น้ำเหลือง ประตูผี พระบุพโพ เมรุปูน เมรุมาศ เมรุมาศหลวง

เมรุมาศหลวง ฌาปนสถานสำหรับพระราชวงศ์ (ที่เผาศพ) | วัดเทพศิรินทราวาส

Home / สาระความรู้ / เมรุมาศหลวง ฌาปนสถานสำหรับพระราชวงศ์ (ที่เผาศพ) | วัดเทพศิรินทราวาส

สนามหลวงเป็นสถานที่สำหรับสร้างพระเมรุมาศ หรือพระเมรุ แต่สำหรับราชวงศ์อื่นๆ (พระศพเจ้านายฝ่ายในราชนิกูล ขุนนาง ข้าราชการผู้ใหญ่ ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ชั้นสายสะพายของแต่ละตระกูล และ ได้รับพระราชทานโกศเป็นเกียรติยศ) นั้นมี เมรุหลวง หน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ที่เป็นฌาปนสถานสำหรับพระราชวงศ์เหล่านั้น

เรื่องเล่าความหลัง เมรุมาศหลวง..

นับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา

จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นประเพณีของบ้านเมืองมาแต่โบราณ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตย่อมต้องจัดสร้างพระเมรุมาศ เป็นที่ถวายพระเพลิงที่ท้องสนามหลวงเป็นพระเกียรติยศ นับเป็นธรรมเนียมมา แต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ เป็นประเพณีที่ถวายพระเพลิง ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวงนั้น สำหรับพระเจ้าแผ่นดินและเจ้าฟ้า ส่วนพระศพเจ้านายก็ดี ขุนนางก็ดี มีพระราชประเพณีต้องนำออกไป พระราชทานเพลิงในวัดนอกกำแพงเมืองชั้นนอก ในเมรุปูน ซึ่งกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงสร้างสถานปลงศพเป็นวัตถุถาวรถวาย เรียกสามัญ ว่า “เมรุปูน” ที่วัดสุวรรณาราม

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า… เมื่อแรกสร้างเมรุปูนขึ้นนั้น สำหรับพระศพเจ้านาย ที่มียศไม่สูงศักดิ์ถึงกับสร้างเมรุกลางเมือง ส่วนขุนนางจะเผาในเมรุปูนได้ก็ต่อเมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตพิเศษ ดังนั้นเมื่อต้องเผาศพขุนนางนอกกำแพงเมือง จึงต้องนำศพออกไปทางสำราญราษฎร์ ออกประตูกำแพงเมือง ที่เวลานั้นเรียก “ประตูผี” คือประตูที่นำศพออกไปฝัง หรือเผานอกกำแพงเมือง

ในรัชกาลที่ 1 เกิดอหิวาต์ระบาด

ผู้คนตายประมาณ 30.000 รายในเวลาครึ่งเดือน ต้องนำศพออกนอกกำแพงเมืองไปทิ้งในป่าช้า และ ศาลาดิน วัดสระเกศ วัดสังเวชวิศยาราม วัดปทุมคงคา เผาไม่ทัน แร้งมารุมทึ้งกันมากมาย จนลือชื่อ แร้งวัดสระเกศ ผู้คนหวาดกลัวเป็นอันมาก

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าให้ตั้งพิธี “อาพาธพินาศ” และโปรดเกล้าฯ ให้ทำเงินพดด้วง ตราเฉลวด้วย ต่อมารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ  โปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ครั้งเป็นพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา) เป็น นายงานสร้างเมรุด้วยอิฐปูน เรียก เมรุปูน สำหรับพระราชทานเพลิงศพเจ้านาย และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เมรุปูนนี้นับเป็นเกียรติยศสำหรับผู้ตาย ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปพระราชทานเพลิงศพแต่รัชกาลที่ 3

พระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าลูกยาเธอ

พระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอิศริยาภรณ์ ณ ลานหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อ พ.ศ. 2437

ครั้นมาถึง ร.ศ. 112 พ.ศ. 2436 (ร.5)

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สร้างเมรุอิศริยยศ ณ วัดเทพศิรินทราวาส ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้ปลงศพได้ทุกชั้นบรรดาศักดิ์ สุดแต่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตพิเศษเป็นสำคัญ และที่สุสานหลวงนี้โปรดเกล้าฯ ให้ทำการปลงพระศพพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอิศริยาภรณ์ เมื่อ ร.ศ. 113 พ.ศ. 2437 เป็นปฐม และครั้งนั้นทรงสร้างที่ตั้งพระศพเป็นพลับพลาถาวร พระราชทานนามว่า “พลับพลาอิศริยาภรณ์” สำหรับใช้เป็นที่ประทับเมื่อเสด็จไปพระราชทานเพลิงศพงานอื่นๆ

