บุคคลในประวัติศาสตร์ ราชนิกูล ราชสกุล เทพหัสดิน

บุคคลที่มีชื่อเสียงใน ราชสกุลเทพหัสดิน – เปิดประวัติ ต้นสกุล “เทพหัสดิน”

Home / สาระความรู้ / บุคคลที่มีชื่อเสียงใน ราชสกุลเทพหัสดิน – เปิดประวัติ ต้นสกุล “เทพหัสดิน”

เทพหัสดิน ถือเป็นหนึ่งในราชสกุลในราชวงศ์จักรีไทยที่คนไทยคุ้นหูกันมานาน สืบสายจากพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตัน กรมหลวงเทพหริรักษ์ (พระองค์เจ้าตัน) พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระเชษฐภคินี พระองค์รอง ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในบทความนี้ขอนำประวัติความเป็นมาต้นกำเนิดสกุล และรายชื่อบุคคลที่มีชื่อเสียง ที่ใช้ราชสกุลเทพหัสดิน มาให้ได้อ่านเป็นเกร็ดความรู้

เปิดประวัติ ต้นสกุล “เทพหัสดิน” – บุคคลที่มีชื่อเสียงในราชสกุลเทพหัสดิน

ต้นราชสกุล “เทพหัสดิน ณ อยุธยา”  มีพระนามว่า สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ มีพระนามเดิมว่า ตัน เอกสารเวียดนามออกพระนามของพระองค์ไว้ว่า “เจียวตัง” ทรงเป็นพระโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ กับ เงิน แซ่ตัน และประสูติในสมัยอาณาจักรอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2302 ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้านายในพระราชวงศ์จักรีเมื่อ พ.ศ. 2325 ทรงเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช อีกทั้งยังเป็นทหารคู่พระองค์ของรัชกาลที่ 1 และมีบทบาทในฐานะแม่ทัพในการสงครามครั้งสำคัญต่าง ๆ อยู่หลายครั้ง

เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ หรือ พระองค์เจ้าตัน ทรงมีพระโอรสพระธิดา 7 พระองค์ ได้แก่ หม่อมเจ้าชายฉิม, หม่อมเจ้าชายมาก, หม่อมเจ้าชายนิ่ม, หม่อมเจ้าชายหนู, หม่อมเจ้าชายน้อย, หม่อมเจ้าพุมเสน และหม่อมเจ้าหญิงหนู ( ยังมีอีกหนึ่งคือ หม่อมราชวงศ์ช้าง เทพหัสดิน ที่ยังคลุมเครือว่าเป็นพระราชโอรสเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ หรือเป็นพระนัดดา)

พระองค์ประชวรสิ้นพระชนม์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อวันจันทร์ เดือน 4 ขึ้น 14 ค่ำ ปีฉลูสัปตศก จุลศักราช 1167 ตรงกับวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2348 สิริพระชันษา 47 ปี ทรงเป็นต้น ราชสกุลเทพหัสดิน

เทพหัสดิน ถือเป็นราชสกุลใหญ่ มีเชื้อสายที่สืบต่อกันหลายชั่วอายุคน ตลอดระยะสมัยรัตนโกสินทร์ ลูกหลานแห่งราชสกุล เทพหัสดิน ณ อยุธยา มีบุคคลในราชสกุลที่มีชื่อเสียง เก่งมีความสามารถ และทำคุณงามความดีไว้หลากหลายด้าน ยกตัวอย่างดังต่อไปนี้

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรก เสนาบดีกระทรวงธรรมการ

บุคคลที่มีชื่อเสียงในราชสกุลเทพหัสดิน

– จำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นักการปกครอง และนักเขียน

– พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) หัวหน้าคณะทูตทหารไทยที่เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 นักโทษประหาร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม

– เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ) ผู้วางรากฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษา ผู้ร่วมดำริให้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรก ผู้นำกีฬาฟุตบอลมาเผยแพร่ในประเทศไทย นักประพันธ์ (ใช้นามปากกา “ครูเทพ”) ผู้ประพันธ์เพลงกราวกีฬา รวมทั้งเพลงชาติฉบับก่อนปัจจุบัน จากคำให้การของ ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ณ ท่าพระจันทร์

