โกษาปาน จากหัวหน้าคณะราชทูตไทย สู่เทียดในรัชกาลที่ 1 ราชวงศ์จักรี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

โกษาปาน หรือ ออกพระวิสูตรสุนทร ซึ่งในเวลาต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์จากพระยาโกษาธิบดี เป็น เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) อีกหนึ่งตัวละครสำคัญในละครบุพเพสันนิวาส ที่มีตัวตนอยู่จริงในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 27 ในสมัยกรุงศรีอยุธยา) และมีหน้าสำคัญในการเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับฝรั่งเศส ในขณะที่ดำรงตำแหน่ง ออกพระวิสูตรสุนทร ได้เป็นหัวหน้าคณะราชทูตไทยไปเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ณ ประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2229 และทำให้กรุงศรีอยุธยากับประเทศฝรั่งเศสมีสัมพันธ์ไมตรีที่แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) นักการทูตคนสำคัญแห่งอยุธยา

โดยในละครเรื่องบุพเพสันนิวาสผู้ที่มารับบทเป็น โกษาปาน ก็คือนักแสดงมากฝีมือ เก่ง-ชาติชาย งามสรรพ์ และในบทความนี้ แคมปัส-สตาร์ จะพาทุกคนย้อนประวัติศาสตร์ไปรู้จักกับ โกษาปาน เอกอัครราชทูตคนสำคัญที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการเดินทางไปเจริญสัมพันธไม่ตรีกับประเทศฝรั่งเศส

ประวัติ โกษาปาน / เจ้าพระยาโกษาธิบดี

โกษาปาน มีชื่อเดิมว่า “ปาน” เป็นบุตรของเจ้าแม่วัดดุสิต (บัว) ซึ่งเป็นพระนมเอกในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชกับขุนนางเชื้อสายมอญ และเป็นน้องชายของออกญาโกษาธิบดี (ขุนเหล็ก) เกิดในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และเป็นพระนัดดาในสมเด็จพระเอกาทศรถ ซึ่งท่านได้ดำรงตำแหน่งพระคลังระหว่างปี พ.ศ. 2200-2226

เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ครั้งเป็นออกพระวิสูตรสุนทรราชทูต (ภาพวาดฝีมือชาวฝรั่งเศสวาดเมื่อ พ.ศ. 2227)

ในเวลาต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น ออกพระวิสูตรสุนทร โดยในสมัยที่โกษาปานดำรงตำแหน่งเป็นออกพระวิสูตรสุนทรได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทูตออกไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส ซึ่งในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประเทศฝรั่งเศสมีอิทธิพลในราชสำนักเป็นอย่างมาก สำหรับจุดประสงค์ของฝรั่งเศสที่ได้เข้ามาในกรุงศรีอยุธยาก็คือ ต้องการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ และพยายามให้พระนารายณ์มหาราชเข้ารีตเป็นศริสต์ชนด้วย รวมทั้งพยายามที่จะมีอำนาจทางการเมืองในอยุธยา ด้วยการเจรจาขอตั้งกำลังทหารของตนที่เมืองบางกอกและเมืองมะริด

ผลงานสำคัญด้านการต่างประเทศ

โกษาปาน หรือ ออกพระวิสูตรสุนทร ได้ออกทางไปประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2228 ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เมื่อ 1 กันยายน พ.ศ. 2229 และเดินทางกลับเมื่อ 27 กันยายน พ.ศ. 2230 รวมเดินทางไปกลับอยุธยาฝรั่งเศสทั้งหมด 1 ปี 9 เดือน ออกพระวิสูตรสุนทร เป็นนักการทูตที่สุขุม ไม่พูดมาก ละเอียดลออในการจดบันทึกในสิ่งที่ได้พบเห็นระหว่างการเดินทางอย่างละเอียด

สำหรับการเข้าเฝ้าในครั้งนี้ ออกพระวิสูตรสุนทร ได้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของราชสำนักอยุธยาอย่างถูกต้องตามขนบธรรมเนียมประเพณีการเข้าเฝ้า จนชาวฝรั่งเศสได้กล่าวยกย่องชื่นชมคณะทูตไทย ซึ่งถือได้ว่าการไปเจริญสัมพันธไมตรีในครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและฝรั่งเศสแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

คณะราชทูตที่เดินทางไปเข้าเฝ้าเพื่อถวายพระราชสาส์นพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่ห้องกระจก พระราชวังแวร์ซายส์ วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2229 ได้แก่ ซ้าย-ออกพระวิสูตรสุนทร ราชทูต, กลาง-ออกหลวงกัลยาราชไมตรี อุปทูต, ขวา-ออกขุนศรีวิสารวาจา ตรีทูต