ต่อมาในปี ร.ศ. 114 พ.ศ. 2438 ได้พระราชทานเพลิงพระศพพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสีเป็นองค์ที่สอง ในครั้งนั้น พระเมรุหรือเมรุที่ใช้พระราชทานเพลิงพระศพและศพเป็นพระเมรุหรือเมรุชั่วคราว ก่อสร้างด้วยไม้ เวลาเผาพระศพหรือศพจริงก็จะเผาบนจิตกาธานที่รับพระราชทานเพลิงเกียรติยศ การเผาพระศพและศพลักษณะดังกล่าวเป็นไปตามธรรมเนียมที่มีมาแต่เดิม ด้วยในขณะนั้น บริเวณรอบๆ วัดเทพศิรินทราวาส ยังไม่มีผู้คนมาตั้งบ้านเรือนหนาแน่น

ครั้นต่อมา บ้านเมืองเจริญขึ้น

เกิดอาคารบ้านเรือนก่อสร้างขึ้นรอบๆ วัดเทพศิรินทราวาส โดยเฉพาะแถบที่ใกล้ชิดติดต่อกับสุสานหลวง การเผาศพแบบเก่าทำให้เกิดควันและกลิ่นฟุ้งกระจายไปตามลม ผู้ที่อาศัยในบริเวณนั้นต้องเดือดร้อนและเสียสุขภาพมาก

แม้ว่าต่อมาจะมีเทศบัญญัติควบคุมการเผาศพในเขตกรุงเทพฯ ไม่ให้มีการเผาศพบนจิตกาธาน ให้ย้ายศพไปเผาในเตาที่มีปล่องควันสูง แต่ที่สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาสยังคงเผาศพตามธรรมเนียมเก่าตลอดมา อีกทั้งตัวเมรุหลวงของเดิมที่ก่อสร้างด้วยไม้นั้น ค่อนข้างสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการสร้าง ซ่อมแซม และตกแต่งเมรุทุกครั้งมีการพระราชทานเพลิงพระศพและศพ และยังดูไม่งามเท่าที่ควร แต่ครั้นจะสร้างพระเมรุหรือเมรุขึ้นในที่อื่นก็เป็นการสิ้นเปลืองมาก

ในยุคสมัยใหม่

พลตรี หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ (ม.ร.ว.เฉลิมลาภ ทวีวงศ์) อดีตเลขาธิการพระราชวัง ได้เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงมีความคิดที่จะก่อสร้างเมรุถาวรขึ้นที่สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส โดยให้มีเตาเผาสำหรับเผาศพโกศ ท่านจึงได้ลองเอาความคิดดังกล่าวไปสอบถามเห็นบุคคลหลายฝ่ายเสียงตอบรับความคิดพลตรี หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์

ครั้นเมื่อ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ก่อสร้างเสร็จ

ได้ติดตั้งเครื่องพ่นไฟในเตาเผาศพโกศ ก็ได้มีการทดลองเผากระดาษ ผ้า และไม้ในเตาเผาก่อน การทดลองเผาทำให้เกิดเหตุขลุกขลักขัดข้องที่น่ากลัว เช่น ควันที่เกิดจากการเผาลอยออกไปตามปล่องไม่สะดวก เกิดความดันขึ้นในเตาเผาทำให้ไฟจากเครื่องพ่นไฟย้อนกลับออกมาทางช่องเครื่องเผาและทางช่องมองศพในเตาเผา ทำเอาเจ้าหน้าที่ที่ทดลองดังกล่าวแสบร้อนหน้าแทบพอง

เมื่อได้ลงมือสำรวจหาสาเหตุปัญหาความขัดข้องที่เกิดขึ้นในการทดลองเผา ก็พบว่ามีน้ำเข้าไปขังอยู่ในท่อปล่องใต้ดิน ทำให้ควันไปตามท่อไม่สะดวก เมื่อสูบน้ำที่ขังในท่อออกหมด ควันก็สามารถลอยออกไปตามปล่องได้สะดวก ปล่องควันเมรุหลวงที่สร้างใหม่นี้ใช้ท่อเคลือบ ไม่ใช้ท่อโลหะ เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดสนิมผุกร่อนในภายหน้า

