พระมหากษัตริย์ไทย พระเจ้าอยู่หัว ราชวงศ์ เพลงพระราชนิพนธ์ ในหลวงรัชกาลที่ 9

บทเพลงพระราชนิพนธ์ พ่อหลวงของแผ่นดิน อัครศิลปินของปวงชนชาวไทย (2)

Home / เรื่องทั่วไป / บทเพลงพระราชนิพนธ์ พ่อหลวงของแผ่นดิน อัครศิลปินของปวงชนชาวไทย (2)

มาอ่านกันต่อเลยค่ะ กับบทเพลงพระราชนิพนธ์ พ่อหลวงของแผ่นดิน อัครศิลปินของปวงชนชาวไทย (2) ซึ่งในยุคแรก หลังจากที่เพลงพระราชนิพนธ์มีทำนองและคำร้องสมบูรณ์แล้ว จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ครูเอื้อ สุนทรสนาน นำไปบรรเลงในวงดนตรีกรมโฆษณาการหรือวงสุนทราภรณ์ เพื่อให้แพร่หลายทั่วไป ปรากฏว่าหลายเพลงกลายเป็นเพลงยอดนิยมทั้งในหมู่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ แต่ในระยะหลังพระองค์มีพระราชกรณียกิจมากมาย ทำให้พระองค์ทรงไม่มีเวลาที่จะทรงพระราชนิพนธ์เพลงใหม่ๆออกมา เพลงสุดท้ายที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ออกมา คือเพลง “เมนูไข่” เป็นเพลงแนวสนุกสนาน เนื้อร้องโดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานเป็นของขวัญวันพระราชสมภพครบ 72 พรรษาแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2538 ค่ะ

บทเพลงพระราชนิพนธ์ พ่อหลวงของแผ่นดิน

รวมบทเพลงพระราชนิพนธ์ ของในหลวงรัชกาลที่ 9

รวมบทเพลงพระราชนิพนธ์ พ่อหลวงของแผ่นดิน อัครศิลปินของปวงชนชาวไทย (2)

Lay Kram Goes Dixie

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 23 ทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ. 2498 พระราชทานให้แก่ วงลายคราม ซึ่งเป็นวงดนตรีแจ๊สส่วนพระองค์ ที่ทรงตั้งขึ้นหลังจากเสด็จนิวัตประเทศไทย บรรเลงครั้งแรกทางสถานีวิทยุ อ.ส.

ค่ำแล้ว (Lullaby)

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 24 ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2498 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษร่วมกับท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา และท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา ประพันธ์คำร้องภาษาไทย… มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอุ้มสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีไว้ในอ้อมพระกรข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งทรงอิเลคโทนเพลงพระราชนิพนธ์ Lullaby แล้วสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์น้อยก็หลับไป

สายลม (I Think of You)

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 25 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2500 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย แล้วพระราชทานให้นำออกบรรเลงครั้งแรกในงานของ สมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกาในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2500

บทเพลงพระราชนิพนธ์ : สายลม
ทำนอง : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ

ไกลกังวล (When), เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 26 ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองขณะประทับอยู่ที่วังไกลกังวล ในพ.ศ. 2500 เพื่อพระราชทานให้เป็นเพลงประจำวงดนตรี “อ.ส.วันศุกร์” ใช้บรรเลงเป็นเพลงสุดท้ายก่อนเลิกเล่นดนตรี ได้พระราชทานให้นำออกบรรเลงในงานสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2500 ผู้ประพันธ์คำร้องภาษาไทยคือ นายวิชัย โกกิลกนิษฐ ต่อมาใน พ.ศ. 2506 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นาย Rual Maglapus อดีตสมาชิกวุฒิสภาของประเทศฟิลิปปินส์ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ และใน พ.ศ. 2514 บ้านเมืองอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค แต่งคำร้องภาษาไทย “เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย” เพื่อปลุกจิตสำนึกให้คนไทยรักและหวงแหนแผ่นดินไทย

บทเพลงพระราชนิพนธ์ : ไกลกังวล
ทำนอง : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง : ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค

แสงเดือน (Magic Beams)

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 27 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใน พ.ศ. 2501 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย เพลงพระราชนิพนธ์นี้มีลีลาชดช้อย อ่อนหวาน สง่างาม เหมาะสำหรับประกอบการเต้นบัลเล่ต์ จึงได้พระราชทานให้อัญเชิญไปประกอบการแสดงบัลเล่ต์ในงานสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันที่ 8กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 ต่อมาได้นำออกบรรเลงในงานสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกาในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501

บทเพลงพระราชนิพนธ์ : แสงเดือน
ทำนอง : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ

ฝัน (Somewhere Somehow), เพลินภูพิงค์

เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 28 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2502 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ และนายศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ ประพันธ์คำร้อง “ฝัน” ได้ พระราชทานให้นำออกบรรเลงครั้งแรกในงานสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกาในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมี่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 และพระราชทานให้บรรเลงในงานสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์ ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 และต่อมาใน พ.ศ. 2509 เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จฯแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ ทรงประทับพระราชหฤทัยในความงามของอุทยานดอกไม้นานาพรรณและภูมิทัศน์โดยรอบ จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานทำนองเพลงนี้ให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค แต่งคำร้อง “เพลินภูพิงค์” ขึ้นอีกคำร้องหนึ่ง

มาร์ชราชนาวิกโยธิน (Royal Marines March)

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 29 ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. 2502 พล.ร.ต.สนอง นิสาลักษณ์ ผู้บัญชาการกรมนาวิกโยธินในขณะนั้น ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานเพลงประจำกรมนาวิกโยธิน ซึ่งได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2502 และได้โปรดเกล้าฯให้นำออกบรรเลงครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2502 โดยวงดนตรีประจำกองเรือที่ 7 ของสหรัฐอเมริกา ในโอกาสที่นาวิกโยธินอเมริกัน ประจำกองเรือที่ 7 ของสหรัฐอเมริกาเดินทางมาเยือนประเทศไทย ซึ่งประพันธ์คำร้องโดย พลเรือโทจตุรงค์ พันธุ์คงชื่น และ พลเรือโทสุมิตร ชื่นมนุษย์

บทเพลงพระราชนิพนธ์ : มาร์ชราชนาวิกโยธิน
ทำนอง : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง : พลเรือโทจตุรงค์ พันธุ์คงชื่น และ พลเรือโทสุมิตร ชื่นมนุษย์

ภิรมย์รัก (A Love Story)

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 30 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ “A Love Story” และพลเรือตรี ปรีชา ดิษยนันทน์ ประพันธ์คำร้อง ภาษาไทย “ภิรมย์รัก” เพลงพระราชนิพนธ์ A Love Story เป็นส่วนหนึ่งของเพลงพระราชนิพนธ์ชุด กินรี หรือ Kinari Suite ที่ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2502 ประกอบการแสดงระบำบัลเล่ต์ชุด มโนห์รา ทรงแยกและเรียบเรียงเสียงประสานด้วยพระองค์เองทั้งชุด โปรดเกล้าฯ ให้วงดนตรีสุนทราภรณ์บรรเลงประกอบการแสดงบัลเล่ต์ชุดมโนห์รา ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร โดยทรงควบคุมการฝึกซ้อมด้วยพระองค์เอง ซึ่งเพลงพระราชนิพนธ์ชุดนี้ประกอบด้วยดังนี้

– A Love Story เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 30
– Nature Waltz เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 31
– The Hunter เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 32
– Kinari Waltz เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 33
– Blue Day เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 8

บทเพลงพระราชนิพนธ์ : ภิรมย์รัก
ทำนอง : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง : พลเรือตรี ปรีชา ดิษยนันทน์

แผ่นดินของเรา (Alexandra)

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 34 ทรงพระราชนิพนธ์โอกาสที่เจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเคนท์ สหราชอาณาจักร เสด็จเยือนประเทศไทย ใน พ.ศ. 2502 โดยในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปรับด้วยพระองค์เองที่สนามบินดอนเมือง ระหว่างที่รอเครื่องบินลงจอดราว 10 นาที พระองค์ก็ทรงตัดสินพระทัยที่จะแต่งเพลงต้อนรับเจ้าหญิงในการมาเยือนครั้งนี้ ทรงประพันธ์ทำนองเพลงภายในเวลาไม่กี่นาที จากนั้นก็ทรงส่งโน้ตนั้นให้ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ประพันธ์เนื้อร้องให้กับทำนองเพลงนั้นทันที

บทเพลงพระราชนิพนธ์ : แผ่นดินของเรา
ทำนอง : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง : ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค

พระมหามงคล

เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 35 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2502 แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่ครูเอื้อ สุนทรสนาน เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502 ให้เป็นเพลงประจำวงดนตรีสุนทราภรณ์ ในโอกาสที่ก่อตั้งมาครบ 20 ปี นายเอื้อ สุนทรสนาน หัวหน้าวงจึงได้ขอพระราชทาน พระบรมราชานุญาตตั้งชื่อเพลงว่า “พระมหามงคล” และได้อัญเชิญมาบรรเลงนำประจำวงสุนทราภรณ์มาจนทุกวันนี้ เพลงพระราชนิพนธ์นี้ไม่มีคำร้อง มีจังหวะดนตรี 3 จังหวะ คือ เริ่มด้วยจังหวะฟอกซ์ทร็อต (Foxtrot) แล้วเปลี่ยนเป็นจังหวะแทงโก (Tango) และเปลี่ยนเป็นจังหวะแมมโบ (Mambo)

บทเพลงพระราชนิพนธ์ : พระมหามงคล
ทำนอง : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช

ยูงทอง

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 36 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงประพันธ์ทำนอง และพระราชทานให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506 ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองใน พ.ศ. 2477 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยได้ใช้เพลงประจำมหาวิทยาลัยทำนองมอญดูดาว ซึ่งขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนนาคพันธุ์) ประพันธ์ เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย จน พ.ศ. 2504 นักศึกษากลุ่มหนึ่งเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ขณะเสด็จมาทรงดนตรี ณ เวทีลีลาศ สวนอัมพร ภายในพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2504

พระองค์รับสั่งว่า จะทรงพระราชนิพนธ์เพลงประจำมหาวิทยาลัยพระราชทานให้แก่นักศึกษาธรรมศาสตร์ จนวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506 พระองค์เสด็จมาทรงดนตรี ณ หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทรงบรรเลงทำนองเพลงที่จะพระราชทานให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย เนื้อร้องนั้นนายจำนงราชกิจ (จรัล บุณยรัตพันธุ์) ประพันธ์ขึ้นตามที่หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ร่าง ชื่อ “ยูงทอง” มาจากหางนกยูงฝรั่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงปลูกไว้ห้าต้นที่หน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และต่อมาเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อนึ่งเพลงนี้อาจเรียกอย่างอื่นได้อีก เช่น “เพลงพระราชนิพนธ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” และ “ธรรมศาสตร์”)

บทเพลงพระราชนิพนธ์ : ยูงทอง
ทำนอง : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง : นายจำนงราชกิจ (จรัล บุณยรัตพันธุ์)

ในดวงใจนิรันดร์ (Still on My Mind)

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 37 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ คำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เองเป็นเพลงแรก ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์คำร้องภาษาไทยถวาย

บทเพลงพระราชนิพนธ์ : ในดวงใจนิรันดร์
ทำนอง : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง: ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร

เตือนใจ (Old-Fashioned Melody)

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 38 ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองและคำร้องภาษาอังกฤษใน พ.ศ. 2508 ต่อมาใน พ.ศ. 2510 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค และหม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์ ประพันธ์คำร้องภาษาไทยถวาย

ไร้เดือน (No Moon), ไร้จันทร์

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 39 ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองและคำร้องภาษาอังกฤษพร้อมกันใน พ.ศ. 2508 ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายอาจินต์ ปัญจพรรค์ ประพันธ์คำร้องภาษาไทยถวาย ชื่อ “ไร้จันทร์” ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค และหม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์ ประพันธ์คำร้องภาษาไทยถวายชื่อ “ไร้เดือน”

เกาะในฝัน (Dream Island)

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 40 ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองและคำร้องภาษาอังกฤษพร้อมกันใน พ.ศ. 2508 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค และหม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์ ประพันธ์คำร้องภาษาไทยถวาย

บทเพลงพระราชนิพนธ์ : เกาะในฝัน
ทำนอง : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง : ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค

แว่ว (Echo)

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 41 ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองและคำร้องภาษาอังกฤษพร้อมกันใน พ.ศ. 2508 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์คำร้องภาษาไทยถวาย เพลงนี้วงดนตรีสุนทราภรณ์นำออกบรรเลงเป็นครั้งแรกในงานสังคีตมงคล ครั้งที่ 1 ณ บริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2509

บทเพลงพระราชนิพนธ์ : แว่ว
ทำนอง : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง: ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร

เกษตรศาสตร์

เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 42 เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2509 ซึ่งจัดว่าเป็น 1 ใน 3 สถาบันการศึกษาที่พระองค์ได้พระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ให้เป็นเพลงประจำสถาบัน โดยอีก 2 เพลง ได้แก่ เพลงพระราชนิพนธ์มหาจุฬาลงกรณ์ พระราชทานให้เป็นเพลงประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี พ.ศ. 2492 และเพลงพระราชนิพนธ์ ยูงทองที่พระราชทานให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2506

บทเพลงพระราชนิพนธ์ : เกษตรศาสตร์
ทำนอง : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง: ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร

ความฝันอันสูงสุด (The Impossible Dream)

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 43 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2514 เมื่อ พ.ศ. 2512 ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ได้รับพระราชเสาวนีย์จากสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ให้เขียนบทกลอนแสดงความนิยมส่งเสริมคนดีให้มีกำลังใจทำงานเพื่ออุดมคติเพื่อประเทศชาติ ออกมาเป็นกลอน 5 บท

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถโปรดให้พิมพ์บทกลอนนี้ลงในกระดาษการ์ดแผ่นเล็กๆ พระราชทานแก่ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน และผู้ทำงานเพื่อประเทศชาติ เตือนสติมิให้ท้อถอยในการทำความดี ต่อมา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอให้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใส่ทำนองเพลงในคำกลอน “ความฝันอันสูงสุด” ใน พ.ศ. 2514 ขับร้องโดย ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค

บทเพลงพระราชนิพนธ์ : ความฝันอันสูงสุด
ทำนอง : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง : ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค

เราสู้

เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 44 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2516 นายสมภพ จันทรประภา ได้ประพันธ์กลอนสุภาพ 4 บท จากพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่สมาชิกสภานิติบัญญัติที่เข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน มาเขียนเป็นคำกลอนถวาย เมื่อทรงเกิดแรงบันดาลพระราชหฤทัย ที่จะทรงพระราชนิพนธ์เพลง “เราสู้” พระราชทานให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ทหาร อาสาสมัครและตำรวจชายแดน ทรงหยิบซองจดหมายใกล้พระหัตถ์มาตีบรรทัด 5 เส้น เพื่อทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง เสร็จแล้วพระราชทานให้ วง อ.ส. วันศุกร์ ซึ่งกำลังบรรเลงอยู่ในงานวันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม พ.ศ. 2517 นำออกบรรเลง ณ พระราชวังบางปะอิน จากนั้นได้ทรงนำกลับไปแก้ไขก่อนจะพระราชทานออกมาให้วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ บรรเลง และทรงแก้ไขอีกจนพอพระราชหฤทัย

บทเพลงพระราชนิพนธ์ : เราสู้
ทำนอง : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง : นายสมภพ จันทรประภา

เรา-เหล่าราบ 21 (We-Infantry Regiment 21)

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 45 ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองขึ้นในปี พ.ศ. 2519 เพลงนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชเสาวนีย์ให้ร้อยตำรวจโทวัลลภ จันทร์แสงศรี แต่งเนื้อเพลงให้แก่กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ หรือที่รู้จักในนามว่า “ทหารเสือพระราชินี” แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงพระราชทาน

บทเพลงพระราชนิพนธ์ : เรา-เหล่าราบ 21
ทำนอง : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง : ร้อยตำรวจโทวัลลภ จันทร์แสงศรี

Blues for Uthit

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 46 ทรงพระราชนิพนธ์เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นายอุทิตต์ ทินกร ณ อยุธยา นักดนตรี วง อ.ส. วันศุกร์ ที่ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2522 และได้พระราชทานให้วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ นำออกบรรเลงครั้งแรกทางสถานีวิทยุ อ.ส. เมื่อวันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2522

รัก

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 47 ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชนิพนธ์ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2537 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถกราบบังคมทูลพระกรุณาขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงสำหรับกลอนสุภาพ 3 บท ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เมื่อพระชนมายุ 12 พรรษา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเพลงนี้ให้วง อ.ส. วันศุกร์ บรรเลงทุกวันศุกร์และวันอาทิตย์ตลอดเดือนธันวาคม พ.ศ. 2537 ต่อมา เมื่อทรงแก้ไขแล้วก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายแมนรัตน์ ศรีกรานนท์ นำไปแยกและเรียบเรียงเสียงประสานเพื่อทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ในงานพระราชทานเลี้ยงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ พ.ศ. 2538 ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แจกคำร้องเพลงพระราชนิพนธ์ “รัก” แก่แขกผู้ได้รับเชิญทุกโต๊ะไว้ล่วงหน้า ต่อมาก็เชิญแขกผู้ได้รับเชิญ อาทิ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี มีนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย และนายทหาร ตำรวจ ชั้นผู้ใหญ่ ขึ้นไปร้องเพลงพระราชนิพนธ์บนเวที ทีละโต๊ะจนทั่วถ้วน โดยทรงบรรเลงดนตรีนำด้วยพระองค์เอง ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำออกอากาศทาง สถานี จ.ส.100 เมื่อต้นปี พ.ศ. 2538

บทเพลงพระราชนิพนธ์ : รัก
ทำนอง : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง : สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

เมนูไข่

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 48 ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 เพื่อพระราชทานเป็นของขวัญวันพระราชสมภพครบ 72 พรรษา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ ด้วยทรงรำลึกได้ว่า สมเด็จพระเชษฐภคินีโปรดเสวยพระกระยาหารที่ทำจากไข่ เป็นแรงบันดาลพระราชหฤทัย ให้ทรงพระราชนิพนธ์ กอปรกับทรงพบโคลงสี่ “เมนูไข่” ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระราชนิพนธ์ไว้เมื่อ พ.ศ. 2518 ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้พลเรือตรี หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช นำไปแยกและเรียบเรียงเสียงประสาน เพื่อให้วง อ.ส. วันศุกร์นำออกบรรเลงและขับร้องในงานพระราชทานเลี้ยงฉลองสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ ณ ศาลาดุสิตาลัย เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2538

บทเพลงพระราชนิพนธ์ : เมนูไข่
ทำนอง : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง : สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง