พระมหากษัตริย์ พระราชประวัติ รัชกาลที่ 10 ราชวงศ์จักรี ในหลวงรัชกาลที่ 10

พระราชประวัติ ในหลวงรัชกาลที่ 10 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณฯ

Home / สาระความรู้ / พระราชประวัติ ในหลวงรัชกาลที่ 10 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณฯ

พระราชประวัติ ในหลวงรัชกาลที่ 10 – สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นสยามมกุฎราชกุมารพระองค์ที่ 3 ของไทย และเมื่อเวลาประมาณ 10.20 น. วันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้จัดประชุมร่วมกันในวาระพิเศษเรื่อง การมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ และมีมติแจ้งไปยังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้อัญเชิญองค์พระรัชทายาท (สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร) ขึ้นครองราชสมบัติ สืบเป็นรัชกาลที่ 10

พระราชประวัติ ในหลวงรัชกาลที่ 10

พระราชประวัติ ในหลวงรัชกาลที่ 10

พระราชประวัติ

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระนามเมื่อแรกประสูติว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร” เป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 เวลา 17:45 น.

ซึ่งพระนาม “วชิราลงกรณ” นั้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ทรงตั้งถวาย มาจาก “วชิรญาณ” พระนามฉายาขณะผนวชในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ผนวกกับ ”อลงกรณ์”Ž จากพระนามในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)

พระราชประวัติ ในหลวงรัชกาลที่ 10

พี่น้อง

มีพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐภคินี 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

ในหลวงรัชกาลที่ 10

การศึกษา

ต่อมาในปี พ.ศ. 2499 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงสำเร็จการศึกษาขั้นต้นในระดับอนุบาล รุ่นที่ 2 จากโรงเรียนจิตรลดา แล้วจึงเสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคิงส์มีด แคว้นซัสเซกส์ และศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลฟิลด์ แคว้นซอมเมอร์เซทประเทศอังกฤษ

หลังจากนั้น ทรงศึกษาต่อวิชาทหารที่โรงเรียนคิงส์สกูล ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เสร็จแล้ว ทรงการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีสาขาอักษรศาสตร์ (ด้านการทหาร) จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ. 2519

โรงเรียนเสนาธิการทหารบก รุ่นที่ 46

โรงเรียนเสนาธิการทหารบก รุ่นที่ 46

นอกจากนี้ ยังทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก รุ่นที่ 46 เมื่อปี พ.ศ. 2520 ทรงเข้าศึกษาในสาขาวิชานิติศาสตร์ รุ่นที่ 2 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อ พ.ศ.2525 ทรงสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2)  และปี พ.ศ. 2533 ทรงได้รับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรแห่งสหราชอาณาจักร

พระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย

พระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย

สมเด็จพระยุพราช

เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ให้ดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ตามโบราณขัตติยราชประเพณี เพื่อรับราชสมบัติปกครองราชอาณาจักรสืบสนองพระองค์ โดยมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า ..

“สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิติยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธ สยามมกุฎราชกุมาร”

อ่านเพิ่มเติม >> พระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

พระโอรส-พระธิดา

  1. พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา
  2. หม่อมเจ้าจุฑาวัชร มหิดล หรือ จุฑาวัชร วิวัชรวงศ์
  3. หม่อมเจ้าวัชรเรศร มหิดล หรือ วัชรเรศร วิวัชรวงศ์
  4. หม่อมเจ้าจักรีวัชร มหิดล หรือ จักรีวัชร วิวัชรวงศ์
  5. หม่อมเจ้าวัชรวีร์ มหิดล หรือ วัชรวีร์ วิวัชรวงศ์
  6. พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์
  7. พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ

พระราชกรณียกิจในหลวงรัชกาลที่ 10

พระราชกรณียกิจ

1. ด้านการบิน

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 ทรงปฏิบัติหน้าที่ครูการบินเครื่องบินขับไล่แบบเอฟ-5 อี/เอฟ และพ.ศ. 2552 ทรงปฏิบัติหน้าที่นักบินที่ 1 เครื่องบินโบอิ้ง 737 – 400 ในเที่ยวบินสายใยรักแห่งครอบครัว ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และจัดหาอุปกรณ์ด้านการแพทย์ สำหรับโรงพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (เที่ยวบินที่ ทีจี 8870 กรุงเทพมหานครถึงจังหวัดเชียงใหม่ และเที่ยวบินที่ ทีจี 8871 จังหวัดเชียงใหม่ถึงกรุงเทพมหานคร)

2. ด้านการทหาร

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมที่ตั้งกองทหารหน่วยต่างๆ อยู่เสมอ จากการที่ได้ทรงศึกษาด้านวิชาทหารมานาน ทรงมีความรู้เชี่ยวชาญอย่างมาก และได้พระราชทานความรู้เหล่านั้นให้แก่ทหาร 3 เหล่าทัพ ทรงปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างแก่นายทหาร เอาพระทัยใส่ในความเป็นอยู่ทุกข์สุขของทหารผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาอย่างทั่วถึง รวมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นทุนการศึกษาแก่บุตรของทหาร สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดความเทิดทูนและความจงรักภักดีแก่เหล่าทหารเป็นอย่างยิ่ง

ซึ่งในปัจจุบันทรงดำรงพระยศทางทหารของ 3 เหล่าทัพ ได้แก่ พลเอก พลเรือเอก และพลอากาศเอก ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการทหาร และทรงเข้าร่วมปฏิบัติการรบในการต่อต้านการก่อการร้ายในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย รวมทั้งการคุ้มกันพื้นที่ในบริเวณรอบค่ายผู้อพยพชาวกัมพูชา ที่เขาล้าน จังหวัดตราด อีกด้วย

3. ด้านการศึกษา

พระองค์พระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้อาคารของกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เป็นที่ตั้งของโรงเรียนอนุบาลชื่อว่า โรงเรียนอนุบาลทหารมหาดเล็กราชวัลลภ โดยในระยะแรกได้จัดการเรียนการสอนเฉพาะชั้นอนุบาล ต่อมาโรงเรียนได้ย้ายไปที่จังหวัดนนทบุรี และได้รับพระราชทานชื่อใหม่ว่า “โรงเรียนอนุราชประสิทธิ์”

นอกจากนี้ ยังพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบเป็นค่าก่อสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาที่ตั้งอยู่ในชนบทห่างไกลคมนาคมไม่สะดวก กระทรวงศึกษาธิการได้สนองพระราชประสงค์ด้วยการน้อมเกล้าฯ ถวายโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาจำนวน 6 โรงเรียน เป็นโรงเรียนในพระราชูปถัมภ์ ได้แก่

  1. โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา อ.ปลาปาก จ.นครพนม (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 1)
  2. โรงเรียนมัธยมจุฑาวัชร อ.ลานกระลือ จ.กำแพงเพชร (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 2)
  3. โรงเรียนมัธยมวัชเรศร อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 3)
  4. โรงเรียนมัธยมจักรีวัชร อ.รัตนภูมิ จ.สงขลา (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 2)
  5. โรงเรียนมัธยมวัชรวีร์ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 3)
  6. โรงเรียนมัธยมบุษย์น้ำเพชร อ.เมือง จ.อุดรธานี (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 1)

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยาวชนในตำบลต่างๆ ทรงสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์เยาวชนตำบล รวมทั้งได้ทรงเป็นประธานงานวันเยาวชนแห่งชาติ วันที่ 20 กันยายน ของทุกปี และทรงเป็นประธานในพิธีปฏิญาณตนและสวนสนามของลูกเสือและเนตรนารี และสมาชิกผู้ทำประโยชน์

ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้อุปการะเด็กกำพร้า คือ จักรกฤษณ์ และอนุเดช ชูศรี ที่ครอบครัวเสียชีวิตจากภูเขาถล่มเมื่อปี พ.ศ. 2554 รวมทั้งครอบครัวของบูรฮาน และบุศรินทร์ หร่ายมณี ซึ่งบิดาถูกลอบสังหารจากเหตุความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะทรงอุปการะจนกว่าจะสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีหรือจนกว่าจะมีอาชีพสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ เป็นต้น

พระราชประวัติ ในหลวง ร.10

4. ด้านการแพทย์และสาธารณสุข

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร  ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้สร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชขึ้น เพื่อให้การรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยในถิ่นทุรกันดาร พระองค์ทรงเป็นองค์นายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช พระองค์มีพระราชปณิธานให้เอาใจใส่รักษาพยาบาลพสกนิกรของพระองค์ให้ปลอดภัยจากความเจ็บไข้โดยทั่วหน้าเสมอกัน

5. ด้านศาสนา

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ทรงประเคนผ้าไตร ประกาศนียบัตร และพัดยศ ในการตั้งภิกษุ และ สามเณรเปรียญ เนื่องในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล วิสาขบูชา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรม มหาราชวัง พ.ศ. 2551

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2509 ก่อนเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ

นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชศรัทธาทรงผนวชในพระพุทธศาสนา โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชโปรดฯ ให้จัดการพระราชพิธีผนวช ณ พัทธสีมาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ สมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณโก) ถวายอนุศาสน์ ได้รับถวายพระสมณนามว่า “วชิราลงฺกรโณ” และได้ประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ตลอดจนทรงลาสิกขาในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปปฏิบัติพระราชกิจทางพระพุทธศาสนาอย่างสม่ำเสมอ เช่น เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามฤดูกาล เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา อาทิ วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และการถวายผ้าพระกฐินหลวงตามวัดต่างๆ เป็นต้น

6. ด้านการเกษตร

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำปุ๋ยหมักจากผักตบชวาและวัชพืชอื่นๆ เป็นปฐมฤกษ์ เพื่อพระราชทานแก่เกษตรกร สำหรับนำไปใช้ในการเพาะปลูกเป็นการเพิ่มผลผลิต ที่บ้านแหลมสะแก ต.เดิมบาง อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2528

7. ด้านการต่างประเทศ

วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2554 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ โปรดให้ พล.อ.ท.ภักดี แสงชูโต นำผ้าห่มกันหนาว 20,000 ผืน ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮะกุ พ.ศ. 2554 ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยมีนายกษิต ภิรมย์ เป็นผู้รับมอบ

ข้อมูล : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี และ thaigoodview

ภาพประกอบ : หนังสือ “๗๐ สัมพัจฉร์ฉลองรัชธรรมราชา” กวีนิพนธ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๗๐ ปี พิมพ์ครั้งที่ 1 พุทธศักราช 2559 โดยกรมศิลปากร

พระราชประวัติ ในหลวง ร.10

ภาพพระราชทาน

เปิดให้ดาวน์โหลด พระบรมฉายาลักษณ์ ในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นสิริมงคล (ภาพพระราชทาน)

พระราชประวัติ ในหลวงรัชกาลที่ 10

บทความแนะนำ