พระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ 9 ราชวงศ์ หนังสือพระราชนิพนธ์ ในหลวงรัชกาลที่ 9

รวมหนังสือพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

Home / เรื่องทั่วไป / รวมหนังสือพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

เรามักจะได้เห็นหรือได้ฟังบทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 กันอยู่บ่อยครั้ง แต่จะมีใครรู้บ้างว่าจริงๆ แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ก็ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเอาไว้ด้วย ซึ่งหนังสือพระราชนิพนธ์แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถด้านวรรณกรรม ได้แก่ “พระมหาชนก” “ทองแดง” และ “ทองแดงฉบับการ์ตูน” และพระราชนิพนธ์แปล เรื่อง “นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ” และ “ติโต” ก็ล้วนเพียบพร้อมด้วยเนื้อหาสาระ แฝงข้อคิดและมีความงดงามของภาษา

หนังสือพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

หนังสือพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

ขออัญเชิญพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งแสดงถึงจรรยาบรรณ ในการเขียนหนังสือในทัศนะของพระองค์ ดังนี้

นักเขียน นักประพันธ์ งานสำคัญก็คือ แสดงความคิดของตนออกมาเป็นเรื่องชีวิต หรือเรื่องแต่งขึ้นมา เพื่อให้ผู้อื่นได้ประโยชน์ คือความรู้บ้าง บันเทิงบ้าง นักแสดงความคิดสำคัญมาก เพราะว่ามีอิทธิพลต่อชีวิตของมวลมนุษย์ อาจทำให้เกิดความคล้อยตามไป และตัวท่านเขียนดีก็ยิ่งคล้อยตามกันมาก ฉะนั้น นักประพันธ์ต้องมีความรับผิดชอบสูง เพราะท่านเป็นผู้ปั้นความคิดและความบริสุทธิ์ในความคิดจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ดังบทความกลั่นกรองไว้ในสมองว่า สิ่งที่จะเขียนออกมาจะไม่แสลง ไม่ทำลายความคิดของประชากร ไม่ทำลายผู้อื่น และตนเอง คือมีเสรีภาพในการเขียนอย่างเต็มที่ในขอบเขตของศีลธรรม

(พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่คณะกรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ณ พระตำนักจิตรดารโหฐาน วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2515)

ตลอดระยะเวลาอันยาวนานตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ขึ้นครองสิริราชสมบัติ ทรงอุทิศพระวรกายทรงงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย บำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชากรของพระองค์ ถึงแม้ว่าพระองค์ทรงมีพระราชกรณียกิจมากมายแทบมิได้ว่างเว้น แต่ก็ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะในงานแปล มีงานพระราชนิพนธ์ออกมาอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพ พระปรีชาสามารถด้านภาษาและวรรณกรรม

หนังสือพระราชนิพนธ์

 เมื่อข้าพเจ้าจากสยามสู่สวิสแลนด์, 2489

1. เมื่อข้าพเจ้าจากสยามสู่สวิสแลนด์, 2489

พระราชนิพนธ์เรื่องแรก “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์” โดยพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ได้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือรายเดือน วงวรรณคดี ฉบับประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2490 เป็นตอนแรก โดยพระบรมราชานุญาตพิเศษเฉพาะหนังสือเล่มนี้เท่านั้น ในขณะนั้นถือได้ว่าหนังสือวงวรรณคดี จัดว่าเป็นหนังสือที่ดีและมีเนื้อหาสาระที่มีคุณค่าอย่างมากในสมัยนั้น

พระราชนิพนธ์  “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามสู่สวิสแลนด์” เป็นบันทึกของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชนิพนธ์ขึ้นในช่วงเวลาเสด็จพระราชดำเนินเพื่อกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้ง เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 หลังจากที่พระองค์ท่านทรงเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 9 ในราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489  พระองค์ได้ทรงบันทึกผ่านพระอักษรเป็นเรื่องราวการเดินทาง แสดงถึงความรู้สึกของพระองค์ ตลอดถึงเหตุการณ์ที่ทรงได้ประสบพบเจอ ดังนั้นจึงขออัญเชิญ ความตอนหนึ่งในพระราชนิพนธ์เล่มนี้ที่พสกนิกรชาวไทยรู้สึกประทับใจมาให้ทุกคนได้อ่านกันค่ะ

วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 – วันนี้ถึงวันที่เราจะต้องจากไปแล้ว… พอถึงเวลาก็ลงจากรถพระที่นั่งพร้อมกับแม่ ลาเจ้านายฝ่ายใน ณ พระที่นั่งชั้นล่าง แล้วก็ไปยังวัดพระแก้ว เพื่อนมัสการลาพระแก้วมรกตและพระภิกษุสงฆ์ ลาเจ้านายฝ่ายหน้า ลาข้าราชการทั้งไทยและฝรั่ง แล้วก็ไปขึ้นรถยนต์ พอรถแล่นออกไปได้ไม่ถึง 200 เมตร มีหญิงคนหนึ่งเข้ามาหยุดรถแล้วส่งกระป๋องให้เราคนละใบ ราชองครักษ์ไม่แน่ใจว่าจะมีอะไรอยู่ในนั้น บางทีจะเป็นลูกระเบิด! เมื่อมาเปิดดูภายหลังปรากฏว่าเป็นทอฟฟี่ที่อร่อยมาก ตามถนนผู้คนช่างมากมายเสียจริงๆ ที่ถนนราชดำเนินกลาง ราษฎรเข้ามาใกล้ชิดรถที่เรานั่ง กลัวเหลือเกินว่าล้อรถของเราจะไปทับแข้งทับขาใครเข้าบ้าง รถแล่นฝ่าฝูงชนไปได้อย่างช้าที่สุด ถึงวัดเบญจมบพิตร รถแล่นเร็วขึ้นได้บ้าง ตามทางที่ผ่านมาได้ยินเสียง ใครคนหนึ่งร้องขึ้นมาดังๆ ว่า “อย่าละทิ้งประชาชน” อยากจะร้องบอกเขาส่งไปว่า “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้วข้าพเจ้าจะละทิ้ง อย่างไรได้” แต่รถวิ่งเร็วและเลยไปไกลเสียแล้ว

 

2. นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ (แปล), 2537

นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ (แปล), 2537

“นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ”  ทรงแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษเรื่อง “A MAN CALLED INTREPID” บทประพันธ์ของ เซอร์วิลเลียม สตีเฟนสัน (William Stevenson) เป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมและมียอดจำหน่ายกว่าสองล้านเล่ม พระองค์ทรงใช้ระยะเวลาในการแปลถึง  3 ปี  เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2520 และเสร็จเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2523 โดยหนังสือเล่มนี้มีจำนวนถึง 501 หน้า แสดงให้เห็นว่าทรงมีพระราชอุตสาหะในการแปลเป็นอย่างมาก  และในเดือนธันวาคม พ.ศ.2536  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายทั่วประเทศ ในปี พ.ศ. 2537 โดยมอบรายได้จากการจัดจำหน่ายสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา

“นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ นายอินท์ หรือ INTREPID เป็นชื่อรหัสของ เซอร์วิลเลียม สตีเฟนสัน ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยราชการลับอาสาสมัครของอังกฤษ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 มีหน้าที่ล้วงความลับทางทหารของเยอรมัน เพื่อรายงานต่อ  นายเซอร์วินสตัน เชอร์ชิลนายกรัฐมนตรีอังกฤษ และประธานาธิบดีรูสเวลท์ แห่งสหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมกันต่อต้านการขยายอำนาจของนาซีหรือแผนร้ายของฮิตเลอร์ที่หวังแผ่อำนาจเข้ามาครอบครองโลกโดยมี  “นายอินทร์” และผู้ร่วมในงานนี้เป็นตัวอย่างของผู้กล้าหาญที่ยอมอุทิศชีวิตเพื่อความถูกต้อง ยุติธรรม เสรีภาพ และสันติภาพ โดยไม่หวังลาภยศสรรเสริญใดๆ

 

3. ติโต (แปล), 2537

ติโต (แปล), 2537

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงแปลเรื่อง “ติโต” จากต้นฉบับเรื่อง TITO ของ Phyllis Auty เมื่อปี พ.ศ.2519 เพื่อใช้ในศึกษาและเรียนรู้บุคคลที่น่าสนใจของโลกคนหนึ่ง รวมถึงผู้สนใจในประวัติศาสตร์ได้รู้จัก ติโต อย่างกว้างขวางมากขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายทั่วประเทศ ในปี พ.ศ. 2537 โดยมอบรายได้จากการจัดจำหน่ายสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา

เรื่องราวในพระราชนิพนธ์ ติโต มีใจความโดยสรุปดังนี้ ติโต รู้จักกันในนามของจอมพลติโต เดิมชื่อ โจซิบ โบรซ (Josip Broz) พ.ศ. 2435-2523  นายกรัฐมนตรีคอมมิวนิสต์คนแรก (พ.ศ. 2488) และประธานาธิบดีของประเทศยูโกสลาเวีย (พ.ศ. 2496-2523) เกิดที่เมืองคุมโรเวค โครเอเชีย

ในปี 2491 ติโตได้แยกประเทศออกจากโซเวียต ทำการพัฒนาประเทศและตั้งตนเป็นประเทศคอมมิวนิสต์อิสระ (ลัทธิติโต) เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมประเทศผู้ไม่ฝักไฝ่ฝ่ายใด ติโต เป็นรัฐบุรุษของประเทศยูโกสลาเวีย ซึ่งประกอบด้วยหลายชนชาติ มีความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ เมื่อในยามวิกฤติประชาชนกลับมารวมกันเป็นปึกแผ่น สามารถรักษาความสมบูรณ์และเพิ่มพูนความเจริญของประเทศตลอดชีวิตของเขา ในปี พ.ศ.2523 ติโตเสียชีวิตมีอายุ 88 ปี หลังจากนั้นประเทศยูโกสลาเวียก็ค่อยๆ สลายลง จนกระทั่ง มีความแตกแยก จนยากที่จะแก้ไขได้ ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

“คำว่า การต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติบ้านเมือง ต้องหมายตลอดถึงเสรีภาพของชาวโครแอต สโลวีน เซิร์บ มาร์เซโดเนียน ชิปต้าร์ มุสลิม พร้อมกันหมด ต้องหมายว่าการต่อสู้จะนำมาซึ่งอิสระภาพ เสมอภาค และภารดรภาพ สำหรับทุกชนชาติในยูโกสวาเวียอย่างแท้จริง นี่คือสารัตถ์สำคัญของการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติ” ติโตกล่าวในปี 1942  (ติโต พระราชนิพนธ์แปล หน้า 62 – 63)

ติโต ผู้ที่ฟันฝ่าอุปสรรคในทุกวิถีทางเพื่อสร้างความเป็นไท ให้แก่ประเทศของเขา ข้อสังเกตในการแปลเรื่องนี้ก็คือ ทรงใช้ภาษาที่สามัญชนเข้าใจง่าย รวมทั้งการใช้โวหารเปรียบเทียบที่คมคาย ความสามัคคีจะเกิดขึ้นได้ ส่วนหนึ่งมาจากการมีได้ผู้นำที่ดีและมึความยุติธรรม

 

4. พระมหาชนก, 2539

พระมหาชนก, 2539

พระราชนิพนธ์เรื่อง “พระมหาชนก” มีทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษอยู่ในเล่มเดียวกัน  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแปลพระมหาชนกชาดกเสร็จสมบูรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2531 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ จัดพิมพ์ ในโอกาสเฉลิมฉลองกาญจนาภิเษกแห่งรัชกาล เมื่อปี พ.ศ.2539 พระราชนิพนธ์พระมหาชนกนี้ มีภาพวาดโดยศิลปินที่มีชื่อเสียหลายท่าน ที่สำคัญที่สุดคือมีภาพฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอาทิ  ภาพวันที่เรือล่ม โดยมีแผนที่อากาศแสดงเส้นทางพายุจริงๆ  และภาพพระมหาชนกทรงว่ายน้ำ โดยมีนางมณีเมขลาเหาะอยู่เบื้องบน เป็นต้น พระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกก็จะช่วยให้ทุกคนสามารถพิจารณาแนวดำเนินชีวิตที่เป็นมงคล

เวลานี้พระราชนิพนธ์  “พระมหาชนก”  ได้พิมพ์เผยแพร่ออกสู่สายตาผู้อ่านจำนวนมาก จัดพิมพ์โดยบริษัทอัมรินทร์ พริ้นติ้งแอนด์  พับลิซซิ่ง จำกัด (มหาชน)  นอกจากเนื้อหาที่ทรงคุณค่าแล้วยังมีภาพวาดประกอบของจิตรกรชื่อดัง  8  คน คือ  จินตนา  เปี่ยมศิริ,  ประหยัด  พงษ์ดำ,  พิชัย นิรันต์,  ปรีชา  เถาทอง,  เฉลิมชัย  โฆษิตพิพัฒน์, ปัญญา วิจินธนสาร, ธีระวัฒน์  คะนะมะ, เนติกร  ชินโย  พิมพ์ลายสีสวยสดใส  ทำให้หนังสือน่าอ่านและน่าเก็บรักษาไว้

เรื่องราวในพระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก” มีใจความโดยสรุปดังนี้ พระมหาชนก เป็นกษัตริย์แห่งกรุงมิถิลา แคว้นวิเทหะ ทรงมีพระราชโอรส 2 พระองค์ คือ “พระอริฎฐชนก”  และ “พระโปลชนก” หลังจากพระมหาชนกสวรรคต พระอริฏฐชนกได้ขึ้นครองราชย์สมบัติ และทรงแต่งตั้งพระโปลชนกเป็นอุปราช ต่อมาได้เกิดเหตุสู้รบกันระหว่างพระอริฏฐชนกและพระโปลชนกอันเนื่องมาจากการยุแหย่ของเหล่าอมาตย์ใกล้ชิด พระอริฏฐชนก ได้สิ้นพระชนม์ชีพในสนามรบ พระเทวีซึ่งเป็นพระอัครมเหสีกำลังทรงพระครรภ์อยู่จึงได้หลบหนีออกจากกรุงมิถิลามุ่งหน้าสู่นครจัมปากะและต่อมาได้ประสูติพระโอรสซึ่งมีวรรณะดั่งทอง พระเทวีได้ขนานนามพระโอรสเหมือนพระอัยกาว่า “มหาชนกกุมาร”

พระมหาชนกทรงทราบเรื่องเกี่ยวกับพระบิดาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์จึงตั้งพระทัยเสด็จฯ ค้าขายยังเมืองสุวรรณภูมิ เพื่อให้ได้ทรัพย์เพื่อทำการทวงสมบัติคืน จึงทรงนำพวกพาณิชประมาณ 700 คนขึ้นเรือเดินทางออกสู่มหาสมุทร ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่พระโปลชนกทรงประชวร เมื่อเรือแล่นไปได้ 7 วัน ไกลประมาณ 700 โยชน์ ก็เจอคลื่นยักษ์จนเรืออับปาง และวันนั้นก็เป็นวันที่พระโปลชนกสวรรคต

พระมหาชนกทรงว่ายน้ำข้ามมหาสมุทรอยู่ 7 วัน เทพธิกาชื่อ “มณีเมขลา” ผู้ดูแลรักษาสัตว์ทั้งหลายผู้ประกอบด้วยคุณความดี ไม่ให้ตามในมหาสมุทรก็ตรวจตราพบ จึงเหาะมาทดลองความเพียรโดยถามพระมหาชนกว่าเมื่อมองไม่เห็นฝั่งแล้วจะพยายามว่ายอยู่ทำไมพระมหาชนกตรัสตอบว่า “เราไตร่ตรองเห็นปฏิปทาแห่งโลก และอานิสงส์ แห่งความเพียร เพราะฉะนั้นถึงจะมองไม่เห็นฝั่ง เราก็ต้องพยายามว่ายอยู่ท่านกลางมหาสมุทร และ “เราทำความพยามยามแม้ตายก็จักพ้นครหา บุคคลเมื่อกระทำความเพียร แม้จะตายก็ชื่อว่าไม่เป็นหนี้ในระหว่างหมู่ ญาติ เทวดา และบิดา มารดา อนึ่ง บุคคลเมื่อทำกิจอย่างลูกผู้ชาย ย่อมไม่เดือดร้อนในภายหลัง”

นางมณีเมขลายังได้ กล่าวทดลองความเพียรของพระมหาชนกอีกหลายประการ จนได้ประจักษ์ในความเพียรของพระองค์ จึงได้อุ้มพาเหาะไปในอากาศจนถึงเมืองมิถิลา ด้วยความเพียรและปัญญา ทำให้พระมหาชนกสามารถตอบปัญหา 4 ข้อ ที่พระโปลชนกทิ้งไว้ก่อนสวรรคตได้ และได้อภิเษก กับ “สีวลีเทวี” พระธิดาองค์เดียวของพระโปลชนก ตลอดจนได้ครองกรุงมิถิลา และต่อมาได้ทรงตั้งสถาบันการศึกษาขึ้น ชื่อว่า “ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย” (วรนุช อุษณกร. ในหลวงผู้ทรงพระอัจฉริยภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 1, พ.ศ. 2544 ,โอเดียนสโตร์, กรุงเทพฯ)

 

