หน่วยรบพิเศษ หน่วยปฏิบัติการพิเศษ หรือกองกำลังพิเศษ เป็นทหารที่ได้รับการฝึกมาอย่างเข้มข้น เข้มแข็ง เพื่อให้พร้อมปฏิบัติภารกิจพิเศษต่าง ๆ เช่น การลาดตระเวนพิเศษ สงครามนอกแบบ และการต่อต้านการก่อการร้าย เป็นต้น แต่เพื่อน ๆ รู้ไหมว่าพวกเขาเหล่านั้นจะต้องผ่านการฝึกและอุปสรรคอะไรกันมาบ้าง กว่าจะสามารถออกมาปฏิบัติหน้าที่จริง และในบทความนี้ แคมปัส-สตาร์ ก็มีเรื่องน่ารู้ของ 3 หน่วยรบพิเศษของไทยมาให้เห็นถึงความอดทน ความแข็งแกร่งของเหล่าทหารกล้ากันค่ะ
3 หลักสูตรหน่วยรบพิเศษของไทย + ความหมายตราสัญลักษณ์
ไม่ว่าจะเป็น หน่วยการรบแบบจู่โจม (Ranger) ที่พวกเขาจะต้องเจอการฝึกบนภาคพื้นดินสุดยาก, หน่วยซีล (Seal) ที่พวกเขาจะต้องใช้เวลาในการฝึกที่ยาวนานและเจอการฝึกสุดโหด และนักรบ Recon ที่จะต้องเจอการฝึกส่งกำลังทางอากาศสุดหวาดเสียว
พร้อมทั้งมีความหมายของตราสัญลักษณ์ของแต่ละหน่วยมาบอกกันด้วยค่ะ ซึ่งถือได้ว่าตราสัญลักษณ์ของแต่ละหน่วยเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความกล้าหาญและความสามารถของเหล่าทหารทุกคนที่สามารถก้าวผ่านการฝึกมาได้สำเร็จ และเตรียมพร้อมเพื่อปฏิบัติภารกิจปกป้องประเทศแล้ว
1. หลักสูตรการรบแบบจู่โจม
สำหรับหลักสูตรการรบแบบจู่โจม (Ranger) หรือ “เสือคาบดาบ” เป็นหลักสูตรของกองทัพบก โดยจะเปิดรับสมัครทหารทุกชั้นยศ ซึ่งใช้เวลาในการฝึกประมาณ 9-10 สัปดาห์ และจะมีการแบ่งการฝึกออกเป็น 4 ภาคด้วยกัน ได้แก่
1. ภาคที่ตั้ง จะเน้นการฝึกภาควิชาการและภาคทฤษฎี (จะเป็นการเรียนการสอนความรู้ต่าง ๆ ทางด้านทหารในห้องเรียน) ระยะเวลาในฝึก 12 วัน
2. ภาคป่าเล็ก จะเริ่มฝึกในพื้นที่ระยะใกล้ มีปัญหาให้นักเรียนทหารได้แก้ไขตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจและคุ้นเคยกับการปฏิบัติงาน ใช้ระยะเวลาในการฝึก 14 วัน
3. ภาคป่าใหญ่/ภูเขา จะย้ายการฝึกไปตามภูมิประเทศจริงที่เป็นป่าเขา ฝึกทั้งกลางวันและกลางคืน เน้นการวางแผนปฏิบัติงาน การอ่านแผนที่เข็มทิศ การแถลงผลการปฏิบัติงาน การนำหน่วยเข้าปฏิบัติภารกิจ ใช้ระยะเวลาในการฝึก 19 วัน
4. ภาคทะเลที่ลุ่ม จะเป็นการปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายในพื้นที่ทางน้ำหรือทางทะเล ซึ่งจะมีการฝึกการสละเรือ การลุยเลน เป็นด่านฝึกสุดท้ายก่อนจบการศึกษา โดยจะใช้ระยะเวลาในการฝึก 14 วัน
สถานที่ฝึกจะตั้งอยู่ที่ ศูนย์การทหารราบ ค่ายธนรัตน์, โรงเรียนสงครามพิเศษค่ายเอราวัณ และศูนย์การทหารม้า
มีหน้าที่หลักคือ การลาดตระเวณ (พิเศษ) ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย การป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ ปฏิบัติการด้านจิตวิทยา และการปฏิบัติภารกิจอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมาย เป็นต้น
เมื่อจบการฝึกทั้ง 4 ภาคแล้ว นักเรียนทหารทุกคนที่สำเร็จหลักสูตรนี้จะได้รับเครื่องหมายประดับหน้าอกคือ “ตราเสือคาบดาบ” เพื่อเป็นการแสดงถึงความสามารถ ความเป็นผู้นำ ความทรหด อดทน ของทหารที่สำเร็จการฝึกในหลักสูตรการรบแบบจู่โจม ของกองทัพบก (ศูนย์สงครามพิเศษ สังกัดหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ) ถือได้ว่านักรบรีคอนเป็นหน่วยที่ฝึกยากที่สุดและเป็นสุดยอดนักรบแห่งกองทัพบกจริง ๆ
ตราสัญลักษณ์ มีความหมายดังนี้
- หัวเสือ เป็นสัญลัษณ์ของอำนาจ ความเป็นเจ้าป่า เหี้ยมโหดต่อศัตรูของมัน
- ดาบ เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ ความแหลมคมของดาบหมายถึง สติปัญญาอันเฉียบแหลมของทหารจู่โจม ที่จะสังหารข้าศึกได้อย่างเงียบกริบ รวดเร็ว และฉับพลัน
- ช่อชัยพฤกษ์ เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างและผู้นำที่ดี
2. หลักสูตรนักทำลายใต้น้ำจู่โจม
หลักสูตรนักทำลายใต้น้ำจู่โจม หรือมนุษย์กบ หรือที่ทุกคนคุ้นกันในชื่อ หน่วยซีล (Seal) เป็นหน่วยที่อยู่ภายใต้หน่วยปฏิบัติการสงครามพิเศษทางเรือ กองทัพเรือ
จะเปิดรับสมัครนักเรียนทหารทั้ง ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และตำรวจในการเข้าร่วมการฝึก ซึ่งทหารหรือตำรวจที่จะเข้าร่วมได้จะต้องมียศระดับชั้นประทวนและชั้นสัญญาบัตร ใช้เวลาในการฝึกทั้งหมดอยู่ที่ 7-8 เดือน (เป็นหน่วยที่ใช้เวลาในการฝึกที่ยาวนานที่สุดและโหดที่สุด)โดยได้แบ่งการฝึกออกเป็น 5 ช่วง ดังต่อไปนี้
1. การแนะนำการฝึกเบื้องต้น เป็นการฝึกออกกำลังกายและการผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ใช้เวลาในการฝึกประมาณ 3 สัปดาห์
2. เริ่มฝึกจริง เมื่อร่างกายได้ผ่านการทดสอบระยะแรกมาแล้ว ต่อมาก็จะเป็นการฝึกจริง ใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์
3. การฝึกสัปดาห์นรก จะเป็นการเข้าสู่ช่วงการฝึกที่เข้มข้น เพราะนักเรียนทหารทุกคนจะต้องทำการฝึกต่อเนื่องเป็นเวลา 5 วัน หรือ 120 ชั่วโมง ไม่มีการพยุดพัก ไม่มีการนอน
4. การฝึกสอนยุทธวิธีต่าง ๆ ที่หน่วยซีลจำเป็นต้องรู้และต้องใช้ในภารกิจต่าง ๆ
5. การฝึกยุทธวิธีในสภาพจริง เป็นการฝึกขั้นสุดท้ายเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนออกไปปฏิบัติงานจริง ใช้เวลาในการฝึก 2 เดือน
สถานที่ฝึกจะตั้งอยู่ที่ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ (เกาะพระ)
มีหน้าที่หลักก็คือ การต่อต้านการก่อการร้ายสากล การปฏิบัติการด้านจิตวิทยา ดำเนินการทางด้านข่าวลับ การก่อวินาศกรรม โดยจะเน้นการปฏิบัติงานทางเรือ ปฏิบัติการค้นหาใต้น้ำ การทำลายวัตถุระเบิดหรือทำลายทุ่นระเบิด การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล และปฏิบัติภารกิจพิเศษอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมาย
เมื่อผ่านการฝึกจนจบหลักสูตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นักเรียนทหารของหน่วยซีลจะได้รับตราประดับความสามารถ
ตราสัญลักษณ์ มีความหมายดังนี้
- ปลาฉลาม สีขาวหรือสีน้ำเงิน หมายถึง จ้าวแห่งท้องทะเล ดุร้าย น่าเกรงขาม สง่างาม และแข็งแกร่ง
- คลื่น หมายถึง ความน่าหวั่นกลัวของทะเลที่มีเกลียวคลื่นอยู่ตลอดเวลา หรืออุปสรรคจากคลื่นหัวแตก แต่ก็ไม่ได้ทำให้ฉลามเกรงกลัวแต่อย่างไร
- สมอเรือ หมายถึง ทหารเรือ (ในอดีตจะรับเฉพาะทหารเรือเท่านั้น แต่ปัจจุบันทางหน่วยได้รับทหารบก ทหารอากาศ และตำรวจเพิ่มเข้ามาด้วย)
- ธงชาติ หมายถึง การที่ยอมพลีชีพเพื่อปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
