการบังคับใช้กฎหมาย 2 ครั้ง เพื่ออำนวยความการสะดวกแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งจะทำทะเบียนและสะดวกแก่ผู้ที่จะเลือกตั้งนามสกุล โดยพระราชบัญญัติได้บังคับใช้เป็นกฎหมายโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2458

นามสกุลพระราชทาน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลครั้งแรกเป็นจำนวน 102 นามสกุล เช่น นามสกุล “สุขุม” พระราชทานแก่ เจ้าพระยายมราช (ปั้น), นามสกุล “มาลากุล” พระราชทานแก่ พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ (หม่อมราชวงศ์เปีย) และ พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม) และนามสกุล “พึ่งบุญ” พระราชทานแก่ พระยาประสิทธิ์ศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ)

นามสกุลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้มีทั้งสิ้น 6,464 นามสกุล แยกเป็น

  • นามสกุลตามสมุดทะเบียน 6,439 นามสกุล (ในสมุดทะเบียนลงลำดับที่นามสกุล ที่ได้พระราชทานไปเพียง 6432 นามสกุล)
  • นามสกุลพิเศษ 1 นามสกุล คือ นามสกุล ณ พิศณุโลก
  • นามสกุลสำหรับราชสกุลรัชกาลที่ 4 อีก 24 นามสกุล

ที่มาจากต่างประเทศ

รายชื่อนามสกุล ที่มีที่มาจากภาษาต่างประเทศ

เศียนเสวี พระราชทาน พระอักษรสมบูรณ (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยานนทิเสนสุเรนทรภักดี) เสมียนตรากระทรวงวัง และนายพันตรีในกองทัพบก บิดาเป็นชาวเยอรมัน นามสกุลเดิมว่า “Falck” คือมุ่งว่า “falk” แปลว่าเหยี่ยว แปลกลับเป็นสันสกฤตว่า “เศ์ยน” แผลงเป็นไทยว่า “เศียน”

เศวตศิลา พระราชทาน พระวันพฤกษ์พิจารณ (ทองคำ) ปลัดกรมป่าไม้ กับพระกรุงศรีบริรักษ์ (ทองย้อย) ปลัดมณฑลกรุงเก่ากระทรวงมหาดไทย เป็นบุตรนายเฮนรี อาลบาสเตอร์ (แปลนามสกุลเป็น “หินขาว”)

สุมิตร พระราชทาน นายอี สเปนช์ สมิต ผู้ช่วยอธิบดีกรมศึกษาธิการ ขอพระราชทานให้บุตรชายหญิงซึ่งมารดาเป็นไทย

เวลานนท์ พระราชทาน รองอำมาตย์เอกเกอรช ฟริดริช เวเลอร์ นายตรวจเอก กรมรถไฟหลวงสายเหนือ (ต่อมาถูกถอนสัญชาติและเรียกคืนนามสกุล เมื่อคราวประเทศสยามประกาศสงครามกับประเทศเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 1)

อันตรนิยุกต์ พระราชทาน ขุนทิพรศโอชา (ปีเตอร์) พนักงานครัวเฃ้าต้น กรมมหาดเล็ก นามสกุลเดิม “อันโตนิโอ”

สีมันตร พระราชทาน ขุนเลขการวิจิตร (แสวง) นายเวรกรมที่ปฤกษา กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ บิดาเป็นชาวโปรตุเกส นามสกุลเดิมว่า “ซีโมเอนส์”

เตชะวณิช พระราชทาน พระอนุวัฒน์ราชนิยม (ฮง) สังกัดกรมมหาดเล็ก แซ่แต้

อับดุลพันธุ์ พระราชทาน นายหมู่ตรีปุ๋ย ประจำแพนกเกียกกาย กองเสนารักษาดินแดนกรุงเทพฯ ปู่ทวดชื่อเฮเดอรใบ ปู่ชื่อเมียโบ บิดาชื่ออับดุลโคยุม

อับดุลละบุตร พระราชทาน พระยาพิพิธเสนามาตยาธิบดีศรีสงคราม (นิโอ๊ะ) พระยาเมืองยะหริ่ง ปู่ทวดชื่ออับดุลเลาะ

คุณะดิลก พระราชทาน พระยาอรรถการประสิทธิ์ (วิลเลียม แอลเฟรด ตีเลกี, William Alfred Tilleke) อธิบดีกรมอัยการ กระทรวงยุติธรรม เขาชื่อเช่นนี้มาแต่เดิมแล้วแต่ต้องการได้รับอนุมัติ จึ่งตกลงให้เขียนว่า “คุณะดิลก” เช่นนี้ เพื่อให้เป็นไทย เดิมเขียนว่า“คุณะติละกะ” (ตัวโรมัน“Guna Tilleke”)

สิงหลกะ พระราชทาน พระดรุณรักษา (เสงี่ยม) ปลัดบาญชีกรมมหาดเล็ก หลานพระอุดรพิสดาร (สิญญ) ซึ่งเป็นชาวสิงหล

อินทนูจิตร พระราชทาน พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง (เชียงปุม) เจ้ากูยเมืองประทายสมัน เป็นต้นสกุล “อินทนูจิตร” เนื่องด้วยช่วยราชการสงครามกับรัชกาลที่ ๑ และพระราชอนุชาไว้มาก ความดีความชอบครั้งสำคัญ ในสงคราม ๙ ทัพ ในปี พ.ศ. ๒๓๒๘ จึงได้รับการปูนบำเหน็จอวยยศเป็น “พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง” ในปีถัดมา และมีการเปลี่ยนชื่อเมืองประทายสมันเป็น “เมืองสุรินทร์” เพื่อเป็นเกียรติยศพิเศษแด่ท่าน ซึ่งราชทินนาม ณรงค์ แปลว่าสงคราม จางวางคือข้าราชการชั้นสูงในกรมมหาดเล็กรับใช้เจ้านายชั้นบรมวงศ์หรือเจ้านายที่ทรงกรม ซึ่งท่านมาจากเมืองสุรินทร์เมืองช้างโดยเชี่ยวชาญด้านคชศาสตร์เป็นพิเศษ

ภาพประกอบ รองอำมาตย์เอกเกอรช ฟริดริช เวเลอร์

แยกตามอาชีพ

รายชื่อนามสกุล แยกตามรายอาชีพของผู้เป็นต้นสกุล

สกุลพ่อค้า มีคำว่า วณิช หรือวานิช และ เวส ประกอบในนามสกุลเช่น กมุทวณิช, กัณหะเวส, คุปตะวาณิช, กฤษณวนิช, เตมียาเวส

สกุลชาวสวน มีคำว่า ผล และ ผลิน ประกอบในนามสกุล เช่น ผลพันธิน, นิตย์อำนวยผล, ผลาชีวะ, มณฑลผลิน

สกุลชาวนา มีคำว่า กสิกร, เกษตริน และศาลิ ประกอบในนามสกุล เช่น โพธิกสิกร, รัตกสิกร,พงษ์สาริกิจ, สนธิเกษตริน, พฤทธิศาลิกร, ศาลิคุปต

สกุลทหารบก มีคำว่า โยธิน ประกอบในนามสกุล เช่น พหลโยธิน, พินทุโยธิน, อุตตมะโยธิน, กมลโยธิน,โกษะโยธิน,อัครโยธิน

สกุลทหารเรือ มีคำว่า นาวิน และกลิน ประกอบในนามสกุล เช่น กมลนาวิน, กนกนาวิน, วิเศษนาวิน, โรหิตนาวิน, ไอศะนาวิน, อังคะนาวิน, กฤษณกลิน, สุนทรกลิน, บุญยรัตกลิน

สกุลทหารอากาศ มีคำว่า อากาศ หรือ นภา ประกอบในนามสกุล เช่น รณนภากาศ, วุฒากาศ

สกุลช่างสิบหมู่ มีคำว่า ศิลปิน ประกอบในนามสกุล เช่น เกียรติศิลปิน, เตมียศิลปิน

ศิลปินโขน มีคำว่า นัฏ ประกอบในนามสกุล เช่น กานตะนัฎ, จารุนัฎ, สมรรคนัฎ

นักดนตรี มีคำว่า วาทิน ประกอบในนามสกุล เช่น กมลวาทิน, วรวาทิน, สุนทรวาทิน

กรมพระอัศวราช มีคำว่า อัศวิน ประกอบในนามสกุล เช่น ศวิน โกมลาศวิน, ชยาศวิน, มณฑาศวิน

สกุลแพทย์ มีคำว่า เวช, ไวทยะ, แพทย์ ประกอบในนามสกุล เช่น โกมลเวช, สุนทรเวช, ถาวรเวช, วีระไวทยะ, พัฒนเวชวงศ์, ตีรแพทย์,ไวทยะชีวิน, มิลินทแพทย์, เวชภูติ ,เวชชาชีวะ

โหรหลวง มีคำว่า โชติ ประกอบในนามสกุล เช่น โชติวิท, เศษโชติ, สุนทรโชติ, หิรัญโชติ

พราหมณ์ มีคำว่า พราหมณ ประกอบในนามสกุล เช่น จุลละพราหมณ์, พราหมณายน, วินทุพราหมณกุล , วุฒิพราหมณ์ , รัตนพราหมณ์

รายชื่อสกุลที่ขึ้นต้นด้วย “ณ”

สกุลที่ขึ้นต้นด้วย “ณ” เป็นนามสกุลพระราชทาน โดยพระราชทานให้แก่ผู้สืบเชื้อสายจากบรรพบุรุษที่มีนิวาสถานตั้งอยู่ในที่แห่งนั้นเป็นเวลานานมาก มีผู้คนรู้จัก และนับถือโดยมาก โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการห้ามไม่ให้ผู้ที่ไม่ได้รับพระบรมราชานุญาตใช้คำว่า “ณ” นำหน้าสกุลเป็นอันขาด

นามสกุลจากราชทินนาม

นามสกุลจากราชทินนาม คือ นามสกุลที่ตั้งขึ้นมาโดยมีที่มาจากราชทินนามของขุนนาง ราชทินนาม มีความหมายคือ นามที่ได้รับพระราชทาน ซึ่งแสดงถึงตำแหน่งหน้าที่ทางราชการของขุนนางผู้นั้น

นามพระราชทานนี้อยู่ต่อท้ายบรรดาศักดิ์ (อันได้แก่เจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุนหมื่น พัน ทนาย ฯ) ในบางกรณี ราชทินนาม พระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้เจ้ากระทรวงแต่งตั้งให้แก่ชนชั้นขุนนางที่ได้รับบรรดาศักดิ์ ดังนั้นราชทินนาม เป็นความดีความชอบที่มอบให้แก่ชนชั้นปกครอง ซึ่งไม่ได้รับเงินเดือนในสมัยกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ ราชทินนาม ยังใช้สำหรับสมณศักดิ์ชั้นสัญญาบัตรที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานแก่พระภิกษุสงฆ์ เช่นเจ้าคณะฯ

ทั้งนี้ การที่จะใช้ราชทินนามขุนนางเป็นนามสกุลได้ ต้องนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน เมื่อโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ผู้ขอใช้ราชทินนามเป็นนามสกุลจึงจะไปแจ้งขอเปลี่ยนนามสกุลได้

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีพระบรมราชานุญาตให้ใช้นามสกุลจากราชทินนาม ตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พุทธศักราช 2484 ว่า “ผู้ใดประสงค์จะขอใช้ราชทินนามของตนทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเป็นชื่อสกุล ให้ยื่นเรื่องราวต่อรัฐมนตรีเพื่อถวายต่อพระมหากษัตริย์ ถ้าได้รับพระบรมราชานุญาตและได้นำหลักฐานไปจดทะเบียนต่อกรมการอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ซึ่งผู้ยื่นเรื่องราวมีภูมิลำเนาแล้ว จึงให้ถือว่าเป็นชื่อสกุลอันชอบด้วยกฎหมาย”

รายชื่อนามสกุลพระราชทานในรัชกาลที่ 6

1. สุขุม พระราชทานแด่ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

2. มาลากุล ณ กรุงเทพ พระราชทานแด่ เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) และเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล)

3. พึ่งบุญ ณ กรุงเทพ พระราชทานแด่ เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ)

4. ณ มหาไชย พระราชทานแด่ พระยาบำเรอบริรักษ์ (สาย ณ มหาไชย)

5. ไกรฤกษ์ พระราชทานแด่ พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ) และเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์)

ที่มา จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

บทความแนะนำ