พระอัจฉริยภาพ ในหลวงรัชกาลที่ 9

9 รางวัลอันทรงเกียรติระดับโลก เทิดพระเกียรติพระอัจฉริยภาพ ในหลวง ร. 9

Home / เรื่องทั่วไป / 9 รางวัลอันทรงเกียรติระดับโลก เทิดพระเกียรติพระอัจฉริยภาพ ในหลวง ร. 9

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงปรีชาสามารถ อีกทั้งยังทรงแก้ไขปัญหา และพัฒนาความเป็นอยู่ของปวงประชาให้ดีขึ้นอย่างมาก ซึ่งหลายๆ โครงการที่ในหลวงรัชกาล 9 มีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลทุกข์ สุขของประชาชนในประเทศนั้นก็ได้รับการยอมรับ และได้รับรางวัลเทิดพระเกียรติมากมาย

9 รางวัลอันทรงเกียรติระดับโลก ของในหลวง ร. 9

โครงการพระราชดำริต่างๆ นั้นไม่เพียงแค่ประชาชนชาวไทยที่ซาบซึ้ง สำนึกในพระคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเท่านั้น แต่ยังโด่งดังไกลไปถึงนานาชาติ ทำให้องค์กรระดับโลกยอมรับในพระอัจฉริยภาพ ในหลวง ร. 9 และมอบโล่รางวัลเกียรติยศต่างๆ ให้อีกด้วย

1.เหรียญ ฟิลเล

2 ธันวาคม พ.ศ. 2534 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย เหรียญ ฟิลเล (Philae Medal) แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นจำนวน 3 เหรียญ ได้แก่ เหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง ในฐานะที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านการพัฒนาท้องถิ่นและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน

2. เหรียญทองสาธารณสุขเพื่อมวลชน

4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534 ผู้อำนวยการใหญ่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ทูลเกล้าฯ ถวาย เหรียญทองเกียรติคุณ เฉลิมพระเกียรติคุณด้านสิ่งแวดล้อม (UNEP Gold Medal of Distinction) ในฐานะที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจดีเด่นในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

3. เหรียญทองสาธารณสุขเพื่อมวลชน

24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2535 ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ทูลเกล้าฯ ถวายหรียญทองสาธารณสุขเพื่อมวลชน (Health for All Gold Medal) แด่ในหลวง ร. 9 เนื่องจากทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์ทางด้านการสาธารณสุขของประเทศ

4. เหรียญรางวัลเทิดพระเกียรติฯ

26 มกราคม พ.ศ. 2536 คณะกรรมการสมาคมนิเวศวิทยาเชิงเคมีสากล (International Society of Chemical Ecology) ทูลเกล้าฯ ถวาย เหรียญรางวัลเทิดพระเกียรติในการสงวนรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ (The Natural ProFutura Medal) แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

5. รางวัลรากหญ้าแฝกชุบสำริด

30 ตุลาคม 2536 หัวหน้าสาขาเกษตร ฝ่ายวิชาการภูมิภาคเอเชียของธนาคารโลกทูลเกล้าฯ ถวาย รางวัลรากหญ้าแฝกชุบสำริด (The Bronze Vetiver Sculpture Award) เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณ (Award of Recognition) ในฐานะที่ทรงเป็นนักอนุรักษ์ดินและน้ำ

6. เหรียญสดุดีพระเกียรติคุณฯ

6 ธันวาคม พ.ศ. 2539 องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (The Food and Agriculture Organization : FAO) ทูลเกล้าฯ ถวาย อะกริคอลา (Agricola Medal) หรือเหรียญสดุดีพระเกียรติคุณในด้านการพัฒนาการเกษตร

กังหันน้ำชัยพัฒนา

7.  BRUSSELS EUREKA 2000

ทั้งในปี พ.ศ. 2543 และ 2544 คณะกรรมการจัดงานบรัสเซลส์ ยูเรก้า แห่ง The Belgian Chamber of Inventors สมาคมส่งเสริมและคุ้มครองนักประดิษฐ์ของเบลเยี่ยม ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล  BRUSSELS EUREKA 2000 รางวัลสิ่งประดิษฐ์ยอดเยี่ยมระดับโลก จากผลงานครื่องเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย หรือกังหันน้ำชัยพัฒนา

8. ถวายเหรียญรางวัลบอร์ล็อค

23 ตุลาคม พ.ศ. 2549 มูลนิธิเวิลด์ฟู้ดไพรซ์ (The World Food Prize Foundation) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญรางวัลบอร์ล็อค (The First Dr.Norman E. Borlaug Medallion) เป็นรางวัลพิเศษที่จัดทำครั้งแรกในปี 2549 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลนี้เป็นพระองค์แรก ในฐานะที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อขจัดความหิวโหย และความยากจนของปวงชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

9. รางวัลผู้นำโลกด้านทรัพย์สินทางปัญญา

31 มกราคม พ.ศ. 2550 องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization – WIPO) ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลผู้นำโลกด้านทรัพย์สินทางปัญญา (WIPO Global Leaders Award) เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการประดิษฐ์คิดค้นเพื่อการพัฒนาชุมชนในชนบทของไทยให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ที่มา : kmutt , posttoday

ภาพ : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, มูลนิธิกังหันชัยพัฒนา

บทความแนะนำ