ชีวิตจริงของคุณ อาร์ม – กัมปนาท พนัสนาชี หรือ 36MAN (Thirty six Man) พี่ชายวัย 26 ปี ได้แต่ง เพลงแร๊ป SOS โรคซึมเศร้า ขณะที่น้องสาวตกอยู่ในภาวะของ โรคซึมเศร้า ขั้นรุนแรง คุณอาร์มพยายามจะบอกกับผู้ที่ได้ฟังแร็ปนี้ ให้ลองสังเกตตัวเอง และลักษณะของอาการโดยรวม ที่มา ที่ไปของผู้ป่วย ที่อยู่ในภาวะ โรคซึมเศร้า ว่าเกิดจากอะไร แล้วเพื่อน ๆ รวมถึงญาติพี่น้องควรดูแล – รับมือกับผู้ป่วยอย่างไร
เพราะการที่บอกกับผู้ป่วยว่า “ปัญหาแค่นี้เล็กน้อย เดี๋ยวก็ผ่านมันไปได้” ไม่ได้ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น เพราะเขาจะรู้สึกว่าผู้พูดเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับเขา ผู้พูดไม่เข้าใจเขา ไม่มีใครเข้าใจเขาเลย
เพลงแร๊ป SOS โรคซึมเศร้า
อาร์ม – กัมปนาท พนัสนาชี หรือ 36MAN (Thirty six Man)
คุณอาร์มได้มีโอกาสพูดคุยกับจิตแพทย์ คุณหมอ นักวิชาการ ผู้มีประสบการณ์ และองค์กรที่ผลักดันเกี่ยวกับ โรคซึมเศร้า รวบรวมสาเหตุ ปัจจัย จากสังคม โซเชียล ครอบครัว และสารเคมีในสมอง คุณหมอได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจมาก ลองฟังดูค่ะ
คลิป เข้าใจวัยรุ่น เข้าใจโรคซึมเศร้า
สื่ออื่นให้ความสนใจ
หลังจากมีการเผยแพร่คลิปเพลง SOS [ 36MAN ] ก็มีแฟนเพจจำนวนไม่น้อย ได้ให้ความสนใจ และใส่ใจกับการรับรู้รับมือกับผู้ที่มีภาวะ โรคซึมเศร้า ทั้งจาก สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย, สสส., เครือข่ายความสุขจากโรคซึมเศร้า ฯลฯ รวมถึง Drama-addict ด้วย (จริง ๆ มีหลายเพจมากค่ะ บอกไม่หมดเลย)
เนื้อหาของเพลงแร็ป SOS
เป็นที่น่าสนใจมาก กับเนื้อหาที่ได้มีการเรียบเรียงให้ฟังได้เข้าใจง่าย เริ่มจาก การสังเกตผู้ป่วย เพื่อนรอบ ๆ ตัว หรือคนในครอบครัว ว่ามีอาการผิดปกติอย่างไร เบื่ออาหาร หรือใจลอยบ่อยแค่ไหน พอวรรค 2 ก็จะพูดถึงลักษณะอาการโดยรวมของผู้ป่วย หรือผู้มีภาวะซึมเศร้า เล่าถึงสาเหตุ ว่าเกิดขึ้นได้จากอะไรบ้าง จบด้วยวรรคสุดท้าย พูดถึง แนวทางการรักษาและดูแลเบื้องต้น
หลังจากปล่อยเพลงแร็ป SOS ออกมาแล้ว คุณอาร์มยังได้ทำเพลง กอดใจ / HUG MY SELF [ 36MAN ] เป็นเพลงให้กำลังใจตัวเอง (ของผู้มีภาวะซึมเศร้า) อย่างต่อเนื่อง
กอดใจ / HUG MY SELF [ 36MAN ]
Artist/Lyrics : 36MAN
mix/edit : 36MAN
Beat : “Time Will Tell” by Beatfella
© Beatfella © 36MAN
ฟังเพลงแร็ป SOS
คลิป เพลงแร็ป SOS [36MAN]
เนื้อเพลง SOS
v1 การสังเกตความเสี่ยงที่จะเป็น
เริ่มสังเกตุตัวเองและคนรอบ ๆ ตัว / ทั้งเพื่อนพี่น้องและคนที่อยู่ในครอบครัว
บางอย่างอาจผิดไปแต่ว่าเราไม่รู้ตัว / อาจเป็นที่จิตใจข้างในเริ่มพร่ามัว
เบื่ออาหารจนไม่กินข้าวกินปลา / หรือกินมากเกินไปจนไม่ได้ดูเวลา
นอนไม่ค่อยหลับตื่นกลางดึกเสมอมา / หรือนอนแล้วไม่อยากตื่นไม่มีชีวิตชีวา
ไม่มีแรงและเคลื่อนไหวเชื่องช้าลง / ขาดสมาธิกระวนกระวายไม่อดทน
ทำอะไรผิดก็โทษว่ามันเป็นเพราะตน / ไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะทำอะไรดูมืดมน
หรืออาจคิดเอามีดมากรีดที่ร่างกาย / และอาจถึงขั้นที่มีความคิดฆ่าตัวตาย
ถ้าเกินสองสัปดาหฺ์นั่นแปลว่าคุณไม่สบาย / แค่ระยะเริ่มต้นและมันยังไม่อันตราย
v2 ลักษณะอาการโดยรวม
สาเหตุอาจเกิดมาจากกรรมพันธ์ / หรือชีวิตที่เจอปัญหาทุก ๆ วัน
ความเครียดรุมเร้าสะสมทับถมกัน / ไม่ว่าจะเรื่องงานหรือหนี้สินแตกต่างกัน
เสียความสมดุลของสารเคมีในสมอง / ทำให้ความสุขที่เคยมีไม่ตอบสนอง
ขาดความมั่นใจโลกที่สดใสหม่นหมอง / กัดกินข้างในหัวใจจนช้ำเลือดช้ำหนอง
ด้านอารมณ์มีแต่โศกเศร้าเสียใจ / ส่งผลให้ตัวเองคิดแต่แง่ลบวนๆไป
ไม่อยากมีชีวิตมีความคิดอยู่ในใจ / กินไม่ได้นอนไม่หลับไม่รู้พรุ่งนี้ควรทำไง
นี่เป็นกลุ่มอาการของภาวะซึมเศร้า / มีความผิดหวังจากการคาดหวังเป็นสิ่งเร้า
คิดว่าตัวเองมันด้อยค่ากว่าใครเค้า / จนไม่อยากตื่นมาใช้ชีวิตในตอนเช้า
v3 พูดถึงแนวทางการรักษาและดูแลเบื้องต้น
หาคนรับฟังเรื่องที่เก็บต้องระบาย / อาจเป็นครอบครัวพี่สาวหรือพี่ชาย
หนึ่งสามสองสาม โทรไปไม่ต้องอาย / หรือโทรปรึกษาสะมาริตันส์ประเทศไทย
ปรึกษาจิตแพทย์เรื่องอาการให้แน่ชัด / เพื่อหาปมที่ผูกให้คุณหมอเค้าแก้มัด
เข้ารับการรักษาด้วยยาและจิตบำบัด / และคุณต้องเปิดใจแม้ข้างในเงียบสงัด
ออกไปใช้ชีวิตหรือไปออกกำลังกาย / คุณยังมีเพื่อนยังมีคนอื่นตั้งมากมาย
ปรับเปลี่ยนสมดุลทำให้ตัวเองผ่อนคลาย / โรคนี้ต้องใช้เวลาอย่าท้อแท้นะพวกนาย
ส่วนคนรอบข้างต้องเปิดหูใช้ใจฟัง / รับรู้เรื่องราวให้เหมือนตอนอยู่ข้าง ๆ กัน
เชื่อในตัวเค้าว่าเค้าจะยิ้มในเร็ววัน / ความรักที่คอยดูแลมันคือที่สุดของพลัง
—–
ปรึกษาหากพบผู้คาดว่าจะเป็น โรคซึมเศร้า
อย่าอายที่จะคุยกับจิตแพทย์ ลบความเชื่อผิด ๆ ที่ว่า มีแต่คนบ้าที่จะพบจิตแพทย์.. คุณไม่ได้บ้า ญาติ พี่น้องคุณ ก็ไม่ได้บ้า จิตแพทย์ คือผู้ที่จะเข้าใจ และช่วยแก้ปัญหาให้ได้ดีที่สุด
สายด่วน 1323
เบอร์นี้สำหรับพูดคุยปรึกษา ผู้ที่ให้คำปรึกษาส่วนใหญ่เป็นนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ พยาบาลวิชาชีพ
Depress we care โรงพยาบาลตำรวจ
สายด่วน 081-932-0000
สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย
โทร. 02-713-6793 ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 12.00-22.00 น.
สมาคมที่ให้บริการเป็นเพื่อนพูดคุยทางโทรศัพท์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อ
ป้องกันการฆ่าตัวตาย
เมื่อปรึกษาสายด่วนแล้ว หากมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าเจ้าหน้าที่จะแนะนำโรงพยาบาลตามสิทธิรักษาพยาบาลใกล้บ้านหรือที่สะดวก เพื่อให้เข้าดำเนินการต่อต่อรักษาโรคต่อไป
คลิป โรคซึมเศร้า คืออะไร ต้องดูแลผู้ป่วยอย่างไร?