ความหมาย ความเป็นมา ชื่อเดือน

ที่มาของชื่อเดือนต่างๆ ทำไมบางเดือนถึงลงท้าย คม – ยน

Home / สาระความรู้ / ที่มาของชื่อเดือนต่างๆ ทำไมบางเดือนถึงลงท้าย คม – ยน

ความรู้อ่านเพลินๆ เกี่ยวกับชื่อเดือนในภาษาไทยทั้ง 12 เดือน ในปฏิทินสุริยคติไทย ซึ่งก็คือปฏิทินอย่างเป็นทางการของประเทศไทยในปัจจุบัน ตั้งโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ

ความหมายของชื่อเดือน 12 เดือน

ย้อนไป พ.ศ.2432 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศใช้ปฏิทินแบบใหม่ตามสุริยคติตามแบบสากล (จากเดิมที่ประเทศไทยใช้แบบจันทรคติ คือปฏิทินที่นับตามคติการโคจรของดวงจันทร์ โดยหมายดูจากปรากฏการณ์ข้างขึ้นข้างแรม) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา หรือเจ้าจอมมารดาเปี่ยม ในรัชกาลที่ 4) ซึ่งทรงสนพระทัยในวิชาโหราศาสตร์ ทรงเป็นผู้คิดปฏิทินไทยใช้ตามสุริยคติ เรียกว่า “เทวะประติทิน” ทั้งกำหนดชื่อเดือนขึ้นมาใหม่ จากเดิมที่ใช้เดือนอ้าย เดือนยี่ ถึงเดือนสิบสอง เป็นชื่อเดือนแบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน (ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงใช้คำว่า “ปฏิทิน” แทนประติทิน)

โดยกำหนดแบ่งให้หนึ่งปีมี 12 เดือน และในแต่ละเดือนจะมี 28-31 วันตามปฏิทินสากล การตั้งชื่อเดือนในครั้งนั้นกำหนดเดือนแรกของปีคือ เดือนเมษายน จนถึงเดือนสุดท้ายของปีคือเดือนมีนาคม ซึ่งยังคงใช้รัตนโกสินทรศกเป็นชื่อปีอย่างเป็นทางการ โดยใช้ 1 เมษายน ร.ศ.108 แทนที่ 1 เมษายน พ.ศ.2432 จนกระทั่งเลิกใช้ปีรัตนโกสินทรศกที่ 131 จึงได้เปลี่ยนมาใช้ปีพุทธศักราชอย่างเป็นทางการ โดยปีพุทธศักราชแรกที่ใช้คือปีพ.ศ.2456

ทั้งนี้ การตั้งชื่อเดือนทรงใช้ตำราจักรราศี ซึ่งแสดงการโคจรของดาวเคราะห์รอบดวงอาทิตย์ในหนึ่งปีตามวิชาโหราศาสตร์ โดยทรงนำคำสองคำมาสนธิกัน คำต้นเป็นชื่อราศีที่ปรากฏในช่วงเวลานั้น รวมกับคำว่า “อาคม” หรือ “อายน” ที่แปลว่า “การมาถึง” โดยได้ระบุวันอย่างชัดเจน คือ คำว่า คม สำหรับเดือนที่มี 31 วัน และ คำว่า ยน สำหรับเดือนที่มี 30 วัน (ยกเว้นเดือนกุมภาพันธ์ที่มี 28 หรือ 29 วัน ถ้าเป็นปีอธิกสุรทิน) ดังนี้

การตั้งชื่อเดือนทรงใช้ตำราจักรราศี

  1. มกราคม อักษรย่อ ม.ค. อ่านว่า มะ-กะ-รา-คม รากศัพท์มาจาก มกร+อาคม แปลว่า การมาถึงของราศีมกร (มังกร)
  2. กุมภาพันธ์ ย่อ ก.พ. อ่านว่า กุม-พา-พัน รากศัพท์มาจาก กุมภ+อาพันธ์ แปลว่า การมาถึงของราศีกุมภ์ (หม้อ)
  3. มีนาคม ย่อ มี.ค. อ่านว่า มี-นา-คม รากศัพท์มาจาก มีน+อาคม แปลว่า การมาถึงของราศีมีน (ปลา)
  4. เมษายน ย่อ เม.ย. อ่านว่า เม-สา-ยน รากศัพท์มาจาก เมษ+อายน การมาถึงของราศีเมษ (แกะ)
  5. พฤษภาคม ย่อ พ.ค. อ่านว่า พรึด-สะ-พา-คม รากศัพท์มาจาก พฤษภ+อาคม แปลว่า การมาถึงของราศีพฤษภ (วัว, โค)
  6. มิถุนายน ย่อ มิ.ย. อ่านว่า มิ-ถุ-นา-ยน รากศัพท์มาจาก มิถุน+อายน แปลว่า การมาถึงของราศีมิถุน (ชายหญิงคู่)
  7. กรกฎาคม ย่อ ก.ค. อ่านว่า กะ-ระ-กะ-ดา-คม รากศัพท์มาจาก กรกฎ+อาคม แปลว่า การมาถึงของราศีกรกฎ (ปู)
  8. สิงหาคม ย่อ ส.ค. อ่านว่า สิง-หา-คม รากศัพท์มาจาก สิงห+อาคม แปลว่า การมาถึงของราศีสิงห์ (สิงห์)
  9. กันยายน ย่อ ก.ย. อ่านว่า กัน-ยา-ยน รากศัพท์มาจาก กันย+อายน แปลว่า การมาถึงของราศีกันย์ (สาวพรหมจารี)
  10. ตุลาคม ย่อ ต.ค. อ่านว่า ตุ-ลา-คม รากศัพท์มาจาก ตุล+อาคม แปลว่า การมาถึงของราศีตุล (ตาชั่ง)
  11. พฤศจิกายน ย่อ พ.ย. อ่านว่า พฺรึด-สะ-จิ-กา-ยน รากศัพท์มาจาก พฤศจิก+อายน แปลว่า การมาถึงของราศีพิจิก (แมงป่อง)
  12. และ ธันวาคม ย่อ ธ.ค. อ่านว่า ทัน-วา-คม รากศัพท์มาจาก ธนู+อาคม แปลว่า การมาถึงของราศีธนู (ธนู)

สำหรับปีอธิกสุรทิน คือปีที่มีการเพิ่ม 1 วันเข้าไปเพื่อให้ปีปฏิทินสอดคล้องกับปีดาราศาสตร์ หรือปีฤดูกาล เพราะฤดูกาลและเหตุการณ์ทางดาราศาสตร์มิได้เกิดซ้ำในจำนวนเต็มวัน ปฏิทินซึ่งมีจำนวนวันในแต่ละปีเท่าเดิมจึงต้องเลื่อนให้ตรงกับเหตุการณ์ที่ปฏิทินควรจะติดตามเมื่อเวลาผ่านไป โดยการแทรกวันหรือเดือนเพิ่มเข้าไปในปีนั้น

การเลื่อนจึงสามารถทำให้ถูกต้องได้ ปีที่มิใช่ปีอธิกสุรทิน เรียกว่า ปีปกติสุรทิน

ที่มา นสพ.ข่าวสด