ยุวกษัตริย์ รัชกาลที่ 8 รัชกาลที่ 9 สโมสรปาตาปุม ในหลวงรัชกาลที่ 9

เรื่องเล่า – สโมสรปาตาปุม ของ 2 ยุวกษัตริย์ ที่ใช้ตู้เสื้อผ้าเป็นที่ประชุม

Home / สาระความรู้ / เรื่องเล่า – สโมสรปาตาปุม ของ 2 ยุวกษัตริย์ ที่ใช้ตู้เสื้อผ้าเป็นที่ประชุม

แคมปัส-สตาร์ มีอีกหนึ่งเรื่องราวสุดประทับใจ ที่อ่านแล้วสามารถสร้างรอยยิ้มให้ทุกคนได้ในช่วงเวลานี้ เป็นเรื่องราวของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 และ รัชกาลที่ 9  เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ทั้งสองพระองค์เคยชวนกันเล่นเปิด สโมสรปาตาปุม (Club Patapoum) ขึ้นมา ถึงแม้จะเป็นการเล่นในตอนทรงพระเยาว์ แต่เรื่องราวทั้งหมดนั้นได้สะท้อนให้เห็นว่า ยุวกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ ทรงรู้จักการเสียภาษี และการเก็บออมมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์

สโมสรปาตาปุม ชมรมของ ร.8 และ ร.9 เมื่อครั้งทรงพระเยาว์

Club Patapoum (9)

สโมสรปาตาปุมนี้ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเล่าว่า พระองค์ทรงได้รับจดหมายจากสโมสรปาตาปุม ในจดหมายนั้นระบุชื่อกรรมการที่ดำรงตำแหน่งต่างๆ ของสโมสรเป็นจำนวนมาก แต่กรรมการที่มีตัวตนจริงคงมีเพียงสองพระองค์ (รัชกาลที่ 8 และ รัชกาลที่ 9) นั่นเอง โดยทรงใช้พระนามที่แตกต่างกัน ระบุในตำแหน่งจริง และตำแหน่งรอง สลับกันไปมาระหว่างสองพระองค์

และทรงเล่าต่อไปอีกว่า พระองค์ไม่ทรงทราบว่าสโมสรนี้ตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ใด แต่คงตั้งขึ้นเพื่อแสวงหาผลประโยชน์แก่สโมสร หาความสนุกอย่างเด็กๆ และในขณะเดียวกันก็เป็นการทำบุญด้วย รายได้ของสโมสรปาตาปุมได้มาจากค่าสมาชิก และการหารายได้พิเศษ

Club Patapoum (10)
ภาพตอนทรงพระเยาว์ของรัชกาลที่ 8 และ รัชกาลที่ 9

ค่าสมาชิกก็คือ เงินส่วนหนึ่งที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีพระราชทานทุกสัปดาห์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงได้รับเงินมากกว่าเนื่องจากทรงเจริญพระชนมายุกว่า จึงต้องทรงเสียค่าสมาชิกมากกว่า นอกจากนี้ ยังมีข้อตกลงระหว่างสองพระองค์ว่า ถ้าพระองค์ใดทรงได้รับเงินเป็นของขวัญ จะต้องทรงเสียภาษีให้แก่สโมสรด้วย หากทรงมีรายได้พิเศษ จะต้องเก็บภาษีร้อยละ 50 เป็นรายได้สำหรับคนจน สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งทรงได้รับสมมติเป็น “รัฐบาล” ทรงทำกล่องไว้สำหรับสองพระองค์ทรงบริจาคเงินสำหรับทำบุญไว้ด้วย หากพระองค์ใดมีพระราชประสงค์จะทรงทำบุญก็จะทรงนำเงินไปใส่กล่องเอง

Club Patapoum (19)
สมเด็จพระพี่นางฯ รัชกาลที่ 8 และ รัชกาลที่ 9

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เคยกราบบังคมทูลถามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เมื่อ พ.ศ. 2529 เกี่ยวกับรายได้ของสโมสรปาตาปุม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงรับสั่งว่า สโมสรปาตาปุมนี้ร่ำรวยมากขึ้นเมื่อคราวเสด็จฯ นิวัติประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2481 เรื่องนี้ ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ได้เล่าขยายไว้น่าสนใจ เห็นควรนำมาถ่ายทอดเล่าสู่กันฟัง ดังนี้

Club Patapoum (2)
เสด็จฯ ไปเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ที่วังสระปทุม เมื่อ พ.ศ.2481

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ 8) กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) เสด็จฯ นิวัติประเทศเมื่อ พ.ศ. 2481 นั้น

วันหนึ่งทั้งสองพระองค์เสด็จฯ ไปเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ที่วังสระปทุม ทั้งสองพระองค์ยังใฝ่พระราชหฤทัยในการหารายได้เข้าสโมสรอยู่ มีพระราชประสงค์ได้เงินพระราชทานจากสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า แต่ครั้นจะกราบบังคมทูลขอพระราชทานตรงๆ ง่ายๆ ก็หาใช่พระอุปนิสัยไม่ มีพระราชดำริที่จะทรงหาเงินโดยมิต้องออกพระโอษฐ์กราบบังคมทูลขอพระราชทาน

Club Patapoum (1)
เสด็จฯ ไปเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ที่วังสระปทุม เมื่อ พ.ศ.2481

กล่าวคือ ทรงทำพระอาการว่า โปรดจะทอดพระเนตรเงินไทย จึงกราบบังคมทูลถามว่า เงินใบละบาทมีไหม สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้ารับสั่งว่ามี ทั้งสองพระองค์ก็กราบบังคมทูลต่อไปว่า ขอดูหน่อย สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าก็โปรดให้ข้าหลวงประจำพระองค์ไปนำเงินมาถวายให้ทอดพระเนตร ทั้งสองพระองค์ทรงถือโอกาสว่า สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าพระราชทานเงินนั้นแล้วก็ทรงกราบ แล้วรับสั่งถามถึงธนบัตรราคาอื่น ตั้งแต่ราคา 1 บาท 5 บาท 10 บาท 20 บาท เมื่อข้าหลวงนำเงินมาถวายให้ทอดพระเนตร สองพระองค์ก็จะทรงกราบขอบพระทัยทุกครั้ง

ครั้นสองพระองค์รับสั่งถามถึงธนบัตรฉบับละ 50 บาท สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้ารับสั่งตอบว่า ไม่มี ก็รับสั่งถามต่อไปอีกว่า แล้วธนบัตรฉบับละ 100 บาท มีไหม ถึงตอนนี้ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าพอจะเข้าพระทัยในพระราชดำริของพระราชนัดดา แม้ว่าจะทรงพระเมตตา แต่ก็ไม่โปรดคนที่เอาเปรียบคนอื่น เมื่อทรงทราบทันพระราชนัดดา ก็รับสั่งตอบไปว่า “มี แต่จะต้องตัดในบัญชีของหลาน” ถึงตอนนี้ทั้งสองพระองค์จึงได้ทรงหยุด ไม่กราบบังคมทูลขอต่อไปอีก

Club Patapoum (6)

สโมสรปาตาปุมนี้ มีการประชุมด้วย โดยใช้ตู้เก็บฉลองพระองค์ในห้องพระบรรทมของสองพระองค์เป็นสถานที่ประชุม เนื่องจากสองพระองค์ทรงพระเจริญเร็ว จึงมีฉลองพระองค์ในตู้ไม่มากนัก ทำให้พอที่จะเสด็จเข้าไปประทับประชุมลับกันได้ การประชุมสโมสรนี้ก็มักเป็นเรื่องตกลงว่าจะนำเงินสโมสรไปซื้ออะไร หากมีเงินเก็บมากก็จะนำไปฝากธนาคารไว้ นอกจากเงินแล้ว ยังมีทรัพย์สินอื่น คือ เหรียญทองสวิสที่ทรงซื้อเก็บสะสมทีละเล็กละน้อย กับหนังสือ ซึ่งมีทั้งหนังสือส่วนพระองค์ หนังสือส่วนสโมสร และหนังสือความรู้ที่ “รัฐบาล” ทรงซื้อให้

Club Patapoum (7)

ภาพตอนทรงพระเยาว์

Club Patapoum (4)
จดหมายจากสโมสรปาตาปุมที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงได้รับ เป็นลายพระราชหัตถ์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่8)

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเล่าว่า สโมสรปาตาปุมนี้ได้ส่งจดหมายมาถึงพระองค์อีก 2-3 ครั้ง ฉบับหนึ่งเป็นลายพระราชหัตถ์ (ลายมือ) ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ 8) ทรงเป็นภาษาฝรั่งเศสล้อเลียนงานเขียนของนักเขียนบทละครชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง และทรงเล่าว่า สโมสรปาตาปุมยังได้สงเคราะห์พระองค์เมื่อครั้งประชวรอยู่ที่โรงเรียนนานาชาติเจนีวา ทรงได้รับกล่องบรรจุไก่ย่างตัวเล็ก ช็อกโกแลต สิ่งของอื่นๆ และมีหนังสืออวยพรขอให้หายป่วยเร็วๆ กล่องนี้ระบุว่าส่งมาจากสโมสรปาตาปุม และมี ป.ล.ด้วยว่า สโมสรปาตาปุม เป็นผู้จ่ายเงิน ไม่ใช่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า)

Club Patapoum (3)
รายนามผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในสโมสรปาตาปุม ที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงได้รับแจ้งทางจดหมาย (มีภาพป๊อบอายด้วย) ทรงพระน่ารักมาก ขออนุญาตใช้คำสามัญ

สโมสรปาตาปุมได้ยุติลงเมื่อต้องเสด็จฯ นิวัติประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2489 กระนั้น การเล่นสโมสรของยุวกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ ก็ได้แสดงให้เห็นว่า ทรงรู้จักการเสียภาษี และการเก็บออมมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ภาษีหรือเงินที่ทรงเสียให้สโมสรนั้นก็ได้นำไปทำบุญหรือบริจาคในทางสาธารณประโยชน์ นับว่าเป็นการเล่นที่สะท้อนพระราชอัธยาศัยได้เป็นอย่างดี ทั้งยังส่งผลสืบเนื่องมาสู่พระบรมราโชบาย และพระราชดำริต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎรตลอดมา

ภาพหาชมยาก รัชกาลที่ 8 และ รัชกาลที่ 9 ตอนทรงพระเยาว์

Club Patapoum (12)

Club Patapoum (11)

Club Patapoum (15)

Club Patapoum (16)

Club Patapoum (8)

Club Patapoum (18)

Club Patapoum (17)

Club Patapoum (16)

Club Patapoum (13)

Club Patapoum (14)

Club Patapoum (20)

ข้อมูลและภาพจากหนังสือ เจ้านายเล็กๆ – ยุวกษัตริย์ พระนิพนธ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และหนังสือ ทำเป็นธรรม ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เรียบเรียง, http://www.photoontour.com, https://www.facebook.com/RoyalArchivesofOHM/

บทความแนะนำ