มายากล เรื่องน่ารู้

เรื่องน่ารู้ มายากลไทย ประวัติความเป็นมา

Home / สาระความรู้ / เรื่องน่ารู้ มายากลไทย ประวัติความเป็นมา

วิทยากลในโลกก่อกำเนิดมานานนับพันปี มีผู้พบภาพบนผนังถ้ำ เป็นการแสดงกลด้วยถ้วย 3 ใบ ทั้งยังพบบันทึกเรื่องราวจำนวนมากกระจัดกระจายในประเทศต่างๆ สันนิษฐานโดยสรุปว่า วิทยากลน่าจะกำเนิดมาจากกรีกโบราณ ก่อนเผยแผ่ไปในยุโรปและเอเชีย สำหรับเมืองไทย เชื่อว่าวิทยากลน่าจะเข้ามาพร้อมกับการเริ่มทำการค้าขายกับต่างประเทศ ซึ่งเข้ามาเผยแพร่วัฒนธรรมต่างๆ รวมทั้งวิทยากลด้วย

ฝรั่งชื่อ นิโกลาส์ แชรแวส เคยบันทึกไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์ ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม เมื่อ พ.ศ.2231 ว่า นักแสดงบางคนสามารถแสดงปาฏิหาริย์ให้เกิดดอกไม้ต่างๆ ในกระถางขึ้นได้ แต่ไม่ได้ระบุว่าใครแสดง เป็นชาวอะไร ผู้เขียน

เรื่องน่ารู้ มายากลไทย

สันนิษฐานว่าคงเป็นชาวอินเดีย แสดงชุดปลูกต้นมะม่วง จากหลักฐานตรงนี้ทำให้รู้ว่าเมืองไทยมีการเล่นกล มาไม่น้อยกว่า 300 ปี และที่น่ายินดีคือเคยมีสมาคมกล การประกวดวิทยากล และพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นนักวิทยากล

พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เรื่อง นิทราชาคริต ซึ่งทรงนิพนธ์ในช่วงปี พ.ศ.2420 ระบุว่าในเมืองไทยเคยมีสมาคมกลมาก่อน ใช้ชื่อว่า รอแยล มาจิคอล โซไซตี้-Royal Magical Society แต่เดิมเรียกอ่านกันว่า รอแยล มายิเกล โซไซเอตี้ หรือ สมาคมนักกลหลวง

สมาคมนักกลหลวง

สมาคมนี้ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2419 ประธานสมาคมคือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช มี นักวิทยากลหลายท่าน คือ พระราชวรวงศ์เธอฯ กรมหมื่นเจริญผลพูลสวัสดิ์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ หม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย และ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในหนังสือบันทึกไว้ว่า ทรงซ้อมเล่นกล

หากจะไล่เรียงเอกสารบันทึกต่างๆ เกี่ยวกับสมาคมนักกลหลวง คงต้องไล่ตั้งแต่หนังสือลิลิตนิทราชาคริต ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2465 ในบทท้าย มีคำอธิบายเกี่ยวกับงานรื่นเริงประจำปี ว่า “…บางปีโปรดฯ ให้นัดแต่งพระองค์กันแปลกๆ ซึ่งหมายถึง แต่งแฟนซี บางปีโปรดฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการ สมาคมรอแยล มายิเกล โซไซเอตี้ เล่นกลและเล่นละครพูดเป็นการรื่นเริงประจำปี…”

ส่วนในหนังสือจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ภาคที่ 1 พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 บันทึกถึงงานรื่นเริงปีใหม่ พ.ศ.2419 ว่า “… ครั้นเสวยแล้วจับสลากของต่างๆ แล้วเล่นกล แลเซียเตอ (Theatre) คือเล่นกลแลละคร ผู้เล่นกลมี กรมขุนเจริญผลฯ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ เป็นต้น พระองค์ทอดพระเนตรการเล่นกลจบแล้ว ตรัสว่าแลกลนี้เล่นสนุกนัก…”

เคยมีการแจกรางวัลให้กับผู้ที่แสดงกลดี

นอกจากนั้นแล้วยังเคยมีการแจกรางวัลให้กับผู้ที่แสดงกลดี ตามที่มีบันทึกไว้ว่า ณ วันอาทิตย์ เดือน 5 ขึ้น 2 ค่ำ ปีชวดยังเปนสัปตศก จุลศักราช 1237 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตรพระบรมวงศานุวงศ์ทรงเล่นเครื่องเล่นต่างๆ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรางวัลพวกที่เล่นกล ดีโปลมาชั่นที่ 1 เปนแพรสีเหลือง ข้างริมมีดิ้นสีทองสลับกัน มีตัวอักษรพิมพ์ในนั้น กับหีบกาไหล่ทอง 1 กล้องสำหรับดูลคร 1 ได้แก่ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเจริญผลพูลสวัสดิ…” (ถือเป็นนักวิทยากลชาวไทยท่านแรกที่ได้รางวัลที่ 1)

ย้อนไปยังหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์เดอร์ เล่ม 2 หน้า 130 ของหมอบรัดเลย์ พิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 บันทึกว่า “ปี พ.ศ.2409 กรมพระราชวังบวรไชยชาญทรงกำลังหัดเล่นกลด้วยน้ำยาเคมีต่างๆ เป็นการประหลาด” และท่านยังทรงลงทุนจ้างล่ามมาแปลหนังสือตำราภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย แสดงว่าวิทยากลเป็นที่นิยมมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 แต่มารวมตัวก่อตั้งเป็นรูปร่างในนามสมาคมนักกลหลวงในรัชกาลที่ 5

แผ่นดินรัชกาลที่ 5 พ.ศ.2421

แผ่นดินรัชกาลที่ 5 พ.ศ.2421 มีนักวิทยากลที่น่าสนใจคือ หม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย ผู้ซึ่งเป็นทั้งนักวิทยากลและจิตรกร ท่านเคยคิดจะตั้งโรงเล่นกลขึ้น แต่ต่อมาไม่ทราบด้วยเหตุใดเรื่องนี้จึงไม่มีการบันทึกเพิ่มเติม ช่วงนั้นมีการฉายภาพหมู่ของนักกลหลวงหน้าโรงละครแห่งนี้ โดยช่างภาพชาวต่างประเทศ ชื่อ เฮนรี่ ชูเรน ซึ่งเข้ามารับจ้างถ่ายรูปและเปิดเป็นสตูดิโอ ภาพนี้ปัจจุบันเก็บไว้ในไมโครฟิล์มที่หอสมุดแห่งชาติ

บทความของ ชาลี ประจงกิจกุล นักมายากลอาวุโส กรรมการกำจัดผู้ประพฤติมิชอบในวงการมายากลไทย (กปม.)