ข้อมือ อาการป่วย โรงพยาบาล

เจ็บข้อมือแบบไหนควรพบแพทย์ ? พร้อมวิธีการบรรเทาเจ็บเบื้องต้น

Home / ข่าวประชาสัมพันธ์ / เจ็บข้อมือแบบไหนควรพบแพทย์ ? พร้อมวิธีการบรรเทาเจ็บเบื้องต้น

ข้อมือเป็นอีกหนึ่งอวัยวะที่มีการใช้งานมากที่สุดในชีวิตประจำวัน รอบ ๆ ข้อมือประกอบไปด้วยเส้นเอ็นและกระดูก ที่ถึงแม้จะเล็กแต่ก็มีโครงสร้างที่ซับซ้อน ดังนั้นคุณจึงไม่ควรละเลยเมื่อเริ่มมีอาการเจ็บข้อมือ เนื่องจากอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมาได้ และใครคือกลุ่มเสี่ยง? อาการแบบไหนที่ควรพบแพทย์ทันที ไปติดตามกัน

เจ็บข้อมือแบบไหนควรพบแพทย์ ?

กลุ่มเสี่ยงในการเกิดอาการเจ็บข้อมือ

กลุ่มเสี่ยงแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่

– เพศ

ส่วนใหญ่อาการเจ็บข้อมือจะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยสาเหตุของอาการเจ็บข้อมือของเพศหญิงส่วนใหญ่จะมาจากการทำงานบ้าน งานฝีมือ การทำอาหาร ส่วนของผู้ชายจะมาจากการใช้งานข้อมือผิดท่าจากกิจกรรมต่าง ๆ เช่น งานทำสวน งานช่าง

– ช่วงวัย

ในวัยเด็กถือว่าพบได้น้อยมาก เนื่องจากเส้นเอ็นมีความยืดหยุ่นมากกว่าวัยอื่น ส่วนวัยทำงานเป็นวัยที่พบอาการเจ็บข้อมือได้มากที่สุด เนื่องจากกิจวัตรประจำวันที่ทำซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน เช่น การนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ การใช้สมาร์ทโฟน ทั้งยังรวมถึงการเกิดอุบัติเหตุ ในขณะที่กลุ่มผู้สูงวัย อาการเจ็บข้อมือมักเกิดจากความเสื่อมตามวัยซึ่งมักมีอาการข้อเสื่อมร่วมด้วย

เจ็บข้อมือ มีอาการอย่างไร ?

อาการเจ็บข้อมืออาจเป็นการส่งสัญญาณที่บ่งชี้ได้ถึงความผิดปกติบางอย่าง โดยให้สังเกตตัวเอง ดังนี้

  • มีอาการปวดข้อมือทั้งตอนกลางคืนและตอนเช้า ทั้งที่ไม่ได้ใช้งาน
  • ไม่สามารถหยิบจับสิ่งของได้
  • แม้มีการพักการใช้งานไปแล้วหลายวัน แต่ยังมีอาการเจ็บอยู่
  • ไม่สามารถยืดหรือเหยียดข้อมือได้
  • มีอาการเจ็บร่วมกับบริเวณอื่น เช่น แขน และมือ
  • มีไข้สูง บวม แดง หรือร้อน ร่วมด้วย

วิธีบรรเทาอาการเจ็บข้อมือเบื้องต้น

หากเริ่มมีอาการเจ็บข้อมือโดยที่ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุให้ปฏิบัติ ดังนี้

  • ลดการใช้งานในท่าที่ทำให้เจ็บข้อมือ
  • ประคบน้ำอุ่น

หากพบว่าอาการยังไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง เนื่องจากหากปล่อยไว้อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคอื่น ๆ ได้ เช่น เอ็นอักเสบ, เอ็นและปลอกหุ้มเอ็นอักเสบ, เส้นประสาทถูกกดทับ, กลุ่มอาการพังผืดกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ และถุงน้ำที่ข้อมือ เป็นต้น

เจ็บข้อมือแบบไหนควรพบแพทย์ทันที

การเจ็บข้อมือไม่ใช่เรื่องเล็ก และถ้าหากพยายามบรรเทาอาการเจ็บด้วยตนเองแล้ว อาการก็ยังไม่ดีขึ้น แบบนี้ควรพบแพทย์หรือไม่ หรือมีอาการเจ็บแบบไหนที่ควรพบแพทย์ทันที ไปติดตามกันค่ะ

  • ไม่สามารถเคลื่อนไหว หรือขยับข้อมือได้เลย
  • มีอาการเจ็บมากบริเวณข้อมือ
  • มีอาการชาตลอดเวลา
  • มีอาการบวมมากขึ้น
  • มีอาการอื่น ๆ ที่ไม่พึงประสงค์ ได้แก่ มีไข้สูง แดง และร้อนมากผิดปกติ

อาการเจ็บข้อมือที่ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ ส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากอาการเจ็บเล็กน้อย ซึ่งไม่ควรละเลย และถ้าหากพยายามดูแลตัวเองในเบื้องต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการมากขึ้นโดยที่มีไข้สูง บวม และแดงร่วมด้วย ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านมือทันที ไม่จำเป็นต้องรอดูอาการ เพื่อเข้ารับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

ผู้ที่มีอาการเจ็บข้อมือสามารถเข้ามาปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาล KDMS โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านกระดูก และข้อแห่งแรกในประเทศไทย ที่ทางโรงพยาบาลมีทีมแพทย์เฉพาะทางในเรื่องของกระดูก ข้อ เวชศาสตร์ฟื้นฟูมาไว้ด้วยกัน เพื่อให้คุณได้รับการประเมินแนวทางการรักษาที่ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

สามารถติดตามอ่านบทความดี ๆ หรือปรึกษากับทางโรงพยาบาล KDMS โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านกระดูก ข้อ และเวชศาสตร์พื้นฟูครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย ผ่านช่องทางดังนี้

เว็บไซต์ : kdmshospital.com
เฟซบุ๊ก : KDMS Hospital