ช่วงนี้เราได้ยินคำว่า ฝนหลวง หรือฝนเทียมบ่อยๆ จากการติดตามข่าวของฝุ่นพิษ PM 2.5 ซึ่งหลายๆ คนอาจจะสงสัยว่า ฝนหลวง ฝนเทียม คืออะไร วันนี้ Campus-star หลักการทำแบบเข้าใจง่าย มาฝากเพื่อนๆ กันจ้า
ฝนหลวง ฝนเทียม คืออะไร
เป็นกรรมวิธีการเหนี่ยวนำน้ำจากฟ้า ใช้เครื่องบินบรรจุสารเคมีขึ้นไปโปรยในท้องฟ้า โดยดูจากความชื้นของเมฆและสภาพทิศทางลมประกอบกัน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดฝนคือ ความร้อนชื้นปะทะความเย็นและมีแกนกลั่นตัวที่มีประสิทธิภาพในปริมาณที่เหมาะสม (อ่านต่อ : พระบิดาแห่งฝนหลวง ในหลวงรัชกาลที่ 9 – วันพระบิดาแห่งฝนหลวง 14 พฤศจิกายน )
หลักการทำฝนเทียม
1. ก่อกวน
- ก่อนการทำฝนเทียม ในอากาศต้องมีความชื้นสัมพัทธ์ไม่น้อยกว่า 60 %
- โปรยโซเดียมคลอไรด์ หรือเกลือแกงที่ระดับความสูง 7,000 ฟุต เพื่อให้เป็นแกนกลั่นตัว
- ความชื้นหรือไอน้ำจะเข้าไปเกาะรอบแกนเกลือ และก่อเป็นเมฆ
2. เลี้ยงให้อ้วน
เพิ่มไอน้ำให้กลุ่มเมฆฝนมีความหนาแน่นมากยิ่งขึ้น โดยใช้แคลเซียมคลอไรด์ เพื่อเพิ่มความร้อน และเร่งการกลั่นตัวของไอน้ำ จนกลายเป็นเมฆก้อนใหญ่ เมฆจะก่อยอดได้เป็น 2 แบบ คือ เมฆอุ่น และเมฆเย็น
- เมฆอุ่น : เมฆที่ไม่สามารถก่อยอดสูงเกินระดับอุณหภูมิจุดเยือกแข็ง หรือประมาณ 18,000 ฟุต
- เมฆเย็น : เมฆที่สามารถก่อยอดขึ้นไปสูงกว่าระดับอุณหภูมิจุดเยือกแข็ง ถึงระดับ 20,000 ฟุต
3. โจมตี
การโจมตีมี 3 แบบ คือ แบบ Sandwich ( เมฆอุ่น ) ,แบบ เมฆเย็น และแบบ Super sandwich
- แบบ Sandwich ( เมฆอุ่น ) : เร่งให้เกิดฝนโดยการเติมโซเดียมคลอไรด์ที่ยอดเมฆ และใช้เครื่องบินอีกเครื่องเติมยูเรีย และน้ำแข็งแห้ง ที่ฐานเมฆ จากนั้นจึงเติมน้ำแข็งแห้ง ที่ใต้ฐานเมฆ เพื่อช่วยลดความร้อน ทำให้ฝนไม่ระเหย
- แบบ เมฆเย็น : โจมตีเมฆเย็นโดยใช้สารซิลเวอร์ไอโดไดด์ ทำให้ไอน้ำระเหยมาเกาะแกนซิลเวอร์ไอโอไดด์ กลายเป็นผลึกน้ำแข็ง เมื่อผลึกน้ำแข็งร่วงลงมาเจอกับเมฆอุ่น ก็จะกลายเป็นเม็ดฝน
- แบบ Super sandwich : เป็นการโจมตี แบบ Sandwich ( เมฆอุ่น ) และแบบ เมฆเย็น ควบคู่กันไป ซึ่งจะช่วยให้มีปริมาณน้ำฝนมากขึ้น และฝนตกนานขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก : เปิดตำรา…ฝนหลวง และขั้นตอนปฏิบัติการทำฝนหลวง
ความรู้เพิ่มเติม เกี่ยวกับฝนหลวง ฝนเทียม
การทําฝนหลวง จะช่วยลดปัญหาหมอกควันในอากาศได้อย่างไร ?
– หมอกควันในอากาศส่วนใหญ่เกิดจากไฟป่าและการเผาเศษซากพืชหลังการเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นหุบเขาในภาคเหนือในช่วงฤดูหนาว การทําฝนหลวงจะทําให้มีฝนตกลงมาซับละอองหมอกควันในอากาศให้เจือจางลงได้
ปัจจัยธรรมชาติที่ช่วยให้ทําฝนได้ดีขึ้นมีอะไรบ้าง ?
– 1.ความชื้นในอากาศสูง 2.อากาศลอยตัวในแนวตั้งได้ดี 3.พื้นที่เป้าหมายอยู่หน้าเขา 4.พื้นที่เป้าหมายมีป่าหรือมีพืชปกคลุม
การปฏิบัติการฝนหลวงใช้เวลานานเท่าใด จึงจะทําให้ฝนตกในพื้นที่เป้าหมายได้ ?
– ระยะเวลาที่ใช้ในการทําฝนนั้นขึ้นอยู่กับสภาพอากาศว่ามีความเหมาะสมเพียงใด ซึ่งโดยปกติแล้วจะเริ่มปฏิบัติการและก่อให้เกิดฝนตกได้ในตอนบ่าย-ค่ำ
การทําฝนหลวงมีฝนตกทุกครั้งหรือไม่ ?
– จากการติดตามประเมินผลในแต่ละปีพบว่า การทําฝนหลวงสามารถทําให้ฝนตกในพื้นที่ เป้าหมายได้ไม่ต่ํากว่า 95 % ของวันที่ขึ้นปฏิบัติการ
การทําฝนหลวงได้ทุกวันทุกฤดูกาลหรือไม่ ?
– การทําฝนหลวงสามารถทําได้ทุกวันและทุกฤดูกาล แต่ประสิทธิภาพและความสําเร็จจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสภาพอากาศ เช่น ความชื้นในอากาศ ความทรงตัวของอากาศ ทิศทาง และความเร็วของลม เป็นต้น
น้ําฝนที่เกิดจากการทําฝนหลวงใช้ดื่มได้หรือไม่ ?
– น้ําฝนที่เกิดจากการทําฝนหลวงสามารถดื่มได้แน่นอน ได้มีการตรวจวิเคราะห์แล้วว่ามีความ บริสุทธิ์อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ําดื่มน้ําใช้ขององค์การอนามัยโลก เช่นเดียวกับน้ําฝนธรรมชาติไม่มีอันตรายต่อคน สัตว์ และพืช
การขอฝนเราสามารถขอฝนทางช่องทางไหนได้บ้าง ?
– กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้จัดช่องทางสําหรับร้องขอฝนไว้ 6 ช่องทางหลัก ได้แก่
1.โทรศัพท์หมายเลข 0 2940 5960-63 ต่อ 604
2.เว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร www.royalrain.go.th/royalrain/service
3.จดหมาย/ตู้ปณ. 57
4.หนังสือราชการถึงกรมฝนหลวงและการบินเกษตร
5.ตู้รับเรื่องร้องเรียน ณ ที่ตั้งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจําภาค
6.ติดต่อด้วยตนเองณหน่วยงานในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
คำถามที่ถามบ่อย เกี่ยวกับการทำฝนหลวง : www.royalrain.go.th/royalrain
บทความแนะนำ :
- พระบิดาแห่งฝนหลวง ในหลวงรัชกาลที่ 9 – วันพระบิดาแห่งฝนหลวง 14 พฤศจิกายน
- ธนาคารน้ำใต้ดิน เหมือนกับธนาคารฝากเงินไหม | ประเภท และ ประโยชน์ของธนาคารน้ำใต้ดิน
- 19 ตุลาคม วันเทคโนโลยีของไทย | ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย
- รวมวิธีป้องกันตัวเองจากฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่ชาวเน็ตช่วยกันแชร์ หน่วยงานแก้ไข
- ประเทศอื่น ๆ มีวิธีการแก้ปัญหา มลพิษทางอากาศ อย่างไร ?