อ่านเพิ่มเติม : อยากเป็นหน่วย Seal ต้องทำยังไง? | หลักสูตรนักทำลายใต้น้ำจู่โจม
3. หลักสูตรลาดตะเวนสะเทินน้ำสะเทินบกและจู่โจมนาวิกโยธิน
หลักสูตรลาดตะเวนสะเทินน้ำสะเทินบกและจู่โจมนาวิกโยธิน กองทัพเรือ หรือที่ทุกคนรู้จักกันในชื่อ นักรบ Recon อยู่ภายใต้สังกัดกองพันลาดตระเวน กองพลนาวิกโยธิน เป็นอีกหนึ่งหลักสูตรที่ถือได้ว่าฝึกยากและต้องใช้ความอดทนไม่น้อยกว่าสองหน่วยแรกที่ได้กล่าวมาเลย โดยจะใช้เวลาในการฝึกทั้งหมด 3 เดือนด้วยกัน จะแบ่งการฝึกออกเป็น 3 ภาค ได้แก่ ภาคที่ตั้ง ภาคทะเล และภาคป่า/ภูเขา
ลักษณะการฝึกจะคล้าย ๆ กับการฝึกการรบบแบบจู่โจม ของกองทัพบก แต่การฝึกของนักรบ Recon จะเพิ่มการฝึกทางน้ำที่เข้มข้นเข้าไปด้วย โดยเฉพาะความท้าทายของเหล่านักเรียนทหารในการฝึกก็คือ การว่ายน้ำในเวลากลางคืน และการว่ายน้ำ 5 ไมล์ทะเล หรือประมาณ 9 กิโลเมตร (ถือว่าไกลมาก ๆ เลยและยังจะต้องใช้พลัง ความอดทน อีกด้วย)
นอกจากนี้พวกเขายังจะต้องฝึกทางอากาศด้วย เพราะด้วยความที่เป็นหน่วยรบแรกที่จะเข้าพื้นที่ของข้าศึกได้ นักรบ Recon จึงจำเป็นที่ต้องฝึกการส่งกำลังทางอากาศและปฏิบัติภารกิจแบบฉับพลันทางทะเล เรียกได้ว่านักรบ Recon นั้น ได้รับการฝึกหลากรูปแบบจริง ๆ จนได้รับฉายาว่า “นักรบสามมิติ”
สถานที่ฝึกจะตั้งอยู่ที่ กองพันลาดตระเวน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน
มีหน้าที่หลักคือ การลาดตระเวนระยะไกล ซึ่งการทำงานจะมีความใกล้เคียงกับกองพันลาดตระเวนระยะไกล (LRRP) หรือหน่วย Ranger ของกองทัพบก แต่ทั้งนี้นักรบ Recon จะเน้นการปฏิบัติภารกิจใกล้ชายฝั่งทะเล เช่น ตามแนวชายหาด ป่ายชายเลน และบนเรือมากกว่า เป็นต้น ส่วนหน่วย Ranger ที่จะปฏิบัติงานในภาคพื้นดินเป็นส่วนใหญ่
เมื่อฝึกจนจบหลักสูตรแล้ว นักเรียนทหารจะได้รับการประดับตราความสามารถ เพื่อเป็นการแสดงให้ถึงความสามารถ ความอดทน และความแข็งแกร่งของพวกเขา
ตราสัญลักษณ์ มีความหมายดังนี้
- รูปท้องทะเล ท้องฟ้า ภูเขา และหน้าผา ซึ่งอยู่ระหว่างสมอทั้งสองอันที่พันกันด้วยเชือก มีความหมายว่า ภายใต้ความสามัคคีกลมกลืนของกองทัพเรือนั้น จะเป็นรั้วที่เข้มแข็งเพื่อคุ้มครองป้องกันภัย ที่จะมาคุกคามต่อน่านน้ำ น่านฟ้า และชายฝั่งทะเลของไทย
- ครุฑเหยียบโลกที่ปรากฎอยู่บนแผนที่ประเทศไทย และมีสมอปักอยู่ มีความหมายว่า เครื่องหมายกรมนาวิกโยธินที่ขึ้นตรงต่อกองทัพเรือและปฎิบัติหน้าที่ภายใต้การควบคุม และการสนับสนุนจากกองทัพเรือ
บทความที่น่าสนใจ
- อยากเป็นหน่วย Seal ต้องทำยังไง? | หลักสูตรนักทำลายใต้น้ำจู่โจมกับการฝึกสุดโหด
- ตอบทุกข้อสงสัย เรียนนายร้อยตำรวจ สมัครได้ตอนอายุเท่าไร? เรียนจบอะไร?
- เปิดเส้นทางการสอบเข้า ทหารหญิง-ทุกเหล่าทัพ ต้องเรียนจบด้านไหน เปิดรับเมื่อไหร่?
- ทำความรู้จัก หน่วย SEAL | มนุษย์กบพันธุ์ดุ กับการฝึกสุดโหด หน่วยซีล
ข้อมูลและภาพจาก : https://pantip.com, www.mayahol.com, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (หน่วยซีล), วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (หน่วยรบพิเศษ), FB : We love soldiers – Royal Thai Army, FB : Thai NavySEAL
Written by : Toey