5. พระมหาชนก ฉบับการ์ตูน, 2542

พระมหาชนก ฉบับการ์ตูน, ๒๕๔๒

ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ เมื่อปี พ.ศ.2542 พระองค์ทรงโปรดฯ ให้จัดพิมพ์ พระมหาชนก เป็นฉบับการ์ตูนเพื่อสะดวกแก่การศึกษาทำความเข้าใจของเด็กและเยาวชน อีกทั้งยังมีการจัดพิมพ์เป็น ฉบับอักษรเบรลล์ เพื่อเผยแพร่แก่คนตาบอดอีกด้วย พระมหาชนกฉบับการ์ตูนนี้ผู้เขียนการ์ตูนประกอบ คือ ชัย ราชวัตร ซึ่งจะเห็นได้ว่าทรงมีพระราชดำริในการให้ใช้ลายเส้นแบบไทยๆ เพื่อแสดงถึงความเป็นไทย

 

6. เรื่องทองแดง, 2545

เรื่องทองแดง, 2545

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชนิพนธ์ เรื่องทองแดง (The Story of Tongdaeng) เผยแพร่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษในเล่มเดียวกัน เรื่องทองแดงเป็นหนังสือพระราชนิพนธ์ที่ติดอันดับขายดีที่สุดของประเทศในปี พ.ศ.2545 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “คุณทองแดง” สุนัขธรรมดาที่ไม่ธรรมดา เพราะมีลักษณะพิเศษทั้งด้านกายภาพและอุปนิสัย แสนรู้ เฉลียวฉลาด เป็นสุนัขตัวโปรดของพระองค์ท่านที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่ประทับใจของประชาชนชาวไทยทุกคน คุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยงสุนัขตัวที่ 17 ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นสุนัขทรงเลี้ยงที่ติดตามถวายงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกครั้ง ไม่ว่าจะเสด็จพระราชดำเนินไปที่ใด

เนื้อหาหลักเป็นเรื่องความกตัญญูรู้คุณของคุณทองแดง รวมทั้งความจงรักภักดี ความมีมารยาทและการสั่งสอนลูกของคุณทองแดง และในพระราชนิพนธ์ได้ทรงยกย่องคุณทองแดงในเรื่องความกตัญญูรู้คุณของคุณทองแดงที่มีต่อแม่มะลิ  “ผิดกับคนอื่นที่เมื่อกลายมาเป็นคนสำคัญแล้วมักจะลืมตัว และดูหมิ่นผู้มีพระคุณซึ่งเป็นคนต่ำต้อย” อันเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำริว่า ทองแดงเป็นสุนัขธรรมดาที่ไม่ธรรมดา มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันนับว่ากว้างขวางมีผู้เขียนเรื่องทองแดงก็หลายเรื่องแต่น่าเสียดายว่าเรื่องที่เล่า มักมีความคลาดเคลื่อนจากความ เป็นจริง และขาดข้อมูลสำคัญหลายประการ โดยเฉพาะ เกี่ยวกับความกตัญญูรู้คุณของทองแดงที่มีต่อ “ แม่มะลิ  ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยกย่องว่า”  ผิดกับคนอื่นที่เมื่อกลายมาเป็นคนสำคัญแล้ว มักจะลืมตัวและดูหมิ่นผู้มีพระคุณที่เป็นคนต่ำต้อย สำหรับหนังสือพระราชนิพนธ์ “เรื่องทองแดง” เล่มนี้ จัดพิมพ์เป็นหนังสือปกแข็ง หนา 84 หน้า ขนาด 17 คูณ 26 ซ.ม. พิมพ์ด้วยกระดาษอาร์ตมันอย่างดี ภาพประกอบสี่สีตลอด

 

7. เรื่องทองแดง ฉบับการ์ตูน, 2547

เรื่องทองแดง ฉบับการ์ตูน, 2547

พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดพิมพ์อีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2547 ในรูปแบบลายเส้นการ์ตูนโดยใช้ชื่อ “ทองแดงฉบับการ์ตูน”

 

8. พระราชดำรัส เป็นพระราชนิพนธ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ

พระราชดำรัส เป็นพระราชนิพนธ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ

พระราชดำรัส ที่พระราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้า ถวายชัยมงคล เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนพรรษาของทุกปี เป็นพระราชนิพนธ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ พระองค์ทรงเริ่มแปลพระราชดำรัส เรื่องน้ำและสิ่งแวดล้อมซึ่งมีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2532  พระราชดำรัสในครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากสหประชาชาติ และมีความประสงค์จะได้รับฉบับที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้มีพระมหากรุณาธิคุณแปลพระราชดำรัสเอง และจากพระราชดำรัสดังกล่าว ทำให้รัฐบาลมีมติให้ประกาศให้วันที่ 4 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวัน “วันสิ่งแวดล้อมไทย”  หลังจากนั้นก็ทรงแปลพระราชดำรัสในวันเฉลิมพระชนมพรรษาเรื่อยมา

พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2532 จัดพิมพ์โดย คณะกรรมการประชาสัมพันธ์สิ่งแวดล้อม คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน นอกจากนั้น พระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2534 เรื่องเกี่ยวกับ “รู้รักสามัคคี”  จัดพิมพ์เผยแพร่โดย คณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตย ในคณะกรรมการเองลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

 

นอกจากนี้ยังทรงแปลและเรียบเรียงบทความ อีกหลายเรื่องด้วยกัน ดังนี้

1. ข่าวจากวิทยุเพื่อสันติภาพและความก้าวหน้า จาก Radio Peace and Progress ในนิตยสาร Intelligence Degest ฉบับลงวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518)

2. การคืบหน้าของมาร์กศิสต์ จาก The Marxist Advance Special Brief

3. รายงานตามนโยบายคอมมิวนิสต์ จาก Following the Communist Line

4. ฝันร้ายไม่จำเป็นจะต้องเป็นจริง จาก No Need for Apocalypse ในนิตยสาร The Economist ฉบับลงวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1975(พ.ศ. 2518)

5. รายงานจากลอนดอน จาก London Report ในนิตยสาร Intelligence Digest : Weekly Review ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ.1975 (พ.ศ. 2518)

6. ประเทศจีนอยู่ยง จง Eternal China ในนิตยสาร Intelligence Digest : Weekly Review ฉบับลงวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ.1975(พ.ศ. 2518)

7. ทัศนะน่าอัศจรรย์จากชิลีหลังสมัยอาล์เลนเด จาก Surprising Views from a Post-Allende Chile ในนิตยาสาร Intelligence Digest : Weekly Review ฉบับลงวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ.1975 (พ.ศ. 2518)

8. เขาว่าอย่างนั้น เราก็ว่าอย่างนั้น จาก Sauce for the Gander… ในนิตยาสาร Intelligence Digest : Weekly Review   ฉบับลงวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ.1975 (พ.ศ. 2518)

9. จีนแดง : ตั้วเฮียค้ายาเสพติดแห่งโลก จาก Red China : Drug Pushers to the World ในนิตยาสาร Intelligence Digest : Weekly Review ฉบับลงวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ.1975 (พ.ศ. 2518)

10. วีรบุรุษตามสมัยนิยม จาก Fashion n Heroes โดย George F.Will ในนิตยสาร Newsweek ฉบับลงวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ.1979 (พ.ศ. 2522)

จากผลงานของพระองค์ แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาและความปรีชาสามารถของในหลวงของเรา พร้อมด้วยพระวิริยอุตสาหะอันแรงกล้าในการทรงงาน กล่าวได้ว่า “ทรงมีพระอัจฉริยภาพทางด้านภาษาอย่างแท้จริง” ไม่เพียงเท่านี้พระองค์ทรงห่วงใยพสกนิกร โดยได้มีการจัดพิมพ์พระราชนิพนธ์ฉบับการ์ตูนเพื่อเด็กและเยาว์ชน ฉบับอักษรเบรลล์เพื่อคนตาบอด สำหรับพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกและทองแดง นอกจากนี้พระองค์ทรงไม่มองข้ามความเป็นไทย อาทิ ภาพประกอบในรูปแบบลายเส้นการ์ตูนแบบไทย แม้แต่กระดาษที่ใช้ในการจัดพิมพ์ ทรงโปรดให้ใช้กระดาษที่ผลิตในประเทศ พระองค์เป็นแบบอย่างของประชาชนชาวไทย เน้นความเป็นไทย มีความภูมิใจในความเป็นไทยและใช้ของไทย

——————————————————————

อ้างอิงจาก : วรนุช อุษณกร. ในหลวงผู้ทรงพระอัจฉริยภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 1, พ.ศ. 2544 ,โอเดียนสโตร์, กรุงเทพฯ (http://www.bangkokbiznews.com) http://www.vcharkarn.com/varticle/38236

ภาพประกอบจาก: oknation.net , พระราชนิพนธ์ , vcharkarn.com , th.wikipedia.org , vcharkarn.com , 224book.com

บทความแนะนำ