วันนี้ 22 เม.ย. ของทุกปี ถูกกำหนดโดยโครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ (United Nations Environment Program “UNEP”) ให้เป็นวันคุ้มครองโลก (Earth Day) เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่หนึ่งในคนสำคัญที่ทำให้วันคุ้มครองโลกกลายเป็นวาระแห่งชาติคือ ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี เขาเห็นด้วยกับเรื่องนี้และเดินสายรณรงค์ก่อนจะถูกลอบยิงเสียชีวิต
ประวัติ วันคุ้มครองโลก
เกย์ลอร์ด เนลสัน (Gaylord Nelson) สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ริเริ่มให้มีวันคุ้มครองโลกขึ้น เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 ในเวลาต่อมา สมาชิกวุฒิสภาเนลสันได้ตัดสินใจขอให้ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ยกเรื่องสิ่งแวดล้อมขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ เคเนดีเห็นด้วย และได้ออกเดินสายทั่วประเทศ เป็นเวลา 5 วัน 11 รัฐ ในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2506 (ก่อนที่ประธานาธิบดีเคเนดีจะถูกลอบยิงเสียชีวิต) อ่านเรื่องราว >> จอห์น เอฟ เคนเนดี ถูกลอบสังหาร
และการเดินสายในครั้งนั้นของ ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี เอง นับเป็นจุดเริ่มต้นของการริเริ่มวันคุ้มครองโลก จนในปี พ.ศ. 2512 สมาชิกวุฒิสภาเนลสันได้ผลักดันให้มีการจัดการชุมนุมประชาชนระดับรากหญ้าทั่วประเทศขึ้น เพื่อให้แสดงความคิดเห็นในปัญหาสิ่งแวดล้อม และได้เชิญชวนให้ทุก ๆ คนร่วมการชุมนุมเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดกระแสความห่วงใยในวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ของสังคมอเมริกันในขณะนั้น นำสู่ความสำเร็จของการก่อตั้งวันคุ้มครองโลกขึ้นต่อมา
22 เม.ย. ยังเป็นวันคุ้มครองโลกช่วงวิษุวัต
วันคุ้มครองโลกที่กำหนดขึ้นจากช่วงวิษุวัต (equinox) ด้วย เป็นช่วงที่ในกลางวันและกลางคืนมีระยะเวลาเท่ากัน และเป็นการเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิในซีกโลกเหนือ และฤดูใบไม้ร่วงในซีกโลกใต้ โดยนับจากเหตุการณ์ธรรมชาติที่แกนขั้วโลกจะตั้งได้ฉากกับเส้นศูนย์สูตรมากที่สุด ในช่วงวันที่ 20-21 มีนาคมของทุกปี
สืบ นาคะเสถียร คนสำคัญที่ทำให้ไทยตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม
สำหรับในประเทศไทยเองเมื่อถึงวันที่ 22 เม.ย. ของทุกปี ก็จะมีการจัดกิจกรรมวันคุ้มครองโลกเป็นประจำทุกปีเช่นกัน โดยจัดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2533 โดยโรงเรียนสอนภาษาสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา และในไทยผู้ที่มีบทบาทเกี่ยวกับเรื่องการอนุรักาณ์สิ่งแวดล้อมก้คือ สืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขาเป็นนักอนุรักษ์และนักวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติชาวไทย มีชื่อเสียงจาการพยายามปกป้องแก่งเชี่ยวหลานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง และฆ่าตัวตายเพื่อเรียกร้องให้สังคมเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งการจัดวันคุ้มครองโลกในไทยครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2533 เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากที่ สืบ นาคะเสถียร กระทำการอัตวินิบาตกรรม
สำหรับในวันนี้เชิญชวนให้คนไทยทุกคนตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ร่วมกันรักษาความสะอาด คัดแยกขยะให้ถูกต้องเมื่อทิ้งลงถัง ส่งเสริมการปลูกต้นไม้ เพื่อธรรมชาติจะได้อยู่ได้อย่างสมบูรณ์ต่อไป