– นาค เทพหัสดิน ณ อยุธยา มีผลงานที่เคยทำไว้หลายด้าน เช่น กำหนดวิชากระบี่กระบองไว้ในหลักสูตร จนกระทั่งปัจจุบันนี้ได้บรรจุอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนทั่วไป, กำหนดคำปฏิญาณตนต่อท้ายคำไหว้ครู และใช้จนถึงปัจจุบัน “เราคนไทย ใจกตัญญู รู้คุณชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เรานักเรียน จะต้องประพฤติตนอยู่ในระเบียบวินัยของโรงเรียน มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น เรานักเรียน จะต้องไม่ทำตนให้เป็นที่เดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่น”, ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร พ.ศ. 2475 – พ.ศ. 2476, ผู้อำนวยการโรงเรียนพลศึกษากลาง พ.ศ. 2478, ครูโรงเรียนต่าง ๆ อาทิ โรงเรียนสตรีจุลนาค และคณะกรรมการสร้างวัดไทยพุทธคยา-อินเดีย (ยุคเริ่มต้น)

– บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีไม่ได้ประจำกระทรวง

– ปรียา ฉิมโฉม (สกุลเดิม เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นนักผังเมืองและสถาปนิก ผู้บุกเบิกสำคัญผู้หนึ่งด้านการผังเมืองของประเทศไทย ตั้งแต่ครั้งยังเป็นกองผังเมืองจนถึงระดับกรมโดยได้เป็นผู้อำนวยการ (อธิบดี) คนที่ 3 ของสำนักผังเมือง (ปัจจุบันคือกรมโยธาธิการและผังเมือง) และนับเป็นอธิบดีหญิงคนแรกของกระทรวงมหาดไทย อีกทั้งยังเป็นนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่น ที่ 1 (พ.ศ. 2476)

– พระยารัษฎานุประดิษฐ์ (สินธุ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ข้าราชการชาวไทยระหว่างเป็นเจ้าเมืองตรัง ได้พัฒนาเมืองให้เจริญก้าวหน้าจนกลายเป็นเมืองเกษตรกรรม จึงได้เลื่อนตำแหน่งเป็นสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลภูเก็ต และเป็นผู้ได้รับพระราชทานนามสกุล ณ ระนอง

– วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา สมาชิกอดีตสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, อดีตราชองครักษ์พิเศษกรรมการอิสระ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และอดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการปิโตรเลียม, อดีตประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก

– สพรั่ง เทพหัสดิน ณ อยุธยา หรือ หลวงสุนทรเทพหัสดิน เป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมของไทย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมของไทย 1 สมัย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของไทย 5 สมัย และเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะราษฎร

– พระยาอนุกิจวิธูร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) นักการศึกษา ผู้บัญชาการ (อธิการบดี) คนแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (6 เมษายน พ.ศ. 2460 – 31 มีนาคม พ.ศ. 2468) และผู้ช่วยปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ ผู้แต่งหนังสือเรียนสมัยรัชกาลที่ 5 รวมทั้งหนังสือชุดธรรมจริยาเล่ม 1 และ 2

– ณัฏฐ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา นักแสดง นายแบบ เป็นที่รู้จักจากการแสดงในละครชุดเรื่องเซน…สื่อรักสื่อวิญญาณ

ณัฏฐ์ เทพหัสดิน

เจ็บตัวแต่ต้องไม่เสียงาน!! “ณัฏฐ์ เทพหัสดิน” สปิริตแรง ถ่ายรายการต่อทันทีหลังถูกรถชน

ที่มาข้อมูลจาก :  th.wikipedia,thairath , ม.ร.ว.มาลินี จักรพันธุ์. (ปี 2551) วารสารสยามรัฐ. ต้นกำเนิดที่เกิดเหตุ สัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 7

ภาพจาก: varichsuit, th.wikipedia

บทความแนะนำ