ส่วนการรั่วซึมในท่อจนทำให้น้ำเข้ามาขังอยู่นั้นได้ตรวจสอบพบในภายหลังว่าเป็นเพราะปูนซีเมนต์ที่ยาแนวท่อตรงข้อต่อแต่ละท่อนมีรอยรั่วอยู่ จึงได้รื้อแก้ไขใหม่ ในที่สุดก็สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด สามารถประกอบพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ได้อย่างเรียบร้อย และได้ใช้เมรุหลวงถาวรนี้ในการพระราชทานเพลิงศพที่มีเกียรติยศได้รับพระราชทานโกศเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ที่มา วิกิพีเดีย : เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส

การถวายพระเพลิงพระบุพโพ ในสมัยก่อน

แต่ก่อนในสมัยโบราณจะเชิญพระบุพโพมาเคี่ยวในกระทะพร้อมๆ กับเครื่องหอมต่างๆ เช่น ชะลูด จนแห้ง แล้วถึงจะเชิญไปถวายพระเพลิงที่พระเมรุวัดมหาธาตุฯ ( พระเมรุชั่วคราว ) เรื่อง พระบุพโพ ของพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์ทรงไม่กล้าเคี่ยว เพราะเดี๋ยวฝรั่งต่างชาติจะว่าได้ว่าคนไทยสกปรก และเหม็นคลุ้งไปทั่วเมือง พระองค์จึงมีพระราชดำริให้นำพระบุพโพ ที่เหลวๆ นั่น ใส่ลองเหล็กวิลาศ (เหล็กกล้า) ฝังใต้พระพุทธชินราชจำลอง ในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิธ

แต่เมื่อครั้งงานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี นั้น ได้เชิญพระบุพโพไปถวายพระเพลิงในเตาเผาแบบสมัยใหม่ ที่เมรุหลวง หน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส

พระเมรุ ถวายพระเพลิงพระบุพโพ ที่วัดมหาธาตุ

การพระราชทานเพลิงพระบุพโพ

วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2529 มีการพระราชทานเพลิงพระบุพโพ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ซึ่งเป็นพระราชพิธีโบราณที่จัดขึ้นสืบต่อกันมา ในการพระราชทานเพลิงพระศพเจ้านาย  ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส โดยพิธีการดังนี้

เจ้าพนักงานสนมพลเรือน ถวายบังคมพระศพทางด้านหน้าที่ประดิษฐานพระศพ เปลื้องพระโกศทองน้อยออก เชิญไปพักที่ในพระฉาก

เจ้าพนักงานภูษามาลา เชิญถ้ำพระบุพโพออกจากพระแท่นแว่นฟ้า เชิญลงจากพระที่นั่งทรงธรรม

เมื่อถึงลานหน้าบันได เจ้าพนักงานภูษามาลาถวายพระกลดกางกั้นถ้ำพระบุพโพ ไปขึ้นเกยและประดิษฐานหีบเครื่องพระบุพโพ บนพระวอวิมาน

ส่วนถ้ำพระบุพโพ เชิญโดยรถยนต์พระที่นั่ง เข้าขบวนเชิญออกจากวัดเบญจมบพิตร ไปยังเมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส

เมื่อขบวนเดินทางถึง ได้เชิญพระบุพโพเทียบที่บันไดเมรุหลวงหน้าพลับอิศริยาภรณ์ ทางด้านหลัง แล้วเชิญขึ้นพระเมรุแล้วปิดม่าน

จากนั้น วางดอกไม้จันทน์และจุดไฟพระราชทานเพลิงพระบุพโพ (จริง) ที่หน้าหีบเครื่องพระบุพโพ เป็นอันเสร็จพิธีพระราชทานเพลิงพระบุพโพ

ซึ่งการถวายพระเพลิงพระบุพโพ หรือ น้ำเหลือง ตามประเพณีโบราณจะกระทำก่อนการถวายพระเพลิง หรือพระราชทานเพลิงพระสรีระพระศพ ที่บรรจุลงในพระโกศ

ที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวัฒนา , โบราณราชประเพณีในงานพระราชพิธี พระบรมศพ และ พระศพ

ภาพจาก กรมศิลปากร www.finearts.go.th , วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร