พระราชพิธีถวายพระราชสาส์น สัญลักษณ์การต่อรองทางอำนาจ ระหว่างไทย-ฝรั่งเศส

เดินทางมาถึงอีกหนึ่งฉากสำคัญในประวัติศาสตร์ของไทยสำหรับละครบุพเพสันนิวาส ซึ่งเป็นฉากที่คณะราชทูตจากประเทศฝรั่งเศส นำโดย “อาแล็กซ็องดร์ อัศวินแห่งโชมง” ได้เดินทางมาเพื่อถวายพระราชสาส์น (จากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส) ให้กับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่แล้วก็ต้องเกิดเหตุการณ์ที่ให้เหล่าขุนนางอยุธยาเกิดความไม่พอใจขึ้นมาก็คือ วิธีการถวายพระราชสาส์นของราชทูตชาวฝรั่งเศสที่จะต้องยืนถวายด้วยตนเอง ไม่ยอมที่จะยื่นแขนให้สุด และไม่ยอมจับปลายพานแต่กลับจับที่คอพาน จนทำให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจะต้องก้มตัวลงมารับสาส์นเสียเอง…

พระราชพิธีถวายพระราชสาส์น สัญลักษณ์การต่อรองทางอำนาจ ระหว่างไทย-ฝรั่งเศส

ราชทูตฝรั่งเศส เข้าถวายพระราชสาส์น สมเด็จพระนารายณ์

สำหรับการเดินทางมาของคณะราชทูตฝรั่งในครั้งนี้ นำโดย “อาแล็กซ็องดร์ อัศวินแห่งโชมง” หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ “เชอวาลีเยเดอโชมง (อัศวินแห่งโชมง)” เป็นหัวหน้าคณะราชทูต และนอกจากนี้ยังมี บาทหลวงโรมันคาทอลิก ได้แก่ บาทหลวงฟร็องซัว-ตีมอเลอง เดอ ชัวซี, บาทหลวงกี ตาชาร์ และบาทหลวงเบนีญ วาเช จากคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส

อาแล็กซ็องดร์ อัศวินแห่งโชมง ราชทูตจากฝรั่งเศส ละครบุพเพสันนิวาส 

ทำไมไทย-ฝรั่งเศส จึงติดต่อกันอยู่บ่อยครั้ง?

การติดต่อเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่พบมากเป็นพิเศษในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งชาติตะวันตกที่เข้ามามีอิทธิพลในการเมืองไทยมากที่สุดในสมัยนั้นก็คือ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งตรงกับสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส 

อีกหนึ่งเหตุผลมาจากบริษัทอินเดียตะวันออกดัตช์ (Vereenigde Oost-Indische Compagnie : VOC) ซึ่งรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้ให้การสนับสนุนจนมีอำนาจในการสร้างกองทัพเรือ การผลิตเงินตรา หรือการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศได้ด้วยตนเองและได้รับอภิสิทธิ์ในการผู้ขาดทางการค้าเครื่องเทศในแถบชวาและโมลุกกะ จนสามารถขึ้นมามีอิทธิพลทางทะเลเหนือโปรตุเกสและสเปนซึ่งเคยมีอำนาจอยู่ก่อนในแถบนี้ได้สำเร็จ

บริษัทอินเดียตะวันออกดัตช์ได้รับอภิสิทธิ์ทางการค้าต่างๆ จากราชสำนักอยุธยามาก่อนหน้านั้นนานแล้ว โดยปรากฏว่าได้ผูกขาดการค้าหนังกวางสำหรับส่งไปขายที่ญี่ปุ่นและได้สิทธิผูกขาดในการซื้อดีบุกจากนครศรีธรรมราช แต่ภายหลังเกิดกรณีพิพาทกับกรุงศรีอยุธยาในเรื่องการค้าขายทางทะเลกับเมืองจีนและญี่ปุ่น ใน พ.ศ. 2207 ดัตช์จึงยกกองทัพเรือเข้ามาปิดปากน้ำ และบีบให้กรุงศรีอยุธยายอมทำสัญญาว่าจะไม่ค้าขายแข่งกับเนเธอร์แลนด์อีก นอกจากนี้ดัตช์ยังได้ยึดเมืองบันตัมในอินโดนีเซียเมื่อ พ.ศ. 2227 ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าดัตช์จะลุกลามมาตีหัวเมืองของอยุธยาไปด้วย

นอกจากนี้ราชสำนักอยุธยาก็เกิดกรณีพิพาทกับบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ (East India Company : EIC) เนื่องจากลูกจ้างของบริษัทต้องการจะแยกตัวออกมาทำการค้าอิสระ ราชสำนักอยุธยาก็ให้การสนับสนุนโดยให้ชาวอังกฤษเหล่านั้นมารับราชการเดินเรือของอยุธยาแลกกับการอนุญาตให้ชาวอังกฤษเหล่านั้นสามารถฝากสินค้าของตนไปในเรือหลวงเพื่อค้าขายได้ จึงมีชาวอังกฤษจำนวนมากที่แยกตัวออกมา ทำให้บริษัทอังกฤษไม่พอใจเป็นอย่างมาก

ภาพจากละครบุพเพสันนิวาส สมเด็จพระนารายณ์มหาราช รับบทโดย ปราปต์ปฎล สุวรรณบาง

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงทรงหันไปผูกมิตรกับฝรั่งเศส ซึ่งเป็นชาติมหาอำนาจของยุโรปในเวลานั้นเพื่อเป็นการคานอำนาจของเนเธอร์แลนด์และอังกฤษแทน สันนิษฐานว่าเพราะฝรั่งเศสในเวลานั้นเป็นศัตรูของเนเธอร์แลนด์ในเรื่องของการค้าและเรื่องของศาสนา เนื่องจากฝรั่งเศสนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก โดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ทรงเป็นคริสตศาสนูปถัมภกของนิกายนี้และกีดกันศาสนาคริสต์นิกายอื่นอย่างรุนแรง ในขณะที่เนเธอร์แลนด์นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์

ฝรั่งเศสเองก็เล็งเห็นประโยชน์ในการเจริญสัมพันธไมตรีกับไทย เนื่องจากพบว่ามีมิชชันนารีฝรั่งเศสไปเผยแผ่ศาสนาที่กรุงศรีอยุธยาแล้วพบว่า อยุธยามีเสรีภาพในการนับถือและเผยแผ่ศาสนาจากชาติอื่นๆ ได้ และมิชชันนารีฝรั่งเศสก็ได้รับการต้อนรับจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นอย่างดี ฝรั่งเศสจึงมองเห็นประโยชน์ในการเผยแผ่ศาสนาให้กว้างขวางออกไป และมีความมุ่งหวังจะชักชวนให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชให้ทรงหันมานับถือศาสนาคริสต์ด้วย

และอีกประการหนึ่งก็คือ ฝรั่งเศสเห็นว่าเนเธอร์แลนด์ทำการค้าได้กำไรมหาศาลในภูมิภาคนี้ จึงได้ตั้งบริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศสขึ้นมาบ้างเพื่อทำการแข่งขันทางการค้า เมื่อทราบว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงโปรดปรานพวกมิชชันนารีเป็นอย่างมาก จึงเกิดเป็นช่องทางให้ติดต่อเข้ามายังราชสำนักอยุธยาเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี และฝรั่งเศสเองก็มีความต้องการเมืองท่าสำคัญของอยุธยาอย่าง บางกอกหรือมะริดไว้เป็นที่ตั้งสถานีการค้าด้วยเช่นกัน ดังนั้นพระเจ้าหลุยส์ที่ 14  แห่งฝรั่งเศส จึงได้แต่งตั้งคณะทูตชุดแรกมายังกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2228 

ฝรั่งเศส ส่งคณะราชทูตมาเยือนไทยครั้งแรก

ผู้นำคณะเป็นผู้บังคับการทหารเรือนามว่า “อาแล็กซ็องดร์ เชอวาลีเย เดอ โชมง (อัศวินแห่งโชมง)” ขุนนางบรรดาศักดิ์เชอวาลิเยร์ (Chevalier เทียบเท่า Knight หรืออัศวิน) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญ (Ambassadeur Extraordinaire) ผู้มีอำนาจเต็มแทนพระองค์พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส โดย อาแล็กซ็องดร์ เป็นชาวฝรั่งเศส เกิดในปี พ.ศ. 2183 ณ กรุงปารีส และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2253 ณ กรุงปารีสเช่นกัน

แต่อย่างไรก็ตามได้เกิดความไม่ลงรอยกันในเรื่องพระราชพิธีรับราชทูตในครั้งนี้ ซึ่งเกิดมาจากธรรมเนียมปฏิบัติต่อตัวราชทูตระหว่างสองชาตินั้นแตกต่างกัน โดยตามธรรมเนียมตะวันตกถือว่าราชทูตเป็นผู้แทนพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน มีสิทธิขาดอำนาจเต็มในการเจรจาดำเนินการต่างองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งตัวโชมงได้รับโปรดเกล้าให้มีสถานะดังกล่าว แต่ธรรมเนียมไทยนั้นถือว่าสิ่งแทนองค์พระมหากษัตริย์คือ พระราชสาส์น ส่วนตัวราชทูตนั้นเป็นเพียงผู้ที่อัญเชิญพระราชสาส์นเท่านั้น ไม่ได้มีอำนาจใดๆ และด้วยเหตุนี้ทำให้คณะทูตไม่ว่าจะมาจากชาติใดๆ เมื่อได้เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินจะต้องปฏิบัติตามธรรมเนียมไทยคือ ต้องหมอบคลานและกราบถวายบังคม ไม่เว้นแม้แต่ราชทูตจากอาณาจักรใหญ่อย่างจีน เปอร์เซีย หรือโมกุล

ภาพจากละครบุพเพสันนิวาส ขณะที่ฟอลคอนไปตกลงกับเหล่าขุนนางของอยุธยาถึงวิธีการเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชของคณะราชทูตจากฝรั่งเศส 

เมื่อ อาแล็กซ็องดร์ เชอวาลีเย เดอ โชมง ได้ทราบเกี่ยวกับธรรมเนียมปฏิบัติของไทยก็ไม่ประสงค์จะปฏิบัติตาม เนื่องจากเห็นว่าไม่สมเกียรติในฐานะผู้แทนพระองค์พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศศ จึงได้ขอร้องให้ราชสำนักอยุธยาจัดขุนนางมาทำความตกลงเรื่องพระราชพิธีเพื่อให้เป็นที่สมเกียรติทั้งสองฝ่าย สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงโปรดให้ “คอนสแตนติน ฟอลคอน” ขุนนางชาวกรีกซึ่งเป็นที่โปรดปรานในเวลานั้น ซึ่งมีบรรดาศักดิ์เป็น “ออกพระฤทธิคำแหงภักดี” เป็นผู้ทำความตกลงกับฝรั่งเศส

ภาพจากละครบุพเพสันนิวาส ในฉากของคณะราชทูตฝรั่งเศส เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อถวายพระราชสาส์น จากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งสฝรั่งเศส 

นอกจากเรื่องความเคารพแล้วนั้น โชมงยังได้เจรจาในเรื่องการเข้าเฝ้าของขุนนางผู้มีตระกูลชาวฝรั่งเศสที่ติดตามคณะทูตมาด้วย ซึ่งเดิมมีการเห็นควรว่าถ้าจะเข้าเฝ้าก็ต้องให้หมอบคลานตามธรรมเนียม หรือไม่เช่นนั้นก็ไม่ให้เข้าเฝ้าเลย ซึ่งโชมงเองยืนยันให้ขุนนางเหล่านี้ได้เข้าเฝ้าพร้อมกัน (โดยไม่ต้องหมอบคลาน) ซึ่งฟอลคอนเองก็ลำบากใจเพราะโดยปกติแล้วไม่เคยมีการผ่อนผัน แม้แต่ราชทูตจากตังเกี๋ยและญวนยังต้องหมอบคลานขึ้นบันไดและหมอบเฝ้าหน้าที่ประทับ

ภาพจากละครบุพเพสันนิวาส ขณะที่อัศวินโชมงกำลังทำความเคารพพระนารายณ์มหาราช โดยการถอดหมวกออกแล้วทำคำนับเท่านั้น 

แต่โชมงยืนยันไม่ยอมและกล่าวแถมท้ายด้วยว่า ถ้าไม่ได้รับอนุญาตก็ไม่อาจจะเข้าเฝ้า สุดท้ายจึงต้องรอมชอมกันให้ขุนนางฝรั่งเศสเหล่านี้ไม่ยืนอยู่หน้าที่ประทับ แต่ให้เข้าไปนั่งรอในท้องพระโรงก่อนจะเสด็จออก โดยให้นั่งบนพรมที่เตรียมไว้ ซึ่งเมื่อนำความขึ้นกราบทูลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้วก็ทรงมีพระบรมราชานุญาตตามนั้น

การถวายพระราชสาส์นของ อัศวินแห่งโชมง

ในเรื่องการถวายพระราชสาส์น เดิมฟอลคอนตั้งใจว่าจะอัญเชิญพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสลงเรือพระที่นั่ง จากนั้นแล้วจึงมอบให้ขุนนางชั้นผู้ใหญ่นำขึ้นถวาย แต่ตัวโชมงไม่ยอมเด็ดขาด และต้องการจะถวายพระราชสาส์นให้ถึงพระหัตถ์สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโดยตรงตามอย่างธรรมเนียมของยุโรป ซึ่งฟอลคอนก็ตกลงตามนั้นและได้ตกลงให้พระอธิการ เดอ ชัวซีย์ เป็นผู้อัญเชิญพระราชสาส์น และได้เข้าเฝ้าพร้อมราชทูตด้วย

นอกจากนี้เพราะสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจะประทับในที่สูง ฟอลคอนจึงเสนอให้ใช้พานมีด้ามจับถวายพระราชสาส์น แต่ทางฝรั่งเศสไม่ยอม ได้เรียกร้องให้ลดพระราชบัลลังก์ที่ประทับลงมาหรือทำยกพื้นให้สูงขึ้นเพื่อให้ถวายพระราชสาส์นต่อพระหัตถ์ได้ ซึ่งฟอลคอนเองได้สัญญาว่าจะปฏิบัติตามนั้น (นับได้ว่าทางอยุธยายอมโอนอ่อนตามคำเรียกร้องของราชทูตฝรั่งเศสแทบทุกประการ)

วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2228 คณะทูตฝรั่งเศสได้เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นต่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่พระราชวังหลวงกรุงศรีอยุทธยา ตัวโชมงและชาวฝรั่งเศสทั้งปวงได้รับเกียรติให้สวมหมวกและรองเท้าเวลาเข้าเฝ้าได้ตามธรรมเนียมฝรั่งเศสและมีเก้าอี้ให้โชมงได้นั่งรอ

ภาพพิมพ์แกะไม้ชื่อ Ambassade française à la cour du Roi de Siam : แสดงเหตุการณ์วันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1686 (พ.ศ. 2228) ที่เชอวาลิเยร์ เดอ โชมงต์ ถวายพระราชสาส์นแด่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่น้อมพระองค์ลงมาจากสีหบัญชร โดยมีฟอลคอนหมอบอยู่เบื้องล่าง ชี้นิ้วบอกให้โชมงชูพานขึ้นไป (เบื้องหลังโชมงคือบาทหลวง เดอ ชัวซีย์ ส่วนบาทหลวงอีกคนที่อยู่มุมขวาสุดคือพระสังฆราชเมเตลโลโปลิส (หลุยส์ ลาโน) เจ้าคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสประจำกรุงศรีอยุธยา) 

แต่เมื่อโชมงได้เข้าเฝ้าแล้วกลับพบว่าฟอลคอนผิดสัญญาที่ให้ไว้ เพราะสมเด็จพระนารายณ์มหาราชประทับอยู่บนสีหบัญชรที่สูงมากจนไม่สามารถถวายพระราชสาส์นต่อพระหัตถ์ได้ และฟอลคอนกลับเอาพานซึ่งมีด้ามจับยาวสามฟุตมาให้โชมงวางพระราชสาส์นสำหรับชูถวายขึ้นไปแทน

ตัวโชมงเองก็ไม่ใช่คนยอมใครง่ายๆ เมื่อเขาได้กราบถวายบังคมทูลเสร็จแล้ว จึงนำพระราชสาส์นใส่พานเพื่อทูลเกล้าถวาย แต่ตัวโชมงกลับไม่ยอมชูพานนั้นขึ้นไปสุดแขน ด้วยเห็นว่า ไม่สมเกียรติเพราะเขาต้องการจะถวายพระราชสาส์นให้ใกล้ที่สุด เขาจึงประสงค์จะให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชน้อมพระองค์ออกจากสีหบัญชรมารับ แม้ฟอลคอนที่หมอบอยู่จะพยายามบอกให้ยื่นพานขึ้นไป โชมงก็ไม่สนใจ

ภาพจากละครบุพเพสันนิวาส ขณะที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชก้มตัวลงไปรับสาส์นจากมือของอัศวินโชมง 

อย่างไรก็ตาม หลักฐานฝรั่งเศสหลายชิ้นระบุตรงกันว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงน้อมพระองค์ออกจากสีหบัญชรมารับพระราชสาส์น โดยทรงพระสรวล (หัวเราะ) และทรงนำพระราชสาส์นนั้นจบเหนือเศียรเกล้าเป็นการให้เกียรติ หลังจากนั้นทรงมีพระราชปฏิสันฐานกับราชทูตแล้วจึงเป็นอันเสร็จพิธี

ส่วนเรื่องที่ว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจะทรงเต็มพระทัยแค่ไหนที่จะน้อมพระองค์ลงมาก็ยากที่จะกล่าวได้ แต่ต่อให้ทรงเต็มพระทัยที่ทำเช่นนั้น ก็น่าเชื่อว่าในหมู่ข้าราชการกรุงศรีอยุทธยาส่วนใหญ่รวมไปถึงตัวฟอลคอนเองคงไม่พอใจกับการกระทำของราชทูตฝรั่งเศสนัก…

ภารกิจสำคัญของอัศวินแห่งโชมง

สำหรับภารกิจที่อาแล็กซ็องดร์ เชอวาลีเย เดอ โชมง ได้รับมาจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส นอกจากจะต้องเดินทางมาถวายพระราชสาส์นให้แก่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้วนั้น อีกหนึ่งภารกิจสำคัญก็คือต้องมาชักชวนให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเข้ารีตเป็นคริสต์ศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิก เพื่อให้การเจรจาทำสัญญาทางการค้าสำคัญหลายฉบับเป็นไปอย่างราบรื่นขึ้น แต่การนี้ไม่ประสบความสำเร็จตามที่พระเจ้าหลยส์ที่ 14 ต้องการ

บทความที่น่าสนใจ

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, FB : วิพากษ์ประวัติศาสตร์https://mello.me, ละครบุพเพสันนิวาส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง