ขั้นตอนการบวช บวชพระ พุทธศาสนา สิ่งที่ไม่ควรทำตอนบวชพระ

สิ่งที่ไม่ควรทำใน ขั้นตอนการบวชพระ | ประโคมดนตรี ร้องรำทำเพลง นาคขี่คอ

Home / สาระความรู้ / สิ่งที่ไม่ควรทำใน ขั้นตอนการบวชพระ | ประโคมดนตรี ร้องรำทำเพลง นาคขี่คอ

การบวชพระ เป็นประเพณีไทยที่มีมาอย่างยาวนาน ถือเป็นความเลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชน จุดประสงค์ในการบวชคือ เพื่อให้ผู้บวชได้ศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีสติสัมปะชัญญะ เข้าใจความเป็นจริงของชีวิตที่มีการเกิดแก่เจ็บตาย เป็นการนำหลักธรรมมาใช้กับชีวิตประจำวันให้ดำรงชีวิตอย่างมีสติ อีกทั้งยังเป็นการสืบทอดประเพณีต่อไปด้วย ในที่นี้จะหยิบยกพูดถึงเรื่องขั้นตอนการบวช เพราะในปัจจุบันมีหลายคนอาจจะเข้าใจผิดไปเกี่ยวกับจุดประสงค์ที่แท้จริงในการบวช

ขั้นตอนการบวชพระที่ถูกต้อง

เหตุการณ์ #วัดสิงห์ ที่กลายเป็นกระแสอยู่ในตอนนี้ ทำให้เห็นว่ายังมีอีกหลาย ๆ คนที่ไม่เข้าใจถึงจุดประสงค์ในการบวชที่แท้่จริง โดยขอสรุปเหตุการณ์คร่าวๆ ดั่งต่อไปนี้ค่ะช่วงในช่วงบ่ายเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 62 ที่ผ่านมา ทางวัดสิงห์ ถนนเอกชัย ซอย 43 แขวงบางขุนเทียน เขตจอมทอง กทม. ได้มีพิธีอุปสมบท โดยในพิธีได้มีแตรวงมาร้องรำทำเพลงกัน ซึ่งในช่วงเวลานั้นโรงเรียนวัดสิงห์ที่อยู่ในบริเวณใกล้ ๆ กับวัดสิงห์ ได้มีการสอบ GAT PAT  ของนักเรียนอยู่ด้วย ทางครูของโรงเรียนวัดสิงห์ขอความร่วมมือมาทางวัด ให้ช่วยลดเสียงจากเครื่องขยายเสียงลง เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนเด็กที่กำลังสอบ GAT PAT กลุ่มแตรวงดนตรีงานบวชไม่พอใจ โดยให้เหตุผลว่าวงดนตรีที่จ้างมา ให้เงิน 2 หมื่นบาท จึงทำให้นักดนตรีในขบวนแตรวง และญาติๆ ของผู้อุปสมบท ประมาณ 50 คน  เข้าไปทำร้ายผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครูอาจารย์ รปภ. และนักเรียน จนได้รับบาดเจ็บ และยังได้มีการลวนลามนักเรียนหญิงด้วยการหอมแก้ม

ล่าสุด! มีอีกหนึ่งกรณีที่การเปิดเพลงเสียงดังในงานบวช รบกวนนักศึกษาธรรมศาสตร์ โดยผู้ใช้เฟซบุ๊ก Nantachai Yuennan ได้โพสต์ถึงสาเหตุเสียงรบกวนที่ดัง จนได้ยินมาบริเวณหอพัก ทำให้รบกวนนักศึกษาที่กำลังอ่านหนังสือเตรียมสอบกลางภาค โดยระบุว่า สำหรับสถานการณ์เพลงลูกทุ่งที่ส่งเสียงดังไปทั่วทั้งละแวกใกล้เคียงกับม.ธรรมศาสตร์ จากการสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้องมาแล้ว สืบทราบมาว่าเป็นการเปิดเพลงมาจากงานบวช ซึ่งจะมียาวนานไปจนถึงวันจันทร์ นั่นหมายความว่าเพลงก็อาจจะส่งเสียงยาวนานไปจนถึงวันจันทร์เช่นเดียวกัน

ในบทความนี้ขอเผยแพร่ขั้นตอนการบวชที่ถูกต้อง พร้อมทั้งขอสรุปว่ามีสิ่งใดที่ไม่ควรทำบ้างในพิธีการบวชให้ทุกคนได้อ่านเป็นเกร็ดความรู้กันค่ะ 

การบวชพระ ปัจจุบัน มีอยู่ 2 แบบ คือ

1. แบบอุกาสะ

โดยคำว่า “อุกาสะ” แปลว่า ขอโอกาส ส่วนคำว่า “เอสาหัง” แปลว่า ข้าพเจ้านั้น ในประเทศไทยการบวชพระแบบอุ กาสะนั้น จะใช้กันในคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ซึ่งเป็นแบบเดิมที่ใช้กันมาแต่โบราณกาล

2. แบบเอสาหัง

ใช้ในคณะสงฆ์ธรรมยุตินิกาย โดยการประยุกต์มาจากแบบอุกาสะเพื่อย่อขั้นตอนให้สั้นขึ้น มีใช้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 พระบาลสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยยึดรูปแบบมาจากพระสงฆ์ประเทศพม่า

ในที่นี้จึงจะขอกล่าวถึงเฉพาะพิธีการบวชพระแบบอุกาสะเท่านั้น เนื่องจากเป็นการบวชแบบเดิมที่มีมาแต่โบราณ แม้ว่าการบวชในประเทศไทยจะมี 2 แบบ แต่ก็ยึดหลักการบวชตามพุทธบัญญัติทุกประการ ต่างกันเพียงข้อปลีกย่อยบางข้อเท่านั้น

ขั้นตอนการบวชพระแบบอุกาสะ มีดังนี้

1. โกนผมนาค-ที่วัดหรือที่บ้านก็ได้

การปลงผมจะปลงที่บ้านหรือที่วัดก็ได้แล้วแต่ความสะดวก แต่โดยทั่วไปนิยมปลงผมที่วัดมากกว่า เนื่องจากญาติหรือแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงานจะได้มีโอกาสร่วมพิธีตัดผมนาค อีกทั้งยังเป็นการประหยัดเวลาของเจ้าภาพและแขกที่มาร่วมงาน เพราะเมื่อปลงผมเสร็จจะได้ทำพิธีเวียนประทักษิณรอบสีมา และเข้าอุโบสถประกอบพิธีอุปสมบทต่อไปได้เลย ขั้นตอนการโกนผมเริ่มโดยพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ หรือผู้ที่มาร่วมบุญงานบวชพระ ทำการขลิบผมให้นาคเป็นปฐมฤกษ์ จากนั้นพระสงฆ์จะทำการโกนผมให้นาค ตามประเพณีการบวชพระที่ปฏิบัติโดยทั่วกันนั้น ผมนาคที่โกนแล้วจะห่อด้วยใบบัวแล้วนำไปลอยที่แม่น้ำหรือวางไว้ใต้ร่มโพธิ์ โดยมีความเชื่อว่าจะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข

2. แต่งตัวนาค-ไม่ควรมีเครื่องประดับมากเกินไป

การแต่งตัวนาคควรแต่งด้วยชุดขาวทั้งหมด บ่งบอกถึงความสะอาดบริสุทธิ์ ทั้งกาย วาจา ใจ ของผู้ที่จะบวช  สิ่งที่ไม่ควรทำคือ มีเครื่องประดับประดามากจนเกินไป โดยเครื่องแต่งตัวนาคตามประเพณีนิยมดังนี้

  •  เสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาว
  • สบงขาว
  • อังสะขาว
  • เข็มขัด หรือสายรัดสำหรับรัดสบง ในส่วนเข็มขัดนี้ ใช้สำหรับรัดสบงขาว ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมใช้เข็มขัดนาค ในกรณีที่ไม่มีเข็มขัดนาคจะใช้เข็มขัดอย่างอื่นหรือสายรัดแทนก็ได้ ไม่ใช่ข้อกำหนดตายตัว แต่การใช้เข็มขัดนาคเป็นการปฏิบัติตามประเพณีการบวชพระที่นิยม เพื่อให้สอดคล้องกับคำว่า “นาค” ซึ่งเป็นชื่อเรียกผู้ที่จะบวชในพระพุทธศาสนาเท่านั้น
  • เสื้อคลุมนาค
  • สร้อยคอ หากมีสร้อยคอจะสวมให้นาคก็ได้ หรือไม่สวมก็ได้ แต่ไม่ควรคล้องพวงมาลัยให้นาค เพราะจากนาคจะกลายเป็นนักร้องแทน

3. การเดินประทักษิณก่อนเข้าสู่พิธีอุปสมบท

ไม่ควรส่งเสียง หรือโห่ร้อง ร้องรำทำเพลง ประโคมดนตรี ไม่ควรให้นาคขี่คอ

การเวียนประทักษิณในทางพระพุทธศาสนา คือ การกระทำที่สุจริตถูกต้องชอบธรรมทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ การหมุนไปทางขวา คือการหมุนไปสู่ความดีทั้งทางกาย วาจา และใจ ตรงกันข้ามกับการหมุนไปด้านซ้ายเป็นการหมุนทวนความดี คือ การกระทำที่เป็นทุจริตทางกาย วา และใจ การทำประทักษิณเวียนขวารอบสีมาก่อนเข้าอุโบสถของผู้ที่จะบวชพระนี้ นอกจากจะเป็นการแสดงความเคารพตามธรรมเนียมโบราณแล้ว ยังเป็นอุบายที่คนโบราณสอนให้รู้ว่า สิ่งที่จะทำต่อไปนี้เป็นการกระทำที่สุจริตถูกต้องชอบธรรมทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ

นอกจากนั้นการทำประทักษิณก่อนเข้าสู่พิธีอุปสมบท ยังเป็นช่วงเวลาให้นาคได้มีโอกาสทำสมาธิรวบรวมจิตใจไม่ให้ตื่นเต้นจนเกินเหตุ ญาติของนาคจึงไม่ควรส่งเสียงหรือโห่ร้อง ร้องรำทำเพลง ประโคมดนตรีอันจะเป็นการรบกวนสมาธิของนาค อีกทั้งไม่ควรให้นาคขี่คอ ขึ้นคานหาม หรือแบกหามซึ่งจะดูไม่เรียบร้อย หากพลัดตกลงมาอาจเป็นอันตรายจนถึงชีวิตทำให้นาคไม่ได้บวช

จึงควรให้นาคเดินตามปกติ โดยให้นาคประณมมือ มีดอกไม้ที่เตรียมไว้อยู่ในมือเดินทำประทักษิณเวียนขวารอบอุโบสถ 3 รอบ จะมีผู้กั้นสัปทนให้นาคก็ได้ การทำประทักษิณให้เริ่มต้นจากสีมาตรงกลางด้านหน้าอุโบสถ (เริ่มจากสีมาที่จะวันทา) ส่วนญาติๆ ถือบริขารพร้อมทั้งเครื่องไทยทานที่จัดเตรียมไว้ ตามความนิยมโดยทั่วไปบิดาจะสะพายบาตรถือตาลปัตร ส่วนมารดาถือพานแว่นฟ้าสำหรับใส่ผ้าไตรครองเดินตามหลังนาค แถวถัดมาเป็นธูปเทียนแพ เครื่องไทยทานสำหรับพระอุปัชฌาย์และพระคู่สวด และเครื่องบริขารอย่างอื่นโดยลำดับ ในขณะเดินให้นาคสวดบทพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ดังนี้ “อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ ฯลฯ”

เมื่อเดินครบ 3 รอบแล้ว นาคต้องวันทาสีมาหน้าอุโบสถก่อนเข้าไปในเขตสีมา นาควางดอกไม้เครื่องสักการะไว้บนพานที่เตรียมไว้ บางแห่งให้จุดธูปเทียนด้วย แต่โดยมากนิยมให้ดอกไม้ธูปเทียนไว้บนพานหรืออุปกรณ์อย่างอื่นที่จัดเตรียมไว้ โดยมากไม่จุดธูปเทียน นาคกราบสีมา 3 หน แล้วยืนขึ้นกล่าวคำวันทาสีมา จากนั้นให้นาคนั่งคุกเข่ากราบ 3 หน แล้วเข้าไปภายในอุโบสถ ในขณะเข้าประตูโบสถ์ไม่ควรยกนาคข้ามธรณีประตู หรือยกขึ้นเพื่อเอามือแตะคานประตู ตามที่นิยมปฏิบัติกันโดยขาดความเข้าใจ เพราะอาจพลัดตกลงมาแขนขาหักได้ ให้นาคเดินเข้าอุโบสถตามปกติ โดยบิดามารดาและญาติจะแตะที่ตัวนาคตามเข้าไปก็ได้

4. การบรรพชา (บวชสามเณร)

เมื่อนาคได้เข้าไปในอุโบสถแล้ว นาคจะวันทาพระประธานอีกครั้งด้วยวิธีอย่างเดียวกันกับวันทาสีมา จากนั้นกลับไปนั่ง ณ สถานที่ที่จัดเตรียมไว้สำหรับนาค บิดา มารดา (หรือญาติผู้ใหญ่) มอบผ้าไตรให้นาค นาคคุกเข่ากราบ 3 หน ยื่นแขนประณมมือรับผ้าไตร จากนั้นประณมมือประคองผ้าไตรเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์ เมื่อถึงแนวพระสงฆ์ให้คุกเข่าลงแล้วคลานเข่าเข้าไปถวายผ้าไตรนั้นแก่ท่าน รับดอกไม้ ธูปเทียนแพเครื่องสักการะ (มีผู้ส่งให้ข้างหลัง) ถวายพระอุปัชฌาย์ กราบลง 3 หน พระอุปัชฌาย์มอบผ้าไตรคืนให้ ประณมมือประคองผ้าไตร กล่าวคำ ขอบรรพชา นาคโน้มตัวเข้าไปใกล้ๆ พระอุปัชฌาย์เพื่อคล้องผ้าอังสะให้ จากนั้นนั่งพับเพียบลงประณมมือ ตั้งใจฟังโอวาทของพระอุปัชฌาย์

5. การอุปสมบท (การบวชพระ) เริ่มต้นด้วยการบวชเป็นสามเณรก่อนทุกครั้ง

การอุปสมบทบวชเป็นพระภิกษุนี้ มีข้อที่ควรทำความเข้าใจ คือ ถึงแม้จะบวชเป็นพระภิกษุ แต่ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการบวชเป็นสามเณรก่อนทุกครั้ง ผู้ที่จะบวชเป็นพระภิกษุต้องขอนิสัยจากพระอุปัชฌาย์ การจะอุปสมบทบวชเป็นพระภิกษุ บริขารต้องครบทุกอย่างที่เรียกว่าบริขาร 8 จึงจะสามารถบวชได้ สามเณรรับบาตรจากบิดามารดาที่นำมาประเคนเดินด้วยเข่าเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์ น้อมบาตรถวายท่าน กราบลง 3 หน แล้วยืนขึ้นกล่าวคำขออุปสมบท

6. การซักซ้อมอันตริยกธรรม อันตริยกธรรม

แปลว่า ธรรมที่เป็นอันตรายต่อการบวช การซักซ้อมอันตริยกธรรม หมายถึง การซักซ้อมสอบถามสิ่งที่เป็นข้อห้ามสำหรับผู้ที่จะบวชเป็นพระภิกษุ เช่น ไม่เป็นโรคน่ารังเกียจ ไม่ทุพลภาพจนช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ไม่มีหนี้สินติดตัว มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ เป็นต้น การซักซ้อมอันตรายิกธรรมเป็นการทำความเข้าใจระหว่างพระคู่สวดกับผู้ที่ขอ บวชเป็นพระภิกษุว่า หากมีข้อห้ามเหล่านี้แล้วบวชเป็นภิกษุไม่ได้ ซึ่งผู้ขอบวชจะต้องตอบคำถามเหล่านี้ตามความเป็นจริง ท่ามกลางสงฆ์

จากนั้น ฟังสวดญัตติจตุตถกรรมวาจาเพื่อยกสามเณรขึ้นเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ถือว่าเป็นช่วงที่สำคัญที่สุด เสร็จแล้วกราบ 3 หน ประณมมือคลานเข่าถอยหลังออกไป พอพ้นพระสงฆ์แล้วลุกขึ้นไปยืนอยู่ที่เดิม ในกรณีที่พระอุปัชฌาย์ไม่บอกอนุศาสน์เอง ท่านจะมอบให้พระคู่สวดเป็นผู้บอกอนุศาสน์ พระคู่สวดเดินตามไปยืนบนอาสนะสวดบอกอนุศาสน์ การสวดบอกอนุสาสน์ท่านจะบอกเป็นภาษาบาลีไว้ก่อนพระใหม่ฟังสวดอนุศาสน์ไปจนจบ เมื่อกลับถึงที่พักแล้ว พระอาจารย์หรือพระพี่เลี้ยงจะแนะนำรายละเอียดเกี่ยวกับอนุศาสน์อีกครั้ง  ( อนุศาสน์ หมายถึง คำสอนหรือคำชี้แจงที่พระอุปัชฌาย์หรือพระกรรมวาจาจารย์บอกแก่พระภิกษุผู้บวชใหม่หลังจากบวชเสร็จ คล้ายเป็นบทปฐมนิเทศ)

โดยสรุปแล้วสิ่งที่ไม่ควรทำในขั้นตอนการบวชพระ ได้แก่

  • การแต่งตัวนาคไม่ควรมี มีเครื่องประดับประดามากจนเกินไป ควรแต่งด้วยชุดขาวทั้งหมด เพราะบ่งบอกถึงความสะอาดบริสุทธิ์ ทั้งกาย วาจา ใจ ของผู้ที่จะบวช แต่ถ้า หากมีสร้อยคอจะสวมให้นาคก็ได้ หรือไม่สวมก็ได้ แต่ไม่ควรคล้องพวงมาลัยให้นาค เพราะจากนาคจะกลายเป็นนักร้องแทน
  • ขั้นตอนการทำประทักษิณเวียนขวารอบสีมา เดินเวียนขวา 3 รอบ ก่อนเข้าอุโบสถของผู้ที่จะบวชพระนี้ นอกจากจะเป็นการแสดงความเคารพตามธรรมเนียมโบราณแล้ว ยังเป็นอุบายที่คนโบราณสอนให้รู้ว่า สิ่งที่จะทำต่อไปนี้เป็นการกระทำที่สุจริตถูกต้องชอบธรรมทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ อีกทั้งยังเป็นช่วงเวลาให้นาคได้มีโอกาสทำสมาธิรวบรวมจิตใจไม่ให้ตื่นเต้นจนเกินเหตุ ญาติของนาคจึงไม่ควรส่งเสียงหรือโห่ร้อง ร้องรำทำเพลง ประโคมดนตรีอันจะเป็นการรบกวนสมาธิของนาค อีกทั้งไม่ควรให้นาคขี่คอ ขึ้นคานหาม หรือแบกหามซึ่งจะดูไม่เรียบร้อย หากพลัดตกลงมาอาจเป็นอันตรายจนถึงชีวิตทำให้นาคไม่ได้บวช
  • ในขณะเข้าประตูโบสถ์ไม่ควรยกนาคข้ามธรณีประตู หรือยกขึ้นเพื่อเอามือแตะคานประตู ตามที่นิยมปฏิบัติกันในปัจจุบันนี้โดยขาดความเข้าใจ เพราะอาจพลัดตกลงมาแขนขาหักได้ ให้นาคเดินเข้าอุโบสถตามปกติ โดยบิดามารดาและญาติจะแตะที่ตัวนาคตามเข้าไปก็ได้

ที่มาจาก: dmc.tv

ภาพจาก: @aleksiii, chrissie, Arisa Chattasa, Evan Krause

บทความที่เกี่ยวข้อง