ชุมชนปู่หมื่น ดอยปู่หมื่น ททท ท่องเที่ยว เชียงใหม่ เที่ยวชุมชน

ชุมชนปู่หมื่น เชียงใหม่ กับต้นแบบท่องเที่ยววิถีชีวิตชุมชน | ททท.

Home / เรื่องทั่วไป / ชุมชนปู่หมื่น เชียงใหม่ กับต้นแบบท่องเที่ยววิถีชีวิตชุมชน | ททท.

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดกิจกรรม Village Tourism 4.0 ภายใต้โครงการ Village to the World 4.0 สร้างสรรค์กิจกรรมและส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวท้องถิ่น ขานรับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสร้างความเจริญ และยกระดับความเป็นอยู่ของคนในชนบทให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยลงพื้นที่สำรวจแหล่งท่องเที่ยวภายใต้โครงการพัฒนากลุ่มจังหวัด (แอ่งท่องเที่ยว) เพื่อส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของชุมชนในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในท้องถิ่น ผสมผสานกับผลิตภัณฑ์ทางภูมิปัญญาและการท่องเที่ยวแบบบูรณาการ ซึ่งเป็นการสร้างทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น และช่วยเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยภายในท้องถิ่น สร้างรายได้และความเข้มแข็งให้กับชุมชน

ชุมชนปู่หมื่น เชียงใหม่

โดยได้เลือก 10 ชุมชนต้นแบบจากทั่วประเทศ คือ ชุมชนปู่หมื่น ต.แม่สาว อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ , ชุมชนตำบลบ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย, ชุมชนแหลมสัก อ.อ่าวลึก จ.กระบี่, ชุมชนบ้านลำขนุน อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง, ชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรรักษ์เขาบายศรี อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี, ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบ้านแหลมมะขาม อ.แหลมงอบ จ.ตราด, ชุมชนตำบลบ้านแหลม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี, ชุมชนตำบลหนองโรง อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี, ชุมชนตำบลสวาย อ.เมือง จ.สุรินทร์ และชุมชนบ้านสนวนนอก อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์

ชาวบ้านดอยปู่หมื่นทำอาหาร

ชุมชนปู่หมื่น จังหวัดเชียงใหม่

สำหรับชุมชนแรก คือ ชุมชนปู่หมื่น จังหวัดเชียงใหม่ ททท. ได้จัดเส้นทางให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีชุมชนท้องถิ่น ในคอนเซ็ปต์ Life of tea เพราะชุมชนนี้ ซึ่งเป็นชุมชนที่ได้รับพระราชทาน ชา ปุ่หมื่น สายพันธ์อัสสัม จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โดยหมู่บ้านตั้งอยู่บนเทือกเขาแดนลาว ในเขตท้องที่ตำบลแม่สาว อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ระยะทางห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ ประมาณ 174 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง ก็จะได้พบกับทัศนียภาพอันสวยงาม รวมถึงวิถีชีวิตของชาวเขาเผ่าลาหู่

ฝางน้ำพุร้อน

อีกทั้งนักท่องเที่ยวที่เลือกเส้นทางนี้ จะพักโฮมสเตย์, ชมการเต้นจะคึก และทานอาหารพื้นเมืองของชาวลาหู่, จะได้ดื่มชา, เก็บใบชา, อบใบชา ด้วยตัวเอง รวมถึงท่องเที่ยวเส้นทางใกล้ๆอาทิ ฝางน้ำพุร้อน และน้ำตกปู่หมื่น เป็นต้น

สำหรับเรื่องราวของชนเผ่ามูเซอนี้ ย้อนไปกว่าร้อยปี มีชนเผ่ากลุ่มหนึ่งนามว่า “ลาหู่” หรือ “มูเซอแดง” ซึ่งอพยพลงมาจากประเทศจีน ก่อนที่จะเข้าพม่า และเข้ามาเลือกปักหลักในแผ่นดินไทย ณ ขุนเขาแห่งนี้ โดยมีผู้นำชนเผ่าชื่อ นายปู่หมื่น (นายแตงเต้า) ที่ได้ปกครองชุมชนเรื่อยมาจนแก่เฒ่า ชาวบ้านจึงเรียกว่า “ปู่หมื่น” ดอยแห่งนี้จึงถูกขนานนามว่า “ดอยปู่หมื่น”

ชาวบ้านทำชา

ชาวบ้านประกอบอาชีพการรับจ้างเก็บใบชา และทำงานรับจ้างดูแลป่าไม้ของกรมป่าไม้ รวมไปถึงการปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิกาจำหน่าย จากอดีตที่เคยเป็นแหล่งปลูกฝิ่นแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ด้านติดชายแดน อาชีพของเกษตรกรจะทำไร่เลื่อนลอย มีการบุกรุกถางป่าเพื่อปลูกพืช ทำให้สภาพป่ากลายเป็นเขาหัวโล้น

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เยี่ยมชาวไทยภูเขาที่บ้านปู่หมื่นในปี 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จฯ ที่บ้านดอยปู่หมื่นและได้พระราชทานต้นชาให้นำมาปลูกที่บ้านปู่หมื่น นับเป็นชาต้นแรกที่ปลูกและขยายพันธุ์แก่เกษตรกรในพื้นที่ เป็นชาสายพันธุ์อัสสัม ปัจจุบันนี้ บ้านดอยปู่หมื่นเป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่ปลูกชาอัสสัมมากที่สุดแห่งหนึ่ง

‘น้ำตกปู่หมื่น’ หรือ ‘น้ำตกงวงช้าง’

อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า ชุมชนปู่หมื่น ยังมีเส้นทางเดินป่าเพื่อชมธรรมชาติและความงามของน้ำตกอีกด้วย นั่นคือ ‘น้ำตกปู่หมื่น’ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ‘น้ำตกงวงช้าง’ ซึ่งน้ำตกปู่หมื่นเป็นน้ำที่ไหลมาจากดอยผาหลวง (ดอยผ้าห่มปก)

ความโดดเด่นของน้ำตกปู่หมื่น คือมีลักษณะเหมือนงวงช้าง ซึ่งเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เมื่อกระแสน้ำได้ไหลไปกระทบกับหลุมบนหินที่อยู่ตรงกลางของระหว่างชั้นแล้ว จะพุ่งขึ้นไปฟุ้งกระจายเป็นฝอยโค้งซึ่งมีลักษณะคล้ายงวงช้างที่สวยงามมาก ถือได้ว่าเป็นสิ่ง มหัศจรรย์ทางธรรมชาติที่หาชมได้ยาก

ทิวทัศน์ดอยปู่หมื่น

ทิวทัศน์ดอยปู่หมื่น

ที่พักบนดอยปู่หมื่น

ที่พักบนดอยปู่หมื่น

ยอดใบชาดอยปู่หมื่น

ยอดใบชาดอยปู่หมื่น

ผู้บริหารถ่ายภาพร่วมกับอาจารย์และริชชี่

โดยพร้อมกันนี้ทาง ททท. ได้กำหนดให้มีการจัดงานนำสินค้าและบริการของทั้ง 10 ชุมชนออกจำหน่ายอย่างเป็นทางการในงานไทยเที่ยวไทย ครั้งที่ 45 ณ อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี ฮอลล์ 3 และ 4 ในวันที่ 2 – 5 พฤศจิกายน 2560 นี้ หรือไปที่ www.tourismthailand.org/villagetourism

บทความแนะนำ