การเจริญสัมพันธไมตรีของออกพระวิสูตรสุนทรและคณะราชทูตในครั้งนี้ได้สร้างชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือไปทั่วในทวีปยุโรป เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่พระเจ้าแผ่นดินทางด้านตะวันออกแต่งคณะราชทูตไปยังสำนักฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ทรงจัดการรับรองคณะราชทูตจากกรุงศรีอยุธยาอย่างสมเกียรติยศ โปรดให้จัดทำเหรียญที่ระลึกและมีการเขียนรูปราชทูตไทยเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศส เป็นที่ระลึกอีกด้วย

ภาพวาดโกษาปาน และคณะราชทูตขณะเยือนประเทศฝรั่งเศส

ทั้งนี้ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ได้รับการยกย่องสรรเสริญในเรื่องความสามารถทำให้ไทยเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ และจากบุคลิกของท่านที่เฉลียวฉลาด มีมารยาทเรียบร้อย ช่างสังเกต ช่างจดจำ พูดจาหลักแหลมคมคาย ทำให้ท่านประสบความสำเร็จในการประกาศชื่อเสียง และเกียรติคุณของประเทศชาติ จากผลงานการเป็นหัวหน้าคณะราชทูตไทยไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศฝรั่งเศสจนประสบผลสำเร็จของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ทำให้ไทยรอดพ้นจากการคุกคามของฮอลันดา

เหรียญที่ระลึก ราชทูตไทยเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของประเทศฝรั่งเศส 

โกษาปาน ในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา

หลังจากที่ได้สิ้นรัชสมัยของพระนารายณ์มหาราชแล้วนั้น ออกพระวิสูตรสุนทรได้เข้าเป็นฝ่ายของพระเพทราชา (สมเด็จพระเพทราชา พระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 28 ในสมัยกรุงศรีอยุธยา) โดยออกพระวิสูตรสุนทรได้รับมอบหมายหน้าที่ให้เป็นผู้เจรจากับนายพลฝรั่งเศสที่คุมป้อมอยู่ที่เมืองบางกอกให้ถอนทหารออกไปจากอาณาจักรไทยได้สำเร็จ

และด้วยความที่ พระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นชายหนุ่มที่มีรูปงาม กิริยามารยาทเรียบร้อย มีไหวพริบดีรู้จักโต้ตอบ ได้ถูกเรื่องราวและกาลเทศะ ไม่มีอาการประหม่าสะทกสะเทิ้นเขินอาย เป็นคนช่างสังเกตจดจำสิ่งที่พบเห็นได้ทุกอย่าง เมื่อเปลี่ยนแผ่นดินเป็นสมเด็จพระเพทราชานั้น พระยาโกษาธิบดี (ปาน) ได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน)

ภาพจากละครบุพเพสันนิวาส ออกพระวิสูตรสุนทร (รับบทโดย เก่ง-ชาติชาย) และขุนศรีวิสารวาจา (รับบทโดย โป๊ป-ธนวรรธน์)

แต่ด้วยเหตุที่เป็นคนซื่อสัตย์ต่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นอย่างมาก ดังนั้นเมื่อเห็นว่าสมเด็จพระเพทราชากระทำการไม่สมควรคือ แต่งตั้งทั้งพระมเหสีและพระขนิษฐาของสมเด็จพระนารายณ์มาหราชเป็นพระมเหสี โกษาปานก็ได้เตือนสมเด็จพระเพทราชาว่าไม่สมควรที่จะแต่งตั้งพระมเหสีและพระขนิษฐาของสมเด็จพระนารายณ์มาหราชเป็นพระมเหสี แต่สมเด็จพระเพทราชาไม่ทรงเห็นด้วย และนี่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้สมเด็จพระเพทราชานั้นทรงกริ้วโกษาปานเป็นอย่างมาก

จึงหาเหตุให้ต้องพระราชอาญา เมื่อ พ.ศ. 2243 ภรรยาตลอดจนทรัพย์สมบัติของท่านก็ถูกริบจนหมดและมีโทษโบยด้วยเชือกจนสลบ โดยได้เล่ากันต่อมาว่า หลังของท่านไม่มีเนื้อดีเลย จนทำให้ท่านไม่กล้าที่กราบทูลเรื่องสำคัญแก่สมเด็จเพทราชาเลย เพราะเกรงกลัวพระราชอาญา จนในที่สุดก็ถึงแก่อสัญกรรม

การถึงอสัญกรรมของโกษาปาน

เก่ง-ชาติชาย ผู้ที่มารับบทเป็น โกษาปาน หรือ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) 

โดยเรื่องการถึงแก่อสัญกรรมของ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) นั้น ได้มีการระบุเอาไว้ในจดหมายของบาทหลวงกาเบรียล โบรด์ (Gabriel Braud) รองประมุขมิสซังสยาม ที่ได้ส่งถึงบาทหลวงบริซาซิเยร์ (Jacques-Charles de Brisacier) ผู้อำนวยการคณะมิสซังต่างประเทศ กรุงปารีส เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2243 มีเนื้อหากล่าวถึงการลงอาญาและประหารชีวิตขุนนางที่ส่งไปปราบกบฏที่เมืองนครราชสีมาจำนวนมาก รวมถึงเรื่องการมรณกรรมของโกษาปานซึ่งถึงแก่อสัญกรรมไปก่อนหน้าสองเดือนแล้ว มีใจความสำคัญดังนี้

เจ้าพระยาพระคลังหาได้อยู่ในจำพวกขุนนางที่ถูกประหารชีวิตไม่ เพราะได้ตายเสียก่อนสองเดือนมาแล้ว เขาพูดกันว่าที่ตายนี้ก็เพราะถูกเฆี่ยนตายทั้งเสียใจที่ตัวต้องถูกเฆี่ยนและถูกลงอาญาบ่อยๆ ด้วย เพราะ 4 ปีมาแล้วที่ พระเจ้าแผ่นดินทรงกริ้วและได้เอาพระแสงดาบตัดปลายจมูกเจ้าพระยาพระคลัง ตั้งแต่นั้นมาเจ้าพระยาพระคลังก็ต้องรับพระราชอาญาเรื่อยมา เพราะพระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงไว้พระทัยเสียแล้ว ก่อนที่เจ้าพระยาพระคลังจะตายนั้นบุตรสาวคนโตและบุตรชายสองสามคนกับภรรยาน้อยของเจ้าพระยาพระคลังได้ถูกจับตัวไป จึงได้เกิดลือกันว่าเจ้าพระยาพระคลังมีความเสียใจนักจึงได้เอามีดแทงชายโครงฆ่าตัวเองตาย

การที่เจ้าพระยาพระคลังตายนี้พระเจ้าแผ่นดินก็ออกตัวได้ดี ได้ทรงแกล้งทำเสียพระทัยว่าเจ้าพระยาพระคลังได้ถึงอสัญกรรมเสียแล้ว จึงได้โทษว่าหมอจีนซึ่งเป็นผู้รักษาเจ้าพระยาพระคลังได้เอายาพิษให้เจ้าพระยาพระคลังรับประทานจึงได้พระราชทานรางวัลโดยให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนหมอคนนั้นและให้เฆี่ยนทั้งหลังและท้องด้วย เวลากลางคืนได้ยกศพเจ้าพระยาพระคลังไปฝังไว้ยังวัดหาได้มีการทำบุญให้ท่านอย่างใดไม่และมิได้ทำการศพให้สมกับเกียรติยศ ซึ่งต้องมีการแห่ศพไปไว้ยังโรงทึมและเผาตามธรรมเนียม

นี่แหละเป็นที่สิ้นชื่อของอัครราชทูตสยามที่ได้ไปเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศฝรั่งเศส และเป็นอัครมหาเสนาบดีของพระเจ้าแผ่นดินสยามองค์ปัจจุบันนี้ด้วย ออกญาพิพัฒน์ผู้ช่วยของเจ้าพระยาพระคลังซึ่งเป็นคนอัธยาศัยดีคงทำการให้พระเจ้าแผ่นดินโปรดอยู่เสมอ แต่ออกญาพิพัฒน์ก็พูดอยู่เสมอว่ามิช้ามิเร็วก็คงจะถูกเหมือนอย่างคนทั้งหลายเหมือนกัน

ทางด้านครอบครัวของโกษาปาน

ส่วนครอบครัวของโกษาปานก็ได้แตกฉานซ่านเซ็นไปอยู่คนละทิศละทาง เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งสุดท้าย คุณทองดีซึ่งเป็นหลานปู่ของโกษาปานได้อพยพไปอยู่กับเจ้าพระยา​พิษณุโลก​ (เรือง) ต่อมาเมื่อเหตุการณ์สงบได้มาตั้งนิวาสสถานอยู่ ณ ตำบลสะแกกรัง เมืองอุทัยธานี ซึ่งในเวลาต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (ทองดี) ได้เสกสมรสกับพระอัครชายา (หยก) และมีบุตรธิดาด้วยกัน 5 พระองค์ โดยบุตรคนที่ 4 คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือมีพระนามเดิมว่า “ทองด้วง” ปฐมกษัตริย์ในราชวงศ์จักรี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงเท่ากับว่า เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) นั้น นับได้ว่าเป็นเทียดของรัชกาลที่ 1 เลยทีเดียว

ภาพลำดับราชวงศ์จักกรี : พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์ในราชวงศ์จักรี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 1)

** เทียด คือ พ่อ-แม่ ของทวด

บทความที่น่าสนใจ

อ้างอิงข้อมูลและภาพจาก : ทวิตเตอร์ ศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดริ-ศปร.www.dandinth.comwww.ch3thailand.comhttp://travelchoicetv.ran4u.comวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง