พระตำหนัก พระมหากษัตริย์ไทย ราชวงศ์ ในหลวงรัชกาลที่ 9

13 พระตำหนัก ที่ประทับทรงงาน ในหลวงรัชกาลที่ 9 สวยงามเรียบง่าย

Home / สาระความรู้ / 13 พระตำหนัก ที่ประทับทรงงาน ในหลวงรัชกาลที่ 9 สวยงามเรียบง่าย

นับแต่วันที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงขึ้นครองราชย์ ภาพชินตาที่พสกนิกรชาวไทยได้เห็นก็คือ พระองค์ท่านจะเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรของพระองค์ไปในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศไทย พยายามปฏิบัติพระราชภารกิจ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ในทุกๆ ด้าน จะเห็นได้จากการที่พระองค์ไปประทับแรม ณ พระตำหนักตามภูมิภาค ตามแต่ละจังหวัด ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะทรงมีโอกาส ได้รับทราบถึงทุกข์สุข และสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของราษฎร วันนี้แคมปัส-สตาร์ ขอพาทุกคนย้อนความทรงจำ พาไปชมพระตำหนักของพระองค์ทั้ง 13 พระตำหนัก พร้อมมีประวัติการสร้างเล็กๆ น้อยๆ เป็นเกร็ดความรู้มาให้ได้อ่านกัน แต่ละตำหนักเป็นสถานที่สวยงาม และดูเรียบง่าย จนหลายๆ คนอาจจะคิดไม่ถึงว่า นี่คือที่ประทับของพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่

13 พระตำหนัก ที่ประทับทรงงาน ในหลวงรัชกาลที่ 9

king

1.พระตำหนัก จิตรลดารโหฐาน กรุงเทพมหานคร

พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน (Chitralada Villa Royal Residence) เป็นพระตำหนักในพระราชวังดุสิต ตั้งอยู่ที่แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2456 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ บริเวณทุ่งส้มป่อย ซึ่งเป็นทุ่งนาระหว่างพระราชวังสวนดุสิตกับวังพญาไท (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า) โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามทุ่งส้มป่อยว่า สวนจิตรลดา พระราชทานนามพระตำหนักว่า “พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน”

Chitralada Villa Royal Residence (1)
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน (2)

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเป็นที่ประทับถาวร โปรดเกล้าฯให้สร้างโรงเรียนจิตรลดา เมื่อ พ.ศ. 2501 เป็นสถานศึกษาชั้นต้นสำหรับพระโอรส พระธิดาและบุตรหลานข้าราชสำนัก โปรดเกล้าฯให้สร้างศาลาดุสิดาลัย เป็นศาลาอเนกประสงค์

พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน (1)

ภายในพระตำหนัก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ ให้เป็นสถานที่ทดลองโครงการทดลองส่วนพระองค์เกี่ยวกับการเกษตร เพื่อนำผลการศึกษาพระราชทานแก่ประชาชน เช่น โครงการนาข้าวทดลอง โครงการค้นคว้าวิจัยเชื้อเพลิงเขียว โครงการปลูกข้าวไร่ โครงการเลี้ยงปลานิล และโครงการโคนม รวมทั้งยังมีโรงงานจากโครงการทดลองของพระองค์เกิดขึ้นหลายประเภท เช่น โรงโคนมสวนจิตรลดา โรงนมผงสวนดุสิต โรงนมเม็ดสวนดุสิต โรงสีข้าวตัวอย่าง โรงผลิตน้ำผลไม้ โรงบดและอัดแกลบ และโรงปุ๋ยอินทรีย์

อ่านเพิ่มเติม >> http://travel.mthai.com/blog/144578.html

2. พระตำหนัก วังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

Image (1)

วังไกลกังวล เป็นพระราชฐานในสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระองค์ สำนักพระราชวัง เป็นรโหฐานที่ประทับแปรพระราชฐานในต่างจังหวัด อีกทั้งยังเสด็จฯ ไปยังพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อตรวจดูงานในโครงการของท่านด้วย

“วังไกลกังวล” สร้างโดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จากพระคลังข้างที่ ให้สร้างขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2469 เพื่อพระราชทานแด่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี โดย หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร ผู้อำนวยการศิลปากรสถานในขณะนั้นเป็นสถาปนิกผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง เพื่อใช้งานในการแปรพระราชฐานมาพักในจังหวัดริมทะเล

Image
วังไกลกังวลในอดีต

โดยรัชกาลที่ ๗ ทรงออกพระนามเรียกวังแห่งนี้ว่า สวนไกลกังวล และประทับตราสัญลักษณ์ของวังเมื่อ พ.ศ. 2472 ทรงออกนามว่า พระราชวังไกลกังวล อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีพระบรมราชโองการประกาศยกเป็นพระราชวัง ดังนั้น จึงยังคงเรียกว่า วังไกลกังวล

ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ไปประทับพักผ่อนพระอิริยาบถ และฮันนีมูนที่พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นเวลา ๓ วัน พร้อมด้วยคณะผู้ตามเสด็จโดยรถไฟ

พระตำหนักและอาคารประกอบ

พระตำหนักเปี่ยมสุข สร้างตามสไตล์ยุโรปตะวันตก
ภาพพระตำหนักเปี่ยมสุข ตึกสไตล์สเปนสูงสองชั้นพร้อมหอสูง

พระตำหนักเปี่ยมสุข เป็นพระตำหนักตึกแบบสเปนสูงสองชั้นพร้อมทั้งหอสูง เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ปัจจุบันเป็นที่ประทับแปรพระราชฐานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

พระตำหนักน้อย เป็นที่ประทับแปรพระราชฐานของสมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ และพระองค์เจ้าหญิงอาภาพรรณี พระบิดามารดาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี โปรดเสด็จไปประทับพักผ่อนเมื่อตามเสด็จไปหัวหิน และเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

พระตำหนักปลุกเกษม เป็นตำหนักโปร่ง ๆ แบบไทยปนสมัยใหม่ มีห้องนอนหลายห้องด้านหลัง ตั้งโต๊ะและเก้าอี้หมู่ และใกล้ ๆ กันนั้นมีห้องน้ำและห้องส้วมชั้นล่างมีห้องอีกหลายห้องเหมือนกัน สำหรับหม่อมเจ้าหญิงที่เป็นโสด ซึ่งใกล้ชิดในราชสำนักโดยเสด็จพระราชดำเนินไปตากอากาศด้วย ปัจจุบัน เป็นที่ประทับแปรพระราชฐานของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

พระตำหนักเอิบเปรมเอมปรีย์ เป็นที่ประทับแปรพระราชฐานของพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ซึ่งพระตำหนักมีลักษณะชั้นเดียวคู่ฝาแฝด การก่อสร้างและการวางห้องเครื่องใช้ คล้ายคลึงกันตำหนักฝาแฝดนี้เตี้ยเกือบติดพื้นดินซึ่งสร้างเป็นแบบบังกะโลสำหรับตากอากาศชายทะเลอย่างแท้จริง

ศาลาเริง เป็นศาลาเอนกประสงค์สำหรับเลี้ยงพระ พระราชทานเลี้ยง ทรงกีฬา ทรงดนตรีทั้งไทยเดิมและเทศ จัดฉายภาพยนตร์ที่ทรงถ่าย รวมไปถึงภาพยนตร์ต่างประเทศ การ์ตูนสำหรับเด็กในพระราชอุปการะ พร้อมจัดงานรื่นเริงและการแสดงต่าง ๆ

ศาลาราชประชาสมาคม เดิมเรียกว่า อาคารอเนกประสงค์ มีลักษณะเป็นอาคาร 2 ชั้น ใต้ถุนโล่ง ชั้นล่างใช้เป็นลานจัดกิจกรรม ชั้นบนเป็นห้องประชุมขนาดใหญ่ สำหรับให้ข้าราชการเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทได้โดยไม่ต้องเสด็จฯกลับกรุงเทพมหานคร เช่น พิธีพระราชทานกระบี่ของนักเรียนนายร้อย เป็นต้น ในปี พ.ศ. 2556 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกนามว่า “ศาลาราชประชาสมาคม” ซึ่งหมายถึง พระมหากษัตริย์และประชาชนเกื้อกูลระหว่างกัน เพื่อใช้ในการเสด็จออกมหาสมาคมในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาในต่างจังหวัดและในวังแห่งนี้ เป็นครั้งแรกในรัชกาลปัจจุบัน นอกจากนี้ยังใช้ประกอบพิธีและพระราชพิธีสำคัญต่างๆ ได้หลายครั้ง

วังไกลกังวลเป็นที่ประทับแปรพระราชฐานในช่วงฤดูร้อนของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงออกนามเรียกวังแห่งนี้ในพระราชนิพนธ์ เรื่อง “ทองแดง” ไว้ว่า “วังไกลกังวล”

3.พระตำหนัก ภูพิงคราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่

13 พระตำหนัก ที่ประทับทรงงาน ในหลวงรัชกาลที่ 9 สวยงามเรียบง่าย
ภาพ:: www.bhubingpalace.org

พระตำหนักแห่งนี้ตั้งอยู่บนดอยบวกห้า ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างขึ้น ในปี พ.ศ. 2504  และพระราชทานนาม พระตำหนักองค์นี้ว่าภูพิงคราชนิเวศน์ ความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,373.197 เมตรในเนื้อที่โดยรอบพระตำหนักประมาณ 400 ไร่ นั้น แบ่งเป็นบริเวณที่ เปิดให้นักท่องเที่ยว ได้ชื่นชมประมาณ 200 ไร่

พระตำหนักแห่งนี้ ใช้เป็นที่ประทับในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานมาประทับแรม ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทรงงาน และเยี่ยมเยียนราษฎรในเขตภาคเหนือ รวมทั้งเพื่อรับรองพระราชอาคันตุกะที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทยในโอกาสต่างๆ การที่ทรงเลือกสร้างที่จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากมีอากาศเย็นสบาย ภูมิประเทศสวยงาม อีกทั้งเคยเป็นเมืองหลวงมาก่อน ผู้คนพลเมืองยังดำรงรักษาจารีตขนบธรรมเนียม ประเพณีอันดีงามไว้

พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ มีลักษณะเป็นแผนผังแบบเรือนไทยภาคกลางที่เรียกว่า “เรือนหมู่” มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นไทยประเพณีประยุกต์ ก่ออิฐถือปูน ยกพื้นสูงหลังคาทรงไทย ภายในประกอบไปด้วยท้องพระโรง ห้องเสวย ห้องบรรทม และห้องสรง สำหรับพระราชอาคันตุกะ ตั้งอยู่คนละด้าน มีเฉลียงใหญ่ และพลับพลาหอนกเป็นที่ประทับทอดพระเนตรทัศนียภาพของเมืองเชียงใหม่ ชั้นบนเป็นที่ประทับ ชั้นล่างเป็นที่อยู่ของมหาดเล็ก และคุณข้าหลวง

ก่อสร้างพระตำหนักใช้เวลา 5 เดือนก็แล้วเสร็จ จากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี เป็นทั้งสถาปนิก และมัณฑนากรออกแบบ ตกแต่ง ภายในพระตำหนัก ทั้งในส่วนที่ประทับและส่วนที่ใช้รับรอง พระราชอาคันตุกะทั้งหมด โดยออกแบบให้เป็นแบบไทยประยุกต์ ดัดแปลงให้เหมาะสมกับการใช้แบบสากลมากขึ้น

ภาพเรือนรับรอง พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์
ภาพเรือนรับรอง พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์

สถานที่อื่นๆ ภายในพระตำหนัก

พระตำหนักพฤกษาวิสุทธิคุณ
เป็นอาคาร 2 ชั้น มีชั้นใต้ดิน ตั้งอยู่บนเนินเป็นสถาปัตยกรรมไทยภาคกลางผสมกับภาคเหนือเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ออกแบบโดยหม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี

ภาพพระตำหนักยูคาลิปตัส 1
ภาพพระตำหนักยูคาลิปตัส 1

พระตำหนักสิริส่องภูพิงค์

หรือเรียกทั่วไปว่า พระตำหนักยูคาลิปตัสเป็นอาคารไม้ ๒ ชั้น ตั้งอยู่บนอ่างเก็บน้ำ ก่อสร้างตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงให้ทดลองนำไม้ยูคาลิปตัสมาใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างแบบ Log Cabin เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

เรือนปีกไม้ เป็นเรือนไม้ที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

หอนก เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ออกแบบโดยหม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี

เรือนรับรองพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เป็นอาคาร2ชั้นสถาปัตยกรรมแบบไทยประยุกต์ใช้เป็นที่พักของพระราชอาคันตุกะและข้าราชบริพารชั้นผู้ใหญ่ที่ตามเสด็จนอกจากนี้ยังใช้เป็นที่รับรองแขกในขณะรอเข้าเฝ้าฯ หรือร่วมงานพระราชทานเลี้ยง

พลับพลาผาหมอน เป็นพลับพลาที่ประทับทำด้วยไม้สักทองแบบกระท่อมของชาวนาใช้เป็นที่ประทับพักผ่อนพระอิริยาบถและเสวยพระกระยาหารในบางครั้ง

อ่างเก็บน้ำ/น้ำพุทิพย์ธาราของปวงชน เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่เก็บกักน้ำไว้ใช้ในพระตำหนัก ริมอ่างเก็บน้ำมีพลับพลาที่ประทับตั้งอยู่

พระตำหนักพยัคฆ์สถิต เป็นพระตำหนักยูคาลิปตัสแบบเดียวกับพระตำหนักสิริส่องภูพิงค์สำหรับเป็นที่ประทับของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร

สวนสุวรี เป็นสวนกุหลาบซึ่งตั้งตามชื่อของท่านผู้หญิงสุวรี เทพาคำนางสนองพระโอษฐ์

หอพระ (Buddhist House of Prayer) หอพระ เป็นหอพระที่ตั้งอยู่สูงสุดสำหรับเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเพื่อทรงสักการะเมื่อเสด็จฯ มาประทับแรม เป็นหอขนาดเล็กแบบไทยล้านนาประยุกต์ ต้องการเยี่ยมชม อ่านข้อมูล : www.bhubingpalace.org

4. พระตำหนัก ภูพาน พระราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร

พระตำหนักภูพาน (1)

พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์จังหวัดสกลนคร เป็นพระตำหนักที่สร้างขึ้นในบริเวณเทือกเขาภูพาน ใน พ.ศ. 2518 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ทรงเลือกพื้นที่สร้างพระตำหนักด้วยพระองค์เอง ทรงใช้แผนที่ทางอากาศและการเสด็จฯ สำรวจเส้นทางบริเวณ ป่าเขา น้ำตก เป็นปัจจัยในการกำหนดเขตพื้นที่ก่อสร้างพระตำหนักและบริเวณพระตำหนักซึ่งประกอบด้วยเขตพระราชฐานชั้นในและเขตพระราชฐานชั้นนอก

พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ตั้งอยู่ริมทางหลวงสายสกลนคร-กาฬสินธุ์ หมายเลข 213 บริเวณกิโลเมตรที่ 14 ห่างจากตัวเมืองสกลนครประมาณ 16 กิโลเมตร พื้นที่บริเวณพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ เมื่อแรกตั้งพระตำหนักมี 940 ไร่ ในเวลาต่อมาได้ขยายเขตพื้นที่เพื่อจัดทำโครงการฟื้นฟูสภาพป่าคืนชีวิตสู่ธรรมชาติอีกประมาณ 1,010 ไร่ รวมเป็นพื้นที่ 1,950 ไร่

พระตำหนักภูพาน (3)

หมู่พระตำหนัก ประกอบด้วย

อาคารหลังพระตำหนักปีกไม้ เป็นพระตำหนักหลังแรก สร้างใน พ.ศ. 2518 เป็นรูปแบบล็อกเคบิน ใช้เป็นเรือนรับรองหลังแรก ต่อมาใน พ.ศ. 2519 ทรงมีพระบรมราชโองการให้สร้างพระตำหนักใหญ่เป็นตึกสองชั้น รูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ บริเวณเนินหน้าผาห่างจากพระตำหนักปีกไม้ ประมาณ 500 เมตร และยังได้ก่อสร้างพระตำหนักที่มีรูปแบบใกล้เคียงกัน และต่อมาได้มีการสร้างพระตำหนักหลังหนึ่งในบริเวณใกล้เคียงกัน รวมเป็นพระตำหนัก 4 หลัง

งานภูมิทัศน์ ถือว่าเป็นส่วนที่ดึงดูดให้ประชาชนเข้าชมด้วยความประทับใจ การจัดภูมิทัศน์อาศัยสภาพพื้นที่เป็นพื้นฐานในการจัดคือ ลักษณะพื้นที่เป็นเชิงเนินชายเทือกเขาภูพานตอนกลาง และอาศัยสภาพผิวหน้าดินเป็นหลักในการปลูกไม้ดอกไม้ประดับคือ เป็นภูเขาหินทรายปกคลุมด้วยผังดินทรายสลายบนดินลูกรัง โดยหลักการดังกล่าว สวนในพระตำหนักภูพานอาจจัดสวนได้ 5 รูปแบบคือ

1. สวนรวมพันธุ์ไม้ (Mixed garden)
2. สวนแบบประดิษฐ์ (Formal Style)
3. สวนแบบธรรมชาติ (Informal Style)
4. สวนหินประดับประดา (Rock garden)
5. สวนประดับหิน (Stone garden)

พระตำหนักภูพาน (2)

พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ เป็นแหล่งที่สะดวกต่อการเดินทางไปท่องเที่ยว เพราะอยู่ไม่ห่างจากตัวเมืองสกลนคร ตั้งอยู่ริมถนนหลวงสายสกลนคร – กาฬสินธุ์ นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวทั้งรถยนต์ส่วนตัวและการนำพาหนะเข้าชม สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ที่กองรักษาการเพื่อเข้าชมพระตำหนักชั้นนอกได้โดยสะดวก หากต้องการชมพระตำหนักชั้นในต้องติดต่อทางราชการเพื่อขออนุญาตจากผู้ดูแลล่วงหน้า

การเดินทาง : ตั้งอยู่ริมทางหลวงสายสกลนคร-กาฬสินธุ์ หมายเลข 213 บริเวณกิโลเมตรที่ 14 ห่างจากตัวเมืองสกลนครประมาณ 16 กิโลเมตร

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม: โทร. 0 4271 4499

5. พระตำหนัก ทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส

Thaksin-Ratchaniwet-Palace-

พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ตั้งอยู่บริเวณเขาตันหยง (ตันหยง แปลว่า พิกุล) ตำบลกะลุวอเหนือ ตาม ทางหลวงสายนราธิวาส-ตากใบ ห่างจากตัวเมืองนราธิวาส ประมาณ 8 กิโลเมตร เป็นที่แปรพระราชฐานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ในช่วงเดือนสิงหาคมและตุลาคม ของทุกปี

โปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 บนเนื้อที่ทั้งหมด ประมาณ 300 ไร่ ด้านหน้าของเขาตันหยง ที่ตั้งพระตำหนักอยู่บนเนิน เขาริมทะเลฝั่งอ่าวไทย สูงจากระดับน้ำทะเล 173 ฟุต เป็นอาคารคอนกรีตก่ออิฐถือปูน ลักษณะเป็นทรงปั้นหยา สมัยใหม่ มีการประดับตัวเรือนด้วยไม้ฉลุเป็นลวดลายประดับยอดจั่ว ช่องลม และเชิงชาย เป็นเรือนไม้ยกพื้นใต้ถุนสูง ซึ่งเป็นลักษณะร่วมทางสถาปัตยกรรมพื้นฐานของภูมิภาคศูนย์สูตร

อีกทั้งยังมีลักษณะรูปทรงหลังคาที่โดดเด่นเป็นพิเศษ อันเป็นสถาปัตยกรรม ที่ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบอาณานิคมของชาวตะวันตก นับได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ โดยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริ ให้สถาปนิกออกแบบให้มีรูปทรงประสานกลมกลืน กับอาคารบ้านเรือนแบบท้องถิ่นที่มีอยู่แต่ดั้งเดิม

115
ภาพ เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพายเพื่อสำรวจแหล่งน้ำ ที่หนองบัวบากง อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส

การที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเลือกจังหวัดนราธิวาสเป็นที่ตั้งพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์นั้น หากพิจารณาในแง่เศรษฐกิจแล้ว นราธิวาสค่อนข้างจะล้าหลังกว่าในบรรดาจังหวัดชายแดนใต้ทั้งสี่ คือ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา ทั้งสี่จังหวัดมีปัญหาเกี่ยวกับขบวนการก่อการร้ายเหมือนกัน เป็นที่สังเกตว่าจะโปรดเลือกจังหวัดที่ฐานะทางเศรษฐกิจไม่สู้ดีนัก และมีปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคง

ในบริเวณพระตำหนัก ที่ชายฝั่งนั้นมีสถานที่ที่ออกจะประหลาดแต่สำคัญสำหรับราษฎร คือสุสานหรือที่ฝังศพชาวมุสลิม ที่ว่าประหลาดเพราะตามปกติ หากมีสถานที่เช่นนั้นอยู่ก็ไม่เหมาะจะสร้างพระตำหนัก หรือมิฉะนั้นราษฎรเจ้าของสุสานก็คงไม่เต็มใจให้สร้าง แต่กรณีพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์นั้น พระองค์ไม่ทรงรังเกียจ และราษฎรไทยมุสลิมก็เต็มใจที่จะให้ใช้บริเวณนั้นสร้างพระตำหนัก

ระตำหนักแห่งนี้จึงน่าจะเป็นพระราชฐานที่ประทับแห่งเดียวในประเทศ (และอาจจะในโลก) ที่มีสุสานอยู่ภายในบริเวณ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตเอาไว้ให้ราษฎรมุสลิมเข้าออกเขตพระราชฐาน เพื่อประกอบศาสนกิจอุทิศส่วนกุศลให้ผู้วายชนม์ตามความต้องการได้ทุกเมื่อ

6.พระตำหนัก กว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา

1
ภาพพระตำหนักกว๊านพะเยา หลังที่ 1

ตั้งอยู่ภายในศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพะเยาก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔ โดยกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จมาประทับณ พระตำหนักหลังนี้เป็นเวลา ๗ ปี

2
ภาพพระตำหนักกว๊านพะเยา หลังที่ 2

มีหมู่พระตำหนัก คือ พระตำหนักกว๊านพะเยา เป็นพระตำหนัก ๒ ชั้นทาสีฟ้าเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

พระตำหนักหลังที่ 2 เป็นพระตำหนักที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เป็นพระตำหนักหมู่เรือนไทยยกพื้นสูงเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

3
ภาพพระตำหนักกว๊านพะเยา หลังที่ 3

พระตำหนักหลังที่ 3 เป็นพระตำหนักที่กรมชลประทาน และกรมประมง เป็นพระตำหนักเตี้ยชั้นเดียว โดยโปรดเกล้าฯ ให้ใช้สำหรับประชาชนทุกหมู่เหล่าเข้าเฝ้าฯ พระตำหนัก 3 หลังนี้อยู่ภายในศูนย์วิจัย และพัฒนาประมงน้ำจืดพะเยา

7. พระตำหนักเขาน้อย จังหวัดสงขลา

4

พระตำหนักเขาน้อยตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาน้อยทางทิศใต้ ถนนสะเดา สร้างเมื่อปีพ.ศ. 2454 พระตำหนักแห่งนี้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นอุปราชมณฑลปักษ์ใต้ อีกทั้งสถานที่แห่งนี้เคยเป็นที่ลี้ภัยทางการเมืองภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ของพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ อาทิ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีอีกด้วย

5
ภาพ พระตำหนักเขาน้อยในอดีต

อีกทั้งยังเคยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพระราชกรณียกิจที่ภาคใต้ในปีพ.ศ. 2502 ปัจจุบันพระตำหนักแห่งนี้เป็น จวนผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาไปแล้ว

8.พระตำหนักเขาค้อ จังหวัด เพชรบูรณ์

1

เป็นพระตำหนักที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ โดยตั้งอยู่ที่เขาย่า ตำบลสะเดาะพง อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยสูงจากระดับน้ำทะเล 1,100 เมตร โดยจัดสร้างโดยข้าราชการ ตำรวจ ทหาร หลังจากที่สงครามได้สงบลงประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ ด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน

ภายหลังการต่อสู้ด้วยอาวุธกับ ผกค. สิ้นสุดลงแล้ว จึงได้รวบรวมทุนทรัพย์ ริเริ่มการก่อสร้าง พระตำหนักเขาค้อ ขึ้นเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ประชาชนในพื้นที่ และเป็นที่ทรงงาน และแปรพระราชฐานมาประทับแรม ในวโรกาสที่พระองค์ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จฯ มาตรวจเยี่ยมโครงการตามพระราชดำริ ในพื้นที่เขาค้อ

2
ภาพพระตำหนักเขาค้อ จังหวัด เพชรบูรณ์

ภายในพระตำหนัก

ประกอบด้วยอาคารเชื่อมต่อกันลักษณะรูปวงแหวน มีเรือนข้าราชบริพารเป็นส่วนเชื่อมต่อกับพระตำหนัก อาคารมีลักษณะโค้ง 2 ชั้น ชั้นบนมี 2 ห้องใหญ่ ซึ่งเป็นห้องบรรทมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ชั้นล่างประกอบด้วย ห้องพระราชทานเลี้ยง ซึ่งมีห้องครัวอยู่ทางด้านหน้า , ห้องเสวย , ห้องเข้าเฝ้าฯ และห้องโถงใหญ่

นอก จากนั้นชั้นล่างยังเป็นห้องบรรทมของสมเด็จย่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี บริเวณ ด้านหน้าพระตำหนัก มีสวนหย่อม และแปลงไม้ดอกมีลักษณะเป็นวงกลม ณ จุดศูนย์กลางของวงกลมเป็นที่ตั้งของเสาธงมหาราช มีความสูง 60 เมตร ซึ่งสร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสฉลองพระชนมพรรษาครบรอบ 60 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

9.พระตำหนักดอยตุง จังหวัดเชียงราย

1

เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2530 เมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มี พระชนมายุ 88 พรรษา โดยก่อนหน้านั้นมีพระราชกระแสว่า หลังพระชนมายุ 90 พรรษา จะไม่เสด็จไปประทับที่ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ จึงได้เลือกดอยตุง ซึ่งมีทิวทัศน์สวยงาม

3
ภาพ สมเด็จย่า และในหลวงรัชกาลที่ 9 ( www.manager.co.th )

ขณะเดียว กันสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี เมื่อทรงทอดพระเนตรพื้นที่ เมื่อต้นปี พ.ศ. 2530 ก็ทรงพอพระราชหฤทัย และมีพระราชดำริจะสร้างบ้านที่ดอยตุงพร้อมกันนี้ ยังมีพระราชกระแสรับสั่งว่าจะ ปลูกป่าบนดอยสูงจึงกำเนิดเป็น โครงการพัฒนาดอยตุงขึ้น โครงการพัฒนาดอยตุงเริ่มดำเนินการโดยความร่วมมือจากหน่วยราชการทุกส่วน เช่น กรมป่าไม้ กรมชลประทาน หน่วยงานด้านปกครอง นอกจากทำการปลูกป่าฟื้นฟูสภาพพื้นที่แล้วยังมีการฝึกอาชีพ เพื่อ ยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวเขาบนดอยตุง ซึ่งประกอบด้วยชาวเขาเผ่าอาข่าลาหู่ ไทยใหญ่ และจีนฮ่อ ขณะเดียว กันยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของตนไว้

2
ภาพ พระตำหนักดอยตุง จังหวัดเชียงราย

พระตำหนักดอยตุง ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 7 บ้านมูเซอลาบา ตำบลแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย บริเวณสันเขาของเทือกดอยนางนอน ระดับความสูงประมาณ 1,200 ม. เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาดอยตุง

10. พระตำหนัก หนองประจักษ์ จังหวัดอุดรธานี

1

ภาพ:: udonthaniintheworldtoday.blogspot.com

ตั้งอยู่บริเวณด้านข้างสวนสาธารณะหนองประจักษ์ศิลปาคม บริเวณศาลเทพารักษ์ ถนนเพาะนิยม ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อเป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เมื่อครั้งที่พระองค์มาทรงงานที่มณฑลอุดรธานี จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ได้เสด็จมาประทับ ๒ ครั้งคือ เมื่อตอนเสด็จไปจังหวัดหนองคาย และในปี ๒๕๒๕

2

แต่เดิมนั้นพระตำหนักหลังนี้เคยเป็นจวนผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีมาก่อน ต่อมาเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพระราชกรณียกิจที่จังหวัดอุดรธานี ทางจังหวัดเห็นว่าพระองค์ไม่มีที่ประทับจึงได้ให้พระองค์เสด็จฯ มาประทับ ณ พระตำหนักหลังนี้

11. พระตำหนัก สิริยาลัย พระนครศรีอยุธยา

1

พระตำหนักสิริยาลัย สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อใช้เป็นที่ประทับเวลาเสด็จฯ มายังจังหวัดพระนครศรีอยุธยาโดยตั้งอยู่บริเวณอำเภอเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตรงข้ามวัดไชยวัฒนาราม พระตำหนักหลังนี้สร้างจากทรัพย์สินส่วนพระองค์โดยสร้างเนื่องในอากาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบในปีพุทธศักราช 2534

2
ภาพ พระตำหนักสิริยาลัย พระนครศรีอยุธยา

เป็นพระตำหนักที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งซ้ายในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ถนนอู่ทอง ตำบลประตูชัย อำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระตำหนักหลังนี้เป็นพระตำหนักแบบไม้ยูคาลิปตัสศิลปกรรมแบบหมู่เรือนไทยโบราณประดับประดาไปด้วยดอกไม้นานาพันธุ์โดยมีศาลาริมน้ำและมีบันไดบริเวณท่าน้ำด้วย

12. เรือนรับรองที่ประทับ แหลมหางนาค จังหวัดกระบี่

2

สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งใช้เป็นที่รับรองพระราชอาคันตุกะ ในยามประทับอยู่ที่จังหวัดกระบี่ ในความดูแลของกองทัพเรือไทย ตั้งอยู่เชิงเขาหางนาค บ้านคลองม่วง ตำบลหนองทะเล อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่

1
ภาพ:: เรือนรับรองที่ประทับแหลมหางนาค จังหวัดกระบี่

เรือนรับรองเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 4 ชั้นสอดแทรกอยู่ในแกมไม้ทึบ ขนานกับแนวระดับต่ำสูงของแหลม หางนาคหันหน้าไปทางทางทิศตะวันตกสู่ทัศนียภาพอันมีเสน่ห์ของท้องฟ้ายามพระอาทิตย์อัสดง และทะเลอันดามัน อันประกอบด้วยหมู่เกาะน้อยใหญ่ที่ถูกจัดวางโดยธรรมชาติอย่างลงตัว รูปลักษณะของเรือนรับรองที่ประทับ ตั้งพระหง่านอยู่ในป่าเขียวชอุ่ม เห็นได้อย่างชัดเจนทางทะเลมีความสง่าภูมิฐาน

13. พระตำหนักเขียว จังหวัดชัยภูมิ

campusstar 13

“พระตำหนักเขียว” เดิมเป็นบ้านพักของผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิสมัยนั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2498 ได้ปรับปรุงเป็นพระตำหนักที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

campusstar 12

โดยในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2498 ทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินจากจังหวัดนครราชสีมา ถึงสี่แยกหนองบัวโคก แล้วหยุดประทับให้ราษฎรอำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งมีข้าราชการและประชาชนจำนวนมากเข้าเฝ้าฯ

campusstar 11

หลังจากนั้นเสด็จพระราชดำเนินหยุดประทับ ณ ที่ว่าการอำเภอจัตุรัส เพื่อให้ราษฎรอำเภอจัตุรัส เข้าเฝ้าฯ และเสด็จพระราชดำเนินถึงตัวจังหวัดชัยภูมิ เวลา 11.30 น. เสวยพระสุธารส ณ บ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ และเสด็จพระราชดำเนินไปประทับหน้ามุขศาลากลางจังหวัด มีราษฎรชาวชัยภูมิจำนวนมากเฝ้าฯรับเสด็จ และชื่นชมพระบารมีอย่างล้นหลาม ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับราษฎรอย่างใกล้ชิด ไม่ถือพระองค์ ยังความปลาบปลื้มแก่ราษฎรผู้เข้าเฝ้าฯรอรับเสด็จ

campusstar 1

ที่มาจาก:: www.bhubingpalace.org, esan108.com, ‘รอยพระยุคลบาท’ บันทึกความทรงจำของ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร, www.chaoprayanews.com, กรมการประมง, www.fisheries.go.th, www.hatyaiairportthai.com, www2.cgistln.nu.ac.th, สำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยว กองทัพบก, baaneidresort.com, chomthai.com, toyotabuzz.com, tourismthailand.org, chiangrai.net, maesaibanrao.blogspot.com, chiangrai-guide.blogspot.com, chiangraifocus.com, travel.mthai.com, INN

บทความแนะนำ